พิษณุโลก - ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษา “เพิกถอนคำสั่ง” อธิบดีกรมอุตฯ ไฟเขียวเหมืองทองอัคราไมนิ่งฯ เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) พร้อมให้ผู้ว่าฯ พิจิตรสั่งเหมืองทองห้ามใช้บ่อเก็บกากแร่ทองคำ และห้ามมิให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรเหมืองแร่-อธิบดีกรมโรงงาน ออกใบอนุญาตขยายโรงงานส่วนขยาย
วันนี้ (29 พ.ค.) ศาลปกครองจังหวัดพิษณุโลกได้อ่านคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามคดีดำหมายเลขที่ ส.2/2555 คดีแดงหมายเลข ส.2/2557
ระหว่างนายพินิจ สารภูมิ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และชาวบ้าน 108 คน (ที่ได้รับผลกระทบการทำเหมืองแร่ทองคำ) กับผู้ถูกฟ้องคดี คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 1, อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 2, อธิบดีกรมป่าไม้ ที่ 3, อบต.เขาเจ็ดลูก ที่ 4, กรมควบคุมมลพิษที่ 5, กรมที่ดิน ที่ 6, บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ 7, สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 8, ผอ.สำนักงานอุตสาหกรรมพิจิตร ที่ 9, ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ที่ 10, เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดพิจิตรสาขาตะพานหิน ที่ 11, นายอำเภอทับคล้อ ที่ 12, บริษัทสวนสักพัฒนา จำกัดที่ 13 และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ 14
ทั้งนี้ ศาลปกครองได้พิพากาษาให้เพิกถอนคำสั่งของถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมและพื้นฐานเหมืองแร่ ซึ่งสั่งเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 อนุญาตให้เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) จากเดิมที่กำหนดให้ก่อสร้างทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 1 (TSF1) ไปเป็นก่อสร้างบนพื้นที่ที่เคยได้รับอนุญาตให้จัดทำเป็นสถานที่เก็บขังน้ำขุ่นข้น หรือมูลดินทรายตามใบประทานบัตรที่ 1/ 2548 ของโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเดิม
และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 9 ผอ.สำนักงานอุตสาหกรรมพิจิตร และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 10 (ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร) ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติ ในการควบคุมกำกับดูแลผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 7 (บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด หรือบริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ไม่ให้ทำการก่อสร้าง และใช้งานบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2) ดังกล่าว
พร้อมห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 14 ออกคำสั่ง หรือออกใบอนุญาตการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 คือ บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด หรือ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จนกว่าจะมีการดำเนินการตามกระบวนการ และขั้นตอนในชั้นการพิจารณาทางปกครองตามที่บัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ 9 และ 10 และ 14 ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ในการควบคุมกำกับดูแลไม่ได้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 (บริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด หรือ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เดินเครื่องจักรเพื่อประกอบกิจการในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย)
และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 14 (อธิบดีกรมโรงงานอุตสหกรรม) เสนอต่อปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือผู้ซึ่งปลัดกระทรวงฯ มอบหมาย ให้พิจารณาอนุมัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ทำการผูกมัดประทับตราเครื่องจักรในโรงงานประกอบโลหกรรม (ส่วนขยาย) ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 ดังกล่าว จนกว่าจะได้มีการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนในชั้นพิจารณาทางปกครอง และมีคำสั่งอนุญาตตามกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน
ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2, 9, 10 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 14 ดำเนินการภายใน 30 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
อย่างไรก็ตาม การพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก เป็นการพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งคู่กรณีมีสิทธิ์อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษา