xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.ผุดโปรเจกต์ซับน้ำตาชาวสวนยาง 5 จังหวัดแดนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพลิกวิกฤตราคายางตกต่ำสุดในรอบ 5 ปี ผุดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยางเพื่อชาวสวนยางโดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล ว่า ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้หาแนวทางออก 3 แนวทางเพื่อเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกร ดังนี้ 1. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนในการรับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรซึ่งจะเป็นวิธีการช่วยลดปริมาณยางที่มีผลผลิตล้นตลาด2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต หรือปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตวงเงิน 15,000 ล้านบาท 3. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง ดำเนินงานโดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ฯลฯ

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าปัญหาของการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์กองทุนสวนยางในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา และสตูล คือความแห้งของแผ่นยางที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากความร้อนที่เข้าสู่ห้องอบกระจายตัวไม่สม่ำเสมอ มีความร้อนมากเป็นจุดๆ ทำให้ยางแผ่นรมควันที่ได้จึงมีคุณภาพต่ำ อีกทั้งต้องใช้ไม้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากต่อการอบแต่ละครั้ง ดังนั้น การปรับปรุงประสิทธิภาพและการลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์ฯ จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้ายางพารา ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น และกลุ่มสหกรณ์มีความเข้มแข็งและยั่งยืน ตลอดจนเพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการผลิตแผ่นยางรมควันโดยเกษตรกรกลับมีไม่มาก กำลังผลิตรวมกันแล้วประมาณร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตยางแผ่นทั้งหมดเนื่องจากมีปัญหาหลายประการ เช่น ขาดการบริหารจัดการที่ดีทำให้บางกลุ่มขาดทุนและหยุดกิจการ

นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตยางแผ่นรมควันของสหกรณ์โรงรมยาง โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2557 สิ้นสุด 30 กันยายน 2558 รวมระยะเวลา 1 ปี โดยนำร่องปรับปรุงสหกรณ์โรงรมยางเดิมที่ประสบปัญหาจำนวน 8 แห่ง ซึ่งนำพลังงานทดแทนมาใช้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น เพื่อลดการใช้พลังงาน ตลอดจนปรับปรุงบ่อก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย เพื่อนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในสหกรณ์โรงรมยางนำร่อง ทั้งนี้ โครงการฯ ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 40 รวมทั้งผลิตยางแผ่นได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 และลดระยะเวลาในการอบยางแผ่นลงร้อยละ 20 อีกทั้งสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มสหกรณ์ได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 ซึ่งหากโครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี กสอ.ก็จะเดินหน้าขยายผลการปรับปรุงสหกรณ์โรงรมยางแห่งอื่นๆ ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงก่อให้เกิดรายได้และประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2557 ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนที่ผ่านมาไทยสามารถผลิตยางพาราได้กว่า 2.1 ล้านตัน (ข้อมูล : ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) และสามารถส่งออกได้ถึง 3.66 ล้านตัน ทิ้งห่างอินโดนีเซียและมาเลเซียที่ผลิตได้ประมาณ 2.7ล้านตัน และ 0.8 ล้านตัน ตามลำดับ บนพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศกว่า 22 ล้านไร่ (ข้อมูล : สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร) โดยเป็นยางแผ่นรมควัน (Ribbed smoked sheet) 5.8 แสนตันหรือร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตยางแผ่นทั้งหมด
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น