พิจิตร - เหมืองทองอัคราน้อมรับ หลังศาลปกครองพิษณุโลกเพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน ที่ให้เปลี่ยนที่สร้างบ่อเก็บกากแร่ 2 แต่ขอยื่นอุทธรณ์สู้ ชี้คำพิพากษาไม่เกี่ยวประเด็นสิ่งแวดล้อม
นายปกรณ์ สุขุม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อัครารีซอร์สเซส หรือที่รู้จักกันในชื่อเหมืองแร่ทองคำอัครา ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เปิดเผยถึงกรณีศาลปกครองพิษณุโลกพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่อนุญาตให้เปลี่ยนแปลงผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีเหนือ เป็นการอนุญาตให้เปลี่ยนสถานที่ก่อสร้างบ่อทิ้งเก็บกากแร่แห่งที่ 2 (TSF2 ) ว่าต้องเคารพคำสั่งของศาล
แต่ก็มีมุมมองที่แตกต่างในหลายประเด็น เช่น การที่ศาลสั่งห้ามหน่วยงานที่กำกับดูแล ไม่ให้ออกใบอนุญาตต่างๆ ทั้งที่ในความเป็นจริงบริษัทได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด และได้รับใบอนุญาตครบถ้วนหมดแล้ว ซึ่งก็จะต้องทำเรื่องอุทธรณ์ เพื่อหาโอกาสชี้แจงข้อมูลจริงกับศาลอีกครั้ง
สำหรับการเพิกถอนการอนุญาตการก่อสร้างบ่อกากแร่แห่งที่ 2 นั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวบทกฎหมายโดยตรง แต่เป็นประเด็นเกี่ยวกับขั้นตอนในกระบวนการอนุญาต และหน่วยงานรัฐอาจมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องขอบเขตอำนาจ ที่หลายอย่างยังไม่มีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน จึงอาจเป็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่
“อย่างไรก็ดี อัคราในฐานะบริษัทเอกชนพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลเสมอมา”
นายปกรณ์กล่าวว่า ที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ คำสั่งของศาลไม่มีเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน แต่เป็นเรื่องขั้นตอนในการปฏิบัติในกระบวนการที่มีหน่วยงานหลายหน่วยเกี่ยวข้อง เพราะศาลปกครองมีฐานในการวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยมีการพิสูจน์จากงานของคณะกรรมการพยานผู้เชี่ยวชาญครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาเรื่องดิน น้ำบาดาล น้ำผิวดิน เก็บตัวอย่างปลา ผัก ในห่วงโซ่อาหารไปตรวจวิจัย และยังให้มีการตรวจเลือดและปัสสาวะของกลุ่มตัวอย่างตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการด้วย
“ทุกอย่างเรียบร้อย ไม่มีอะไรน่าห่วง”
นายปกรณ์กล่าวว่า วันนี้ยังคงไม่ได้สั่งปลดคนงานหรือให้หยุดทำงานแต่อย่างใด เพราะคำพิพากษายังไม่เป็นที่สิ้นสุด ซึ่งเราจะขอต่อสู้ด้วยการยื่นอุทธรณ์ยังศาลปกครองสูงสุดภายใน 30 วัน ดังนั้นคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งตามมาตรา 70 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าคดีความจะถึงที่สุด โดยบริษัทมีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน