xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อัครเดช ฉากจินดา “เป็นเรื่องตลกที่ผู้นำไทยคิดว่าถ่านหินถูกและยั่งยืน “คุณกำลังรับใช้พ่อค้าถ่านหิน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อัครเดช ฉากจินดา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน รวมตัวเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ โดย 2 แกนนำเครือข่ายฯ แสดงอารยะขัดขืนด้วยการอดอาหาร (ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา) เพราะหากดันทุรังเดินหน้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579 หรือ PDP 2015) ชะตากรรรมของอันดามันตกอยู่ในหายนะ

ทั้งการทำลายระบบนิเวศน์ซึ่งพื้นที่การก่อสร้างนั้นเป็นแหล่งชุ่มน้ำสำคัญระดับ โลก หรือ แรมซาร์ไซต์ ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน ประมงท้องถิ่น ตลอดจนสุขภาพอนามัยจากมลพิษของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งในอดีตประเทศไทยมีบทเรียนจากกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ให้เห็นมาแล้ว แม้กระทั่งภาคการท่องเที่ยวก็โดนหางเลขเกิดความเสียมหาศาล

นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าสร้างขึ้นเพื่อนรองรับการเติบโตทางอุตสาหกรรมของทุนสามานย์ในแถบภาคใต้ มากกว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน

“ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” สัมภาษณ์พิเศษ อัครเดช ฉากจินดา หนึ่งในแกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน เพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงที่ถูกหมกเม็ด ในประเด็นที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกระทรวงพลังงาน ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งเป็นไปได้สูงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ทราบเสียด้วยซ้ำ มิเช่นนั้น คงไม่ประกาศปาวๆ ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน สะอาด ต้นทุนต่ำ ขณะที่ทั่วโลกย้อนแย้งไม่ให้การยอมรับ

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ไม่ได้รองรับความต้องการใช้พลังงานของประชาชน แต่มีวาระซ้อนเร้นเพื่อกลุ่มทุน

กลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์ คือสัมปทานถ่านหินนะครับ ก็มี ปตท. กับ บริษัท บ้านปู (ดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหิน) เพราะว่าตอนนี้เขาได้ไปสัมปทานไว้แล้วที่อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย กลุ่มที่สอง ผมมองว่าน่าจะเป็นกลุ่มพวกนายหน้าต่างๆ ที่หาเทคโนโลยีมาทำ แม้กระทั่งตอนนี้ผมรู้สึกว่าโครงการนี้มันไม่โปร่งใส ส่อทุจริตในหลายๆ เรื่อง โครงการนี้เป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล มันก็มีช่องให้คนในองค์กรทั้ง กฟผ. หรือ นอมินี หาผลประโยชน์ตรงนี้

โครงการนี้มีการพูดถึงเมื่อปี 2555 ครับ ผ่านมา 3 ปี กระบวนการต่างๆ ผมมองว่ามันไม่ชอบธรรมมันคาบเกี่ยวกันระหว่างรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มี พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตอนนั้น ก่อนหน้านั้นมีการไฟดับ 14 จังหวดภาคใต้ ซึ่งผมมองว่าเป็นการไฟดับเพื่อสร้างความหวาดกลัว เพื่อสร้างกระแสข่าวว่าไฟไม่พอ

แต่จริงๆ ผมขอยกตัวอย่าง จ.กระบี่ ผลิตไฟฟ้าได้เอง มีกำลังผลิตเกือบ 400 เมกะวัตต์ แต่เราใช้จังหวัด 100 กว่าเมกะวัตต์ การที่ไฟดับมันเป็นเรื่องไม่น่าจะเกิดขึ้น และเราไปดูที่ภาคใต้เองสัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าก็ต่ำกว่าการผลิต กำลังสำรองซึ่งเราเกินมาตรฐานสากล ภาคใต้เราเกินเยอะมาก10 ปีนี้เรามีไฟฟ้าเกินและไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่เลย แทนที่รัฐจะสนับสนุนเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนเรื่องพลังงานหมุนเวียนให้เป็นรูปธรรม ทำไมไม่ทำ? กลับมาสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งเป็นมลพิษซึ่งมันขัดแย้งกันสุดขั้วกับการปฏิรูปประเทศ

อย่างนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นผลพวงจากการบริหารของรัฐบาลชุดเก่าหรือเปล่า

ทุกอย่างมันอยู่ในลิ้นชัก แผนพัฒนาต่างๆ กลุ่มทุนต่างๆ พ่อค้า มันไม่ไปไหนเลย มันอยู่กับทุกรัฐบาลได้ แต่มันอยู่ที่ว่ารัฐบาลไหนมีธรรมาภิบาลหรือให้น้ำหนักกับชีวิตประชาชน มากกว่ากัน รัฐบาลต่างๆ อาจจะมาจากการเลือกตั้ง แต่นี้รัฐบาลทหารอ้างเข้ามาปรองดองเข้ามาปฏิรูป แต่กลับมาสร้างความแตกแยกส่งเสริมให้พ่อค้าทำลายทรัพยากรธรรมชาติและละเมิดสิทธิชุมชนขึ้นรุนแรง แย่งชิงทรัพยากรไปจากชุมชนไปจากชาวบ้าน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกไม่ให้การยอมรับหรอกครับ

ดูเหมือนภาคใต้มีโครงการขนาดใหญ่ที่ภาครัฐพยายามผลักดัน ทั้งท่าเรือน้ำลึก ปากบารา จ.สตูล, โครงการโรงไฟฟ้าถ่ายหิน จ.กระบี่ ฯลฯ มองภาพรวมมันมีความเชื่อมโยงกันหรือเปล่า

จะเห็นได้ชัดว่าภาคใต้ที่พยายามผลักดันหลายๆ โครงการมันเชื่อมโยงกันหมดเลย การจะมีนิคมอุตสาหกรรมได้ การจะเปลี่ยนพื้นที่ภาคใต้เป็นอุตสาหกรรมได้มันต้องมีไฟฟ้า มันต้องมีท่าเรือ ปากบารา, จะนะ มีแผนสร้างเขื่อนพัทลุง 13 เขื่อน คือมันชัดเลยว่าอุตสาหกรรมกำลังจะลงมาที่พื้นที่ภาคใต้ อย่างชุมพร สุราษฎร์ฯ นครศรีธรรมราช เขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลาฝั่งอันดามันจะโดนโจมตีในเรื่องเป็นฐานผลิตไฟฟ้า เขื่อนใหญ่ นิคมอุตสาหกรรมปากบารา 150,000 ไร่ มันเชื่อมโยงกันหมด และการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ ที่ จ.กระบี่ แล้ว จ.กระบี่ ใช้อยู่ 100 เมกะวัตต์เนี่ย คือมันไม่สมเหตุสมผล ไปรองรับอะไรเหรอ?

แสดงว่าไม่ใช่รองรับความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าของประชาชน แต่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมที่กำลังลังจะเกิดขึ้น

ใช่ครับ และแผน PDP 2015 บรรจุโรงไฟฟ้าถ่ายหิน 9 โรง พลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์ เราผลิตไฟฟ้ามากไปเพื่ออะไร พอไฟเหลือมากเกินไปถึงเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นภาระที่ประชาชนต้องจ่ายที่เค้าเรียกว่าค่า ST อะไรพวกนี้ เป็นภาระของประชาชน เรื่องพวกนี้เรามีงานวิจัยรองรับเป็นข้อมูลเป็นเชิงสถิติว่ามันเป็นเรื่องประจักษ์ต้องไปให้ความสำคัญตรงนั้นด้วย

ภาครัฐให้ข้อมูลประชาชนว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

เรื่องถ่านหินทั่วโลกเค้าพิสูจน์ชัดแล้วว่ามันสกปรก และเอามาบรรจุในแผนPDP อีก แทนที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ผมมองว่ากระบวนการคิดของรัฐบาลมันล้าหลังมาก หรือว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่คิดเรื่องนี้ไปตอบโจทย์กลุ่มทุนพลังงานมากกว่า

ประชาชนจะได้อะไรที่ต้องแลกกับพื้นที่ทำมาหากิน สุขภาพ ทรัพยากรธรรมชาติ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่คนทั้งประเทศต้องตระหนักและหันมามองว่ามันจะคุ้มกันหรือไม่ ขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 1 โรง แต่ว่าเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ด้านท่องเที่ยว ประมง พื้นที่ป่าชุ่มน้ำ และความยั้งยืนความมั่นคงต่างๆ เพราะว่าภาคใต้ตอนนี้ ความ มั่นคงทางอาหารสูงมากกว่าทุกภาค จะให้ภาคใต้ย่อยยับเหมือนมาบตาพุดให้เหมือนแม่เมาะเหรอ? ให้เหมือนคนที่โดนผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เหมืองทองเหรอ ผมว่ามันย่อยยับจริงๆ ถ้าปล่อยให้โครงการพวกนี้มันเกิดขึ้นอีก

คณะทำงานตรงนี้หรือว่าสื่อที่ทำโฆษณาไร้จรรยาบรรณมาก คุณเอาข้อมูลตรงไหนรองรับ ข้อมูลวิจัยไม่เคยมีที่ไหนมองว่าถ่านหินสะอาด แต่กลับกันทั่วโลกเขามองถ่ายหินคือหายนะของโลก แม้กระทั่ง สหประชาชาติเองก็ขอความร่วมมือจากรัฐบาลทั่วโลกว่า ลด ละ เลิก การใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน

ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องตลกที่ผู้นำไทยคิดว่าถ่านหินถูกและยั่งยืน และนำมาใช้ในประเทศตนเอง เท่ากับว่าคุณกำลังรับใช้พ่อค้าถ่านหิน รับใช้กระทรวงพลังงาน เพื่อมาฆ่าประชาชนคนไทย ด้วยกันเอง มันไม่ใช่เรื่องที่ถูก ผมว่าท่านนายกฯ ควรตระหนักถึงตรงนั้น อย่าฟังความข้างเดียวควรฟังความหลายๆ ด้าน หลายๆ คน มีนักวิชาการมีข้อมูลหลายๆ แหล่งที่สามารถนำเสนอท่านได้ให้ท่านเปรียบเทียบรับรู้รับฟังครับ

เป็นไปได้ไหมที่ท่านนายกฯ ได้รับข้อมูลไม่ครบไม่รอบด้าน การสื่อสารต่อสาธารณะจึงเผยข้อมูลเพียงด้านเดียว

ผมว่าท่านไม่รู้ในหลายประเด็น เพราะทีมทำงานของท่าน ผมว่าคือตัวปัญหาในหลายๆ เรื่อง ไม่ให้ข้อมูลครบถ้วน

ผมว่าท่านนายกฯ เอง คนรอบข้างท่านายกฯ เป็นคนใกล้ชิดกับกลุ่มทุนนะ ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ปลัดกระทรวงต่างๆ ที่แต่งตั้งกันเข้ามา มันก็เป็นคนเดิมๆ ที่พยายามผลักดันโครงการพวกนี้มาโดยตลอด แต่รัฐบาลปกติมันทำไม่ได้ง่ายเพราะมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลพิเศษเนี้ย ผมมองว่าท่านเข้ามาปฏิรูปประเทศ หรือเข้ามาทำอะไรให้โครงการของกลุ่มทุนใหญ่ๆ เดินหน้าไปได้นะ เพราะตอนนี้ดูเหมือนว่าความสุขที่ท่านคืนให้.. ไปคืนให้กลุ่มทุนมากกว่าประชาชน อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ผมรู้สึกจากที่ผ่านมาหนึ่งปีกว่าที่ท่านเข้ามาบริหารประเทศครับ

ผลกระทบร้ายแรงที่สุดหากรัฐบาลเดินเคลื่อนก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่

ผมมองว่าจะในพื้นที่จะมีความแตกแยก และกำลังเกิดขึ้นเรื่อยๆ จากโครงการนี้แหละ เพราะผู้ที่สนับสนุน ที่ได้รับผลประโยชน์ หรือได้ข้อมูลด้านเดียวที่กำลังกรอกหูอยู่ทุกวันในสื่อโทรทัศน์ในสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น วิทยุชุมชนท้องถิ่น เพราะว่ามีการใช้งบประมาณมหาศาลในการจัดทำโครงการนี้ เราเห็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อทุจริต มีการให้บริษัทไปดูแหล่งซื้อถ่านหิน จัดซื้อจัดจ้างครั้งละ 5 ล้านบาท รวม 4 ครั้ง 20 ล้านบาท แต่ในรายงานมีระบุชัดเจนว่าถ่านหินมาจากที่ไหน เท่ากับว่า 20 ล้านนี้เป็นเงินกินเปล่าหรือเปล่าครับ? ใครได้ผลประโยชน์? ตรงนี้ควรมีการไปตรวจสอบว่า กฟผ. โปร่งใสหรือเปล่า? มีการทุจริตในองค์กรหรือเปล่า?

ประเด็นตอนนี้มันมีการล็อบบี้ผู้นำท้องถิ่นโดยยื่นข้อเสนอต่างๆ แต่ตอนนี้ชาวบ้านจริงๆ ตื่นตัวและพร้อมจะสู้ให้ถึงที่สุด ผมมองว่าถ้าโครงการนี้เดินหน้าไป มันจะเกิดผลขั้นรุนแรงถึงแตกแยกจนถึงที่สุด ยกตัวอย่าง จ.ภูเก็ต เคยมีประสบการณ์ครับ โรงงานแทนทาลัม ที่ ภูเก็ต (ปี 2529) เขาก็สร้างจนเสร็จ สุดท้ายพี่น้องชาวภาคใต้ก็มาร่วมกันเผา ถ้าแทนทาลัมยังอยู่ ป่านนี้ภูเก็ตไม่ได้เดินมาจนถึงปัจจุบันทำรายได้ท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ถึงปัจจุบันหรอกครับ

เช่นเดียวกัน โรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะทำลายธุรกิจทุกอย่างที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว คนเป็นแสนเป็นล้านคน จะสูญเสียอาชีพ คนอันดามันทั้งหมดจะสูญเสียสุขภาพและอาจจะต้องย้าย หรือถ้าไม่มีที่ไปก็รอวันตายอย่างเดียว และผมว่านายกฯ เองมองแค่มิติเดียวและก็ฟังด้านเดียวกระทรวงพลังงานเท่านั้น ไม่ได้ฟังองค์ความรู้ของประชาชน หรือว่าสิ่งที่ประชาชนพิสูจน์และประจักษ์แล้วว่าโลกนี้มันไม่ไหวกับเรื่องถ่านหิน

จ.กระบี่ จะมี 2 ส่วน มีโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหิน ผมว่าถ้าอะไรเกิด สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็พังหมดเลยครับ เพราะว่าตรงนั้นเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือแรมซาร์ไซต์ มีความสำคัญระดับโลก ซึ่ง กฟผ. พยายามขอ ยกเลิกเรื่องพวกนี้ต่อคณะรัฐมนตรี คือแค่เลือกที่ตั้งของโครงการก็ผิดแล้ว อีกส่วนที่สำคัญ สมเด็จพระราชินีฯ ขอพื้นที่นี้ไว้เพื่อเป็นพื้นที่แหล่งอาหารของป่าชายเลน พื้นที่คุ้มครองตรงนี้พระราชินีท่านขอชาวกระบี่ไว้ตั้งแต่ปี 2548 ผมไม่ทราบว่าท่านประยุทธ์รู้หรือเปล่า?

ผมเองมานั่งอดข้าวตรงนี้เป็นวันที่ 12 แล้ว มันไม่ใช่เรื่องสนุกหรอกครับที่เรามานั่งยู่ตรงนี้ แค่เรารู้สึกว่าตกผลึกจริงๆ แล้วว่าถ่านหินมันไม่ใช่คำตอบของการพัฒนาโรงงานไฟฟ้า มันมีเรื่องอื่นอีกเยอะ และก็มีข้อประจักษ์ว่ากระบี่ผลิตไฟฟ้าได้เองในตัวจังหวัด

มองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างบริเวณใดก็ส่งผลกระทบไม่ต่างกัน

ถูกต้องครับ ไม่ว่าจะสร้างตรงไหน ต้องมองว่ามันเป็นเรื่องของโลกไปแล้ว โลกพยายาม ลด ละ เลิก ถ่านหิน คือโลกอุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศาฯ โลกก็ย่อยยับ เขาเลยขอลดการใช้ถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง เรามีพลังงานอย่างอื่นมากมาย แสดงแดด, สายลม, ไบโอแมส ฯลฯ ซึ่งไทยเรามีศักยภาพสูงต้นๆ ของโลกทำไมไม่ทำ แดดเราร้อนกว่าเยอรมัน แดดเราร้อนกว่าสแกนดิเนเวีย ทำได้ ทำไม่เราไม่ทำ?

เพราะประเด็นนี้เกี่ยวข้องโดนตรงกับ กฟผ. ช่วยวิจารณ์การทำงานขององค์กรนี้หน่อย

มันมีเรื่องส่อทุจริตเยอะเลย การไปทำประชาพิจารณ์ก็เป็นการจัดตั้ง ผมติดตามทุกครั้ง ผมไปมีส่วนร่วมทุกครั้ง ผมรู้เลยว่าเป็นการจัดตั้ง มันมีการชวนเชื่อ ผมไปทุกครั้งและสิ่งแรกที่ทำคือการรับของ แต่ผมไม่เคยให้หมายเลขบัตรประชาชนเพราะผมรู้ว่านั่นคือการนำไปเห็นด้วย แจกเสื้อแจกข้าวสาร แว่นตา ทำฟัน ตรวจสุขภาพ ดูแลดีมากก่อนเริ่มต้นโครงการ แต่พอผมได้ไปเยี่ยมพี่น้องที่ แม่เมาะ หรือ มาบตาพุด ทุกคนบอกว่าพอสร้างเสร็จแล้วก็ไม่ได้รับความสนใจ พอได้รับผลกระทบก็ปัดความรับผิดชอบ มันมีตัวอย่างจากหลายๆ พื้นที่ให้เราเห็นแล้วว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ไม่จริงใจกับพี่น้องประชาชนเลย คือโลกสวยไว้ก่อนถึงเวลาเข้าจริงก็ปัดความรับผิดชอบ อย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะเราเห็นได้ชัด สู้ถึงฎีกาจนตัดสินแล้วว่าให้ชดเชยต่อประประชาชน แต่ก็ยังอ้างนู้นอ้างนี่จนถึงวันนี้ไม่รู้ว่าได้รับการชดเชยหรือเปล่า

คือผมมองว่าองค์กรนี้ขาดธรรมาภิบาลขั้นรุนแรง โกหกหลายเรื่อง หลายครั้งที่ผู้บริหารระดับสูงมาโกหกชาวบ้าน โกหกกันหน้าด้านๆ ออกสื่อ ผมว่าคนที่เติบโตในองค์กรนี้ถ้าเป็นคนดีคงอยู่ยาก

เท่าที่คลุกคลีกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน คุณภาพชีวิตพวกเขาเป็นอย่างไร

เรื่องแรกที่ผมเป็นห่วงและรู้สึกสงสารเห็นใจที่สุด ผมว่าพื้นที่ชุมชนของตัวเอง พวกเขาเองยังไม่สามารถอยู่ได้ ทรัพยากรรอบข้าง น้ำ อากาศ เสื่อม ล่มสลาย ผมว่าเรื่องพวกนี้ยอมรับไม่ได้หรอกครับ มันเป็นความน่าเศร้า ถึงแม้จะเยียวยาอย่างไร แต่ผมมองว่ามันเป็นเหมือนกันคุณจัดทำโครงการโดยที่ไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจริงเลย มันพิสูจน์ หลายๆ ครั้งที่เราเห็นโครงการต่างๆ ว่า แม้จะผ่าน รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) อ้างว่าต้องเดินหน้าเพราะโน้นเพราะนี้เพราะการพัฒนา

แนวทางปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยควรเป็นไปในทิศทางใด

มันต้องมีหน่วยงานขึ้นมา เน้นเรื่องพลังงานหมุนเวียนพลังงานทางเลือกให้ชัดเจน ไม่ใช่ไปพึ่ง กฟผ. อย่างเดียว ผมมองว่าเรื่องพวกนี้ควรเริ่มต้นระดับชุมชนและท้องถิ่น ให้ชุมชนท้องถิ่นเค้ามีสิทธิเลือกในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าตามศักยภาพของท้องถิ่นต่างๆ ที่เขามี

อย่างเช่น จ.กระบี่ ชัดเลยว่า เรามีน้ำมันปาล์ม หรือว่าน้ำเสียจากกากน้ำมันปาล์มมาก ถ้าปล่อยให้ท้องถิ่นเราได้พิสูจน์ว่าเราสามารถทำได้จริงเป็นโมเดลของประเทศไทย เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่ใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างแท้จริง ซึ่งกระบี่มีศักยภาพและทำได้จริงภายใน 3 ปี ทำไมไม่ให้โอกาสเราครับ?

ถ้ามองเรื่องกระจายอำนาจ มองเรื่องประชาชนมีส่วนร่วม เราขอการมีส่วนร่วมเรื่องหนึ่งเรื่องพลังงาน เราอยากเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่ากระบี่ทำได้ กระบี่ GO GREEN ทำได้จริงครับ

เข้ามาเป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้อย่างไร

ผมเป็นคนกระบี่ กระบี่กำลังจะโดนผมยอมไม่ได้ ผมมาที่นี่มาแลกด้วยชีวิต เพราะผมรู้ดีว่า มันจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ชาวบ้านอย่างพวกเราเป็นชาวบ้านที่ตื่นรู้ เรารับข้อมูลข่าวสาร เราไม่ใช่ NGO เราเห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในโลกนี้

ผมสู้เรื่องนี้มา 3 ปี ทนไม่ได้เพราะเป็นบ้านตัวเอง รู้สึกว่าพอแล้วเมืองไทยตลกมาก ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นคุณูปการให้ประชาชนรู้จักการสร้างเครือข่าย รู้จักการเรียกร้องสิทธิด้วยตัวเอง จนมาถึงเสื้อแดงที่ทำอีกมุมหนึ่ง เขาจะอ้างประชาธิปไตยแต่ประชาธิปไตยแบบไหน จนถึง กปปส. ที่ผมเจ็บใจที่สุดเพราะผมก็เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาร่วม แต่สุดท้ายก็หนีไปบวช และที่น่าเจ็บใจที่สุดหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาพูดว่าผมไม่ได้เป็น NGO เรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องของผม ประมาณว่าประเด็นกระบี่ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปัตย์ไม่ใช่เรื่องของนักการเมือง คือผมมองว่าฐานเสียงของพรรคนี้ก็มีฐานเสียงทางภาคใต้ 3 ที่นั่งของจังหวัดกระบี่ก็เป็นประชาธิปัตย์ คนพวกนี้หายไปไหน? ไม่ฟังชาวบ้านเลยเหรอ ไม่มีอะไรส่งเสียงแทนชาวบ้านเลยเหรอทั้งที่พวกเขาเลือกพวกท่านทุกคนทุกสมัย

สู้มาถึงขนาดนี้แล้วคาดหวังชัยชนะอย่างไรบ้าง

หนึ่ง-โครงการจะต้องยุติ สอง-สังคมได้เรียนรู้ว่าการต่อสู้ของประชาชนตาดำๆ จริงๆ ในการต่อสู้การรวมเครือข่าย สามารถทำให้เกิดพลัง แต่ว่าประชาชนที่เคลื่อนจะต้องมีองค์ความรู้และมั่นใจว่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะว่า 3 ปีที่ผ่านมาเรามีการแลกเปลี่ยนพูดคุยว่าการขึ้นมาครั้งนี้ไม่ว่าแพ้หรือชนะ คือเราไม่อยากแพ้หรอก ให้มันรู้กันไปว่าถ้าเราสู้ด้วยความจริง เราสู้ด้วยความยืนหยัดว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรม เป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่นเราเองและประเทศ ผมว่ามันจะไม่มีทางแพ้

ท้ายที่สุด หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เท่ากับว่าประชาชนชาวกระบี่ที่ใช้องค์ความรู้ต่อสู้กันมากว่า 3 ปี แพ้ราบคาบใช่ไหม

เราไม่แพ้หรอกครับ ผมว่าประเทศนี้ต่างหากที่แพ้ คนไทยแพ้ทั้งหมด แพ้แก่กลุ่มทุนสามานย์ แพ้แก่นักปกครองแย่ๆ ที่ไม่ได้นึกถึงประชาชนเลย แค่อ้างว่าทำนู้นทำนี่เพื่อประชาชนแต่จริงๆ แล้วไม่ใช่หรอกครับ ครั้งนี้ผมจะใช้มาตรา 4 (มาตรา 4 ว่าด้วยเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค) ล้มมาตรา 44 ให้ดู! (มาตรา 44 ให้อํานาจทหารแทนกฎอัยการศึก) ครั้งนี้ถ้าประชาชนชาวกระบี่แพ้ ไม่มีใครยอมแน่นอนครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น