xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนอีไอเอ-สัมปทานเหมืองแร่เชียงคาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน (ภาพจากแฟ้ม)
สมาคมโลกร้อน ยื่นฟ้องเพิกถอน อีไอเอ - สัมปทานเหมืองแร่ 3 บริษัทในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ชี้กระทบสุขภาพ - ชีวิตความเป็นอยู่ชาวบ้าน แถมอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

วันนี้ (29 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมพวกซึ่งเป็นประชาชนใน อ.เชียงคาน จ.เลย จำนวน 70 คน ได้ยื่นฟ้องกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รมว.อุตสาหกรรม อธิบดีกรมป่าไม้ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 - 11 ต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ รวมทั้งใบอนุญาต หรือประทานบัตรของโครงการเหมืองแร่ของบริษัท พาลิน จำกัด บริษัท พรราชันย์ จำกัด และบริษัท ซัมทองไมนิ่ง จำกัด แปลงสัมปทานในท้องที่ หรือพื้นที่ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย เพิกถอนคำสั่งอนุมัติ หรืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าภูเขาแก้ว และป่าดงปากชม ในท้องที่ ต.บุฮม ต.เชียงคาน ต.เขาแก้ว และ ต.ธาตุ อ.เชียงคาน และ ต.หากคัมภีร์ ต.ปากชม และ ต.เชียงกลม อ.ปากชม จ.เลย ไม่ให้เป็นพื้นที่เหมืองแร่ใดๆ เสีย และให้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดร่วมกันกำหนดมาตรการและดำเนินการฟื้นฟูสภาพลำธารที่เสียหายจากมลพิษ และปนเปื้อนสารพิษให้กลับคืนสภาพเหมือนดังเดิม โดยงบประมาณของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดภายใน 90 วันนับแต่คดีถึงที่สุด

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการอนุมัติให้ผู้ประกอบการเอกชนได้รับประทานบัตรในการทำเหมืองแร่ท้องที่ ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ชาวบ้านทราบเพียงแต่จะมีการทำเหมืองแร่ในตำบลของตน แต่ไมได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกีบผลกระทบ ข้อดี ข้อเสียของการทำเหมืองแร่ โดยบริษัททั้งสาม ไม่มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้น อีกทั้งพื้นที่ที่มีการทำเหมืองแร่ เป็นพื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 750 (พ.ศ.2518) เนื่องจากเป็นป่าที่มีไม้แดง ไม้ประดู่ มะค่าโมง เต็ง รัง และไม้อื่นที่มีค่าจำนวนมาก ควรค่าแก่การปกป้องอนุรักษ์ รักษาไว้ รวมทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในการอุปโภค บริโภค โดยที่ผ่านมาตัวแทนชาวบ้านได้มีการทำหนังสือคัดค้านการอนุญาตขอประทานบัตรของ 3 บริษัทดังกล่าวไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ขณะที่ปัจจุบันบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินกิจกรรมเปิดหน้าดิน ขุด ระเบิดแร่ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งจากฝุ่นละออง เสียงรบกวน และน้ำในลำห้วยไม่เพียงพอต่อการบริโภค อุปโภค หรือทำเกษตรกรรมเหมือนแต่ก่อน รวมถึงยังมีการปนเปื้อนของสารพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ดั้งเดิมของชุมชนท้องถิ่น จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามที่ขอ
กำลังโหลดความคิดเห็น