xs
xsm
sm
md
lg

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะจะนำไปสู่ความสงบหรือกลียุค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ๒๕๕๘ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อ วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ หลังจากวันประกาศหนึ่งเดือนก็จะมีผลบังคับใช้ นักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองจะต้องทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระและแนวทางการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ดี เพราะหากทำไม่ถูกต้องก็จะมีโอกาสติดคุกรับโทษสูงสุดถึงสิบปี หรือปรับสองแสนบาท แถมยังถูกยึดและริบทรัพย์ที่ใช้ในการชุมนุมอีกด้วย

การชุมนุมสาธารณะตาม พ.ร.บ.นี้หมายถึง “การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน หรือคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่”

ส่วนที่สาธารณะคือ ที่ดินหรือสิ่งปลุกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมถึงทางหลวงและทางสาธารณะ

ชุมนุมที่ใดไม่ได้บ้าง

เมื่อท่านและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ตัดสินใจว่าจะเคลื่อนไหวทางสังคมหรือการเมืองไม่ว่าจะคัดค้านหรือสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และเชิญชวนหรือนัดผู้อื่นมาร่วมชุมนุมสาธารณะท่านก็จะมีฐานะเป็น “ผู้จัดการชุมนุม” ตามกฎหมาย หรือ ที่เดิมเรียกอย่างเคยชินว่า “แกนนำ” กลุ่มคนที่กฎหมายฉบับนี้นับรวมเป็น “ผู้จัดการชุมนุม” ประกอบด้วย ผู้เชิญชวน ผู้นัด ผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ เครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวก

หลังจากนั้นท่านต้องเลือกสถานที่ชุมนุมให้ดี เพราะหากเลือกผิด ก็มีโอกาสติดคุกสูงสุดหกเดือน ปรับสูงสุดหนึ่งหมื่นบาท แค่เลือกสถานที่ชุมนุมต้องห้ามตามกฎหมายฉบับนี้คุกก็รออยู่เบื้องหน้าแล้วครับ สถานที่ชุมนุมห้ามเอาไว้อยู่ในในมาตรา๗ และ ๘

มาตรา ๗ ระบุบริเวณที่ห้ามชุมนุมเด็ดขาดคือ รัศมีร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการ ประทับหรือพำนัก หรือสถานที่พำนักขอพระราชอาคันตุกะ

ส่วนสถานที่อย่างรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลทุกศาล กฎหมายได้ห้ามมิให้เข้าไปชุมนุมภายในบริเวณสถานที่เหล่านั้น เช่น หากจะเข้าไปชุมนุมพักค้างในทำเนียบรัฐบาลก็เข้าข่ายผิดกฎหมายตามมาตรานี้ครับ

สำหรับสถานที่ซึ่งสามารถชุมนุมบริเวณใกล้ๆได้แต่ต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก รบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการได้กำหนดไว้ใน มาตรา ๘ อันได้แก่ สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน สถานทูตหรือสถานกงสุล หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ หรือสถานที่อื่นๆตามที่รัฐมนตรีประกาศ

ดังนั้นหากท่านต้องการไปชุมนุมชูป้ายประท้วงอย่างเงียบๆ ใช้เสียงเบาๆ นอกรั้วของสถานที่ข้างต้น โดยเปิดทางเข้าให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทำงาน ไม่เอาโซ่และกุญแจมาคล้องไว้ที่ประตูหน้า ก็ยังสามารถทำได้ แต่ท่านต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้าสถานีตำรวจที่ตั้งบริเวณนั้นเสียก่อนนะครับ

สถานที่หลายแห่งที่กฎหมายนี้ไม่ได้ห้ามไว้ เช่น สถานที่ของเอกชนหน้าศูนย์การค้าต่างๆ ลานพระรูปทรงม้า สนามหลวงบางส่วน ลานหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ สถานที่เหล่านั้นชุมนุมได้ครับ เลือกกันเอาเองว่าจะชุมนุมที่ไหน แต่ต้องระวังสักนิดและดูประกาศสถานที่ห้ามชุมนุมของรัฐมนตรีประกอบด้วยนะครับ

แต่ที่น่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้คือ มาตรา ๙ ครับ คือเขาให้หน่วยงานของรัฐจัดสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะได้ แถมยังจัดชุมนุมได้โดยไม่ต้องแจ้งแก่หัวหน้าสถานีตำรวจด้วยครับ อันนี้สงสัยว่าจะเตรียมสถานที่เอาไว้สำหรับรองรับมวลชนที่สนับสนุนรัฐบาลมาแสดงพลัง

แล้วจะจัดชุมนุมอย่างไร

เมื่อท่านเลือกสถานที่ชุมนุมเสร็จสรรพแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือต้องแจ้งแก่หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่ก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง

รายละเอียดที่จะต้องแจ้งคือวัตถุประสงค์การชุมนุม วัน ระยะเวลา สถานที่ โดยต้องทำตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศ และต้องแจ้งผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยครับ เช่น หากท่านต้องการชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง หรือต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง หรือยุบสภาท่านก็ต้องแจ้งให้ชัดเจนครับ แต่แจ้งแล้วไม่ใช่ว่าจะจัดชุมนุมได้ทันทีนะครับ ต้องรอให้หัวหน้าสถานีตำรวจบริเวณที่
จัดชุมนุมอนุญาตเสียก่อน หากชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาตก็มีความผิดอีกครับ

หัวหน้าสถานีตำรวจจะส่งสรุปสาระสำคัญแก่ผู้จัดการชุมนุมทราบภายใน ๒๔ ชั่วโมง แต่หากเขาเห็นว่าการชุมนุมไปขวาง รบกวนการทำงานหรือการบริการ ก็จะสั่งให้ย้ายที่ชุมนุม เช่น ท่านต้องการจะชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่เขาอาจสั่งให้ท่านเคลื่อนย้ายไปชุมนุมที่อื่นๆก็ได้ แต่หากท่านไม่ย้าย เขาก็จะมีคำสั่งห้ามชุมนุม แต่หากท่านไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนั้น ก็อุทธรณ์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้และต้องวินิจฉัยภายใน ๒๔ ชั่วโมง และถือว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นที่สุด และระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม อุทธรณ์และพิจารณาวินิฉัยอุทธรณ์ ท่านชุมนุมไม่ได้นะครับ

สรุปก็คือว่า “ตำรวจ” จะเป็นผู้มีอำนาจในการอนุญาตให้ชุมนุมหรือไม่ให้ชุมนุม ผมสงสารตำรวจนะครับ สงสัยในอนาคตตำรวจจะยิ่งกลายมาเป็นเป้าหมายหรือเป็นปรปักษ์กับผู้ชุมนุมมากขึ้น ตอนนี้ภาพลักษณ์ก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว เพิ่มเรื่องนี้เข้าไปอีกก็ยิ่งทำให้ตำรวจจำนวนมากอาจเครียดจนไม่เป็นอันกินอันนอน

ทีนี้ถ้าหากท่านจัดชุมนุมไปแล้วและไม่อาจแจ้งก่อน ๒๔ ชั่วโมงได้ จะทำอย่างไร ติดคุกเลยหรือเปล่า ยังครับยังไม่ติด แต่ท่านมีโอกาสโดนปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ บาท และหลังจากนั้นท่านต้องแจ้งการชุมนุมพร้อมกับคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาต่อผู้บังคับการตำรวจในพื้นที่ได้ ถ้าเขาอนุญาต การชุมนุมของท่านก็ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย

แต่หากเขาเห็นว่าการชุมนุมของท่านไม่มีเหตุผลอันควรและไม่อนุญาต การชุมนุมที่ท่านดำเนินการไปแล้วก็จะกลายเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาก็จะสั่งให้ท่านเลิกการชุมนุม แต่ถ้าท่านฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุมมีโอกาสติดคุกสูงสุด ๖ เดือน และปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ บาท หรือรับโทษทั้งสองอย่าง

หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม

กฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมอีกด้วยทั้งหมด ๗ หน้าที่ (ม.๑๕) ๑) ดูแลและรับผิดชอบให้การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ๒) ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ๓) แจ้งให้ผู้ชุมนุมทำตามกฎหมาย ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ หากท่านไม่ทำหน้าที่ทั้ง ๓ นี้จะถูกปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ บาท ครับ

ส่วนหน้าที่ลำดับที่ ๔-๗ คือ ๔) ให้ความร่วมมือแก่พนักงานดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามข้อ ๑) และ ๒) ข้างต้น ๕) ไม่ยุยง ส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ รวม ๙ ข้อ เช่น เขาห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมปิดยังอำพลางตัวตน แต่ท่านส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมสวมหมวกไอ้โม่ง หรือ เขาห้ามไม่ให้ผู้ชุมนุมพกพาอาวุธ แต่ท่านส่งเสริมให้เขาพกอาวุธ อย่างนี้ท่านก็จะผิดกฎหมายตามมาตรานี้ ๖) ไม่ปราศรัยหรือจัดกิจกรรมโดยใช้เครื่องขยายเสียงตั้งแต่เที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า และ ๗) ต้องใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด หากท่านไม่ทำตามข้อห้ามเหล่านี้ท่านมีโอกาสติดคุก ๖ เดือน และปรับสูงสุด ๑๐,๐๐๐ บาท หรือรับโทษทั้งจำและปรับพร้อมกันไป

สำหรับท่านที่เข้าร่วมชุมนุมหรือเป็น “ผู้ชุมนุม” กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหน้าที่ไว้ ๙ อย่างครับ เอาแบบย่อๆ ได้แก่ ๑) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ปชช.ที่ใช้ที่สาธารณะหรือทำให้คนอื่นเดือนร้อน ๒) ไม่ปิดบังอำพลางตนเอง (เอาหมวกไอ้โม่งคลุมหน้าไม่ได้) ยกเว้นแต่งกายตามประเพณี ๓) ไม่พกพาอาวุธ ดอกไม้เพลิง สิ่งเทียมอาวุธปืนหรือสิ่งที่อาจนำมาใช้เป็นอาวุธเข้าที่ชุมนุมไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีสิ่งนั้นติดตัวหรือไม่ (หากท่านมีใบอนุญาตพกปืน ก็พกเข้าที่ชุมนุมไม่ได้นะครับ) ๔) ห้ามบุกรุก ทำลาย สร้างความเสียหาย หรือทำให้แก่ทรัพย์สินของผู้อื่นใช้การไม่ได้ตามปกติ ๕) ไม่ทำให้คนอื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือ เสรีภาพ ๖) ไม่ใช้กำลังทำร้ายหรือขู่ว่าจะใช้กำลังทำร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น ๗) ไม่ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ๘)ไม่เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมหลังหกโมงเย็นถึงหกโมงเช้า และ๙) ต้องทำตามเงื่อนไขของเจ้าพนักงาน

หากผู้ชุมนุมฝ่าฝืนข้อ ๑) หรือ ๒) ถูกปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ถ้าฝ่าฝืนข้อ ๓) ถึงข้อ ๘) จะต้องติดคุก ๖ เดือนหรือ ปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สงสัยในอนาคตต้องสร้างคุกเพิ่มขึ้นอีกนับสิบแห่งเป็นแน่ ยิ่งกว่านั้นถ้า ”ผู้ชุมนุม” ทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะ (เช่นไปขวางไม่ให้รถไฟฟ้าวิ่งได้) ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบผลิต หรือ ส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา ใช้การไม่ได้ชั่วคราวหรือถาวร “ผู้จัดการชุมนุม” จะโดนหนักครับ คือติดคุกสูงสุด ๑๐ ปี ปรับสูงสุด ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

หากไม่เลิกชุมนุมที่ตำรวจหรือศาลระบุว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอะไรจะเกิดขึ้น

กรณีที่เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าพนักงานสามารถดำเนินการประกาศให้เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ทำตาม ตำรวจก็ร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดเพื่อมีคำสั่งให้เลิกชุมนุม และระหว่างรอคำสั่งตำรวจมีอำนาจทำตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมที่คณะรมต.เห็นชอบตามข้อเสนอแนะของ ผบ.ตร. เช่น อาจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมก็ได้ หากศาลเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งตำรวจ ศาลก็มีคำสั่งให้เลิกชุมนุมตามที่กำหนด หากผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยก็อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค โดยคำสั่งถือเป็นที่สุด

แต่ถ้าผู้ชุมนุมยังไม่เลิกชุมนุมอีก ผู้ดูแลการชุมนุมก็จะรายงานให้ศาลทราบและประกาศเป็นพื้นที่ควบคุม โดยให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ตามเวลาที่กำหนด และห้ามไม่ให้คนอื่นเข้าในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาต และรายงานให้รัฐมนตรีทราบ (มาตรการชักเข้มข้นขึ้นครับ) เมื่อประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมแสดงว่าสถานการณ์ตึงเครียดจัด กฎหมายก็ให้ ผบ.ตร.นครบาล หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ คนที่รมต.มอบหมายเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุม

ใครไม่ออกจากที่ชุมนุมหรือยังมีคนเข้าไปร่วมชุมนุมอีก กฎหมายระบุให้ถือว่ามีความผิดซึ่งหน้า ตำรวจสามารถจับได้เลย ทั้งยังเข้าไปค้น ยึด อายัดหรือรื้อทรัพย์สินที่ใช้ในการชุมนุมได้ ทำตามแผนสลายการชุมได้ (คราวนี้สงสัยทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยางมากันเพียบ) หรือทั้งห้ามมิให้กระทำการใดๆ เช่น ห้ามรถเมล์วิ่งเข้าใกล้ที่ชุมนุม ห้ามมอเตอร์รับคนเข้าไปส่งคนใกล้ที่ชุมนุม เพื่อบีบให้การชุมนุมเลิกให้ได้ และหากตำรวจเห็นว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรง ก็สั่งให้หยุดกระทำได้ แต่หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็จับหรือสลายการชุมนุมได้ (ม. ๒๔ และ ๒๕)

ใครฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ควบคุมสถานการณ์หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ อันได้แก่ การไม่ยอมออกจากพื้นที่ควบคุม หรือยังเดินไปเข้าร่วมชุมนุม ท่านมีโอกาสติดคุกสูงสุด ๓ ปี และปรับสูงสุด ๖๐,๐๐๐ บาท

กลางเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้อย่างเต็มที่ ใครที่วางแผนชุมนุมอะไร ก็คิดให้รอบคอบนะครับ เพราะท่านมีโอกาสติดคุกสูงมาก อย่างไรก็ตามผมคิดว่าหากกฎหมายฉบับนี้มีการบังคับใช้อย่างเข้มงวด อนาคตที่ผมเห็นสำหรับสังคมไทย ไม่ใช่ความสงบหรอกครับ แต่มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นจนอาจกลายกลียุคก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น