xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.รุก 4 ยุทธศาสตร์ รั้งเบอร์ 1 ส่งออกยางพาราโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เผย 4 แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมยาง สอดรับกับนโยบายรัฐฯ วางตำแหน่งยางพาราเป็นวาระแห่งชาติ พบไทยเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ทิ้งห่างอินโดนีเซีย และมาเลเซีย

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมถึงก่อให้เกิดรายได้และประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2556 ที่ผ่านมาไทยผลิตยางพาราได้กว่า 4.17 ล้านตัน และสามารถส่งออกได้ถึง 3.66 ล้านตัน ทิ้งห่างอินโดนีเซีย และมาเลเซียที่ผลิตได้ประมาณ 2.7 ล้านตัน และ 0.8 ล้านตัน ตามลำดับ สำหรับปี 2557 ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายนที่ผ่านมาไทยสามารถผลิตได้ประมาณ 2.1 ล้านตัน บนพื้นที่ปลูกยางทั่วประเทศกว่า 22 ล้านไร่ โดยมีมูลค่าส่งออกโดยรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท
ยางรถจักรยานยนต์
“แม้ว่ามูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมยางไทยจะสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก หากแต่ประสบปัญหาในเรื่องของราคายางที่ยังคงผันผวนและผลผลิตล้นตลาด จากหลายปัจจัยทั้งภายนอกประเทศ เช่น สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศคู่ค้าอย่างจีนที่หันมาปลูกยางเองเพื่อป้อนเข้าโรงงานภายในประเทศ โดยขยายพื้นที่ปลูกทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย นอกจากนี้ ปัจจัยภายในประเทศก็มีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการปรับตัวของราคายาง อันได้แก่ ผลผลิตต่อไร่และปริมาณน้ำยางที่มีสัดส่วนไม่แน่นอน คุณภาพของยางดิบและพื้นที่เพาะปลูกที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วม เนื่องจากมีการตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ รวมถึงความไม่ต่อเนื่องของการบริหารจัดการอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมตามผู้นำรัฐบาลในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกล่าว

ทั้งนี้ ราคายางในปัจจุบันมีราคาตกอยู่ที่ 44 บาท จากที่เคยสูงสุดถึง 180 บาทเมื่อสามปีที่ผ่านมา ซึ่งนอกจากราคายางที่ปรับตัวลดลงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรแล้ว ยังส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม โดยกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมยางพารามีความแข็งแรงและสามารถรักษาบทบาทความเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตยางพารา โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ยางล้อรถ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ลูกโป่ง รวมถึงกลุ่มแปรรูปจากไม้ยางพารา เช่น ของเล่นไม้ และไม้ปาร์เกต์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้ายางพาราของไทยสู่สากลได้เป็นอย่างดี
ของเล่นจากไม้ยางพารา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดให้ “ยางพารา” เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและวางแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการและเกษตรกรชาวสวนยางให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับวาระแห่งชาติของรัฐบาล กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแล ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมโดยตรง จึงวางกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุด และสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ในระยะยาว ผ่านแนวทางการดำเนินงาน ดังนี้

1) ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่า (Value Creation) โดยมุ่งส่งเสริมให้มีการนำงานวิจัยไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างรากฐานนำไปสู่การให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

2) ส่งเสริมการใช้น้ำยางดิบเพื่อการแปรรูปยาง (Volume Creation) เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพในการใช้น้ำยางเป็นจำนวนมาก เช่น ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม การก่อสร้าง และชลประทาน เป็นต้น

3) สร้างเครือข่ายธุรกิจระหว่างกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตน้ำยาง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานวิจัย เพื่อร่วมกันดำเนินงานในการทำงานวิจัยให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ และสามารถนำไปต่อยอดในภาคอุตสาหกรรมต่อไปได้

4) สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อพัฒนา และสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางให้สามารถตอบสนองการดำเนินงานทั้งบุคลากรด้านการวิจัย การผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อช่วยให้อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริงและยั่งยืน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น