โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
“ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็ไม่ทำ ถ้าทำไม่ได้เลยวันหน้าก็ใช้ตะเกียงเอา จบ”
การแสดงท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังเสร็จประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 21 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา ในประเด็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของ “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ที่ปฏิบัติการอารยะขัดขืน บนฐานการยึดมั่นแนวทางสันติวิธี ด้วยการอดอาหารประท้วงให้รัฐบาลยกเลิก “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือบทสรุปที่ชัดเจนยิ่งของโครงการนี้ว่า รัฐบาลทหารสนับสนุนโครงการนี้เป็นที่แน่ชัด
คำพูดของ “ท่านผู้นำ” ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ถูกหยิบไปวิพากษ์วิจารณ์กันต่อเนื่องแบบกระพือลื่อลั่น และกลายเป็นข่าวครึกโครมดังสนั่นไปทั่วบ้านทั่วเมือง
ซึ่งหากจับความระหว่างบรรทัดการด้วยสีหน้า และท่าทางอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่านผู้นำ ก็จะพบว่า มีนัยรวมถึงเลศนัยให้ต้องคิดต่อมากมาย หลายประเด็นเป็นที่กล่าวขานในทำนองว่าเป็นอาการ “หลุด” ออกมาท่ามกลางอารมณ์หงุดหงิด และขุ่นมัว ชี้ให้เห็นธาตุแท้ หรือความต้องการที่แท้จริงที่ตกตะกอนนอนอยู่อยู่ในก้นบึ้งความรู้สึกถูกกดดันมาจากกลุ่มทุน และคนรอบข้าง
ประเด็นหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ตอนนี้มีการเลื่อนการเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จากวันที่ 22 ก.ค.ไปเป็นวันที่ 5 ส.ค.2558 ที่จะถึงนี้แล้ว พร้อมกับประกาศเตือนว่า มีกฎหมายหลายตัวมากที่จะเอามาจัดการ โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.นี้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจะมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งนั่นถือเป็นอาวุธสำคัญที่จะใช้สยบกลุ่มต่อต้านหากยังมีการชุมนุมคัดค้านในวันนั้น
กฟผ.ประกาศสาเหตุที่ต้องเลื่อนเปิดประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ มูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาท ออกไปอีก 2 สัปดาห์ เพราะยังมีบางบริษัทที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งก็มีข้อมูลสะพัดว่า กลุ่มทุนจากตะวันตก และญี่ปุ่นพร้อมยื่นซองประมูลแล้ว ขาดแต่เพียงกลุ่มทุนจีนเท่านั้นที่ยังไม่พร้อม ซึ่งก็มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องเอาใจกลุ่มทุนจีนเป็นพิเศษ และเป็นเหตุผลที่เพียงพอถึงขั้นต้องให้มีการเลื่อนเปิดประมูลหรือไม่
นอกจากนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง กฟผ.ชิงเปิดประมูลก่อนที่การศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพและด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของโครงการยังไม่แล้วเสร็จ น่าจะนำไปสู่ความไม่ถูกต้อง และอาจจะสร้างผลกระทบได้ในภายหลังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่ช่วงเวลาที่เหลือจะมีกำลังภายในไปผลักดันให้ผลการศึกษาคลอดออกมาได้ทันสถานการณ์ ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไป
ประเด็นหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงเรื่องถ้าไม่ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ในพื้นที่ภาคใต้จะมีกระแสไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ราคาค่าไฟฟ้าจะสูงกว่าภาคอื่นๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ดี เป็นการถ่วงความเจริญ และกระทบถึงหมู่บ้าน โดยมีคำพูดหลุดออกมาจากเรียวปากที่สั่นระรัวเกี่ยวกับตัวเลข 2 ตัว คือ 3,000 กับ 800 แล้วช่วงหนึ่งยังย้อนถามสื่อด้วยเสียงอันก้องดังด้วยว่า แล้วมันจะพอไหม ซึ่งหากใครไม่ได้ติดตามข่าวสารมาก่อนก็ยากที่จะเข้าใจ
แม้จะมีการตีความตัวเลขทั้ง 2 ตัวนี้ไปอย่างไรก็ตาม แต่มีเรื่องที่ กฟผ.และผู้เกี่ยวข้องไม่ยอมที่จะปริปากพูดกับประชาชน โดยเฉพาะชาวกระบี่ว่า แท้จริงแล้วการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จะมีกี่โรง หรือขนาดกำลังผลิตเท่าไหร่ มีเพียงประกาศว่าจะขึ้นโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยกำลังผลิตประมาณการแบบตัวเลขกลมๆ ในโรงแรกคือ 800 เมกะวัตต์ จนดูเหมือนว่า กฟผ.จะขึ้นแค่เพียงโรงเดียว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฟผ.มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่กระบี่ให้ได้กำลังการผลิตทั้งหมด 3,200 เมกะวัตต์ หรือตัวเลขกลมๆ ที่มักชอบพูดกันก็คือ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งกำลังผลิตจริงของโรงไฟฟ้าถ่านหินก็อยู่ที่ 780 เมกกะวัตต์ต่อ 1 โรง
เมื่อพิจารณาแล้ว กฟผ.จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในกระบี่รวมแล้วอย่างน้อยก็ต้อง 4 โรงเป็นอย่างน้อย
ส่วนเรื่องขอคำขู่ที่ภาคใต้จะขาดแคลนถึงขั้นไม่มีไฟฟ้าใช้ ไฟฟ้าดับกันไปทั้งเมือง และชนบท อาจถึงขั้นต้องจุกตะเกียงกันเลยนั้น เรื่องนี้ “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)” หยิบยกข้อมูลของกระทรวงพลังงานมาวิเคราะห์ให้รับรู้กันมานานแล้ว โดยเฉพาะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานภาคประชาชน คือ ผศ.ประสาท มีแต้ม ได้พูด และเขียนเพื่อชี้ประเด็นภาคใต้มีการผลิตไฟฟ้าที่เกินกำลังแบบปัดภาระให้มาตกแก่กระเป๋าประชาชนมานานแล้ว
ข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (ตัวเลขถึง ส.ค.2557) ระบุกำลังการผลิตในภาคใต้ทั้งหมดมี 2,415.7 เมกะวัตต์ ตัวเลขนี้ยังไม่รวม 1.การผลิตของโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ขนาด 766 เมกะวัตต์ ซึ่งสร้างเสร็จแล้วเมื่อ ก.ค.2557 และเวลานี้เปิดเดินเครื่องผลิตแล้ว 2.ระบบสายส่งจากภาคกลาง 650 เมกะวัตต์ และ 3.โรงไฟฟ้าฉุกเฉิน จ.สุราษฎร์ธานี อีก 234 เมกะวัตต์ ถ้ารวมเข้าไปทั้งหมดก็จะเป็น 4,065.7 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ปี 2556 เท่ากับ 2,683 เมกะวัตต์
นั่นแปลว่าในภาคใต้มีกำลังผลิตสำรองในภาคใต้ถึงประมาณ 52% ซึ่งสูงเกินระดับมาตรฐานที่ควรจะมีแค่ 15% ไปเสียตั้งมากมายด้วยซ้ำ
สำหรับเรื่องราคาไฟฟ้าที่คนภาคใต้อาจจะต้องเสียแพงกว่าคนภาคอื่นๆ หากไม่ยอมให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หรือที่ผ่านมาๆ มา ก็มีการกล่าวขานกันว่า ถ้าให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ภาคใต้ ต่อไปคนใต้อาจจะได้ใช้ไฟฟ้าที่มีราคาถูกกว่าคนภาคอื่นๆ จะได้รับผลประโยชน์มากมายจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นที่ประจักษ์มาช้านานแล้วว่า เป็นเพียงวาทกรรมกล่อมให้ยินยอมเท่านั้น
เรื่องนี้พิสูจน์แล้วจากคนสงขลาที่มีทั้งโรงแยกก๊าซ และ 2 โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แจ้งเกิดในพื้นที่ แต่นับเป็นเวลาสิบปีมาแล้วไม่เคยเลยที่คนสงขลาจะได้ใช้ทั้งแก๊ส และไฟฟ้าราคาถูก
อีกประเด็นหนึ่ง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่าไม่ได้ดูถูก แต่การกล่าวด้วยท่าทางที่มากไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และน้ำเสียงดุดันจริงจัง ตอนหนึ่งพุ่งเป้าถึงกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีตัวแทนอดข้าวประท้วงต่อเนื่องมากว่า 10 วัน ในทำนองว่า มีใครไปดูเขากินตอนกลางคืนที่ไหนรึเปล่า เดี๋ยวจะให้คนไปดูแล ที่ผ่านมาในอดีตเห็นมีการเจาะรูพื้นข้างล่าง เขาอาจจะอดจริงก็ได้ แต่คนเราอดน้ำอดข้าว 3 วันก็ตายแล้ว อันนี้เขาอดจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้
สิ่งนี้ต้องนับว่านำมาซึ่งการ “เรียกแขก” ได้ไม่น้อยทีเดียว
แน่นอน เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินย่อมไม่ยอมนิ่งเฉย โดยเฉพาะ 2 แกนนำที่ปฏิบัติการอดข้าวประท้วง“นายประสิทธิชัย หนูนวล” กับ “นายอัครเดช ฉากจินดา” ได้แถลงตอบโต้โดยแบบทันควันในช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ค. วันเดียวกันนั้น และเป็นไปแบบดุเด็ดเผ็ดร้อน จึงยิ่งเป็นการเติมเชื้อแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ถึงขั้นมันหยดดังระงมไปทั่วจากทุกสารทิศ ทั้งหน้าสื่อมวลชน และแชดสนั่นอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์
และสิ่งนี้เองอาจจะเป็นสาเหตุให้ในวันถัดมาคือ วันที่ 22 ก.ค.2558 ผู้กุมบังเหียนอำนาจรัฐถึงกับไฟเขียวให้มีปฏิบัติการ “ส่งทหารเยี่ยมบ้าน” โดยให้กองกำลังทหารช่างที่ 401 ค่ายอภัยบริรักษ์ จ.พัทลุง พร้อมอาวุธครบมือ 1 คันรถ บุกไปเยือนครอบครัวแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 2 คน ที่ จ.พัทลุง
เริ่มจากบ้าน “นางเหวียน หนูนวล” อายุ 64 ปี มารดาของนายประสิทธิชัย ที่ อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง แล้วตามด้วยบ้านของ “นายสิทธิพงษ์ สังข์เศษ” ใน อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งเป็น 1 ในเครือข่ายขาหุ้นปฏิรูปพลังงานที่เคยถูกทหารควบคุมตัวไปยังค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พร้อมนายประสิทธิชัย เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2557 ซึ่งตอนนั้นขาหุ้นปฏิรูปพลังงานออกเดินประท้วงจากหาดใหญ่เข้ากรุงเทพฯ
แม้ปฏิบัติการนำทหารเยี่ยมบ้านแกนนำในครั้งนี้ “พ.ท.วิริยะ รุจวนิชกุล” ผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่ 401 ค่ายอภัยบริรักษ์ จะออกมาชี้แจงแล้วว่าที่ไปเยี่ยมบ้านแกนนำค้านโรงไฟฟ้าถ่านกิน เพราะต้องการสอบถามปัญหาต่างๆ และหาทางออกร่วมกับ นายประสิทธิชัย แต่ไม่พบตัว เจอแต่แม่อยู่บ้าน ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดว่าทหารไปข่มขู่ หรือกดดัน ความจริงแล้วไม่ใช่ ทหารที่ไปก็ไปตามปกติ
“ขณะที่ไปที่บ้านนางเหวียน ก็ไม่ได้นำอาวุธปืนลงไป เพียงแต่ไปสอบถามปัญหาเหมือนกับนักเคลื่อนไหวคนอื่นที่เคยไปในพื้นที่ จ.พัทลุงเท่านั้น อย่างแกนนำ นปช. แกนนำนักเคลื่อนไหวหลายคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ทหารก็ไปเยี่ยมคอยสอบถามปัญหาอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ก็เช่นกัน ไม่ได้ไปเพื่อกดดัน หรือไปข่มขู่ตามที่เป็นข่าว” นั่นคือคำชี้แจงของ พ.ท.วิริยะ ต่อผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการภาคใต้”
แต่อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อผนวกกับความต่อเนื่องของสถานการณ์ที่ดำเนินไปในห้วงเวลานั้น ในสายตาคนไทยส่วนใหญ่น่าจะเห็นเป็นเรื่องของการข่มขู่คุกคามเสียมากกว่าการเดินทางไปทำความเข้าใจของคณะนายทหารในชุดลายพรางเต็มยศ และอาวุธครบมือ
ความจริงแล้วกลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่ขับเคลื่อนกันมากว่า 3 ปี มีการจัดกิจกรรมขับเคลื่อนมากมาย ซึ่งหลายครั้งหลายหนผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำอย่างหอการค้า และองค์กรธุรกิจการท่องเที่ยว กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุน ที่สำคัญบรรดาผู้มีชื่อเสียง และหลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็เคยเข้าร่วม จากในพื้นที่กระบี่ สู่หลายจังหวัดอันดามัน ขยายเป็นทั่วภาคใต้ ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายเข้ากรุงเทพฯ จนวันนี้ แต่ที่ผ่านๆ มาไม่มีครั้งไหนได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วทั้งสังคมได้อย่างช่วงสัปดาห์มานี้
ถ้าจะบอกว่าคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เที่ยวนี้ช่วยเรียกแขกให้แบบเป็นพิเศษก็ไม่น่าจะผิดจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เวลานี้ภาพที่มีข้อความว่า “ใครฆ่าอันดามัน” สะพัดอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์หนาตาขึ้นหลายเท่าตัว ที่สำคัญองค์กรอิสระ องค์กรทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ รวมถึงเครือข่ายภาคประชาสังคม หรือกลุ่มประชาชนทั้งในส่วนกลาง และในภูมิภาคต่างๆ ได้ออกมาแสดงตัวสนับสนุนเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา
โดยเฉพาะแกนนำ “เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)” ได้ออกมายืนเคียงข้าง และประกาศย้ำว่า เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินคือ 1 ในองค์กรเครือข่าย คปพ.แล้วด้วย
ที่ต้องจับแต่เป็นพิเศษคือ หลายองค์กร และเครือข่ายในภาคใต้ได้ออกมาประกาศสนับสนุนการเคลื่อนไหวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการประสานงานองค์กรภาคเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ที่ประสานมือกับ กป.อพช.ชาติและ กป.อพช.ทุกภูมิภาค สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ตัวแทนสมาคมประมงพื้นบ้านในภาคใต้และภาคตะวันออกรวม 22 จังหวัด ในนามสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล จ.ตรังและภาคีร่วมพัฒนา จ.ตรัง เครือข่ายพลเมืองสงขลา เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาถ่านหิน รวมถึงเครือข่ายในอีกหลายจังหวัดของภาคใต้ เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า เวลานี้แนวความคิด และความรู้สึกในการคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่เฉพาะที่ จ.กระบี่เท่านั้น แต่แทบทุกความเคลื่อนไหวขององค์กร หรือเครือข่ายประสานเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่า ต้องเกิดขึ้นไม่ได้ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น เวลานี้ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า ตัวแทนองค์กร และเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้กำลังนัดแนะที่จะหารือกันว่า เมื่อรัฐบาลแสดงท่าทีสนับสนุน และเดินหน้าผลักดันเต็มที่ให้แจ้งเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ควรจะเสนอให้มีการยกกระดับความเคลื่อนไหว เพื่อให้เกิดสัญลักษณ์อันเป็นเป้าหมายรวมของทุกองค์กร และเครือข่าย
โดยประเด็นที่น่าจะยกระดับได้เลยในเวลานี้ก็คือ การประกาศไม่ยอมรับให้ “นายณรงค์ชัย อัครเศรณี” นั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกต่อไป ซึ่งก็สอดรับต่อช่วงที่มีข่าวสะพัดว่าจะมีการปรับ ครม.ในเวลานี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ต้นสายปลายเหตุของเรื่องมีที่มาจากการกลุ่มทุนโลกบาลที่ประสานมือกับกลุ่มทุนไทย และโดยความยินยอมพร้อมใจของผู้กุมกลไกอำนาจรัฐ กำลังเดินหน้าในอัตราเร่งรีบแบบสุดปลุกปั้นประเทศไทยสู่ความเป็น “ศูนย์กลางพลังงานโลก” แล้วกำหนดให้ภาคใต้เป็นฐาน “อุตสาหกรรมปิโตรเคมี” ขนาดใหญ่แห่งใหม่ของโลก ซึ่งสุดท้ายจะตามมาด้วยอุตสาหกรรมต่างๆ กระจ่ายทั่วภาคใต้
ทั้งนี้ พื้นที่ศูนย์กลางการพัฒนาตามแนวคิดนี้อยู่ที่การสร้าง “เมกะโปรเจกต์” อันจะใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับอุตสาหกรรมที่เรียกว่า “สะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูล” ซึ่งจะประกอบไปด้วย ท่าเรือน้ำลึกหัว-ท้าย คือ “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ฝั่งอันดามันที่ จ.สตูล และ “ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2” ฝั่งอ่าวไทยที่ จ.สงขลา แล้วเชื่อมกันด้วย “ถนนมอเตอร์เวย์” “ระบบรถไฟ” รางคู่เพื่อบรรทุกสิ้นค้าอุตสาหกรรม และ“ระบบท่อก๊าซ-ท่อน้ำมัน”
โครงการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” เป้าหมายที่ 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,200 เมกะวัตต์ คือ หนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่ส่วนประกอบหนุนส่งสำคัญ เช่นเดียวกับการเร่งสร้าง “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” 2 โรง กำลังผลิตรวม 2,200 เมกะวัตต์ ที่ อ.เทพา จ.สงขลา ที่กำลังจะมีเวที ค.3 ในวันที่ 27-28 ก.ค.นี้ และสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในที่อื่นๆ อีก เช่น อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช อ.กันตัง จ.ตรัง จ.สตูล จ.สุราษฎร์ธานี จ.ชุมพร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น ซึ่งยังต้องรวมถึงเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ อีกด้วย
เมื่อพิจารณาทั้งหมดทั้งปวงแล้ว จึงไม่ต้องแปลกใจอะไรอีกแล้วที่คนไทยจะได้เห็น พล.อ.ประยุทธ์ พูดย้ำแล้วย้ำอีกมาตลอด ทั้งในเชิงร้องขอ และข่มขู่คนไทยขอให้หันหน้าปรองดองกัน อย่าคัดค้านโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศเดินหน้า ต้องมีอุตสาหกรรมเกิดขึ้นควบคู่กับเกษตร ประมง และท่องเที่ยว ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต้องสร้างท่าเรือน้ำลึก รวมถึงถนนหนทางต่างๆ
อีกทั้งไม่ต้องแปลกใจที่รัฐบาลปล่อยให้นายณรงค์ชัย โชว์พาว เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมอย่างเต็มสูบ เพื่อนำไปสูบการปล่อยผีสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 โดยไม่ต้องฟังเสียงคัดค้าน หรือแม้จะแลมองร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนโดย คปพ.ทำขึ้นประกบ รวมถึงปล่อยให้ทุกกระทรวงทบวงกรมเดินหน้าเร่งรัดการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้เต็มกำลัง แถมยังพร้อมที่จะส่งทหารไปเยี่ยมเยือนหากใครต่อต้าน คัดค้าน หรือขัดขืนนั่นเอง
ยิ่งเมื่อสอดรับต่อกระแสข่าวเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จาก “นายณรงค์ชัย อัครเศรณี” มาเป็น “พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข” ที่กำลังจะเกษียณราชการจากเก้าอี้เสนาธิการทหารบก ก็ยิ่งตอกย้ำว่า คสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีท่าทีอย่างไรต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21