ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสความขัดแย้งเรื่องการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยได้เขม็งเกรียวขึ้นอีกครั้ง เมื่อลุงสมคิด ธรรมพะเวส คนงานเหมืองทองคำที่ จ.พิจิตร ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งสันนิษฐานกันว่ามีสาเหตุมาจากโลหะหนักและสารไซยาไนด์จากเหมืองทองคำ เนื่องจากลุงสมคิดทำงานในแผนกขนสารไซยาไนด์ของเหมืองแห่งนี้มาเป็นเวลา 13 ปี
ประกอบกับก่อนหน้านี้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกมาประกาศนโยบายขยายพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจเพื่ออนุมัติใบอาชญาบัตร การสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบด้วย พิจิตร พิษณุโลก ลพบุรี เลย สตูล สระแก้ว สุราษฎร์ธานี จันทบุรี ระยอง สระบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ เพื่อเตรียมขยายพื้นที่ให้เอกชนเข้าสำรวจเพื่ออนุมัติใบอาชญาบัตรและได้สิทธิสัมปทานแหล่งแร่ทองคำ ก็ยิ่งทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่อต้านที่เล็งเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการทำเหมือง และฝ่ายสนับสนุนที่มองแต่รายได้เป็นตัวเงิน มากยิ่งขึ้น
ตามกำหนดเดิม กพร.จะจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำ ในวันที่ 15 และ 17 กันยายน 2558 แต่เมื่อกระแสคัดค้านแรงขึ้น กพร.จึงได้่ทำหนังสื่อด่วนลงวันที่ 8 ก.ย.2558 แจ้งผู้ว่าราชการทั้ง 12 จังหวัดขอยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความเห็นออกไปโดยไม่มีกำหนด และให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์นโยบายยังไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยังไม่รับทราบข้อมูล และที่ จ.พิจิตรมีประชาชนคัดค้านอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่มีกลุ่มชาวบ้านบางส่วน ยื่นเรื่องคัดค้านการจัดเวที เนื่องจากให้เหตุผลว่า การให้ข้อมูลของทาง กพร. เกี่ยวกับนโยบายการขยายพื้นที่สร้างเหมืองแร่ ยังไม่มีความชัดเจน และชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลรอบด้านต่อผลได้ผลเสียของเหมืองที่จะเกิดในพื้นที่อาศัย
ต่อมาวันที่ 16 ก.ย.ชาวบ้านใน อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ชาวบ้านที่เป็นพนักงานเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) หรือ ชื่อเดิม อัครา ไมนิ่ง จำกัด รวมถึงครอบครัวและชาวบ้านที่อยู่รอบๆ เหมืองจำนวนประมาณ 1 พันคน ได้ไปชุมนุมรวมตัวกันที่บริเวณหน้าเหมืองที่ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร โดยมีการเรียกร้องขอให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนโยบายทองคำเพื่อที่จะให้เหมืองทองอัคราสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ พร้อมกับมีการล่ารายชื่อสนับสนุนเหมืองแร่ทองคำ โดยอ้างว่าเหมืองแร่ทองคำทำให้ชาวบ้านมีงานทำ รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีและกระจายสู่ท้องถิ่น จนทำให้เกิดพัฒนาที่เป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยมีนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส ออกมาร่วมชุมนุมด้วย
แต่ถัดมาอีกวันเดียว ฝ่ายต่อต้านก็เคลื่อนไหวบ้าง โดยกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ประมาณ 150 คน นำโดยนายณัฐพงษ์ แก้วนวล ได้เดินทางไปรวมตัวกับกลุ่มผู้คัดค้านเหมืองแร่ทองคำ ซึ่งนำโดยนางอารมย์ คำจริง จาก จ.พิษณุโลก นางสาวสื่อกัญญา ธีระชาติดำรง จาก จ.พิจิตร นางวันเพ็ญ คมรังสรรค์-นางรำพึง ดอนประดู่ จาก จ.สระบุรี จากนั้นได้ใช้รถยนต์กระบะจำนวน 5 คัน ติดป้ายต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ นำขบวนรถอีกกว่า 30 คันขับผ่านโรงงานเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซสฯ ที่บริเวณหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ตำบลเขาเจ็ดลูก อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ก่อนที่จะแยกย้ายกลับภูมิลำเนาในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น วันที่ 22 กันยายน ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ฝั่ง ก.พ. เมื่อเวลา 08.30 น. กลุ่มชาวบ้านที่ต่อต้านเหมืองแร่ทองคำ ในนามตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสำรวจแร่ทองคำและทำเหมืองทองคำใน 12 จังหวัด และกลุ่มประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) กว่า 300 คน นำโดยนายวินัย อินถา ประธานสภาองค์กรสภาชุมชน ต.วังยาง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก นางวันเพ็ญ พรหมรังสรรค์ และนายณัฐพล แก้วนวล พร้อมทั้งชาวบ้านจาก จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิจิตร เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อคัดค้านและให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง เพิกถอนประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษที่เกี่ยวข้องกับแร่ทองคำโดยทันที ทั้งนี้ได้แนบรายชื่อประชาชน 27,522 รายชื่อมาด้วย
นอกจากนี้ ปปท.ขอเรียกร้องให้ตรวจรักษาสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างละเอียด และชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง และพิจารณาต้นทุนที่ผลักภาระให้สังคมทั้งหมดจากการทำเหมืองแร่ทองคำโดยให้เป็นภาระต้นทุน ค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการทำเหมืองแร่ทองคำและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ขอให้ยกเลิก พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510 และยกเลิกร่างแก้ไข พ.ร.บ.แร่ ที่อยู่ระหว่างหรือผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานกฤษฎีกาหรือผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากจะมีช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการทุจริต มีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อ ดิน น้ำ ป่า สุขภาวะของชุมชนรวมถึงความยั่งยืนของผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนี้ระหว่างที่กำลังจะปิดเหมืองทองคำหรือปิดไปแล้ว หากมีประชาชนได้รับผลกระทบในทางสุขภาพและวิถีชีวิตต้องได้รับการเยียวยาโดยทันที เพื่อให้มีหลักประกันว่าประชาชนจะไม่ถูกหลอกจากกลุ่มทุนเหมืองทองคำ รวมถึงกำหนดแผนฟื้นทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า รอบๆ เหมืองทองคำ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในวันนั้น นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางมารับข้อเสนอของ ปปท. โดยตัวแทนกลุ่ม ปปท.ได้มอบรายชื่อประชาชนที่คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 27,522 รายชื่อ และเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใน 15 วัน หากยังไม่มีความชัดเจน ทางกลุ่มจะยกระดับการชุมนุมและกลับมาทวงถามข้อเรียกร้องอีกครั้ง พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีพูดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติที่จะออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ หรือโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับทางกลุ่ม
หลังจากกลุ่มชาวบ้านผู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ทองคำยื่นหนังสือแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า กำลังทบทวนเรื่องดังกล่าวอยู่ เป็นเรื่องเดิมอยู่แล้ว รวมทั้งเรื่องที่ดินแปลงเก่าแปลงใหม่ที่ยังติดเรื่องข้อกฎหมาย เช่น การต่อสัญญา รวมถึงจะต้องทบทวนเรื่องของผลกระทบที่ผ่านมา ประชาชนต้องการอะไร เรียกร้องอะไร ฉะนั้นต้องไปแก้ทั้งระบบ อย่างไรก็ตามจะยังไม่มีการเปิดเหมืองทองคำเพิ่ม
“ก็ทำอย่างนี้จนกว่าจะเรียบร้อย ถ้าไม่เรียบร้อยก็เปิดไม่ได้ ถ้ามันมีปัญหาก็ปิดเท่านั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำ
และคงต้องแปะข้างฝาเอาไว้ เพื่อติดตามดูว่าในวันข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงจุดยืนเดิม หรือจะปรับเปลี่ยนไปตามแรงชักจูงของฝ่ายทุน