ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - ตามส่องเหมืองทองหมื่นล้าน “อัครารีซอร์สเซส” เขตรอยต่อ 3 จว. พิจิตร-เพชรบูรณ์-พิษณุโลก หลัง ครม.สั่งงดต่ออายุ-ขีดเส้นให้ขนทองได้ถึงสิ้นปี 59 กลุ่มต้านฟันธงเป็นเขตอันตราย มีไซยาไนด์ สารหนู ปรอท เหล็กปนเปื้อน ทำคนป่วย-ตาย ขณะที่คนหนุนขุดข้อมูลโชว์ผลตรวจทุกเม็ด ยัน “อาหารทะเล” ทำสารหนูในคนพุ่ง
ตลอดระยะเวลานานกว่า 10 ปีทีเดียวที่เราได้เห็นการออกมาต่อต้านการทำเหมืองทองชาตรี หรือเหมืองทองอัครา ของบริษัท อัครารีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เขตรอยต่อพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ซึ่งผู้คนในพื้นที่สัมปทานเหมืองทองคำอัคราฯ ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน กลุ่มแรกยอมรับการสัมปทานเดินเข้าทำงานในเหมือง กลุ่มที่สองเป็นชาวบ้านที่ไม่ยอมรับการสร้างเหมือง ด้วยเหตุผลที่ไม่ยอมออกไปจากถิ่นฐานเดิมบริเวณเขาเจ็ดลูก ต.เขาหม้อ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
โดยกลุ่มต่อต้านเหมืองทองยืนยันว่าเหมืองทองสร้างผลกระทบให้แก่พวกเขาอย่างหนัก ทั้งการเวนคืนที่ดินและการเข้ามาครอบครองที่ดิน พื้นที่สาธารณะอย่างห้วย หนอง ถนน ที่ทำให้ชุมชนแตกสลาย โรงเรียนต้องหยุดเรียนแบบไม่ต้องประกาศปิดโรงเรียน อาหารการกินที่เคยได้จากป่าลดลง และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีต้นกำเนิดมาจากภูเขาในชุมชนถูกทำลายจนเหือดแห้ง
และที่สำคัญคือ ประเด็นปัญหาสารปนเปื้อนจากการทำอุตสาหกรรมเหมืองทองคำ คือ สารพิษไซยาไนด์ รั่วไหลออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โลหะหนัก-สารพิษ ในน้ำเกินมาตรฐาน และทำให้ผู้คนเจ็บป่วยล้มตาย
ซึ่ง ดร.สมิทธ ตุงคะสมิทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้าน 3 จังหวัด คือ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ จำนวน 1,004 คน ช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 58 ว่าพบสารปนเปื้อนในร่างกายเกินมาตรฐานเช่นเดียวกับผลตรวจปีก่อนหน้านี้
โดยพบแมงกานีสในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 420 คน หรือ 41.83%, มีสารหนูในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 196 คน หรือ 19.52%, มีไซยาไนด์ในร่างกายเกินเกณฑ์มาตรฐาน 59 คน หรือ 5.88% ทั้งนี้ ในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กพบแมงกานีสเกินมาตรฐาน 165 คน (55.56%) สารหนูเกินมาตรฐาน 53 คน (17.85%) และไซยาไนด์เกินมาตรฐาน 2 คน (0.67%)
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา น.ส.ธัญญารัศน์ สินทรธรรมทัศน์ แกนนำชาวบ้านฝ่ายต้านเหมือง ที่เดินหน้าเพื่อร้องเรียนและให้ข้อมูลต่อภาครัฐถึงพิษภัยเหมืองทองอย่างต่อเนื่อง จนทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติ ครม. 10 พ.ค. 59 งดต่ออายุการทำเหมือง ทำให้ใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด(มหาชน) หมดอายุลงในวันที่ 13 พ.ค. 59 โดยมติ ครม.ให้บริษัทดำเนินการถึงสิ้นปี 2559 เพื่อจัดการแร่ที่เหลือ และดูแลคนงานที่จะหางานทำใหม่ รวมทั้งไม่ต่อใบอนุญาตอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่แปลงใหม่ๆ ทั้งหมดอีกด้วย
นอกจากการสั่งยุติการทำเหมืองแล้ว ยังส่ง DSI ลงพื้นที่ตรวจสอบการขออนุญาตตั้งโรงงาน พื้นที่สัมปทาน การทำลายเส้นทางสาธารณะ และบ่อเก็บสารไซยาไนด์ที่มีการร้องเรียนว่าไม่ถูกต้อง และรั่วซึมออกมาสู่ชุมชนด้วย ซึ่งมีการยกคณะเข้าตรวจสอบเมื่อ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ทางเหมืองห้ามสื่อมวลชนเข้า
นายเทิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานกิจการภายนอก บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทให้ความร่วมมือต่อทุกฝ่ายที่จะเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่เนื่องจากกิจการทำเหมืองค่อนข้างอันตราย มีเครื่องจักร และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ดังนั้นการเข้ายังพื้นที่ควรได้รับอนุญาตก่อนเพื่อให้ทางบริษัทได้เตรียมพร้อมในการต้อนรับ เช่น ใส่ชุดที่มีความพร้อมในการเข้าไปในเขตเหมือง
กรณีที่มีดีเอสไอเข้าตรวจสอบในพื้นที่บริษัทได้ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และไม่มีทางที่จะคิดใช้อาวุธทำร้ายใครที่เข้ามาในเหมืองอย่างที่เป็นข่าวทางโซเชียลนำเสนออย่างแน่นอน ซึ่งวันต่อมา (25 มิ.ย.) ก็ได้อนุญาตให้สื่อมวลชนหลายแห่งเข้าเยี่ยมชมเหมือง และขั้นตอนการทำงานโดยละเอียด
ส่วนประเด็นที่มีข่าวออกมาเสมอจนเป็นเหตุทำให้รัฐบาลสั่งปิดเหมือง ทั้งการเก็บสะสมสารพิษคือ “ไซยาไนด์” ไว้ในบ่อเก็บกักกากแร่อย่างเข้มข้น และจำนวนมหาศาล พร้อมทั้งรั่วซึมออกมายังแหล่งน้ำธรรมชาติ, แรงสั่นสะเทือนของการระเบิดในเหมือง, ฝุ่นและสารพิษที่ลอยมาในอากาศปนเปื้อนในผักพื้นบ้านจนรับประทานไม่ได้ และเป็นสาเหตุให้มีผู้คนเจ็บป่วยล้มตาย อีกทั้งโรงงานยังบุกรุกพื้นที่ป่าถาวร ซึ่งเป็นที่ทำกิน-หาของป่าของชาวบ้าน ตัด-รื้อถอนเส้นทางสาธารณะทำให้ชาวบ้านสัญจรลำบากนั้น
นายสุรชาติ หมุนสมัน ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัทอัคราฯ กล่าวว่า อยากเริ่มตั้งแต่ประเด็นสุขภาพที่มีข้อพิพาทมานาน และทุกวันนี้ก็หนักขึ้น โดยอ้างว่า ผู้เสียชีวิตในชุมชนเกิดจากสารพิษ ตนอยากเสนอข้อมูลที่ถือว่าสำคัญมาก คือ ทางบริษัทมีการตรวจมาอย่างต่อเนื่อง และทางกรมอนามัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาตรวจ มีการตรวจหาสารหนูเดือนมกราคม และธันวาคม 2557 หลังจากนั้นมาตรวจทุก 3 เดือน
“คนที่มาตรวจสารหนูทุกครั้ง สองครั้งแรกมีคนเกินเกณฑ์ 100 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ครั้งแรกเกิน 20% ครั้งที่ 2 เกิน 14% เนื่องจากเราไม่เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข กรมควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (กภล.) สั่งให้ตรวจ เราก็ตรวจ”
เมื่อพบว่าสถิติเกินมาตรฐานมาก บริษัทฯ จึงไปปรึกษาทางสาธารณสุขผู้เชี่ยวชาญทางด้านพิษวิทยา พบข้อมูลว่า ถ้าจะตรวจสารหนูต้องงดอาหารทะเล เช่น ถ้ากินอาหารทะเลวันนี้ ตรวจพรุ่งนี้ค่าสารหนูที่อยู่ในปัสสาวะจะสูงมากเพราะในอาหารทะเลมีสารหนูมาก หลักๆ จึงได้แนะนำชาวบ้านงดอาหารทะเลก่อนตรวจ 2 วัน
จากนั้นได้ลองตรวจใหม่ โดยเตรียมชาวบ้านให้งดอาหารทะเล ผลการตรวจครั้งใหม่พบว่าส่วนใหญ่ไม่มีใครมีสารหนูเกินมาตรฐานเลย ในจำนวน 259 คนมีเกินอยู่ 9 คน สถิติลดลงเหลือ 3.5%, 2.1% ฯลฯ ตามลำดับ สรุปคือค่าตัวเลขสารปนเปื้อนสารหนูในร่างกายลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“ความจริงแล้วการงดอาหารทะเลเป็นระเบียบของการตรวจสารหนูของกรมควบคุมโรคอยู่แล้ว นอกจากนั้นยังพบว่าสารหนูยังมีอยู่ในยาหม้อ ยาหอมต่างๆ อีกด้วยก่อนตรวจต้องงดอย่างน้อย 48 ชั่วโมงด้วย” นายสุรชาติกล่าวย้ำ
ซึ่งการร้องเรียนของชาวบ้านไปยังรัฐบาลทำให้ คสช.มีคำสั่งให้หน่วยงานวิชาการมาตรวจสอบสารปนเปื้อนรอบเหมืองทอง ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นหัวหน้าชุดในการตรวจสอบ เมื่อเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2557 โดยไม่ได้ให้กลุ่มตัวอย่างงดอาหารทะเล พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน ส่วนหนึ่งใช้เกณฑ์มาตรฐานที่แตกต่างกัน ซึ่งจากข้อมูลทางวิชาการถ้ามีการกินอาหารทะเลจะมีค่าสารหนูในปัสสาวะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1,000 ไมโครกรัมต่อลิตรได้
ข้อมูลนี้เคยมีกลุ่มชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราฯ นำไปฟ้องศาลปกครองพิษณุโลก ว่าเหมืองเป็นต้นเหตุของสารปนเปื้อนต่างๆ นานา ศาลปกครองพิษณุโลกจึงตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ ที่ส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการในมหาวิทยาลัยนเรศวร เดินทางมาเก็บข้อมูลตัวอย่างน้ำ ตัวอย่างพืชผัก และตัวอย่างปัสสาวะ กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชาวบ้านรอบๆ เหมือง 30 คน และกลุ่มชาวบ้าน อ.โพธิ์ทะเล 30 คน เป็นการเปรียบเทียบ
ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างเขตรอบๆ เหมืองทองมีสารหนูเกินมาตรฐาน 10%, อ.โพธิ์ทะเลก็เกิน 10% แต่ถ้าคิดตามเกณฑ์มาตรฐานของ ม.รังสิต คนรอบเหมืองจะเกิน 27% อ.โพธิ์ทะเลเกิน 30% มากกว่ารอบๆ เหมืองเสียอีก
“ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นว่าคนไทยในประเทศไทยตรวจที่ไหนก็เจอสารหนูเหมือนกัน และจุดที่มีเปอร์เซ็นต์สูงคือปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน เช่น กินอาหารทะเลมาก การใช้ยา และพืชบางชนิดที่มีสารหนูอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว”
นายสุรชาติบอกว่า เราตรวจหาสารหนูในปัสสาวะคนรอบเหมือง 6 ครั้ง ค่าเฉลี่ยคือ 48 ไมโครกรัมต่อลิตร ถ้าดูกระทรวงสาธารณสุข ตรวจคนระยองในทุกอำเภอจำนวน 400 คน ค่าเฉลี่ยสารหนูในปัสสาวะของคนระยองมีมากถึง 71 ไมโครกรัมต่อลิตร
ขณะที่กรมอนามัยเคยมาตรวจน้ำประปารอบเหมือง 47 บ่อ พบว่ามีธาตุแมงกานีสเกิน 6 แห่ง คิดเป็น 12.7% เหล็กเกิน 8 แห่ง คิดเป็น 17% ในขณะที่ 3 จังหวัด คือ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก 6,000 แห่ง มีแมงกานีสเกิน 2,000 แห่ง คิดเป็น 33% เหล็กเกิน 3,000 แห่ง คิดเป็น 49%
ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าโลหะหนัก 2 ชนิดที่พบในน้ำรอบๆ เหมือง ที่อื่นๆ ก็มี และมีมากกว่าด้วย เพราะแมงกานีสกับเหล็กเป็นธาตุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากการทำเหมือง ถ้าจะดูในภาพรวมของภาคเหนือ เชียงใหม่ และลำปาง จะมีเหล็กปนเปื้อนในน้ำมากกว่าที่ 3 จังหวัดใกล้เหมืองอีก และที่สำคัญกรมอนามัยมาตรวจน้ำบริเวณรอบเหมืองไม่พบสารหนูในน้ำแต่อย่างใด
ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัทอัคราฯ มองว่า ความจริงแล้วคนที่ต่อต้านเหมืองทองพยายามนำมาโยงว่าสารเหล่านี้เกิดจากการปล่อยของเหมืองทอง แต่ข้อมูลของกรมอนามัยได้ระบุว่า แหล่งน้ำรอบๆ เหมืองไม่มีโลหะหนักเกินมาตรฐาน และไม่มีสารหนู มีเพียงแมงกานีส กับเหล็ก ซึ่งที่ไหนก็มี
ส่วนพืช-ผักในพื้นที่รอบเหมือง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เขต 3 จ.นครสวรรค์ ได้มาเก็บตัวอย่างจำนวน 205 ตัวอย่าง ไม่พบว่ามีสารหนูปนเปื้อนจนเกินเกณฑ์มาตรฐานในทุกตัวอย่าง นอกจากนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญที่แต่งตั้งโดยศาลปกครองพิษณุโลกได้เข้ามาเก็บตัวอย่างผักไปตรวจไซยาไนด์ หรือสารหนู แมงกานีส ปรอท ผลการตรวจไม่พบสารพิษเหล่านี้ปนเปื้อนแต่อย่างใด สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเหตุผลที่ศาลปกครองยกฟ้อง
กรณีฝุ่นละออง เสียงดัง และการสั่นสะเทือน ทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมเขต 3 กรมควบคุมมลพิษ, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก็เข้าตรวจสอบ พบว่าฝุ่น เสียง และการสั่นสะเทือนอยู่ในเกณฑ์ปกติทั้งหมด คณะผู้เชี่ยวชาญศาลปกครองก็มาตั้งเครื่องวัดที่บริเวณหน้าบ้านแกนนำผู้ประท้วง ผลก็ออกมาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน
ขณะที่นางอมรกานต์ เนาวแสง อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ 1 ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ หนึ่งในคนท้องถิ่นที่ทำงานในเหมืองทองอัคราฯ กล่าวว่า ในปี 2544 ทราบข่าวเหมืองทองเปิด และรับคนในชุมชนทำงาน จึงได้ออกจากงานที่ กทม.มาสมัครงานได้ทำงานห้องแล็บวิเคราะห์แร่ ซึ่งเป็นห้องทำงานที่เหมือนห้องทดลองวิทยาศาสตร์ ต้องใช้สารเคมี ใช้กรดไฮโดรครอลิก ใช้ไซยาไนด์ กรดไนตริก และบอแรกซ์ ทำกระบวนการวิเคราะห์แร่ เพื่อให้ทราบว่ามีปริมาณทอง และเงินในจุดที่ขุดมากน้อยเพียงใด
นางอมรกานต์บอกว่า ทำงานในห้องแล็บเหมืองทองอัคราฯ มา 12 ปี มีบุตรคนแรก ปัจจุบันมีบุตรคนที่ 2 ย้ายมาทำงานห้องเอกสาร เป็นการเก็บเอกสารในกระบวนการผลิต จึงคิดว่าเราอยู่ตรงหัวใจการผลิต เต็มไปด้วยสารเคมี แต่ที่ผ่านมาก็ยังมีสุขภาพดี เพราะบริษัทไม่ได้ให้ทำงานแบบเสี่ยงภัย แต่มีระบบป้องกันที่ดีมาก มีการตรวจสุขภาพประจำปี ส่งเลือดตรวจที่โรงพยาบาลรามาฯ ก็พบว่ามีค่าปกติ ไม่พบสารปนเปื้อนในร่างกาย
“พนักงานเหมืองสามารถทำงานในเหมืองได้จนอายุ 55 ปี ฉันยังมีเวลาอีกนานถึง 10 ปี เสียดายมากที่เหมืองต้องปิดกิจการ การไปทำงานที่อื่นคงต้องเริ่มต้นใหม่ และที่ทางราชการจัดหาให้เป็นงานเย็บผ้าในต่างอำเภอ เราคงลำบากมากถ้าเหมืองปิดจริงๆ”