สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยคะแนน 152 เสียง งดออกเสียง 4 “ตวง” แนะเพิ่มหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมต่างชาติสำหรับผู้ที่จะไปใช้แรงงานต่างแดน
วันนี้ (26 ก.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ... โดยก่อนการประชุม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้กล่าวในที่ประชุมว่า ข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ. 2557 ได้มีผลบังคับใช้แล้วจึงขอให้สมาชิกฯ ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ต่อมานายสมชาย แสวงการ สนช.ได้เสนอญัตติด่วนเพื่อตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อสรรหาสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามข้อบังคับข้อ 85 โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบที่จะตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าวจำนวน 12 คน โดยใช้เวลาทำงานทั้งหมด 15 วัน ซึ่งนายพรเพชรได้กล่าวย้ำให้สมาชิกรีบแจ้งความจำนงเพื่อจะได้สรรหาเข้าเป็นกรรมาธิการตามความถนัด โดยสมาชิกจะเป็นกรรมาธิการได้เพียง 2 คณะเท่านั้น โดยจะเริ่มการประชุมนัดแรกในเวลา 13.00 น.
จากนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน ได้รายงานร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่...) พ.ศ... ว่า เนื่องจากพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ยังไม่มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพ และการพัฒนาประสิทธิภาพของสถานประกอบกิจการ รวมทั้งให้ความคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน และเพื่อให้การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบกิจการเข้าร่วมในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย ขณะที่ทางสมาชิก สนช.ก็ได้อภิปรายร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ต้องการสนับสนุนให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน เพราะถือเป็นกฎหมายที่ดีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติโดยส่วนรวม
นายตวง อันทะไชย สนช.กล่าวว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานตามกฎหมายนี้ไม่น่าจะเพียงพอ เพราะปัญหาสำคัญของแรงงานไทยในต่างประเทศนั้น ก็คือการขาดทักษะด้านภาษา เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์และความเข้าใจด้านวัฒนธรรมในประเทศที่แรงงานไทยเข้าไปอยู่ ดังนั้น ตนเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการสอนภาษาอังกฤษ โดยอาจจะให้ทางมหาวิทยาลัยจัดหลักสูตรภาษาอังกฤษระยะสั้น และจัดหลักสูตรเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมในต่างประเทศ สำหรับแรงงานที่เคลื่อนย้ายไปยังต่างประเทศ เพื่อพัฒนาแรงงานไทยให้ทัดเทียมกับแรงงานที่มีฝีมือของต่างประเทศ
จากนั้นที่ประชุมได้มีการลงมติเห็นชอบต่อหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีมติเห็นด้วย 152 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง โดยมีการตั้งคณะ กมธ. เพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าว จำนวน 17 คน โดยมีระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน