“รถเมล์สาย 8” จัดหนักพุ่งชนรถยนต์ 3 คันรวด ก่อนที่จะเสียหลักเข้าชนตอม่อบีทีเอสเข้าอย่างจัง นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกทว่า รถเมล์สาย 8 เคยสร้างวีรกรรมมานับครั้งไม่ถ้วน และยังคงเป็นปัญหาที่ไม่เคยแก้ได้ ต้องให้เกิดโศกนาฏกรรมอีกสักกี่ครั้ง จึงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหันมาเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้เสียที!
ครองแชมป์! รถเมล์ยอดแย่
ท้องถนนสั่นสะเทือนให้ผู้คนได้หวาดเสียวกันอีกแล้วกับกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ของ “รถเมล์สาย 8” แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ คราวนี้เป็นการขับรถซิ่งระห่ำเมืองแบบไม่สนใจผู้ใดพลาดชนรถถึง 3 คัน ก่อนชนตอม่อบีทีเอส ทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บ 3 คน เป็นผู้โดยสารบนรถเมล์ 2 คน และคนขับรถเมล์ 1 คน
จากการรายงานระบุว่า รถเมล์คันดังกล่าวขับมาด้วยความเร็ว และพยายามขับปาดซ้าย-ขวาไปมา ก่อนที่จะเสียหลักหักหลบเข้าข้างทางจนชนกับเสาตอม่อในที่สุด โดยเหตุเกิดบนถนนพหลโยธิน ขาออก บริเวณปากซอยพหลโยธิน 5 (ซอยราชครู) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ และบาดเจ็บ 3 คน เป็นผู้โดยสารบนรถเมล์ 2 คน และคนขับรถเมล์
มองย้อนกลับไปนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2557 เกิดเหตุระทึกขวัญขึ้นเมื่อ มีเหตุการณ์เฉี่ยวชนท้ายรถจักรยานยนต์ที่มีคนซ้อนท้ายมาอีกคนหนึ่ง จนถูกล้อรถประจำทาง สาย 8 ทับร่างจนเสียชีวิต บริเวณปากซอยลาดพร้าว 64 และข่าวคราวยังไม่ทันเงียบหายในช่วงปลายปีเดียวกันนี้ก็เกิดเหตุการณ์งามหน้าขึ้นอีกเมื่อรถเมล์สาย 8 ในตำนาน ชนรถกะบะแล้วขับหนีไปอย่างหน้าตาเฉย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายต่อหลายครั้งรถร่วมบริการสาธารณะเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งการขับรถเร็ว ขับรถหวาดเสียวไม่มีความปลอดภัย อีกทั้งการบริการยังแย่ พนักงานเก็บค่าโดยสารอารมณ์ร้อนด่าทอผู้โดยสารบนรถประจำทาง หรือแม้กระทั่งปล่อยผู้โดยสารลงข้างทางก่อนถึงจุดหมาย ถือเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องและแก้ไม่ตกเสียที
“เจอประจำเลยค่ะ ป้ายรถเมล์อยู่ห่างจากแยกเยอะมากเลย แต่เขาจอดขวางเพื่อที่จะรอสัญญาณไฟ ถือคติที่ว่าฉันจะจอดแบบนี้แล้วคันหลังจะเป็นยังไงฉันก็ไม่รู้ขับรถเหมือนนักเลงอันธพาล ถ้าสะท้อนว่าถนนคือสังคม ลักษณะการขับรถเป็นลักษณะนักเลงอันธพาลที่เยาะเย้ย ท้าทาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย โดยอ้างสิทธิ์ของการเป็นขนส่งสาธารณะ อ้างสิทธิ์ว่าฉันเป็นรถเมล์ที่มีคนเยอะ เพราะฉะนั้น เธอเป็นรถเก๋งส่วนบุคคลที่แค่คนๆ เดียวขับรถ เธอต้องยอมฉันสิ เพราะฉันมีผู้โดยสารหลายคน”
นี่คือคำพูดของ "ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข" ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ที่เคยเจอเรื่องราวความเห็นแก่ตัวของรถเมล์สาย 8 บนท้องถนนเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมผ่านทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive ในทำนองที่ว่า การป้องกันเรื่องอุบัติเหตุไม่ควรเพ่งเล็งไปที่รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างเดียวและไม่ควรให้อภัยกับรถขนส่งสาธารณะด้วย เพราะรถเหล่านั้นกำลังฝ่าฝืนกฎจราจรอย่างไร้มารยาท
“เรื่องของการเกิดอุบัติเหตุพฤติกรรมการขับขี่ที่เสี่ยง ควรมองในการขับรถทุกประเภทค่ะ ไม่ใช่เลือกมองเฉพาะรถส่วนบุคคลหรือรถผู้ประกอบการรายใหญ่ ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับอุบัติเหตุ ก็จะมองเพ่งโทษอยู่กับแค่ปัจเจกที่เป็นรถยนต์ส่วนบุคคล หรือผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ แล้วมักให้อภัยกับรถขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถเมล์
ให้อภัยเพราะว่าคิดว่ารถประเภทนี้เวลาเกิดอุบัติเหตุ ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการบาดเจ็บจำนวนมากก็เลยถูกละเลย ทั้งๆ ที่พฤติกรรมการขับขี่รถที่ไร้วินัย น่าหวาดเสียว และทำให้รถคันอื่นต้องหลบ ต้องยอม เป็นการฝ่าฝืนกฎจราจรอย่างไร้มารยาท”
การที่รถเมล์ขับรถแบบอันธพาล และไม่เคารพกฎจราจร ส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่เป็นการสร้างวัฒนธรรมการขับขี่รถที่ไร้วินัย เลยถูกมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็สามารถทำได้
“ไม่ว่าคุณจะมีผู้โดยสารกี่คน คุณก็ต้องขับรถตามกฎระเบียบ กฎหมาย ลักษณะพฤติกรรมการขับรถที่ฝ่าฝืนระเบียบขับขี่แบบนักเลงอันธพาล แบบไม่เคารพกฎหมายจราจร มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการบาดเจ็บและการเสียชีวิตก็จริง แต่มันส่งผลกระทบที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นอีก หากเรามองให้ลึกซึ้งมันทำให้ก่อร่างวัฒนธรรมการขับขี่ที่ไร้วินัย ปาดซ้ายแซงขวา นึกจะหยุดก็หยุด ไม่สนใจใคร สะท้อนให้เห็นว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา กลายเป็นความชอบธรรม กลายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้”
เหตุเพราะรัฐพ่ายแพ้อำนาจทุน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สาเหตุอาจมาจากพฤติกรรมความใจร้อนของพนักงานคนขับรถก็เป็นได้ ดังนั้น การคัดเลือกพนักงานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญหรือไม่? ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนนมองว่า เป็นเพราะรัฐไม่เข้มงวดพอมากกว่า ถ้ารัฐออกกฎระเบียบเข้มงวดกับนายทุนนายทุนก็ต้องไปพัฒนาฝึกอบรมพนักงานให้ดีกว่านี้
“เป็นเรื่องของปัญหานายทุนกับรัฐค่ะ ถ้ามองเชิงโครงสร้าง รัฐยอมพ่ายแพ้ต่อนายทุน ทำไมรัฐไม่ออกกฎระเบียบเข้มงวดกับนายทุน นายทุนก็ต้องไปพัฒนาฝึกอบรม แต่พอรัฐไม่เข้มงวดนายทุนก็ทำทุกอย่างให้ได้กำไร เช่น คุณทำเที่ยวได้มาก ได้ผู้โดยสารมากคุณได้เงินมาก ไม่สนใจว่าคุณจะขับยังไง เพราะฉะนั้น ปัญหาสุดท้ายเลยก็ต้องกลับมาที่คนดูแล รถร่วม และรถเมล์ อย่างสาย 8 เป็นสายคลาสสิกเลย”
เท่ากับว่าที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเพราะรัฐไม่เข้มงวดพอที่จะเอาจริงเอาจังในเรื่องของการกวดขัน หรือมีมาตรการที่เข้มข้นในการป้องกันและปราบปราม อีกทั้งคนในสังคมก็มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาและก็ให้อภัยซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดเป้นความเคยชิน
“ไม่ใช่รัฐอย่างเดียวค่ะ เป็นเพราะคนในสังคมให้อภัย ไม่เข้มงวด เพราะเหตุผลว่าเป็นรถเมล์มีคนขึ้นเยอะ เขาก็ต้องพยายามไปเพื่อให้ผู้โดยสารไปถึงจุดหมาย ยอมให้ละเมิดกฎหมายโดยใช้พฤติกรรมแบบนี้ ความที่ให้ยอมให้ละเมิดได้มาจากเหตุผล 2 ประการ
1. เป็นรถบรรทุกคนจำนวนมากและเป็นคนจนที่ขึ้นรถเมล์ก็ยอมไปเถอะ เราเป็นรถเก๋งเมื่อไหร่ก็ได้ 2. เวลาเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ส่งผลเสียเยอะ เช่น ไม่ได้ตายเยอะ ไม่ได้บาดเจ็บเยอะ พอเห็นแค่พฤติกรรมการขับขี่ที่ไร้วินัย คุณก็ไม่ได้เห็นว่ามันอันตรายหรือเป็นความรุนแรงของพฤติกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน มันเป็นวิธีคิดที่ผิดพลาดมากเลย เราไปสนใจแต่ปลายทางว่าการขับขี่นั้นต้องก่อให้เกิดการเจ็บการตายที่เยอะและรุนแรง แต่เราไม่เคยที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้นทาง เช่นการขับขี่ที่ประมาท การขับขี่ที่ไร้วินัย และเราก็ปล่อยให้การขับขี่ที่ไร้วินัยมันดำรงอยู่”
นโยบาย 5 จอม ถือเป็นมาตรการที่ดีมากอีกมาตรการหนึ่ง เพราะเป็นการป้องปรามที่ต้นเหตุ ทำให้การเกิดอุบัติเหตุลดลง แต่การขับขี่รถเมล์นั้นส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นรถบรรทุกผู้โดยสาร เลยถือสิทธิ์ที่ว่าอยากจอดตรงไหนก็จอดเลยกลายเป็นเรื่องปกติ
“นโยบาย 5 จอม เห็นด้วยมาก เพราะมันเป็นการเข้มข้น เข้มงวด กับการ ป้องปรามที่ต้นเหตุ ถ้าคุณไม่ไร้วินัยโอกาสการเกิดอุบัติเหตุมันจะน้อย พอเราไปยอมกับการอภัยในพฤติกรรมที่ไร้วินัย โดยใช้ข้ออ้างว่าเขาเป็นรถเมล์นะเป็นรถของคนจน เขาไม่เคยเจ็บหรือตายรุนแรง ก็เลยไม่ได้ไปสนใจมากเท่ากับรถที่เคยเกิดอุบัติเหตุรุนแรง นึกจะอยากจอดส่งตรงไหนก็ส่ง กลายเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าสาย 8 ทำได้ สายอื่นก็ทำได้”
การทำอาชีพพนักงานขับรถโดยสารประจำทาง นั่นถือว่าคุณทำงานเพื่อการบริการอยู่ จึงควรทำตัวเป็นแบบอย่างไม่ใช่ใช้สิทธิ์เหนือคนอื่น หากเจอพฤติกรรมที่ให้ความสุ่มเสี่ยงเช่นนี้อีกรัฐควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาดแบบจริงจังเสียที
“เราต้องหันกลับมามองว่าความสำคัญของการป้องกันแก้ไขของการเกิดอุบัติเหตุของประเทศไทย มันควรจะแก้ที่การป้องปรามและปราบปราม การมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ไร้วินัย แล้วผู้ขับขี่ที่เป็นคนของรัฐ ขสมก. ต่างๆ ต้องทำตัวเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่จะใช้อภิสิทธิ์ว่าเป็นรถขนคนจน และตำรวจก็ต้องเข้มงวดถ้าเกิดเจอแบบนี้ก็ยึดรถ ยึดใบขับขี่ไปเลย
ควรคาดโทษ ถ้าไม่ปรับปรุงตัวก็ปิดกิจการไปเลยค่ะ ให้ที่อื่นเขามาทำแทน คิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่ต้องลงโทษอย่างรุนแรงจากผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะสายนี้ มันถึงเวลาแล้ว”
รถเมล์ฟรี พร้อมวิ่งหนีประชาชน!
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า รถบริการสาธารณะในเมืองไทย ไร้ซึ่งความปลอดภัย และเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้วไม่มีกฎหมายใดที่ป้องปรามและปราบปรามได้สำเร็จ ยกตัวอย่าง เฉกเช่น กรณีรถเมล์ฟรีที่เป็นเป็นปัญหาซ้ำแล้วซ้ำอีกหากไม่ขับช้า ก็ขับเร็วจนไม่ง้อผู้โดยสาร ย้ำให้เห็นว่าของฟรีและดีจริงมักไม่มีในโลก
“อุบัติเหตุการบาดเจ็บ การตาย ของประเทศไทยติดอันดับ 3 ของโลก น่าเกลียดมากเลยค่ะ เราปล่อยให้คนตายบนถนนให้เป็นอันดับ 3 ของโลก และเราก็ไม่มีมาตรการที่ดีอย่างต่อเนื่อง อย่างชัดเจน อย่างเดือดเนื้อร้อนใจว่าเราละทิ้งคน คือแค่การเดินทางยังดูแลไม่ได้เลย แล้วสวัสดิการเรื่องอื่นคุณจะดูแลได้ยังไง นี่มันเป็นสิ่งที่น่าอายมากเลยนะ แล้วคุณก็มาใช้วิธีการให้ตำรวจจับ”
รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญและจัดระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนชนชั้นกลางระดับล่างให้มีคุณภาพ แต่ไปให้ความสำคัญกับการใช้กฎหมายเลยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
“เราไปให้ความสำคัญกับการใช้กฎหมายกับปัจเจก แล้วมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าเราไม่ได้ทำการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม เราไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนั้น เราไม่ได้ย้อนถามกลับว่ารัฐได้จัดระบบขนส่งสาธารณะ ที่คนชนชั้นกลางระดับล่าง หรือชาวบ้านที่เป็นเป้าหมายของอุบัติเหตุ มีคุณภาพแล้วหรือยัง
ถามกลับหน่อยชาวบ้านใครเขาใช้รถไฟฟ้า รถสาธารณะพวกนี้คุณไม่เคยจะดูแลเลย ต้องพัฒนาให้มันมีประสิทธิภาพ ทั้งการดูแล การรักษา ทั้งค่าเดินทาง ไม่เคยดูแล มันเป็นสวัสดิการ มันก็เป็นปัญหาที่รัฐไม่ได้ควบคุม มองว่ามันเป็นปัญหาที่รัฐไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาขนส่งสาธารณะในรูปแบบสวัสดิการสังคม”
ควรจะหันมามองเรื่องเหล่านี้ และให้ความสำคัญอย่างจริงจังเสียที ทั้งหน่วยงานภาครัฐหรือผู้มีอำนาจและผู้บริหารข้าราชการทั้งหลาย
“คิดว่ารัฐต้องหันกลับมามองเรื่องพวกนี้ คิดว่าประเทศไทยผู้มีอำนาจและผู้บริหารข้าราชการทั้งหลาย ตอนนี้ไม่ใช่แค่ตำรวจไม่สนใจประชาชน ข้าราชการแทบจะทุกกระทรวงเองก็ไม่สนใจเช่นกัน กระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่เกรดเอ แต่ในเมื่อคุณมีอัตลักษณ์เป็นกระทรวงเกรดเอ ผลงานก็น่าจะเป็นเกรดเอหน่อยนะคะ”
ต่อข้อซักถามถึงประเด็นที่ว่ากำลังมีมาตรการเล็งชงต่ออายุรถเมล์-รถไฟฟรี พร้อมจำแนกกลุ่มใดฟรี กลุ่มใดไม่ฟรีจะเป็นการเพิ่มปัญหาให้ยุ่งยากมากกว่าหรือไม่? ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนนกล่าวเพียงว่า เข้าใจรัฐ และเข้าใจว่าทุกอย่างมันคือการลงทุน
“ตอบไม่ได้ว่ามันจะมีปัญหามั้ย เข้าใจรัฐไทยค่ะ ระบบการเก็บภาษีและก็การใช้เงินภาษีอย่างมีประสิทธิภาพมันก็ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ แต่ก็เข้าใจว่าทุกอย่างมันคือการลงทุน โดยเฉพาะของค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้รถฟรีนั้นมันมีคุณภาพด้วย ถ้าบอกว่าคุณมีตังค์คุณก็อย่าไปขึ้นเลย ปล่อยให้คนจนขึ้น”
อีกทั้ง ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะคิดให้รอบคอบ แล้วก็ต้องวางระบบให้ชัดเจนในการทำเพื่อสังคม เพราะนิสัยคนไทยไม่ค่อยจะมีจิตสำนึกว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ และถึงเวลาแล้วที่คนรวยไม่ควรตักตวงผลประโยชน์จากรัฐ โดยที่ไม่ให้รัฐเฉลี่ยจ่ายไปให้คนจน
“คนไทยมันก็ไม่ได้มีสำนึกด้วยนะว่าสังคมควรจะให้ผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเรา เรายังเห็นผู้ชายแย่งผู้หญิงนั่งอยู่บ่อยๆ เลย เพราะฉะนั้น มันก็คงต้องมีระบบในการบริหารจัดการเรื่องแบบนี้ แต่ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องคิดให้รอบคอบ แล้วก็ต้องวางระบบให้ชัดเจนเพื่อให้อะไรที่ทำเพื่อสังคม ทำเพื่อคนจน ทำเพื่อคนด้อยโอกาสกว่า แล้วก็ทำให้คนที่มีเงินมากกว่ามีโอกาสมากกว่า มีสำนึกเพื่อที่จะดูแลคนที่ด้อยกว่าด้วย
คิดว่าถึงเวลาแล้วนะที่จะทำให้คนไทยมีเข้าใจ มีสำนึกที่ดีในการอยู่ร่วมกัน กับคนที่แตกต่าง หลากหลายกับเรา แล้วก็เห็นใจคนที่อ่อนแอกว่าเรา ไม่ใช่คนรวยก็ตักตวงผลประโยชน์ของรัฐ โดยที่ไม่ได้ให้รัฐเฉลี่ยจ่ายไปให้คนจน”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต และเฟซบุ๊ก จส.100
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754