xs
xsm
sm
md
lg

คลายเกณฑ์ปล่อยกู้! “เอสเอ็มอีแบงก์” ผนึก 21 หน่วยงาน อุ้ม ผปก. ถึงแหล่งเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอสเอ็มอีแบงก์  ร่วมลงนามกับหน่วยงานพันธมิตร 21 แห่ง
“เอสเอ็มอีแบงก์” รับบทเจ้าภาพ ประสานหน่วยงานในสังกัด ก.อุตสาหกรรม และ บสย. หาแนวทางอุ้ม ผปก.เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้นช่วยเสริมสภาพคล่องฝ่าวิกฤต ระบุหาช่องทางคลายเกณฑ์ปล่อยกู้ ไม่ต้องยึดหลักทรัพย์อย่างเดียวอีกต่อไป ระบุตั้งเป้าปล่อยกู้ 8,000 ล้านบาท คาดเริ่มได้หลังเดือน พ.ค.

ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในการเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ โครงการสินเชื่อเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่เอสเอ็มอีได้รับผลกระทบการดำเนินธุรกิจ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดที่มีหน้าที่ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ได้หารือแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีร่วมกัน โดยเฉพาะด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน และช่วยเหลือให้รวดเร็วและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพ

สำหรับหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ กับเอสเอ็มอีแบงก์ ประกอบด้วย 1. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ 3. กรมโรงงานอุตสาหกรรม 4. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 5. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 6. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย 7. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม 8.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 9. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10. สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ 11. สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย 12. สถาบันยานยนต์ 13. สถาบันพลาสติก 14. สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 15. สถาบันไทย-เยอรมัน 16. สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ 17. สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 18. สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 19. สถาบันอาหาร 20.สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย และ21. บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง เข้าร่วมด้วย

ดร.วิฑูรย์ กล่าวต่อว่า แนวทางการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้นนั้น ได้มอบนโยบายว่า นอกจากจะคำนึงเรื่องหลักทรัพย์ค้ำประกันแล้ว ควรพิจารณาแนวทางอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญหา ความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการ การบริหารจัดการที่ดี ตลอดจนด้านเป็นธุรกิจเพื่อสังคม และธุรกิจสีเขียว เป็นต้น
นางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์
ด้านนางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ จะทำในลักษณะที่ให้หน่วยงานที่ร่วมโครงการ คัดสรรหาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่หน่วยงานของตนรับผิดชอบอยู่ ซึ่งควรเป็นรายที่มีคุณภาพ และต้องการแหล่งเงินทุน ให้ส่งต่อมายังเอสเอ็มอีแบงก์ เพื่อจะได้รับสินเชื่อ ขณะเดียวกันจะมีการส่งต่อเอสเอ็มอีรายต่างๆ ให้ได้รับการพัฒนาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้ทาง บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้ ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะทำให้เอสเอ็มอี เข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเป็นรูปธรรม และเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น

“ความร่วมมือครั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ จะมีส่วนร่วมให้ผู้ประกอบการทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุน และได้เพิ่มมิติการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่รอดอย่างยั่งยืนของกิจการ” รักษาการกรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ กล่าว

นางสาวปริฉัตร กล่าวต่อว่า ในปีนี้ (2557) เอสเอ็มอีแบงก์ตั้งเป้าจะปล่อยสินเชื่อจำนวน 27,000 ล้านบาท โดยมาจากโครงการนี้ จำนวน 8,000 ล้านบาท โดยเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยอัตราพิเศษ หรือเงื่อนไขพิเศษนั้น จะเกิดหลังประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งแนวทางจะพยายามหาช่องว่าง ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ รวมถึงลดอุปสรรคต่างๆ มากที่สุดเพื่อจะให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนเงินได้มากยิ่งขึ้น ส่วนจะเริ่มปล่อยสินเชื่อในโครงการนี้ได้จริง คาดเป็นหลังจากเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป

ด้านนายวัลลภ เตชะไพบูลย์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง บสย. มีวงเงินพร้อมจะค้ำประกันให้เอสเอ็มอีกว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำมาช่วยค้ำประกันให้ในโครงการนี้ 8,000 ล้านบาท โดยเฉลี่ยต่อรายละค้ำประมาณ 5 ล้านบาท

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น