xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ครม.ประยุทธ์ 3” ในกำมือ “พี่ป้อม” ปรับไปก็เท่านั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นที่จับตามองอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเรียกร้องให้หัวหน้ารัฐบาลปรับทัพเสนาบดีมาตั้งแต่ปีกลาย เพราะประเมินผลงานช่วงทดลองงานของหลายๆ คนแล้ว “สอบตก” แต่จนแล้วจนรอด “บิ๊กตู่” ก็ยังยึดมั่นถือมั่นในทีมงานชุดเดิมมาเรื่อย จนจะครบขวบปีของรัฐบาลในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้แล้ว

จะบอกว่า “ครม.ประยุทธ์” ไม่มีการขยับเคลื่อนไหวเลยก็คงไม่ถูกนัก เพราะช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 ก็มีการเสริมขุมกำลังดึงเอา “อํานวย ปะติเส” มาเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ “วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ” มาเสริมทีมเศรษฐกิจในเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในทางการเมืองจึงถือว่า ครม.ชุดนี้เป็น “ครม.ประยุทธ์ 2”

ส่วนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “ครม.ประยุทธ์ 3” นั้น ไม่ต่างจากการแทงหวยมีการวิเคราะห์ประเมินถึง “ไทม์มิ่ง” ช่วงเวลาที่เหมาะสมมาอย่างต่อเนื่องเพราะมีส่วนเกี่ยวพันกับคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ต่ำเตี่ยเรี่ยดินลงไปทุกที ไม่เช่นนั้น รัฐบาลอาจมีอายุสั้นกว่าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

แต่จะอย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มิได้มีความหมายในเชิง “อำนาจ” สักเท่าไหร่ เพราะผู้ที่กุมอำนาจก็ยังเป็นคณะบุคคลกลุ่มเดิมคือ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้าและเป็นสัญลักษณ์ ที่สำคัญคือมี บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยืนเป็นเงาทะมึนในการชี้เป็นชี้ตายอยู่เบื้องหลังในแทบจะทุกเรื่อง

เพราะฉะนั้น ปรับ ครม.ไปก็เท่านั้น เพราะนโยบายหลักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปยังเหมือนเดิมทุกประการ

เศรษฐกิจดิ่งเหว ปฐมเหตุปรับทัพ รมต.

หลายครั้งหลายหนที่สื่อมวลชนพยายามไถ่ถามถึงแนวโน้มการพิจารณาปรับ ครม. “พล.อ.ประยุทธ์” ก็มักปฏิเสธอย่างไม่ไยดี และถูกมองว่า “กลบเกลื่อน” ไปในทุกๆครั้ง แต่ในระยะหลังกลับมีเสียงแปล่งๆ ว่า “ไม่รู้” จากเดิมที่จะตอบเสียงเข้มๆว่า ไม่มี๊ ไม่มีแนวคิดที่จะปรับ ครม. ล่าสุดก็ปัดรำคาญว่า “ไม่เอาแล้ว ไม่ตอบแล้ว” แถมโทษสื่อด้วยว่ามโนกันไปเอง

ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว ถือเป็นธรรมชาติของ “รัฐบาลทหาร” ที่เข้ามาทำหน้าที่ “เฉพาะกิจ” หลังการยึดอำนาจที่จะไม่ค่อยมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลมากนัก เพราะถือว่ามากันแบบ “ชั่วคราว” เสร็จภารกิจแล้วก็ไป ต่างจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มักมีการปรับ ครม.เป็นว่าเล่น เพราะต้องมีการเกลี่ยผลประโยชน์ ประคองเสถียรภาพรัฐบาลอยู่แทบตลอดเวลา

แต่สำหรับรัฐบาล คสช.ถือเป็น “กรณีพิเศษ” มีการวางโรดแมปปฏิรูปประเทศไว้อย่างน้อยๆ 2 ปีด้วยกัน จึงถูกมองว่านานเกินไปหากจะใช้ทีมงานชุดเดิมไปจนสิ้นอำนาจของ คสช. โดยเฉพาะเมื่อมีวิกฤตต่างๆ นานาถาโถมเข้าใส่รัฐบาลอย่างไม่หยุดหย่อน

ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็เรื่อง “เศรษฐกิจ” ที่แม้มีข้ออ้างว่า แนวโน้มเศรษฐกิจตกต่ำ เป็นกันทั้งโลก แต่อีกด้านก็มองว่าด้วยศักยภาพของประเทศไทยเองก็ไม่น่าจะตำต่ำดิ่งเหว ถึงเพียงนี้ นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกแล้ว จึงต้องโทษ “คีย์แมนเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลด้วย

ซึ่งก็เป็นใครไปได้ไม่ได้นอกจาก “หม่อมอุ๋ย - ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและทีมงาน ที่มีเครื่องหมายคำถามถึงฝีไม้ลายมือตั้งแต่ปรากฏชื่ออยู่ใน ครม.ประยุทธ์ 1 แล้ว

ต้องยอมรับว่า ปัญหาเศรษฐกิจในห้วงเวลานี้ มีผลกระทบสร้างความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ไปจนถึงแม่ค้าข้าวแกง ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เศรษฐกิจย่ำแย่ ไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวด้วยซ้ำ

กระทั่งพวกที่ชูรักแร้เชียร์รัฐบาล คสช.อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูยังอดรนทนไม่ไหวเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง “ทีมเศรษฐกิจ” ในเร็ววันเป็นมติโดยเอกฉันท์

เพราะแม้ชื่อของ “นายกฯ ลุงตู่” อาจจะยังขายได้ แต่เรตติ้งก็ไม่ได้พุ่งเหมือนในช่วงแรก โดยเฉพาะการแก้ปัญหาปากท้องที่ทำได้ไม่ดี แม้จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จก็ตาม ส่งผลให้ “ศรัทธา-เชื่อมั่น” ของประชาชนลดน้อยถอยลงไปด้วย

ล่าสุด “กรุงเทพโพล” โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ปรับ ครม.พล.อ.ประยุทธ์ ฟื้นความเชื่อมั่นประชาชน” ระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ “ร้อยละ 59.8” เห็นด้วยหากมีการปรับ ครม. เพราะเริ่มไม่เชื่อมั่นในความสามารถของ ครม.ชุดปัจจุบัน และ “ร้อยละ 74.4” ต้องการให้ปรับกระทรวงด้านเศรษฐกิจมากที่สุด โดย “ร้อยละ 79.6” เห็นว่าถ้าปรับ ครม.จริงจะทำให้ทิศทางการทำงานของรัฐบาลดีขึ้น

เช่นเดียวกับภาคเอกชนโดย “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มองว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไทยป่วยนั้น เนื่องจากรัฐบาลมีปัญหาเรื่อง “วิสัยทัศน์” และตอบสนองข้อเสนอของภาคเอกชนล่าช้าเกินไป อีกทั้งยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ผล โดยเฉพาะการอุดหนุนหรือดูแลราคาสินค้าภาคการเกษตร

เชื่อมโยงไปถึงภาวะ “ตลาดหุ้นไทย” ที่ช่วงดีมีความเคลื่อนไหวผันผวนหนักไปทาง “ลดลง” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิเคราะห์กันว่า นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างหนัก เพราะไม่มั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอาจเป็นการเพิ่มแรงกดดันการทำงานของทีมเศรษฐกิจของ “หม่อมอุ๋ย” อีกทางหนึ่งด้วย

สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ทุกฝ่ายมองว่า “ทีมเศรษฐกิจ” ที่นำโดย “คุณชายอุ๋ย” เป็น “จุดอ่อน” ของรัฐบาลชุดนี้

“ทีมเศรษฐกิจ” ที่ว่ายังหมายรวมไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่นอกเหนือจาก ปัญหาราคาข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมันตกต่ำ จนแก้ไม่ตกแล้ว ยังเจอ “วิกฤตภัยแล้ง” เข้ามาซ้ำเติมอีก แม้เรื่องฝนตกช้ากว่าฤดูกาลจะเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ แม้จะทำพิธีขอฝนจาก “พระพิรุณ” แล้วก็ตาม แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะถูกตำหนิในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้น

จึงไม่แปลกที่ชื่อของ “ปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อยู่ในลิสต์ลำดับต้นๆ ที่อาจถูกทิ้งไว้กลางทาง เฉกเช่นเดียวกับ “อำนวย ปะติเส” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ถือว่า “สอบตก” หลังจากที่ถูกดึงมาช่วยเรื่องราคาสินค้าการเกษตร

ซ้ำร้ายยังมีข่าวว่า “หม่อมอุ๋ย” เมาท์มอย “บิ๊กตู่” ในระหว่างประชุมร่วมกับ “นายแบงก์” สมาคมธนาคารไทย ทำนองว่า “บิ๊กตู่” ไม่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ แต่ชอบไปตอบคำถามนักข่าวทุกเรื่อง จนมีข่าวว่า “ทีมงานนายกฯ” ไล่ล่าหาคลิปฉบับเต็มมายันว่า “หม่อมอุ๋ย” พูดจริงหรือเป็นเพียง “ข่าวปล่อย”

ด้วยภาวะเศรษฐกิจนี่เองที่ทำให้มีการประเมินว่า “เสนาบดี” ที่จะถูก "เขี่ยทิ้ง" ล้วนแล้วแต่อยู่ใน “ทีมอุ๋ย” ตั้งแต่ ตัว “หม่อมอุ๋ย” เอง “สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง “จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ปีติพงศ์ - อำนวย” จากกระทรวงเกษตรฯ

เรียกได้ว่า “ทีมอุ๋ย” จะถูกโละยกแผง สังเวยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ปรับตัวเล่น แต่นโยบายเหมือนเดิม

เป็นธรรมดาเมื่อมีข่าวการปรับ ครม.ก็ย่อมมีชื่อตัวบุคคลที่จะเข้ามาเสียบตำแหน่งต่างๆ ทั้งในส่วนของทีมเศรษฐกิจที่ปรากฏชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่ปรึกษา คสช. หรือ “ประสาร ไตรรัตน์วรกุล” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำลังจะหมดวาระ เข้ามาเสียบเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแทนที่ “คุณชายอุ๋ย” หรือชื่อของ “วรพล โสคติยานุรักษ์” อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ว่ากันว่าจะมาแทนที่ “สมหมาย ภาษี” ในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ส่วนเสนาบดีด้านเศรษฐกิจคนอื่นๆ ก็จะส่งทีมงานของ “สมคิด” เข้ามาดูแลแทนเจ้าของเก้าอี้เดิมทั้งหมด

ทั้งยังมีชื่อ “พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข” เสนาธิการทหารบก ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้งเหล่านักการเมืองอย่าง “สรอรรถ กลิ่นประทุม - พินิจ จารุสมบัติ - สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” นักการเมืองรุ่นเก๋าที่มีชื่อคั่วเก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ด้วย

รายชื่อที่ออกมามีทั้งการคาดเดาของสื่อ และบางคนตั้งใจปล่อยให้มีชื่ออยู่ในลิสต์ แต่ไม่ว่าจะเป็น “ทีมอุ๋ย” เหมือนเดิมหรือ “ทีมสมคิด” ที่อาจเข้ามาเสียบแทน แต่หากรัฐบาล คสช.ไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย ผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างจากเดิม

“บิ๊กตู่” เคยย้ำหนักหนาว่า “เสนาบดี” ในรัฐบาลขุนทหารของไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นเพราะระบบ และข้าราชการที่เป็น “ตัวถ่วง” มากกว่า เคยพูดถึงขนาดว่ากระทรวงไหนไม่มีผลงาน จะไม่เล่นงานเจ้ากระทรวง แต่จะเล่นงานข้าราชการ และให้บรรดาข้าราชการรีบแก้ไขตัวเอง เพราะเป็นผู้ปฏิบัติที่อยู่ในกลไก แต่รัฐมนตรีนั้นแค่ผู้คุมนโยบาย

สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่า สาเหตุที่ “ประยุทธ์” ไม่ปรับ ครม.ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเลย ก็เพราะเกรงใจและไม่ต้องการทำร้ายน้ำใจผู้ที่ได้ชักชวนเข้ามาช่วยงาน คสช. โดยเฉพาะบุคคลที่มีสายสัมพันธ์กับทาง “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง

ดูท่าทีของ “นายกฯ ตู่” แล้วอาจจะสรุปได้ว่า ไม่อยากปรับ ครม.เท่าไรนัก ขนาดเมื่อปลายปีก่อนมีกระแสข่าวว่า “พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่ถูกสื่อมวลชนโจมตีอย่างหนักว่าไม่มีผลงาน หรือเป็น “รมต.โลกลืม” จนลูกสาวขอให้ลาออก ก็ยังถูก “บิ๊กตู่” เรียกไปรับทัศนคติไม่ให้ถอดใจลาออก เพราะไม่อยากให้เกิดแรงกระเพื่อนใน ครม.

จึงจะเห็นได้ว่า “นายกฯ ตู่” พยายามถูลู่ถูกังประคองสถานการณ์ไปเรื่อย แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่ายก็ตาม ดังนั้น หากตัดสินใจปรับ ครม.จริง ก็เป็นเพราะต้องการลดกระแสสังคมเท่านั้น

คนเป็นนายกฯ ย่อมรู้ดีว่า สภาพความเป็นจริงของประเทศเป็นอย่างไร โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจย่ำแย่ตกต่ำแค่ไหน แต่หากมีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจจริง แง่หนึ่งคนที่ หลุดออกไปย่อมถูกมองว่า “แพะรับบาป” ก็คงไม่ผิดนัก แต่หากผลลัพธ์จากการปรับ ครม.ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาล คสช.ย่อมหมดข้อแก้ตัว ซึ่งจะส่งผลเสียต่อรัฐบาลมากกว่าผลดีแน่นอน

ที่สำคัญ “จุดยืน” แนวนโยบายของรัฐบาลค่อนข้างชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องปรองดองที่ไม่แตกหักกับ “ระบอบทักษิณ” หรือเรื่องพลังงานที่เหมือนจะรับฟังความเห็นภาคประชาชน แต่ก็มี “ธง” ที่ตั้งไว้อยู่ในใจแล้ว เป็นต้น

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลหรือไม่นั้น จึงแทบไม่ได้ทำให้แนวทางการทำงานของรัฐบาล คสช.เปลี่ยนไปเลย

“บิ๊กตู่” แค่หน้าฉาก ตัวจริงต้อง “บิ๊กป้อม”

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในยุคที่ทหารครองเมืองขณะนี้นั้น อิทธิพลของ “บิ๊กป้อม - พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ดูจะเบ่งบานทั้งใน คสช. และในรัฐบาล มากกว่า “บิ๊กตู่” ที่แม้จะโดดเด่นในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่หากพูดเรื่องอิทธิพล-บารมีแล้วก็ยังคงต้องเป็น “น้องตู่” ของ “พี่ป้อม” ที่เป็น “พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์” ต่อไป

แม้ “บิ๊กป้อม” จะได้รับมอบหมายให้ดูแลงานด้านความมั่นคงเป็นหลัก แต่หากลองไล่เรียงดูชื่อ “เสนาบดี” ใน ครม.ปัจจุบัน นอกเหนือจาก 9 กระทรวงที่มีทหารคุมแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า รัฐมนตรีหลายคนในกระทรวง “เกรดเอ” จะมีคอนเนกชันมาทาง “บิ๊กป้อม” มากกว่า “บิ๊กตู่” ที่มีคอนเนกชันกับรัฐมนตรีในกระทรวง “เกรดบี-ซี” มากกว่าด้วยซ้ำ และมีเพียงไม่กี่คน เท่านั้นที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “สายตรงบิ๊กตู่”

ดูได้จาก “หม่อมอุ๋ย” ที่ได้อานิสงส์จากเข้าป้ายมาคุมงานเศรษฐกิจจาก “เซนต์คาเบรียลคอนเนกชัน” และยังเป็นรองประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่มี “บิ๊กป้อม” เป็นประธาน ตลอดจนบรรดา “ทีมอุ๋ย” ที่ล็อกสเปกหนีบเข้ามาช่วยงาน รวมไปถึง “ปีติพงษ์” ก็ขึ้นชื่อว่าใกล้ชิด “เนวิน ชิดชอบ” ที่ต่อสายกับ “บิ๊กป้อม” อยู่เป็นประจำ ขณะที่รัฐมนตรีบางส่วนก็มี กปปส.ของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” หรือ “พระสุเทพ ปภากโร” ส่งเข้าประกวด ซึ่งก็ผ่านสายของ “บิ๊กป้อม” เช่นกัน

ขณะที่กระแสข่าวผู้ที่มีชื่อจะมาเสียบใน “ครม.ประยุทธ์ 3” ก็ยังหนีไม่พ้น “ประวิตรคอนเนกชัน” อย่าง “สรอรรถ - พินิจ - สุดารัตน์” นักการเมืองมากประสบการณ์ที่มีชื่อว่าจะถูกดึงมาช่วยงาน ก็ถูกโยงว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับ “บิ๊กป้อม” เช่นกัน

ขณะที่กระแสข่าวที่ว่า “บิ๊กป้อม” จะลุกจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม นั้น ถือว่าเป็นไปได้น้อย เพราะไม่มีเหตุผลความจำเป็น แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ก็เป็นความสมัครใจของ “บิ๊กป้อม” เอง ไม่ใช่ความต้องการของ “บิ๊กตู่” แต่อย่างใด

ว่ากันว่าข่าว “บิ๊กป้อม” จะเขยิบก้นออกจากกระทรวงกลาโหม อาจเพราะต้องการหลีกทางเพื่อแต่งตัวเสริมหล่อให้กับ “นายกฯ อะไหล่” อย่าง “บิ๊กโด่ง - พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ” ที่เตรียมลุกจากเก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หลังเกษียณอายุราชการเท่านั้น

แต่แม้จะนั่งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเก้าอี้เดียว อิทธิพล-บารมีของ “ประวิตร” ก็ยังคงเบ่งบานเช่นเดิม

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่” จะขบเหลี่ยมขัดแย้งกัน แต่ต้องการสะท้อนให้เห็นว่าทิศทางการขับเคลื่อนของ คสช. รัฐบาล รวมทั้งแม่น้ำ 5 สายอยู่ภายใต้การคอนโทรลของ “บิ๊กป้อม” แทบทั้งสิ้น โดยมี “บิ๊กตู่” รับบทนำในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เพราะ “บิ๊กตู่” ก็ถือเป็น “เด็กประวิตร” คนหนึ่งเหมือนกัน ส่วนการปรึกษาหารือย่อมมีแน่นอนตามประสาคนบ้านติดกันในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.)

พูดง่ายๆ คือ “น้องตู่” เป็นหน้าฉาก ส่วนหัวใจคือ “พี่ป้อม” เทียบให้เห็นภาพก็เหมือนที่ “น้องปู” เป็นหน้าฉาก แต่หัวใจคือ “พี่แม้ว” นั่นเอง

เป็นที่รู้กันอีกว่า “วอร์รูม” หรือฐานบัญชาการใหญ่ของ คสช.อยู่ที่ “มูลนิธิป่ารอยต่อฯ” ซึ่งมี “บิ๊กป้อม” เป็นประธาน และตั้งอยู่ภายใน ร.1 รอ. ไม่ว่า “โผทหาร-โผ ครม.” มีอันต้องผ่านการกลั่นกรอง ณ ฐานที่มั่นแห่งนี้ก่อน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ไม่เพียงแต่โผรายชื่อเท่านั้น บรรดา “แคนดิเดต” ทั้งทหาร-พลเรือนก็เข้านอกออกในเป็นว่าเล่น จนล่าสุด “บิ๊กป้อม” ถึงกับโดดประชุม ครม.-สภากลาโหมเลยทีเดียว

ผลสรุปสุดท้ายว่า ใครจะเป็น ผบ.ทบ. หรือจะปรับ ครม.เมื่อไหร่-อย่างไร หรือกระทั่งโผตำรวจ ก็ขึ้นอยู่กับ “บิ๊กป้อม” ที่เป็นคนเคาะคนสุดท้าย ส่วน “บิ๊กตู่” ก็คงไม่ขัด “ลูกพี่” ตามประสาคนพูดจาภาษาเดียวกัน-เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอยู่แล้ว

และหากมีการปรับ ครม.จริง ก็เป็นเพราะ “พี่-น้อง” เห็นพ้องที่จะลดแรงเสียดทานของสังคม และเตรียมปรับทัพรับศึกใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ ทั้งช่วงเปลี่ยนผ่านโรดแมประยะ 2-3 ที่มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รออยู่ หรือกระทั่งการเลือกตั้งใหญ่ที่อาจมีขึ้นในอีกไม่ถึงปีข้างหน้านี้



พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เต็ง 1 ที่ถูกจะปรับพ้นคณะรัฐมนตรี
ด้วยสถานการณ์ที่รุมเร้า ทำให้อีกไม่นานนัก โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จำต้องเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น