กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือนักวิจัย ภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยกระดับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าและเครื่องแต่งกายไทย ประเดิมจัดโครงการ “ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” หวังคัดเลือกผลิตภัณฑ์ OTOP ต้นแบบที่มีศักยภาพกว่า 80 ราย จากจำนวน 450 รายทั่วประเทศ
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ถือว่าเป็นกลุ่มกิจการที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างฐานเศรษฐกิจของวิสาหกิจชุมชนในระดับท้องถิ่นมาโดยตลอด ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายที่เป็นผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ระดับ 4-5 ดาวกว่า 450 ราย
โดยบางส่วนยังขาดองค์ความรู้ แนวทางการปฏิบัติ และกลยุทธ์การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม ฉะนั้นเพื่อการก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ จำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติอื่นๆ เพิ่มเติม เพื่อให้สามารถนำผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความแตกต่างเหนือคู่แข่งทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถรองรับคำสั่งซื้อของลูกค้าได้
ทั้งนี้ กรมฯ จึงร่วมมือกับภาควิชาวิทยาการสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการ “ยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการสร้างและพัฒนานวัตกรรมให้แก่กลุ่มชุมชนที่มีการจัดการการผลิต การค้า และการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันใหม่ทำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพมาตรฐาน ความสวยงาม และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ให้มีความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนและนำไปสู่การสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต
“โครงการดังกล่าวเป็นการนำร่องคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP ที่มีศักยภาพในระดับ 4-5 ดาว จำนวน 80 รายทั่วประเทศทุกภูมิภาค เพื่อให้คำปรึกษาเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าใจเทคนิควิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมกระบวนการหรือนวัตกรรมระบบ และสามารถประยุกต์ใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติได้ด้วยตนเอง” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าว
ด้านผศ.ดร.กรทิพย์ วัชรปัญญาวงศ์ เตชะเมธีกุล หัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกายด้วยนวัตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยกระบวนการที่สำคัญคือ ทำการคัดเลือกกลุ่ม OTOP ที่มีศักยภาพระดับ 4-5 ดาว จำนวน 80 รายจากทั่วประเทศ และทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการฯ ในแต่ละท้องถิ่น ควบคู่กับการสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองแนวโน้มความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมาย เพื่อสร้างจุดเด่นและคุณสมบัติพิเศษให้แก่ผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้ผ้าไทยสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มีความหลากหลาย และมีความน่าสนใจมากขึ้น และยังคงอัตลักษณ์ผ้าไทยของแต่ละกลุ่มฯ
สำหรับนวัตกรรมที่ถ่ายทอดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมีหลากหลายนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนวัตกรรมที่เน้นความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การก่อหม้อครามที่ประหยัดเวลาโดยปราศจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ การใช้แทนนิน ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่สกัดได้จากใบมันสำปะหลังมาใช้เป็นสารช่วยติดสีในการย้อมสีธรรมชาติ การใช้ผ้าจากเส้นใยพอลิแลคติกแอซิด (PLA) ซึ่งเป็นเส้นใยที่ย่อยสลายได้ มาใช้ในการขึ้นรูปทรงผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋า
นายอาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการฯ ได้พิจารณาและมอบรางวัล “สานเส้นทางนวัตกรรมสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP” แก่กลุ่ม OTOP ที่ได้ให้ความร่วมมือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำเทคโนโลยีไปต่อยอดและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ที่มีคุณภาพและสามารถนำออกสู่ท้องตลาดแล้ว รวมทั้งเป็นการประกาศเกียรติคุณและให้กำลังใจแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมไปต่อยอดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของตนเองต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *