xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่าน"กม.คุมม็อบ"-ตีกรอบเข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26ก.พ.) มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ...โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รายงานหลักการ และเหตุผล โดยการสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน และสอดคล้องกับการชุมนุมว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะ เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัย หรือความสะดวกของประชาชน ที่ใช้ในสาธารณะ และไม่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
ร่าง กฎหมายนี้ จะทำให้ผู้จัดการชุมนุม ผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐ มีหน้าที่ดำเนินการร่วมกัน ในการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดความไม่เรียบร้อยของบ้านเมือง เช่นเดียวกับอายระประเทศ และเป็นการดูแลรักษาความปลอดภัย อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดรวมทั้งวางกรอบการชุมนุมให้ชัดเจน
ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย มีสาระสำคัญ เช่น กำหนดความหมายของ“การชุมนุมสาธารณะ”คือ การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะ เพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้น จะมีการเดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
กำหนดความหมายคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม”คือ ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึง ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมฯ และผ้าเชิญชวน หรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมฯ เป็นต้น
ส่วนในหมวดทั่วไป กำหนดให้การชุมนุมสาธารณะ ต้องเป็นไปโดยสงบ และปราศจากอาวุธ ห้ามจัดชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาท หรือพระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือ สถานที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทน ประทับ หรือพำนัก หรือสถานที่พำนักของพระราชอาคันตุกะ การชุมนุมในพื้นที่รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล และศาล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่ เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมในพื้นที่นั้น

** ขีดวง 50 ม. ห้ามชุมนมรอบทำเนียบฯ-สภา

กำหนดให้การชุมนุมต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงาน หรือการใช้บริการสถานที่ต่อไปนี้
1. สถานที่ทำการหน่วยงานของรัฐ 2. ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ 3. โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน 4. สถานทูต หรือสถานกงสุล หรือสถานที่ทำการองค์การระหว่างประเทศ 5. สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ทั้งนี้ในกรณีจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ผบ.ตร. หรือผู้รับมอบหมาย มีอำนาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมี 50 เมตร รอบสถานที่ ซึ่งกำหนดในกฎหมายนี้
สำหรับข้อกำหนดเรื่องการแจ้งการชุมนุม กำหนดให้ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้ง ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยว่า 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งต้องระบุวัตถุประสงค์ และวัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะ ซึ่งหากผู้รับแจ้งการชุมนุมเห็นว่า ผู้แจ้งไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดตามกฎหมายนี้ ให้ผู้รับแจ้งมีคำสั่งห้ามชุมนุม โดยแจ้งคำสั่งเป็นหนังสือไปยังผู้แจ้ง ซึ่งผู้แจ้งสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งห้ามชุมนุมได้
กำหนดหน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ คือ ต้องดูแลรับผิดชอบการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ไม่ปราศรัย หรือจัดกิจกรรมโดยใช้เครื่องขยายเสียง ระหว่างเวลา 24.00-06.00 น. ในส่วนของผู้ชุมนุม มีหน้าที่ต้องไม่ปิดบังอำพรางตัว เว้นแต่เป็นการแต่งกายตามปกติประเพณี ไม่พกพาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่บุกรุก หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ซึ่งทรัพย์สินผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่า จะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินหรือเสรีภาพ ไม่ใช้กำลังประทุษร้าย หรือข่มขู่ผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น ไม่เดินขบวน หรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 - 06.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาต
ด้านบทลงโทษ ผู้ใดฝ่าฝืนชุมนุมในพื้นที่ห้ามชุมนุม หรือฝ่าฝืนคำสั่งห้ามชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนผู้จัดการชุมนุม หากกระทำให้ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบการสื่อสาร หรือโทรคมนาคม ระบบผลิตหรือส่งกระแสไฟฟ้าหรือประปา หรือ ระบบสาธารณูปโภคอื่นใด ใช้การไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นชั่วคราว หรือถาวร ผู้จัดการชุมนุมต้องมีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมฯ หรือผู้ควบคุมสถานการณ์หรือผู้ได้รับมอบหมายฯ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกหมื่นบาท แต่ถ้าอาวุธนั้นเป็นปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เป็นต้น
ทั้งนี้ สมาชิกสนช.ได้อภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว อาทิ นายนรนิติ เศรษฐบุตร สนช. ตั้งข้อสังเกต ม.7 วรรคแรก พูดถึง การจัดชุมนุมในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง ในวรรคหนึ่ง จะไม่เกี่ยวกับนักการเมือ แต่วรรคสอง พูดถึงการชุมนุมในรัฐสภา ทำเนียบฯ ที่เกี่ยวกับนักการเมือ ตนเข้าใจว่าการชุมนุมต้องมีเรื่องที่ขัดเคืองใจ และอาจจะประท้วงฝ่ายการเมือง ตนเกรงว่า การใส่ไว้ในมาตราเดียวกัน และรวมโทษไว้ด้วย น่าจะระบุโทษไม่เท่านั้น ควรแบ่งออกเป็นมาตรา 7 และมาตรา 7/1 และ มาตรา 31 ถ้าผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 15 ไม่ควรมีโทษ เหมือนมาตรา 16 เพราะ ในมาตรา 16 เรื่องพกพาอาวุธ บุกรุกทำให้เกิดความเสียหาย ประทุษร้าย โทษต้องแรงกว่า เพราะถือเป็นอันตราย

**ห่วงฝ่ายบริหารใช้กม.ละเมิดสิทธิปชช.

นายมณเฑียร บุญตัน สนช. กล่าวว่า ตนเชื่อว่ารัฐบามีเจตนาที่จะอำนวยความสะดวก และส่งเสริมการชุมนุมในที่สาธารณะโดยชอบ มากกว่าควบคุม หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน แต่ 7-8 ปีที่ผ่านมา การชุมนุมที่เกิดขึ้น มักจะเกิดในยามที่ประชาชนไม่พอใจต่อผู้มีอำนาจ ต้องการขับไล่รัฐบาล ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นการชุมนุมที่ถือว่าเป็นปกติหรือไม่ ไม่ใช่เป็นการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นตามปกติวิสัย
ฉะนั้น หากถูกจำกัดในบางประเด็น ก็ยากที่จะนำเอากฎหมายไปบังคับใช้ และอัตราโทษผู้ฝ่าฝืน มาตรา 15 เช่น กรณีใช้เครื่องขยายเสียง การเคลื่อนย้ายคน น่าจะแตกต่างจากกรณีประทุษร้าย ทำลายทรัพย์สินโทษไม่น่าจะเสมอกัน และกรณีที่ผู้ปกครองไม่บริหารบ้านเมืองโดยหลักธรรมาภิบาล กฎหมายแบบนี้ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือ ในการกำหราบ หรือควบคุมไม่ให้ประชาชนที่มีความเห็นต่างออกมาแสดงความเห็น โดยใช้สิทธิเสรีภาพที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้บางประเทศที่เจริญแล้วจะมีกฎหมายลักษณะเช่นนี้ แต่ผู้ชุมนุม และผู้บริหาร ต่างก็เคารพในหลักกฎหมาย แม้จะเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้มีอำนาจ ก็ไม่มีการใช้กำลังเข้าหักหาญ หรือพยายามบิดเบือน เพื่อให้ได้เปรียบทางการเมือง จึงต้องมีดุลพอสมควรในการบังคับใช้กฎหมาย คือ ต้องไม่เปิดช่องให้ผู้จัดการชุมนุม นำไปเป็นเหตุผลในการออกมาชุมนุมจนเกินขอบเขต ขณะเดียวกันก็ไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจใช้เป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพจนเกินควร ที่เราต้องออกกฎหมายนี้ เพราะต้องการเป็นประเทศที่มีอายระ และปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศเรื่องสิทธิพลเมือง ซึ่งประชาชนก็ต้องรู้ถึงการใช้สิทธิ เสรีภาพ อย่างมีขอบเขตเช่นกัน แต่มีข้อสงสัยกรณีการชุมนุมในสถานศึกษา ไม่ถือว่าอยู่ในขอบเขตกฎหมายฉบับนี้ ตนเข้าใจว่าจะเป็นการชุมนุมแบบไหนก็แล้วแต่ ตราบใดที่ชุมนุมในสถานการศึกษา ก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายฉบับนี้ ใช่หรือไม่

** ติงกม.ให้สิทธิจนท. ปิดกั้นประชาชน

นายสมคิด เลิศไพทูรย์ สนช. กล่าวว่า การรับรองสิทธิเสรีภาพการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญทุกประเทศรับรอง ยกเว้น การใช้ที่สาธารณะและกีดขวางประชาชน ถือเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลพยายามใช้กฎหมาย และมีความจำเป็นที่ต้องตราขึ้น หลังจากมีปัญหาเรื่องการชุมนุมในที่สาธารณะ ตลอด10 ปีที่ผ่านมา
แต่เมื่อดูร่างพ.ร.บ.ที่เสนอมา ตนมีข้อสังเกต 3 ประการ คือ นิยามเรื่อง "ที่สาธารณะ" ที่รวมทางหลวง และทางสาธารณะไว้ด้วย เพื่อพยายามให้ครอบคลุมทั้งหมด แต่ปัญหาที่เกิดคือ เรื่องทางหลวง เคยมี ร่าง พ.ร.บ.ทางหลวง เสนอเข้าสภาในปี 49 และเสนอไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีคำวินิจฉัย 23 พ.ค. 49 ว่า การให้ประชาชนต้องขออนุญาตเพื่อชุมนุมบนทางหลวง เป็นการขัด ม. 63 ของรัฐธรรมนูญปี 40 แม้จะอ้างว่า ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นเรื่องการแจ้งความชุมนุม ไม่ใช่การอนุญาตให้ชุมนุม ซึ่งอาจจะหมิ่นเหม่ต่อความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ตนไม่แน่ใจว่า แนวทางที่ศาล รัฐธรรมนูญตีความไว้ จะมีผลกระทบต่อกฎหมายนี้มากน้อยแค่ไหน และ มาตรา 7 เรื่องคนที่ทำหน้าที่ควบคุมการชุมนุม โดยเฉพาะ ผบ.ตร. มีอำนาจกำหนดรัศมีไม่เกิด 50 เมตร รอบสถานที่รัฐสภา ทำเนียบฯ ศาล ไม่อนุญาตให้ทำได้ในบางกรณี เกรงว่าจะมีปัญหา เพราะการชุมนุมทั้งหลาย โดยเฉพาะการชุมนุมทางการเมือง ผู้ชุมนุมต้องการให้รัฐบาล หรือ ส.ส.ได้รับทราบ หากไปชุมนุมที่ไกลๆ จะเกิดความปัญหาว่าไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งถ้าเอาตามนี้ การชุมนุมหน้ารัฐสภา จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมขนาดเล็กที่ต้องการสะท้อนความเดือดร้อนต่อสภา ก็ตาม จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่า เป็นการใช้ดุลยพินิจ หรือกำหนดกฎหมาย ที่มากเกินไปหรือไม่
นอกจากนี้ในการให้คำสั่งต่างๆ ของผู้ควบคุมการชุมนุม โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง เพื่อประสงค์ที่จะไม่นำกฎหมาย 2 ฉบับมาใช้ คือ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายศาลปกครอง ในกรณีกฎหมายแรก ตนเห็นด้วย เพราะการอนุญาต หรือดำเนินการต่างๆ ของผู้ควบคุมการชุมนุม อาจจะไม่สามารถทำได้ทุกอย่างตามกฎหมายนี้ เพราะต้องใช้ความรวดเร็ว หลายเรื่องต้องยกเว้น แต่น่าจะเขียนให้ยกเว้นเรื่อง อำนาจของศาลปกครองด้วย ขณะที่ให้ไปตกอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม คำถามคือ ในอดีตที่ผ่านมา ศาลปกครองทำหน้าที่ในการควบคุมการอนุญาตต่างๆ มาตลอด ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายหลายคนได้แสดงความเห็นว่า ควรจะให้เป็นหน้าที่ของศาลปกครองตามเดิม จะเหมาะสมกว่า
"กฎหมายนี้ ดีแต่เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจค่อนข้างมาก จึงห่วงว่าการชุมนุมโดยสงบ และปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิของประชาชน โดยหลักกฎหมาย ต้องตีความว่า การให้สิทธิเสรีภาพต้องเป็นหลักการ ยกเว้นไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิ เป็นเรื่องข้อยกเว้น ดังนั้นเจ้าหน้าที่ที่ใช้ดุลพินิจจะต้องคำนึงถึงหลักการนี้เป็นหลัก ไม่ใช้เอาข้อยกเว้นเป็นหลัก มิเช่นนั้นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย" นายสมคิด กล่าว
นายภิรมณ์ กมลรัตนกุล สนช. แสดงความเห็นว่า ระยะเวลาการแจ้งถึงการชุมนุมในร่าง กำหนดให้ผู้ประสงค์ชุมนุมแจ้งผู้รับแจ้งเวลา สถานที่ก่อนชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง และ สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการชุมนุม เช่น เส้นทางจราจร หรือระบบขนส่งสาธารณะ หลักการนี้สำคัญที่รองรับเสรีภาพผู้ชุมนุม และคุ้มครองสิทธิบุคคลอื่น ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมด้วย การกำหนดเวลา 24 ชั่วโมง อาจจะไม่เพียงพอที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดระบบการจราจร และการประชาสัมพันธ์ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นควรจะขยายเวลาการแจ้ง การชุมนุมออกไป อาจเป็น 48 ชั่วโมง หรือ 62 ชั่วโมง เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนข้อยกเว้นการชุมนุมที่ไม่เข้าข่ายในกฎหมายนี้ เช่น การชุมนุมในสถานศึกษา ควรกำหนดให้เป็นเงื่อนไขให้ชัดว่า ต้องเป็นการชุมนุมหรือประชุม ที่ได้รับอนุญาตให้จัดขึ้นตามระเบียบของสถานศึกษานั้นๆ ด้วย มิเช่นนั้น อาจจะอาศัยช่องวางใช้สถานศึกษา หรือแอบอ้างชื่อในการชุมนุมโดยไม่รู้เห็นก็ได้

** มีกม.คุมม็อบแล้วไม่ต้องใช้อัยการศึก

นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า ตนสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ดีระดับหนึ่ง เช่น การห้ามเคลื่อนขบวนตั้งแต่เวลา 18.00- 0.6.00 น. เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานการดูแล เป็นการป้องกันเหตุที่เกิดในยามค่ำคืน หรือการไม่ปราศรัยจัดกิจกรรมใช้เครื่องขยายเสียงในระหว่าง 24.00 น.ถึง 06.00 น. แสดงว่า ยังสามารถชุมนุมค้างคืนได้ หรือ การไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุม พกพาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม เพราะที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีการชุมนุม จะพบว่ามีการใช้อาวุธสงคราม จนเกิดการเสียชีวิต และบาดเจ็บ จึงจำเป็นต้องมีกติกาให้ชัดเจน
ส่วนที่มีบางประเด็นที่มีเสียงท้วงติงจาก ฝ่ายสิทธิมนุษยชน เช่น คำนิยาม ผู้จัดการการชุมนุม ที่อาจกว้างเกินไป หรือเขตป้องกันในพื้นที่พระราชวัง 150 เมตร การกำหนดโทษ ควรจะมีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ และควรกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุม มีหน้าที่ควบคุมการปราศรัยด้วย ไม่ใช่ยุให้ใช้น้ำมันเผา จนเกิดทะเลเพลิง หรือยุให้เอาอาวุธสงครามไปยิงเจ้าหน้าที่รัฐ โทษยังไม่เพียงพอ อาจต้องเขียนให้ชัดเจน ไม่ใช่ใช้กฎหมายอาญาอย่างอื่นดำเนินการ เชื่อว่า กฎหมายนี้ออกมาจะทำให้เจ้าหน้าที่ มีความรัดกุมมากขึ้น หวังว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมี กฎอัยการศึก อีกต่อไป

** "วิษณุ"อ้างหารือรอบคอบแล้ว

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กฎหมายนี้แม้จะใช้ชื่อ “พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ”แต่ก็ไม่ได้ใช้กับการชุมนุมสาธารณะทุกประเภท มีข้อยกเว้นในบางเรื่อง กับการชุมนุมภายใต้กฎหมาย เช่น ผู้ใช้แรงงานที่เคลื่อนไหวตามกฎหมายแรงงาน หรือผู้ถือหุ้นที่ในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือการชุมนุมตามวัฒนธรรมประเพณีศาสนา จะไม่ใช้กฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลตั้งใจว่า อะไรที่ไม่ควรดึงเข้ามา หรืออะไรที่ไม่เกิดผลกระทบต่อสาธารณะชน ก็ไม่ควรนำมาเกี่ยวข้อง เพราะสามารถควบคุมวิธีอื่นได้ ส่วนการชุมนุมในสถานศึกษา จะวิชาการ หรืออะไรก็ตาม หากทำใน อาณาบริเวณสถานศึกษา เป็นเรื่องที่สถานศึกษาจะใช้อำนาจควบคุมดูแลเองได้ ไม่ควรเชิญให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยไม่จำเป็น
ส่วนมาตรา 7 วรรคหนึ่ง การห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร ในบางสถานที่ และ วรรคสอง วรรคสาม ที่ห้ามชุมนุมแต่ไม่เด็ดขาด ยังมีข้อยกเว้นผ่อนปรน เช่น รัฐสภา ทำเนียบฯ ศาล ทางกรรมาธิการ จะรับไปพิจารณาว่า ควรรวมหรือแยกกัน รวมถึงอัตราโทษในแต่ละส่วนด้วย รวมถึงบทลงโทษ ที่สมาชิกมองว่าโทษน้อย กฎหมายจะเป็นหมัน เพราะคนไม่กลัว ก็ต้องพิจารณาจัดให้มีความสัมพันธ์กันทั้งระบบ รวมถึงนิยามคำบางคำน้อย
"หลายมาตราที่เขียนมา ได้ผ่านการถกเถียง บางครั้งหาสูตรที่ชัดเจนตายตัวยาก เช่น ห้ามชุมนุมสถานที่บางแห่งในรัศมี 150 เมตร มันมีที่มาที่ไป เช่น ต้องดูศักยภาพของเจ้าหน้าที่ อาวุธ และการใช้เสียง ที่อาจจะไปกระทบ ที่ต้องอธิบายในชั้นกรรมาธิการต่อไป ส่วนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 49 ที่ว่า พ.ร.บ.ทางหลวง ห้ามชุมนุมในทางหลวง เว้นแต่ได้รับอนุญาตกับเจ้าหน้าที่ นั้นขัดรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่าใน พ.ร.บ.ทางหลวง พูดถึงการชุมนุมทุกประเภท ไม่สามารถทำในทางหลวงได้ เว้นแต่ขออนุญาต แต่ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอนี้ ไม่ห้ามการชุมนุมในทางหลวง เพียงแต่ถ้าเกิดชุมนุมในทางหลวง คนที่จัดการชุมนุม หากเกี่ยวกับกับการขออนุญาต กฎหมายใด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายนั้น เช่น ร่างฉบับนี้ไม่ห้ามการใช้เครื่องขยายเสียง แต่ก็มีกฎหมายว่าด้วยเครื่องขยายเสียง โดยเฉพาะที่จะต้องยึดเป็นหลัก ถ้าถูกต้องแล้ว กฎหมายนี้ไม่เป็นอุปสรรคอะไรเลย แต่ก็ขอให้กรรมาธิการ นำเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หรือของศาลอื่นไปประกอบการพิจารณาด้วยเพื่อความรอบคอบ"
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า รัฐบาลยึดหลักสำคัญ 4 ประการ ที่ทำให้แตกต่างจาก ร่าง พ.ร.บที่เคยเสนอหลายปี โดยเข้าใจว่า ตอบสนองการชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านได้พอสมควร คือ สามารถคุ้มครองผู้ชุมนุมให้มีความมั่นใจ เช่น ระบุว่าเจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปควบคุมการชุมนุมต้องแต่งเครื่องแบบ แสดงตนให้รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ จะปลอมตัวเข้าไปไม่ได้ ใครที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องหรือ ผู้ชุมนุม ไม่สามารถพกอาวุธเข้าไปได้ แต่เจ้าหน้าที่โดยตรงสามารถพกอาวุธเข้าไปได้หรือไม่ ก็ต้องดูอำนาจหน้าที่
1. กฎหมายนี้ ไม่มีส่วนใดที่การชุมนุมต้องขออนุญาตก่อน มีแต่ต้องไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อบอกให้รู้รายละเอียด เพื่ออำนวยความสะดวก และเตรียมการต่างๆ
2. ส่งเสริมให้มีการจัดสถานที่สำหรับการชุมนุม
3. ให้มีหลักประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จนบางเรื่องไปสู่ศาล
4. กฎหมายนี้ไม่ใช่เครื่องมือวิเศษสุด ยังคงมีการชุมนุมต่อไป แต่จะมีระเบียบแบบแผนมากขึ้น และเกิดความมั่นใจมากขึ้น และที่สำคัญ มีการกำหนดให้ สตช. จัดทำแผนและมาตรการควบคุมการชุมนุม โดย ครม.ต้องให้ความเห็นชอบหลังจากที่ได้ปรึกษากับกฤษฎีกา และคณะ
กรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว เพื่อเป็นคู่มือใช้ควบคุมฝูงชน ที่จะมีรายละเอียดมากกว่าในกฎหมายนี้ต่อไป หาก สนช. รับหลักการกฎหมายนี้ และปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยอาศัยประสบการที่มีการชุมนุมมาหลายครั้งสมบูรณ์ต่อการคุ้มครองเสรีภาพต่อการชุมนุม ต่อเจ้าหน้าที่และต่อประชาชนทั่วไป
จากนั้นสมาชิก สนช.ได้มีมติเอกฉันท์ รับหลักการ 180 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 22 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น