xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พ.ร.บ.คุมม็อบจะไร้ผล ถ้ายังไม่แก้“ตำรวจมะเขือเทศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ…. ก็ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวาระ 3 เป็นที่เรียบร้อย ด้วยมติเอกฉันท์ 158 ต่อ 0 ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

นับเป็นกฎหมายควบคุมการชุมนุมฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยที่จะมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่มีชงเรื่องไว้เมื่อ 15 ปีก่อน ในยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย และมีความพยายามนำมาปัดฝุ่นเสนอต่อสภาในหลายรัฐบาล แต่ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเสียก่อน จนกระทั่งในยุครัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.พร้อมๆ กับร่างกฎหมายอีกหลายฉบับที่ คสช.เห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน และสามารถผ่านออกมาได้โดยไม่ยากเย็นนัก

หลังจากนี้ ก็จะเป็นขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้น 30 วัน จึงจะมีผลบังคับใช้

ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีหลักการและเหตุผลคือ กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิการชุมนุมสาธารณะให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่สำคัญ มีอาทิ

มาตรา 4 กำหนดคำนิยามของ “การชุมนุมสาธารณะ”หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นที่สามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่

ส่วน “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณะประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ

มาตรา 6 กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

มาตรา 7 ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือของพระบวรวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือ สถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ

นอกจากนี้ ยังห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดพื้นที่สำหรับการชุมนุมสาธารณะไว้ให้

มาตรา 8 การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือ รบกวน สถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานทูต หรือ กงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือ สถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ

มาตรา 10 ผู้ประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมในสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง(หัวหน้าสถานีตำรวจในพื้นที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ หรือบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด) ก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมต้องระบุวัตถุประสงค์ วันเวลา และสถานที่การชุมนุมสาธารณะตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา 11 เมื่อได้รับแจ้งแล้วให้ผู้รับแจ้งสรุปสาระสำคัญการชุมนุมฯ ให้ผู้แจ้งทราบภายใน 24 ชั่วโมง ในกรณีผู้รับแจ้งเห็นว่า การชุมนุมฯ นั้น อาจขัดต่อมาตรา 7 หรือ มาตรา 8 ให้ผู้รับแจ้งมีคำสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด หากผู้แจ้งการชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ให้ผู้รับแจ้งมีคำสั่งห้ามการชุมนุมโดยมีคำสั่งเป็นหนังสือไปยังผู้แจ้ง กรณีผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งห้ามชุมนุมดังกล่าว ให้ผู้แจ้งยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือกว่าผู้รับแจ้งขึ้นไปหนึ่งชั้น และให้ผู้รับอุทรณ์วินิจฉัยและแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง และถือคำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สิ้นสุด ทั้งนี้ ในระหว่างมีคำสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้งดการชุมนุมสาธารณะไว้ก่อน

มาตรา 15 กำหนดให้ผู้จัดการชุมนุม ต้องมีหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมเป็นไปด้วยความสงบและปราศจากอาวุธ และต้องให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอีกด้วย และผู้จัดชุมนุมต้องไม่ปราศรัยและจัดกิจกรรมการชุมนุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่างเวลา 24.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น และไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าที่มีขนาดหรือระดับเสียงตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด

มาตรา 16 กำหนดให้ผู้ชุมนุมต้องมีหน้าที่ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ ไม่ก่อความเดือดร้อน และไม่ปิดบังอำพรางใบหน้าโดยมีเจตนาปิดบังตัวตน ไม่พกอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่บุกรุกหรือทำลายทรัพย์สินผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน หรือเสรีภาพ ไม่เดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น.ของวันรุ่งขึ้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุม

มาตรา 19 กำหนดเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการดูแลการชุมนุมสาธารณะ

มาตรา 21 กำหนดให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะดำเนินการกรณีที่มีการชุมนุมไม่เป็นไปตามกฎหมาย โดยสั่งให้เลิกการชุมนุมหรือแก้ไขการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามให้เจ้าพนักงานร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเลิกชุมนุมต่อไป และมาตรา 22 กำหนดให้ศาลพิจารณาคำขอให้สั่งเลิกการชุมนุมเป็นการด่วน และให้คำสั่งศาลถือเป็นที่สุด

ในส่วนของบทกำหนดโทษนั้น กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนนมาตรา 7 และ มาตรา 8 ,ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุม ตามมาตรา 11,ผู้จัดการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 และผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา 16 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ

ถ้าผู้จัดการชุมนุม หรือผู้ชุมนุม ทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสารหรือโทรคมนาคม ระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือระบบสาธารณูปโภคอื่นใดใช้การไม่ได้ ผู้จัดการชุมนุมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

ร่าง พ.ร.บ.นี้ แม้จะผ่านออกมาได้อย่างง่ายดาย แต่ก็มีกระแสคัดค้านอยู่พอสมควร ในประเด็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยแสดงความเห็นท้วงติงว่า เนื้อหาในหลายมาตราไม่สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เช่น การกำหนดให้การชุมนุมสาธารณะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานไม่สอดคล้องกับหลักการตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี

การกำหนดเวลาห้ามชุมนุมหรือเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุม,การกำหนดให้ผู้ชุมนุมจะต้องมีหนังสือแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ไม่สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะ เป็นต้น

การออกกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะ อาจจะมองได้ว่าเป็นการจัดระเบียบการชุมนุมไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป ไม่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และเป็นอันตรายต่อความมั่นคง รวมทั้งคุ้มครองผู้ชุมนุมไม่ให้ได้รับอันตราย แต่อย่าลืมว่า ในหลายๆ เรื่องนั้นสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมเข้ามาควบคุมดูแลได้

ปัญหาที่เกิดกับการชุมนุมครั้งที่ผ่านๆ มานั้น เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายเป็นสาเหตุหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมแต่ละกลุ่มอย่างไม่เท่าเทียม ใช้ความรุนแรงจัดการกับผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งอย่างเด็ดขาด ซ้ำยังปล่อยให้ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาก่อกวนการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งกลับปล่อยให้ทำตัวกร่าง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน จนตำรวจยุคหนึ่งได้ฉายาว่า “ตำรวจมะเขือเทศ”

ไม่ทราบว่า พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะฯ จะใช้มาตราไหนแก้ไขปัญหานี้


กำลังโหลดความคิดเห็น