xs
xsm
sm
md
lg

ครม.แบน “บารากู่-บุหรี่ไฟฟ้า” - ขยายเกณฑ์รอลงอาญา 5 ปี - กำชับศูนย์ดำรงธรรมอย่าปล่อยม็อบเข้ากรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ - พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ภาพจากแฟ้ม)
สิงห์อมควันหนาวแน่! ครม. สั่งห้ามนำเข้า “บารากู่ - บุหรี่ไฟฟ้า” ห่วงระบาดหนัก มอมเมาเยาวชน รับลูกศาลยุติธรรมปรับหลักเกณฑ์ฎีกาคดี แก้ปัญหาเตะถ่วง พร้อมขยายโทษขั้นต่ำเข้าเกณฑ์รอลงอาญาจาก 3 ปี เป็น 5 ปี แก้ปัญหานักโทษล้นคุก อนุมัติโยกย้ายข้าราชการ ก.ทรัพย์ - อุตฯ - สธ. หลายตำแหน่ง กำชับทุกกระทรวงประสาน “ศูนย์ดำรงธรรม” ทั่วประเทศ “ประวิตร” อยากให้เป็นศูนย์สารพัดนึกช่วยเหลือประชาชน เตือนอย่าปล่อยให้ชาวบ้านที่เดือดร้อนมาโวยถึงทำเนียบ

วันนี้ (14 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการกำหนดให้บารากู่ไฟฟ้า หรือ บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร จากการที่ปรากฏว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีการเผยแพร่โฆษณาซื้อขายในอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย รวมทั้งมีรูปแบบที่แปลกใหม่ ง่ายต่อการเชิญชวนให้เยาวชนทดลอง ซึ่งพบว่าสารที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้ามีลักษณะที่เป็นสารพิษในกลุ่มของสารประกอบอินทรีย์ แม้กระทั่งมีสารพิษที่อยู่ในกลุ่มโลหะหนักที่มีอันตรายต่อสุขภาพ หรือหากจะใช้ ต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ เมื่อสินค้าประเภทนี้ไม่ได้อยู่กำกับของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ปัจจุบันยังไม่ได้มีกฎหมายควบคุมการนำเข้าสินค้าดังกล่าว จึงได้มีการกำหนดร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ออกมา

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาอนุมัติหลักการตามที่ศาลยุติธรรมเสนอ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายพิจารณาความแพ่ง และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายพิจารณาความอาญา สาระสำคัญกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ที่ในปัจจุบันคู่ความมีการฎีกากันอย่างกว้างขวาง ทั้งๆ ที่ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของศาลอุทธรณ์มาแล้ว ทำให้มีคดีจำนวนมากที่ไม่เป็นสาระอันควรได้ถูกส่งเข้ากระบวนการของศาลฎีกา เปิดช่องให้คู่ความที่ไม่สุจริตเตะถ่วงและประวิงคดี รวมทั้งมีผลกระทบต่อศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมด้วย จึงได้เสนอหลักการปรับแก้ไขโดยการให้องค์คณะผู้พิพากษา ซึ่งประกอบด้วย รองประธานศาลฎีกา และผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา อย่างน้อย 3 คน เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอฎีกาคดีต่างๆ เมื่อได้รับความเห็นชอบจึงส่งเข้ากระบวนการของศาลฎีกาได้

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติหลักการตามที่ศาลยุติธรรมเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการบังคับโทษปรับและการรอลงอาญา แก้ไขเพิ่มเติมโทษของผู้ใช้หรือผู้ถูกใช้ โดยมีสาระสำคัญถึงหลักเกณฑ์การบังคับโทษปรับ การกักขังแทนค่าปรับในปัจจุบันนั้น มีอัตราไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ จากเดิมที่กำหนดอัตรา 200 บาทต่อการกักขัง 1 วัน แก้ไขเป็น 400 บาทต่อการกักขัง 1 วัน ทำให้ผู้ที่มีรายได้น้อยสามารถถูกควบคุมตัวในระยะเวลาที่สั้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของการรอลงอาญาคดีความต่างๆ ได้ปรับแก้ไขจากเดิมที่กำหนดว่าโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี จึงสามารถได้รับการพิจารณษรอลงอาญาได้ เป็นโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี สามารถได้รับการรอลงอาญาได้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดโดยเล็กน้อย และไม่ได้กระทำผิดโดยติดนิสัย หรือผู้ที่มีความอ่อนแอทางร่างกายและจิตใจที่ตกเป็นเครื่องในการกระทำผิด รวมทั้งแก้ไขปัญหาผู้ต้องโทษล้นเรือนจำด้วย

ในส่วนของสถานการณ์น้ำทั่วประเทศนั้น พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบรายงานข้อมูลสถานการณ์น้ำของปีนี้ในส่วนของพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลอง พบว่า มีปริมาณน้อยและต้องสำรองไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้งของปี 2558 ส่งผลให้น้ำในเขื่อนต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบในหลักการที่จะงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด รวมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง 7.77 ล้านไร่ คิดเป็นเกษตรกรราว 2.6 แสนครัวเรือน อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำโครงการบริหารจัดการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ในส่วนของกรมชลประทานจะจ้างเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มแม่น้ำแม่กลองเพื่อดำเนินการซ่อมแซมคูคลองในช่วงฤดูแล้งด้วย นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมต่างๆ อาทิ การอบรมปัจจับการผลิตส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์หรือพันธุ์พืชอื่นๆ รวมทั้งอาชีพนอกภาคเกษตรด้วย โดยกำหนดดำเนินมาตรการต่างๆตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 57 - 30 เม.ย. 58

อีกด้านหนึ่ง ครม. พิจารณาเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เกี่ยวกับเรื่องศูนย์ดำรงธรรม โดยทุกกระทรวงจะต้องสั่งการให้ส่วนราชการในสังกัด ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ตลอดจนรัฐวิสาหกิจในสังกัด ให้สนับสนุนบุคลากร วัสดุอุปกรณ์ ข้อมูลบริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตามแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กำชับในที่ประชุมว่า อยากให้ศูนย์ดำรงธรรมเป็นเหมือนยาสารพัดนึก ให้ความช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ได้จริงๆ โดยเจ้าหน้าที่จะไม่นั่งทำงานอยู่ในศูนย์ฯ เพียงอย่างเดียว จะต้องมีการตรวจสอบว่าในพื้นที่รับผิดชอบว่าใครมีปัญหาความเดือดร้อน ต้องเข้าไปหาถึงบ้าน โดยปฏิบัติงานทั้งสองลักษณะ คือ รับเรื่องและเข้าหา ทั้งนี้ กรณีที่เรื่องใดไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ อย่าปล่อยให้ผู้เดือดร้อนเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ ให้แจ้งมายังส่วนกลางเพื่อประสานหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องสามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา

ด้าน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม. อนุมัติแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง ดังนี้ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ผอ.สำนักวิเคราะห์เรื่องเสนอ ครม. เป็นที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการ ครม. นางกานดา วัชราภัย ผู้แทนไทยด้านสิทธิสตรีในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) ให้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 วาระ เป็นเวลา 3 ปี ระหว่างวันที่ 7 ต.ค. 2557 ถึง 7 ต.ค. 2560 พล.ต.วิทูล บัณฑิตย์ เป็นข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายสิทธิชัย โภไคยอุดม เป็นที่ปรึกษา รมว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ นายนพดล กรรณิกา เป็นที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ขณะเดียวกัน ยังแต่งตั้ง ม.ล.พัชรภากร เทวกุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงาน ก.พ. เป็นรองเลขาธิการ ก.พ.

นอกจากนี้ ครม. อนุมัติแต่งข้าราชกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ น.ส.สุทธิลักษณ์ ระวิวรรณ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้ตรวจราชการ น.ส.อาระยา นันทโพธิเดช รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ตรวจราชการ นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เป็นผู้ตรวจราชการ นางรวีวรรณ ภูริเดช รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผน เป็นผู้ตรวจราชการ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้ตรวจราชการ

ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรม นายอาทิตย์ วุฒิคะโร รองปลัดกระทรวง เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายปณิธาน จินดาภู อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เป็นรองปลัดกระทรวง นายอุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เป็นรองปลัดกระทรวง นายสมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นรองปลัดกระทรวง นายสุรพงษ์ เชียงทอง ผู้ตรวจราชการ เป็นอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายหทัย อู่ไทย ผู้ตรวจราชการ เป็นเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายพิชัย ตั้งชนะชัยอนันต์ ผู้ตรวจราชราชการ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย

ด้านกระทรวงสาธารณสุข นายชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวง เป็นผู้ตรวจราชการ นายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัดกระทรวง นายสุริยะ วงศ์คงคาเทพ ผู้ตรวจราชการ เป็นรองปลัดกระทรวง นายสมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้ตรวจราชการ

อีกด้านหนึ่ง รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... โดยกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 45 วรรคสอง ตามที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช. ต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ 1. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการออกข้อกำหนดของศาลเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2. กำหนดให้มีพนักงานคดีรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ช่วยเหลือในกระบวนพิจารณาของศาลตามที่ศาลมอบหมาย โดยมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของศาล สำหรับคุณสมบัติหลักเกณฑ์ และวิธีการเข้าสู่ตำแหน่ง การแต่งตั้ง และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพนักงานคดีรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศาลกำหนด 3. กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีตามรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

4. เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่นของตุลาการ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้ได้รับเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวตามภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ศาลกำหนด สำหรับค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายอื่นในกรณีเดินทางไปราชการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ศาลกำหนด 5. กำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ระบบไต่สวน 6. กำหนดหลักเกณฑ์การยื่นคำร้องและการจำหน่ายคดี โดยคำร้องต้องทำเป็นหนังสือระบุเรื่องอันเป็นเหตุให้ต้องใช้สิทธิ 7. กำหนดองค์คณะของศาลในการพิจารณาคดีและในการทำคำวินิจฉัยต้องประกอบด้วย ตุลาการไม่น้อยกว่า 5 คน และคำวินิจฉัยของศาลให้มีผลในวันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำวินิจฉัยนั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น