สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ชี้ค่าจ้าง 300 บาท ต่อวัน ต่ำกว่าเส้นยากจน ไม่พอเลี้ยงครอบครัว และต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ปัญหานี้ถือเป็นปัญหาปากท้องของคนลากหญ้าที่ไม่มีวันจบสิ้นเสียที ถึงเวลาหรือยังที่ควรจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเพื่อช่วยบุคคลเหล่านี้?
ต่ำกว่าเส้นยากจน!
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการวิเคราะห์และเผยว่ารายได้ 300 บาทต่อวัน ไม่พอเลี้ยงคนในครอบครัว 3 คน เรียกว่าต่ำกว่าเส้นยากจนเลยก็เป็นได้ เพราะต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายแบบชักหน้าไม่ถึงหลัง ระบุต้องทำงานเพิ่มเติม อีกทั้งยังเป็นห่วงลูกจ้างภาคเกษตร ที่ได้ค่าจ้างไม่ถึง 250 บาทต่อวัน
ด้าน “ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์” ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ประเด็นนี้เอาไว้ว่า ถ้าครอบครัวมีสมาชิกอยู่ร่วมกันไม่เกิน 2 คน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตหรือนอกเขตเทศบาล หรือในจังหวัดใดในประเทศก็ตาม สามารถอยู่ได้อย่างไม่ยากจนแน่นอน ทว่า หากค่าจ้าง 300 บาทต่อวันที่คนๆ เดียวหามาได้นั้นถ้าไม่ได้ทำ OT และต้องเลี้ยงคนในครอบครัวที่มีตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไปไม่เพียงพออย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น จึงควรขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2559 หรือไม่?
“ในสภาพเป็นจริงถ้ามีเพียง 1 คน ที่หารายได้ก็ต้องทำงานเพิ่มเติมเช่น ทำงานล่วงเวลา หรือหารายได้เสริมในวันหยุดหรืออาจจะให้ภรรยา หรือสามีคนใดคนหนึ่งช่วยทำงานหารายได้เสริมให้กับครอบครัว และที่จริงก็คงมีครอบครัวไม่มากนักที่แต่งงานมีบุตรแล้วและจะยังเป็นลูกจ้างแรกเข้า ทำงาน และให้สามีหรือภรรยาทำงานแต่ฝ่ายเดียว
ปัญหาที่น่าห่วงมากก็คงเป็นเรื่องของคนงานที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างรายวันที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดจิ๋ว และขนาดย่อม ซึ่งพวกเขาไม่มีโครงสร้างเงินเดือน ผู้ประกอบการก็จะอาศัยอ้างอิง ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นพื้นฐานในการจ่ายค่าจ้าง และที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็คือ ลูกจ้างในภาคเกษตรมีค่าจ้างต่ำมากไม่ถึง 250 บาทต่อวัน และถ้าต้องเลี้ยงดูคนอีก 2 คนในครอบครัวก็จะตกอยู่ในฐานะครอบครัวยากจนแน่นอน”
ปรับค่าแรง ไม่ใช่เรื่องง่าย!
“ต้องอย่าลืมว่า 300 บาทนี้เป็นอัตราขั้นต่ำอยู่แล้ว สำหรับลูกจ้างตัวคนเดียวคงจะพอ แต่ตามหลักแล้ว ผู้ที่หารายได้เข้าบ้าน ย่อมต้องเลี้ยงอีก 1- 2 คนอยู่บนเงิน 300 บาทตรงนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกเมีย หรือบุพการี โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ยังไงก็ไม่มีทางพอในระยะยาว”
นี่คือทัศนะของ “กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช” หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้กับทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live และยังกล่าวต่ออีกว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น ชาวไร่ ชาวนา ที่ราคาสินค้าจากครัวเรือนพุ่งกระฉุดแบบหยุดไม่อยู่
“อย่างที่ทราบกันดี หนี้สินครัวเรือนพุ่งขึ้นตลอดเวลา ผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้มีรายได้ต่ำลง ในกลุ่มที่ไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานเอง จากเดิมที่ได้รับผลกระทบอยู่แล้วจากราคาสินค้าที่ขึ้นอย่างไม่หยุด ก็ต้องรับภาระส่งเงินช่วยที่บ้าน ซึ่งมักจะเป็นภาคการเกษตร ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น”
การปรับขึ้นค่าแรงนั้นมีผลกระทบสูงมาก เนื่องจากสภาพการณ์ของบ้านเมืองเองในปัจจุบันที่นักลงทุนต่างก็ย้ายการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านเพราะมีค่าแรงที่ต่ำกว่า หากขึ้นค่าแรงอีกก็เกรงว่าผู้ประกอบการจะรับไม่ไหว
“จากสภาพการณ์ตอนนี้ ผู้ประกอบการเองก็รับไม่ไหวที่จะปรับขึ้นค่าแรงอีก นักลงทุนจากต่างประเทศก็ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่ค่าแรงต่ำกว่าแล้ว ดังนั้นการจะปรับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อเนื่องสูงมาก ต้องมีแผนและการสนับสนุนภาคธุรกิจด้วย ไม่เช่นนั้นจะยิ่งล่มทั้งระบบ”
การปรับขึ้นค่าแรงไม่ใช่เรื่องง่าย และจะต้องสอดคล้องกับค่าครองชีพด้วย และสิ่งที่ต้องควรระวังคืออย่าปล่อยให้นโยบายการเมืองมาระบุค่าแรงขั้นต่ำตามอำเภอใจเพื่อการโฆษณา
“ค่าแรงขั้นต่ำปกติจะต้องสอดคล้องต่อค่าครองชีพ ค่าครองชีพเองก็เกิดการพุ่งแบบก้าวกระโดดจากผลกระทบนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาทคราวก่อนมาทีหนึ่งแล้ว การปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะระบุว่าควรเป็นเท่าไร เราควรจะต้องระวังเสียด้วยซ้ำ อย่าปล่อยให้นโยบายการเมืองในอนาคตมาระบุค่าแรงขั้นต่ำตามอำเภอใจเพื่อการโฆษณาอีก”
ส่วนลูกจ้างเกษตรกรที่ได้ค่าแรงไม่ถึง 250 บาทต่อวันตามที่ปรากฏในข่าวนั้น อาจารย์แนะว่าควรจะรวมตัวกันทำอะไรเพื่อเป็นทางออกที่ดีกว่านี้ อย่าเป็นเพียงผู้ขายแรงงานเพียงอย่างเดียว
“ภาคการเกษตรปีนี้ก็วิกฤติมากทั้งข้าว ยางพารา รวมไปถึงภัยแล้ง อยากจะฝากไปยังลูกจ้างในภาคการเกษตรให้รวมตัวกันแล้วคิดทำอะไรขึ้นมามากกว่าเป็นผู้ขายแรงงานเพียงอย่างเดียว ถ้ารวมตัวกันได้ติดต่อภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่น่าจะมีทางออก มากกว่าการเรียกร้องค่าแรงเฉยๆ ซึ่งตอนนี้สภาพการค้าการลงทุนน่าจะรับไม่ไหวแล้วต่อการขอขึ้นค่าแรง”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารการตลาด กล่าวทิ้งท้ายว่า น่าเป็นห่วงบุคคลที่มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก หากต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องมีการกู้ยืมเกิด และก่อให้เกิดการเป็นหนี้ในภายหลัง
“น่าเป็นห่วงมากๆ น่าสงสารผู้ที่มีรายได้น้อย เพราะหลังค่าใช้จ่ายชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็ต้องกู้ยืม โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซารวมไปถึงภัยแล้ง อย่าลืมว่าภัยแล้งทำให้ต้องมีการเลื่อนการปลูกพืชออกไป ตรงนี้เหมือนกับการขาดรายได้ แต่ รายจ่ายในครัวเรือนยังคงอยู่ ทำให้จังหวะนี้เป็นหนี้กันมากมาย
ยิ่งถ้าไปโดนหนี้นอกระบบซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรจะเป็นหนี้ประเภทนี้กันทั้งนั้น ยิ่งโดนดอกเบี้ย โงหัวไม่ขึ้นกันไปใหญ่ ดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบไม่ใช่ 15 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี แต่บางครั้งดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ 60 เปอร์เซ็นต์ ต่อเดือนก็มี ซึ่งตรงนี้ก็ผิดกฎหมาย แต่ลูกจ้างหรือเกษตรกรไม่มีทางเลือก บางคนจ่ายแต่ดอกเบี้ยมา 5 ปี เงินต้นไม่ลดเลยก็เคยเห็นมาแล้ว”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
รายละเอียดเพิ่มเติม (คลิก)>>> ตัวอย่างงานในเซ็กชั่น "ASTVผู้จัดการ Live"
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754