กสอ.ทุ่มงบ 100.45 ล้านบาทขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเอสเอ็มอีภายใต้ 5 แผนหลัก ตั้งเป้าสร้าง ผปก.ใหม่ด้านไอที 500 ราย พร้อมผลักดันใช้ไอทีในการวางระบบบริหาร เสริมตลาด สร้างเครือข่าย และพัฒนาที่ปรึกษา ชี้ที่ผ่านมา ผปก.ไทยรายย่อยขาดความรู้ด้านไอทีอย่างสูง
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2558 ทาง กสอ.ได้รับงบประมาณจำนวน 1,266 ล้านบาท แบ่งเป็นงบบริหารประจำ 459 ล้านบาท หรือ 36% และงบสำหรับปฏิบัติการในการส่งเสริมเอสเอ็มอีและโอทอป รวม 807 ล้านบาท (64%) แบ่งเป็นแผนดำเนินโครงการต่างๆ ประกอบด้วย การเตรียมภาคอุตสาหกรรมเข้าสู่เออีซี จำนวน 160 ล้านบาท การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น 164.65 ล้านบาท การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร 42.25 ล้านบาท พัฒนาวิสาหกิจชุมชนและโอทอป 110.80 ล้านบาท การเพิ่มผลิตภาคเอสเอ็มอี 266.17 ล้านบาท การส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 28.10 ล้านบาท และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ 35.19 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญให้เศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลในการผลิตและการค้า ทาง กสอ.ได้ปรับงบในโครงการต่างๆ รวมกว่า 100.45 ล้านบาท เพื่อมาส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีในการใช้ดิจิตอลเสริมศักยภาพธุรกิจ ภายใต้กรอบแนวคิดสร้าง “ดิจิตอลเอสเอ็มอี” (Digital SMEs) โดยแบ่งเป็น 5 ด้านได้แก่
1. การสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิตอล เน้นให้ความรู้เตรียมพร้อมผู้ประกอบการธุรกิจไอที เช่น กลุ่มผู้ผลิตแอปพลิเคชัน และเกมต่างๆ มีเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการใหม่ในกลุ่มนี้ จำนวน 500 ราย รวมถึงปรับหลักสูตรโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้มีเนื้อหาทันสมัย และครอบคลุมความรู้ด้าน IT เป้าหมายอีก 1,000 ราย
2. เอสเอ็มอีอัจฉริยะ เป็นการนำระบบซอฟต์แวร์มาเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาคของธุรกิจเอสเอ็มอี ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ Enterprise Resource Planning ในการบริหารธุรกิจด้านต่างๆ เช่น การบริหารสต๊อก การเพิ่มตลาด ฯลฯ มีเป้าหมายปรับปรุงศักยภาพให้แก่ธุรกิจ 480 กิจการ
3. ดิจิตอลเพื่อวิสาหกิจชุมชน คัดผู้ประกอบการโอทอปที่มีความพร้อมอย่างน้อย 70 ผลิตภัณฑ์ มาช่วยเสริมศักยภาพโดยใช้สื่อดิจิตอลและออนไลน์ทำตลาด ทั้งการอบรมและการแนะนำผ่านออนไลน์ รวมถึงจัดทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ เพื่อผลักดันสู่ตลาดส่งออก
4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ดิจิตอล เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ผ่านทางดิจิตอล โดยมีเป้าหมายผู้ประกอบการในเครือข่าย 1,000 ราย
5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ ด้วยการอบรมสร้างที่ปรึกษาจำนวน 60 คน ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจในด้านออนไลน์ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไป
นายอาทิตย์กล่าวด้วยว่า การดำเนินแนวทางดังกล่าวต้องการให้เป็นการนำร่องในการนำดิจิตอลในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจุดอ่อนของเอสเอ็มไทยโดยเฉพาะรายเล็กๆ คือ ขาดความรู้ความสามารถด้านดิจิตอล เนื่องจากในอดีตการเรียนการศึกษาของไทยไม่ได้เตรียมพร้อมมาเพื่อรองรับด้านไอทีอย่างเพียงพอ ซึ่งต่างจากประเทศอย่างสิงคโปร์ซึ่งวางแนวทางพัฒนาภาคธุรกิจโดยใช้ไอทีมาตั้งแต่การเรียนการสอนเบื้องต้น
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า การใช้ดิจิตอลมาช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจ จากเดิม 3 เท่า ซึ่งจะทำให้แย่งชิงตลาดได้มากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนการทำธุรกิจประมาณ 10% นอกจากนั้น ยังเชื่อว่าการตลาดการค้าดิจิตอลจะเติบโตอย่างสูง จากปี 2557 มูลค่าประมาณ 5,600 ล้านบาท แต่เมื่อถึงปี 2563 คาดว่าจะเติบโตแบบก้าวกระโดดถึงกว่า 1 แสนล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *