xs
xsm
sm
md
lg

รธน.คุ้มครองชุมนุมสงบไม่มีอาวุธ ให้องค์กรสื่อคุมกันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้า ในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ว่า มีการพิจารณาแล้ว 63 มาตรา จากทั้งหมด 89 มาตรา ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ โดยมีเนื้อหาที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 คือในส่วน ตอนที่ 3 สิทธิพลเมือง กำหนดให้ การถอนสัญชาติไทยจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้ สัญชาติไทยจะสิ้นสุดลงได้ตามกฎหมายบัญญัติ และจะขัดต่อเจตจำนงของพลเมืองนั้นได้ต่อเมื่อไม่ทำให้พลเมืองนั้นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ และพลเมือง ซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ ย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการ หลักประกันด้านรายได้อย่างเพียงพอแก่การดำรงชีพเป็นรายเดือน แต่ประเด็นนี้ยังต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวิชาชีพ เพื่อคุ้มครองบุคคลในวิชาชีพ ทั้งสวัสดิการ และการปกป้องเสรีภาพ ความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานแห่งวิชาชีพ และพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้นั้นที่จะฟ้องคดีต่อศาล
ทั้งนี้ ยังกำหนดให้มีการคุ้มครองการวิเคราะห์ วิจารณ์ คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือ คำสั่งของศาล และการเผยแพร่การวิเคราะห์วิจารณ์ดังกล่าวโดยสุจริต ตามวิชาการด้วย
ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการ หรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และรัฐจะให้เงิน หรือทรัพย์สินอื่น หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชนมิได้ การซื้อโฆษณา หรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐจะกระทำได้เฉพาะก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการศึกษา มีการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวให้ผู้รับการศึกษาทุกคนมีโอกาสเลือกรับบริการการศึกษาตามความต้องการ และความสามารถของตน ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงระดับมัธยมศึกษาสายสามัญ และสายอาชีพ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ส่วนสิทธิในการชุมนุมนั้น ยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของบุคคลอื่น
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตรา และการบังคับใช้กฎหมาย และกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไข เยียวยา ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ
**"วิษณุ"ชี้เร็วเกินไปประเมินปรองดอง
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณี พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ระบุการปรองดองยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย ว่า ตนยังไม่เห็นรายงานดังกล่าว แต่การสร้างความปรองดองต้องทำต่อไป และไม่ใช่งานที่มอบให้หน่วยใดรับผิดชอบ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทำได้หลายวิธี อย่างผ่านศูนย์ดำรงธรรม คอยแก้ปัญหาให้กับประชาชน ช่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งตรงข้ามความปรองดอง คือความแตกแยกที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้แต่ละอย่างแก้ด้วยวิธีต่างๆ กัน แล้วจะออกมาเป็นความปรองดอง ความเข้าใจ
"สมมุติ ต่อให้ล้มเหลวจริงก็ต้องเดินหน้าทำต่อ หยุดไม่ได้ ความปรองดองเป็นจุดหมายปลายทาง แต่วิธีการระหว่างทาง ก็ต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ เท่าที่เห็นก็ได้แก้ปัญหาในบางจุดได้อยู่บ้างแล้ว อย่างการแก้ปัญหาผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทำได้หลายเรื่องแก้ปัญหาแล้ว ประชาชนกลับไปด้วยความเข้าใจ ก็ถือว่าเป็นการปรองดองในระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่เข้าใจ ก็จะออกมาในรูปแบบการชุมนุมต่อต้าน แต่นี้ก็เงียบหายกันไป" รองนายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า เร็วเกินไปหรือไม่ ที่จะประเมินว่าการสร้างความปรองดองสำเร็จ หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เร็วเกินไป เพราะความเจ็บปวดรวดร้าวมันนานเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ละเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากัน ส่วนจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความปรองดองหรือไม่นั้น ขณะนี้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คิดอยู่ แต่อยากฟังความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน เผื่อว่าจะมีความคิดเห็นที่เฉียบแหลมรอบคอบมา เอามารวมกับที่เราคิด จะได้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น เมื่อถามว่า การปรองดองไม่จำเป็นต้องนิรโทษอย่างเดียว นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่จำเป็น มีหลายวิธี อาจจะต้องใช้หลายวิธีพร้อมๆ กันก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น