“เอสเอ็มอีแบงก์” เผยคืบหน้าสินเชื่ออุ้ม SMEs ฝ่าวิกฤต วงเงินรวม 8 พันล้านบาท เงื่อนไขให้หน่วยงานพันธมิตรส่งสมาชิกป้อนเข้าโครงการได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งด้านผ่อนคลายเกณฑ์อนุมัติและอัตราดอกเบี้ยพิเศษ คาดคลอดภายใน 1-2 เดือน
นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) เปิดเผยต่อ “ผู้สื่อข่าว SMEs ผู้จัดการออนไลน์” ว่า หลังจากที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้หารือร่วมกับ 21 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากผลกระทบภายนอก โดยโครงการดังกล่าวต้องการเน้นให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
หลังการหารือได้แนวทางว่า ทางเอสเอ็มอีแบงก์จะจัดสรรวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการนี้จำนวน 8,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ก้อน ได้แก่ 3,000 ล้านบาทเน้นวัตถุประสงค์เป็นสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ 5,000 ล้านบาทเน้นเป็นสินเชื่อแก่ธุรกิจตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจสีเขียว และธุรกิจเพื่อสังคม เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางสนับสนุนนั้น ทางหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ จะคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นสมาชิกของตัวเอง ซึ่งมีความจำเป็นต้องการสินเชื่ออย่างเร่งด่วน และมีวัตถุประสงค์ตรงตามเจตนาของโครงการส่งมาเข้าโครงการดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวจะได้รับสิทธิพิเศษ ผ่อนปรนเงื่อนไขในการอนุมัติสินเชื่อ และจะได้รับการช่วยเหลือจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ด้านค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการได้รับสินเชื่อได้งานขึ้น
นายสุรชัยเผยต่อว่า ในส่วนวงเงิน 3,000 ล้านบาทนั้นจะเป็นวงเงินเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยแนวทางเบื้องต้นจะเป็นดอกเบี้ยอัตราพิเศษแต่จะอยู่ในอัตราเท่าใดนั้นต้องหารือสรุปกันอีกครั้งหนึ่ง ส่วนวงเงินปล่อยกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาผ่อนชำระภายใน 5-7 ปี
ส่วนวงเงิน 5,000 ล้านบาท จะเป็นโครงการระยะต่อไป เงื่อนไขจะผ่อนปรนเกณฑ์อนุมัติเช่นกัน แต่จะแตกต่างกันเรื่องของวงงินปล่อยกู้ และอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อสรุปถึงรายละเอียดต่างๆ เมื่อได้แล้วจะเสนอต่อไปยังบอร์ดใหญ่ของเอสเอ็มอีแบงก์เพื่อพิจารณาอนุมัติ หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการได้ทันที คาดไม่เกิน 1-2 เดือนนับจากนี้
ด้านนายวิเชษฐ วรกุล รองผู้จัดการทั่วไป สายงานธุรกิจ บสย. เปิดเผยว่า สำหรับการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการนี้ ทาง บสย.จะให้สิทธิพิเศษ โดยแบ่งกลุ่มเอสเอ็มอีที่ดำเนินธุรกิจมาไม่เกิน 3 ปีจะยกเว้นค่าธรรมเนียมให้ 1 ปี ภายใต้เงื่อนไขค้ำประกันรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนเอสเอ็มอีรายที่ไม่เข้าเงื่อนไขดังกล่าวจะไปใช้เงื่อนไข PGS 5 ซึ่งคิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% โดยสามารถค้ำประกันเงินกู้ได้สูงสุด 40 ล้านบาทต่อราย
สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการกับเอสเอ็มอีแบงก์ ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 3. กรมโรงงานอุตสาหกรรม 4. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 6. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 7. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 8. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 9. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10. สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 11. สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย 12. สถาบันยานยนต์ 13. สถาบันพลาสติก 14. สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 15. สถาบันไทย-เยอรมัน 16. สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 17. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 18. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 19. สถาบันอาหาร 20.สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และ 21. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *