xs
xsm
sm
md
lg

แฉวิธีการจ่ายใต้โต๊ะนักการเมือง เรียกผลประโยชน์ทำธุรกิจเหมือง!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ประกอบการเหมือง แฉวิธีการเรียกใต้โต๊ะของนักการเมือง-ข้าราชการ ในการออกอาชญาบัตรและประทานบัตร ของกระทรวงอุตสาหกรรม ง่ายนิดเดียว แค่โยนเรื่องไปดองในมือบิ๊กราชการ ภาคเอกชนก็ยอมจ่าย ‘3-10 ล้าน ขึ้นอยู่ที่ความยาก-ง่ายของพื้นที่ ขณะที่ ‘กพร’ จ้างธรรมศาสตร์ ศึกษายกร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่ เสนอให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พร้อม ‘ ลดอำนาจ-ผลประโยชน์’ ที่รัฐมนตรีเคยผูกขาด ชี้การทำธุรกิจเหมือง มีต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องจ่ายบิ๊กหลายกระทรวง!
เหมืองทองคำที่พิจิตร
กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหนึ่งในหน่วยงานเป้าหมายที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความสำคัญเพราะมีหน่วยงาน และโครงการที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยตรง อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ได้รับการร้องเรียนเรื่องความล่าช้าในการออกใบอนุญาตให้กับภาคเอกชน โดยเฉพาะการออกอาชญาบัตรและออกประทานบัตร ในการทำเหมืองแร่ ซึ่งอำนาจในการอนุมัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 จะอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงคนเดียว

“มีหลายเรื่องผ่านขั้นตอนมาเรียบร้อยแล้ว แต่รัฐมนตรีไม่เซ็นให้จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ถ้าใครอยากได้เร็วก็ต้องวิ่งเต้นกันไป เป็นที่รู้กันในกระทรวงอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการเหมืองว่าใบประทานบัตรมีราคาสูง หากไม่อยากให้ธุรกิจมีปัญหาก็ต้องรู้ว่าควรทำอย่างไร”

ขณะเดียวกันมีแนวคิดและความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการกระจายอำนาจไม่ให้กระจุกตัวอยู่ที่รัฐมนตรีเพียงคนเดียวมาหลายครั้งแล้ว แต่ยังไม่ทันที่จะมีการชงเรื่องไปถึงรัฐมนตรีก็ต้องแท้งไปเสียก่อน

“จริงๆ รัฐมองเห็นว่า พ.ร.บ.แร่มีปัญหาและอุปสรรคอยู่หลายมาตรา และไม่ได้มุ่งจะแก้หรือลดอำนาจรัฐมนตรีเท่านั้น แต่เรื่องอำนาจรัฐมนตรีมันเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า เป็นการไปลิดรอนอำนาจฝ่ายการเมืองที่มันมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง จึงทำให้ข้าราชการในกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมือนแร่ ที่เป็นเจ้าของเรื่องต้องยุติไป เพราะรู้ว่าแค่จะนำเสนอก็ตกม้าตายก่อนแล้ว”

ธุรกิจเหมืองแร่รอ ‘คสช.’

อย่างไรก็ดีการที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีการเสนอตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ใหม่ รวมไปถึงให้เร่งแก้ไขปัญหาการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือ ร.ง. 4 โดยให้ลดเวลาดำเนินงานจากเดิม 90 วันเหลือ 30 วัน และให้มีการตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับผู้ลงทุนและผู้ประกอบการให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ เป็นเรื่องที่ภาคเอกชนยินดีอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้การขับเคลื่อนของภาคเอกชนรวดเร็วขึ้น ที่สำคัญไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนต้องสูงขึ้นเพราะไปเสียเวลากับการติดขั้นตอนในการออกใบอนุญาตนั่นเอง
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช.
สำหรับศูนย์ดังกล่าวจะมีหน้าที่ให้ข้อมูลผู้ที่จะขอตั้งโรงงานว่าจะต้องมีการตรวจสอบอะไรบ้าง เช่น เรื่อง แบบแปลนโรงงาน วิธีกำจัดมลภาวะ เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อมีความพร้อมทุกด้านแล้วค่อยมานำเสนอกับกรมโรงงาน และจะมีบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบให้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้ลดเวลาการอนุมัติได้ไม่เกิน 30 วัน ส่วนยอดการขอใบ ร.ง.4 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานไม่เกินเวลา 90 วัน มีจำนวนประมาณ 200 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลางและเล็ก

ด้านแหล่งข่าวจากภาคเอกชนระบุว่า สิ่งที่ คสช.ดำเนินการนั้นนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดการปัญหาให้กับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในส่วนของกรมโรงงานและสำนักงานบีโอไอ แต่ยังมีปัญหาในส่วนของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ (กพร.) ที่ภาคเอกชนต้องประสบเช่นเดียวกันในการขออนุญาตทำธุรกิจเหมืองแร่ ซึ่งในการทำธุรกิจเหมืองแร่นั้น จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510

โดยนักธุรกิจเหมืองแร่ก่อนจะเข้าสำรวจพื้นที่ได้นั้นต้องยื่นขออาชญาบัตร ซึ่งมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ 1.อาชญาบัตรสำรวจแร่ ซึ่งเป็นแบบทั่วไปสำหรับผู้ที่สนใจไปสำรวจหาแหล่งแร่ 2.อาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ จะเป็นการผูกขาดสำรวจแร่ในพื้นที่นั้น โดยมิให้บุคคลอื่นมาทำการสำรวจแร่ซ้ำซ้อนได้อีก เรียกง่ายๆ เป็นการตีตราจองพื้นที่บริเวณนั้นไปทันที 3.อาชญาบัตรพิเศษ จะเป็นกรณีที่ขอพื้นที่สำรวจมากขึ้นกว่าปกติ และจะต้องมีการเสนอผลประโยชน์พิเศษให้กับรัฐซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

“ผู้ที่จะขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่และอาชญาบัตรพิเศษต้องยื่นผ่านเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ ตามขั้นตอนจนมาถึงผู้ออกใบอาชญาบัตรซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีเช่นกัน”

ตรงนั้นเป็นเพียงขั้นตอนการขออาชญาบัตร และจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการขอประทานบัตรเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจเหมืองได้ตามที่มีการยื่นขอต่อไป

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ผ่านมาพบว่าในขั้นตอนของการขออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่และอาชญาบัตรพิเศษก็ล่าช้า และยากมาก กว่าที่อาชญาบัตรดังกล่าวจะคลอดออกมาได้ ซึ่งอาจเรียกว่าต้องใช้เวลาพอๆ กับการขอประทานบัตร เพราะนอกจากจะผ่านขั้นตอนหลายหน่วยงานทั้งกรมป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ท้องถิ่นที่เป็นผู้ดูแลในชุมชนนั้นๆ ซึ่งบางรายฟันฝ่ามาจนถึงกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แต่อาจจะตกม้าตายตรงรัฐมนตรีได้เพราะไม่ลงนามอนุญาตนั่นเอง

“ช่วงขั้นตอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ผู้ประกอบการทำใจได้เพราะเป็นเรื่องของการดูแลไม่ให้เกิดความเสียหายกับทุกฝ่าย แต่เมื่อมีการติดตามเรื่องรู้ว่ามาถึงตรงไหนแล้วออกไม่ได้จึงเป็นเรื่องทีไม่รู้ทำอย่างไร”

ทั้งนี้หากผู้ประกอบการไม่สามารถจัดหาใบอนุญาตสำรวจหรืออาชญาบัตรตามที่ต้องการได้แล้วก็ไม่สามารถยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำธุรกิจเหมืองได้เช่นกัน

ดังนั้นการที่ภาครัฐเร่งดำเนินการออกใบอนุญาต หรืออนุมัติอาชญาบัตรและประทานบัตรได้จะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อ คสช.เข้ามาดำเนินการและมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการผลักดันโครงการก่อสร้าง ถนน รถไฟรางคู่ แผนการขยายและปรับปรุงสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเพิ่มปริมาณรองรับผู้โดยสาร จาก 45 ล้านคนต่อปี เป็น 80 ล้านคนต่อปี รวมไปถึงโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งล้วนแต่ต้องการนำแร่ชนิดต่างๆ ไปใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิต เช่นการผลิตปูนซีเมนต์ก็ต้องรับหินมาจากเหมืองหิน ส่วนวัสดุตกแต่งเช่น กระเบื้อง แก้ว กระจก อิฐบล็อก ก็ต้องใช้ทรายแก้วที่รับจากเหมืองทรายแก้ว เป็นวัสดุตั้งต้นเช่นเดียวกัน

ข้าราชการน้ำดี ยอมรับเอกชนจ่ายหัวถึงหาง

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผู้ประกอบการเหมืองแร่จะเข้ามาบ่นให้เจ้าหน้าที่ฟังอยู่บ่อยๆ ว่า แต่ละยุคแต่ละสมัยที่นักการเมืองเข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีสิ่งหนึ่งที่ทำเหมือนกัน หรือเรียกว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ก็คือการดึงเรื่องการออกอาชญาบัตร และประทานบัตร ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยตรง และวิธีการดึงเรื่องที่ทำกันมาตลอดก็คือ การใช้วิธีการส่งเรื่องไปถามหน่วยงานต้นสังกัดกันใหม่ หรือบางทีก็ดองไว้ในห้องรัฐมนตรีไม่มีการเซ็นออกมา แต่ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลใดและถ้าไปสอบถามก็จะมีคำตอบเดียวว่ายังไม่เซ็นออกมา

“เดี๋ยวนี้จ่ายหนักกว่าเดิม จ่ายกันทุกขั้นตอน กว่าจะออกใบอนุญาต เพราะการจะออกประทานบัตร มีหน่วยงานเกี่ยวข้องหลายกรม หลายกระทรวง ป่าไม้ก็ใช่ สิ่งแวดล้อมก็ใช่ ท้องถิ่นก็ต้องจ่าย มาถึงกรมเหมืองแร่ ก็ต้องมีการดูแลกัน ไปถึงห้องรัฐมนตีก็ยิ่งหนัก เรียกว่าวันนี้ภาคเอกชนต้องดูแลตั้งแต่เด็กจนถึงระดับสูง”

โดยที่ผู้ประกอบการเหมืองแร่บอกว่า ในความเป็นจริงเจ้าหน้าที่ กพร.รู้ว่าปัญหาในการออกอาชญาบัตรและประทานบัตรล่าช้าหรือมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และอะไรเป็นเรื่องที่ล้าสมัยควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง เพราะ พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ออกมานานแล้วถึงแม้ว่าจะมีการออกประกาศเพิ่มเติมมาบังคับใช้ก็ตาม แต่ก็ควรอย่างยิ่งที่จะมีการยกร่างกันใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด

ส่วนผู้ประกอบการเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการแก้ไข หรือยกร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นมากนัก เพราะรู้อยู่ว่าถ้าเป็นช่วงสถานการณ์ปกติจะแก้กฎหมายตัวนี้เป็นเรื่องที่ยากมากเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการเร่งด่วนที่สุดเวลานี้ คือทำอย่างไรก็ได้ให้การอนุญาต อนุมัติ เป็นไปด้วยความรวดเร็วไม่ใช่มีการแช่แข็งกันเป็นปีๆ เหมือนที่ผ่านมา

เตรียมยกร่างกฎหมาย ลดอำนาจรัฐมนตรี

อย่างไรก็ดี กพร.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยแร่เสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการตัดสินใจของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรมจะดำเนินการเสนอร่างแก้ไขฉบับดังกล่าวหรือไม่

“ปัจจุบันมีผลการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาแสดงให้เห็นข้อดีและข้อเสียของ พ.ร.บ.แร่ปี 2510 พร้อมกับแนวทางในการปรับปรุงที่ชัดเจน และถ้ากรมเร่งเสนอร่าง หรือออกประกาศใหม่ให้ได้ในช่วงก่อนจะมีรัฐมนตรีใหม่ทีมาจากการเมืองก็น่าจะผ่านได้ง่ายกว่าในยุคก่อนๆ จะเสนออะไรไปก็ถูกคัดค้านจากฝ่ายการเมือง”

โดยสาระสำคัญของร่างฉบับนี้ที่น่าสนใจก็คือ มีการนำเสนอให้มีการกระจายอำนาจออกไปซึ่งเท่ากับเป็นการลดอำนาจและผลประโยชน์ในการออกอาชญาบัตรและประทานบัตรของรัฐมนตรีที่มีส่วนสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุของการออกใบอนุญาตล่าช้า เช่นกรณีของอาชญาบัตรสำรวจแร่ ไม่ได้ใช้วิธีการซับซ้อน จึงไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรง และไม่ได้มีการกีดกันผู้สำรวจรายอื่นในพื้นที่เดียวกัน จึงไม่จำเป็นต้องให้เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคเป็นผู้ออกอาชญาบัตรดังกล่าว แต่ควรจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตสำรวจแร่นั่นเอง

ส่วนการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่นั้น พ.ร.บ.แร่ ปี 2510 ระบุชัดว่าให้อำนาจรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นผู้มีอำนาจออก บทบัญญัตินี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความล่าช้าเกินความจำเป็นในการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่ เพราะในทางปฎิบัติต้องมีการผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอนมาแล้ว และเป็นแค่เรื่องของการสำรวจแร่เท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งใบอนุญาตมีอายุแค่ 1 ปี ซึ่งในงานการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้ระบุว่า ควรเป็นอำนาจของใคร เพียงแต่บอกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นอำนาจของรัฐมนตรีเท่านั้น ส่วนแนวโน้มที่มีการหารือกันนั้น อาจเสนอให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ เป็นผู้มีอำนาจในการออกอาชญาบัตรดังกล่าว

โดยในการออกอาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่นั้น แหล่งข่าวในกระทรวงอุตสาหกรรม อธิบายว่า ได้มีข้อถกเถียงกันแต่เห็นว่าในข้อเท็จจริงไม่จำเป็นต้องให้รัฐมนตรีเป็นผู้ออกอาชญาบัตรดังกล่าว เพราะเป็นแค่การสำรวจ แต่ก็ควรส่งเสริมให้มีการสำรวจเพื่อจะเป็นประโยชน์กับรัฐโดยตรงที่จะมีข้อมูลในเรื่องของจำนวนแร่ที่ชัดเจน และเห็นควรจะให้มีการกระจายอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ หรือ อธิบดี ก.พ.ร.เป็นผู้ออกอาชญาบัตรผูกขาดนี้ โดยมีการระบุเวลาในการดำเนินงานที่ชัดเจน เพราะอาชญาบัตรประเภทนี้เป็นการกีดกันผู้ประกอบการรายอื่นไม่ให้เข้ามาสำรวจได้

“ในร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ ก็คงมีกำหนดให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ในการออกอาชญาบัตรสำรวจแร่ได้ เพราะในพื้นที่กรมเหมืองแร่ก็มีหน่วยงานในภูมิภาคที่จะคอยช่วยเหลือทางวิชาการให้แก่ท้องถิ่นอยู่แล้ว”

ส่วนในการออกอาชญาบัตรพิเศษที่กำหนดไว้ในการศึกษานั้น คาดว่าจะยังคงให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีเพราะเป็นการผูกขาดในการสำรวจแร่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีผลเป็นการกีดกันบุคคลอื่นไม่ให้ทำการสำรวจแร่ในบริเวณเดียวกัน ส่วนเรื่องการต่อใบอนุญาตเมื่อครบอายุ 5 ปีนั้น ของเดิมจะไม่ให้มีการต่อ แต่การศึกษาครั้งนี้เห็นว่าบทบัญญัตินั้นไม่เหมาะสม เพราะการสำรวจแร่ตามการออกอาชญาบัตรพิเศษ เป็นการสำรวจพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน

ขณะที่การออกประทานบัตร ซึ่งเป็นใบอนุญาตในการทำเหมืองนั้น ใน พ.ร.บ.แร่ปี 2510 กำหนดให้รัฐมนตรีเท่านั้นเป็นผู้มีอำนาจในการออกประทานบัตรในการทำเหมืองทุกประเภท ซึ่งบทบัญญัตินี้ให้อำนาจรัฐมนตรีมากเกินไป และเป็นอุปสรรคสำคัญในการออกประทานบัตรล่าช้า จึงมีการเสนอให้มีการแบ่งแยกอำนาจการออกประทานบัตร ตามประเภท ขนาด ผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม วิธีการทำ รวมไปถึงมูลค่าของเหมือง เป็นต้น

“การแบ่งแยกอำนาจ ควรจะมีความชัดเจน ที่ผ่านมาการทำเหมืองขนาดเล็ก ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรง ก็ต้องมานั่งรอการอนุญาตจากรัฐมนตรีซึ่งใช้เวลานานมาก ซึ่งในทางปฏิบัติผ่านมาหลายขั้นตอน จึงเป็นการสร้างภาระ และเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเกินความจำเป็นเกินไป”

นอกจากนี้ พ.ร.บ.แรปี 2510 ยังมีบทบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐมนตรีไว้ โดยผู้ถือใบอาชญาบัตรต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีสิทธิ์ในที่ดินก่อนเข้าไปทำการสำรวจแร่ในแปลงที่ดินดังกล่าวก็ตาม แต่หากเกิดกรณีที่ผู้ถืออาชญาบัตรผูกขาดสำรวจแร่หรืออาชญาบัตรพิเศษได้รับความยินยอมจากเจ้าของทีดินเดิมแล้วก็ตาม แต่หากเจ้าของที่ดินเดิมได้ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้บุคคลอื่นโดยสุจริต จากนั้นเจ้าของที่ดินรายใหม่อาจไปยื่นเรื่องขอประทานบัตรในที่ดินแปลงดังกล่าวก็ได้

กรณีดังกล่าวนี้จะเกิดปัญหาตามมา ว่าใครคือผู้มีสิทธิ์ถูกต้องที่จะทำเหมือง ซึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ปี 2510 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าบุคคลใดมีสิทธิ์ดีกว่ากัน ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของผู้มีอำนาจออกประทานบัตร ซึ่งก็คือ รัฐมนตรีนั่นเองที่จะเป็นผู้ชี้ขาด

ขณะเดียวกันในการขอออกประทานบัตรจะขอได้ไม่เกินคำขอละสามร้อยไร่ ยกเว้นการขอประทานบัตรทำเหมืองในทะเลและการขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ซึ่งตามมาตรา 45 กำหนดว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมมีอำนาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรสำหรับการทำเหมืองใต้ดินไม่เกินรายละหนึ่งหมื่นไร่ และสำหรับการทำเหมืองในทะแลรายละไม่เกินห้าหมื่นไร่ เป็นรายบุคคล แต่ก็ยังมีการบัญญัติไว้อีกว่ากรณีเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ รัฐมนตรีอุตสาหกรรม โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีอาจกำหนดเขตเหมืองแร่ให้แก่ผู้ขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน หรือสำหรับทำเหมืองในทะเลเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็ได้

ในส่วนของอายุประทานบัตรที่กำหนดไว้ไม่เกินยี่สิบห้าปีนับแต่วันออก ในกรณีที่ผู้ขอประทานบัตรได้รับประทานบัตรชั่วคราวอยู่ก่อนแล้ว ให้นับอายุประทานบัตรเริ่มต้นแต่วันออกประทานบัตรชั่วคราวฉบับแรก แต่ทั้งนี้การจะกำหนดอายุประทานบัตรว่าควรให้ 25 ปีหรือน้อยกว่าก็ให้อยู่ที่ดุลพินิจของรัฐมนตรีอีกเช่นกัน

“ถ้ารัฐมนตรีเห็นควรไม่ให้ต่ออายุประทานบัตร ผู้ประกอบการก็ต้องหยุดดำเนินการทันทีเช่นกัน”
โรงโม่หินเพชรสมุทร จังหวัดเพชรบุรี
วิธีเรียกใต้โต๊ะนักการเมือง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเหมืองแร่เล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้แต่ละบริษัทที่ทำธุรกิจเหมือง ธุรกิจก่อสร้าง หรือภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับแร่ จะต้องวิ่งหาเส้นสายหรือเส้นทางกันให้ถูกว่า แต่ละเรื่องจะต้องใช้ใครเป็นผู้ไปติดต่อ “ผู้มีอำนาจ” แต่ละกระทรวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจด้านนี้ โดยเฉพาะรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ซึ่งมีอำนาจออกอาชญาบัตรและประทานบัตรเพราะไม่เช่นนั้นใบอนุญาตไม่มีทางออกมาได้ง่ายๆ แช่กันอยู่อย่างนั้น ผ่านไป 1 ปี 2 ปี หรือบางราย 10 ปี ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

“วิธีการแช่ของนักการเมืองดูจะเป็นเรื่องง่ายๆ ถ้าเราไม่วิ่งไปหา เขาก็จะตีกลับไปให้ปลัดกระทรวง แล้วปลัดส่งไปให้อธิบดี ส่วนอธิบดีก็ส่งไปให้หัวหน้าฝ่าย ส่งกันไปเป็นทอดๆ โดยที่ความจริงอาจไม่มีการแก้อะไรเลย หรือถ้าแก้ก็เล็กๆ น้อย เพื่อดึงเวลาใบอนุญาต จนกว่านักธุรกิจทำตามที่เขากำหนด”

ขณะที่รัฐมนตรีก็วางตัวเสมือนหนึ่งไม่ได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องสืบกันเองเพื่อให้รู้ว่าใครคือ ‘“ผู้แทน” ตัวจริงที่เรายอมให้ตามเงื่อนไขแล้วผ่านไปถึงมือนักการเมืองแน่นอน ส่วนผลประโยชน์ที่เขาต้องการนั้น จะต้องจ่ายกันตามชั้นคุณภาพลุ่มน้ำซึ่งมีด้วยกัน 5 ชั้นคือ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1- 5 โดยลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ-บี จะต้องจ่ายสูงที่สุด ส่วนลุ่มน้ำธรรมดาก็จ่ายน้อยลงมาตามลำดับความสำคัญของลุ่มน้ำที่ได้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรทำเหมือง

ในการจ่ายผลประโยชน์กันนั้นนอกจากจะพิจารณาจากคุณภาพลุ่มน้ำแล้ว ยังต้องพิจารณาจากขนาดและชนิดของเหมืองแร่ โดยจ่ายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทั้งหมดเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 3-10 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่ายของพื้นที่นั่นเอง

“เดี๋ยวนี้จ่ายหนักกว่าเดิม จ่ายมากกว่าเดิม มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเยอะมาก กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ กระทรวงอุตฯ มีกรมเหมืองแร่ ยังมีท้องถิ่น ทุกหน่วยงานต้องจ่ายชนิดไม่มีใบเสร็จ ”

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการเหมืองต้องการในเวลานี้ก็คือการเร่งดำเนินการออกอาชญาบัตรและประทานบัตรที่ค้างอยู่โดยเร็ว เพราะจะเป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมเดินหน้าได้ โดยเฉพาะหากไม่สามารถทำเหมืองหินได้ และจะทำให้อุตสาหกรรมหินขาดแคลน กระทบถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามที่ คสช.ประกาศโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจไว้แน่นอน

กำลังโหลดความคิดเห็น