xs
xsm
sm
md
lg

เล็งตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อควบคุมกันเอง - ผุดองค์กรอิสระคุ้มครองผู้บริโภค - ชุมนุมสงบยังคุ้มครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยความคืบหน้ายกร่างหมวดสอง ออกกฎหมายตั้งองค์กรสื่อควบคุมกันเอง ห้ามรัฐจัดงบอุดหนุนสื่อ คุ้มครองวิจารณ์ - เผยแพร่คำพิพากษาโดยสุจริตตามหลักวิชาการ ขณะที่การชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ยังได้รับความคุ้มครอง พร้อมกำหนดองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่อิสระจากหน่วยงานรัฐ



วันนี้ (15 ม.ค.) ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวดสอง ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ว่า มีการพิจารณาแล้ว 63 มาตรา จากทั้งหมด 89 มาตรา ซึ่งจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ โดยมีเนื้อหาที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ ในส่วนตอนที่ 3 สิทธิพลเมือง กำหนดให้ การถอนสัญชาติไทยจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด จะกระทำมิได้ สัญชาติไทยจะสิ้นสุดลงได้ตามกฎหมายบัญญัติ และจะขัดต่อเจตจำนงของพลเมืองนั้นได้ต่อเมื่อไม่ทำให้พลเมืองนั้นเป็นบุคคลไร้สัญชาติ และพลเมืองซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ย่อมมีสิทธิได้รับสวัสดิการ หลักประกันด้านรายได้อย่างเพียงพอแก่การดำรงชีพเป็นรายเดือน แต่ประเด็นนี้ยังต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชนโดยให้มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งประกอบด้วย บุคคลในวิชาชีพ เพื่อคุ้มครองบุคคลในวิชาชีพทั้งสวัสดิการและการปกป้องเสรีภาพ ความเป็นอิสระของสื่อมวลชน ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานแห่งวิชาชีพ และพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมของผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ไม่ตัดสิทธิผู้นั้นที่จะฟ้องคดีต่อศาล นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีการคุ้มครองการวิเคราะห์วิจารณ์คำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่งของศาล และการเผยแพร่การวิเคราะห์วิจารณ์ดังกล่าวโดยสุจริตตามวิชาการด้วย

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ ยังห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าชองกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม และรัฐจะให้เงินหรือทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดเพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชนมิได้ การซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นจากสื่อมวลชนโดยรัฐจะกระทำได้เฉพาะก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขึ้นเพื่อการนั้น

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการศึกษามีการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวให้ผู้รับการศึกษาทุกคนมีโอกาสเลือกรับบริการการศึกษาตามความต้องการและความสามารถของตน ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ส่วนสิทธิในการชุมนุมนั้นยังคงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพต้องทำเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ


กำลังโหลดความคิดเห็น