xs
xsm
sm
md
lg

ปิดคดี “แพรวา” สังคมรุมประชาทัณฑ์ ทวงถามยุติธรรม!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทันทีที่ศาลตัดสินไม่รับฎีกาคดี “แพรวา” ชี้ไม่มีสาระสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาเดิม ทว่า แก้โทษเพิ่มเวลารอลงอาญาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี แทนถือเป็นอันสิ้นสุดคดี ทำให้ประชาชนต่างโหมกระหน่ำถึงความไม่ยุติธรรมของศาล เรียกร้องให้แก้กฎหมายไทยโดยเร็ว!!

เต็มโลกออนไลน์! ตัดสินไม่ยุติธรรม?

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่รับฎีกาในคดีที่ น.ส.แพรวา (ขอสงวนนามสกุล) ที่ตกเป็นจำเลยในคดีความผิดฐานขับขี่รถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยก่อเหตุขับรถยนต์ฮอนด้าซีวิค เฉี่ยวชนรถตู้โดยสาร สายธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-หมอชิต บนทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เป็นเหตุให้คนขับรถตู้และผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 9 ศพ เมื่อปลายปี 2553 นั้น โดยยืนโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปี แต่แก้โทษให้เพิ่มเวลารอลงอาญาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี เพิ่มเวลาบำเพ็ญประโยชน์เป็นปีละ 48 ชั่วโมง รวม 4 ปี และห้ามขับรถจนอายุ 25 ปี เท่ากับคดีเป็นอันสิ้นสุด






ทั้งนี้ หลังทราบคำพิพากษาแล้วหนึ่งในญาติของผู้เสียหาย “ทองพูน พานทอง” กล่าวว่า ยอมรับในคำสั่งของศาล เพราะถือว่าเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุดแล้ว ในส่วนของคดีทางแพ่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับทีมทนายความ และตลอด 5 ปีที่ผ่านมาฝ่ายจำเลยไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาญาติของผู้เสียชีวิตเลย จึงอยากให้ฝ่ายจำเลยเข้ามาช่วยเหลือตามสมควร หรือเข้ามาพูดคุยกับครอบครัวผู้เสียชีวิตบ้าง

“เราอยากให้คดีจบโดยเร็ว วันนี้เหมือนแผลกำลังหายแล้ว แต่ก็มาเจอสะกิดอยู่เรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยาใดๆ จากจำเลย และไม่เคยคุยหรือโทรศัพท์มาหา ขอให้เหลียวมองเราสักนิดไม่ต้องมากมายเจอหน้าคุยกันบ้าง หรือแค่บอกว่าเสียใจด้วยนะเราก็ชื่นใจแล้ว แต่เราไม่เคยได้ยินจากปากเขาเลย”




ทันทีที่ข่าวดังกล่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ผู้คนจำนวนไม่น้อยต่างโหมกระหน่ำวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรมของศาล ว่าเพราะเหตุใดจึงตัดสินให้จำเลยได้รับโทษเพียงเท่านี้ ทั้งๆ ที่จำเลยมีความผิดฐานขับขี่รถโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายถึง 9 รายด้วยกัน

“ดิฉันก็แค่คนธรรมดาสงสัยว่าทำไมเวลาคนรวยมีคดีความผิดต่างๆ โดนลงอาญาบางทีก็รอดคุก แต่ทำไมคนจน-คนธรรมดาถึงติดคุกเลย งงมากค่ะ บางทีก็คดีชนคนตายคนเดียวติดคุก นี่ทำคนตายตั้ง 9 คน ลงอาญาตั้ง 4 ปี ติด 2 ปี คนตาย 9 คน ติด 2 ปี จะได้ติดเปล่า แถมระรื่นไม่สะทกสะท้าน อยู่แบบไฮโซ ญาติคนตาย ตายทั้งเป็น”

“เอาประเด็นนี้ไปรื้อคดีใหม่ เรื่องใบขับขี่ที่อเมริกา ให้ ตสช. เอาคดีสาวซีวิคมารื้อทำคดีใหม่ให้หมด เพราะเคยมีคดีอาญาหลายคดีที่ศาลตัดสินเด็ดขาดขั้นฎีกาแล้วมาปัดฝุ่นใหม่ คนตาย 9 คน ถ้าเป็นต่างประเทศ สาวคนนี้โดนหนัก การชดเชยคนตายคงเป็นร้อยล้านดอลลาร์ ถ้าคนตายเป็นลูกเมีย ญาติของผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม จะเป็นฉันใดหนอ”

บางรายได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่าจำเลยไม่มีสิทธิขับรถ เพราะตามกฎหมายเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 18 ปี ไม่อนุญาตให้มีใบขับขี่ เพราะฉะนั้น ศาลน่าจะลงโทษให้หนักกว่านี้

“กระบวนการยุติธรรม ไม่ยุติธรรม เริ่มตั้งแต่เด็กสาวอายุ 17 ตามกฎหมายจราจร ไม่อนุญาตให้มีใบขับขี่ เมื่อไม่มีใบขับขี่ ก็แสดงว่า เด็กสาวคนนี้ ไม่มีสิทธิขับรถ เมื่อไม่มสิทธิขับรถ ทำไมพ่อแม่จึงปล่อยให้เด็กสาวคนนี้ขับรถ เมื่อขับรถไปชนรถตู้ จนผู้โดยสารในรถตู้ตาย 9 คน

ความจริง ศาลน่าจะตัดสินลงโทษให้หนักกว่านี้ ดูกฎหมายจราจรประกอบ ไม่ใช่ลงโทษแค่ประมาท นี่คือฆาตกรรม เพราะกฎหมายจราจรไม่อนุญาตให้ขับรถเพราะอายุยังไม่ถึง 18 ปี อย่าเอาใบขับขี่ต่างประเทศมาอ้าง เพราะไทยขับเลนซ้าย อเมริกาเลนขวา อย่างไรก็ตามพ่อแม่ของเด็กสาวคนนี้ต้องชดใช้ค่าชีวิตผู้โดยสารนับร้อยล้าน ชดเชยค่าแรง 300 ต่อวันด้วยจนอายุงานครบ 60 ปี อยากให้ไทยเพิ่มศาลจราจร เมื่อศาลอาญาไม่ยุติธรรม”

ในขณะที่บางรายกล่าวว่า อยากให้มองเรื่องนี้เป็นกลางเพราะในกรณีนี้จำเลยเป็นผู้เยาว์ ควรแยกแยะการได้รับโทษ เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องที่จะวิจารณ์และด่าทอศาล

“ทำไมคนไทยที่วิจารณ์ในเรื่องนี้จึงไม่แยกแยะว่า ผู้กระทำผิดคือใคร ผู้เยาว์ หรือ บรรลุนิติภาวะ กระทำผิดในขณะมึนเมาหรือเปล่า กระทำผิดแล้วหลบหนีหรือเปล่า ศาลท่านพิพากษาตามข้อกฎหมาย กรณีนี้จำเลยเป็นผู้เยาว์ ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เฉพาะ ไม่ได้ใช้กฎหมายอาญาทั่วไปในการพิจารณา จึงได้มีการจัดตั้งศาลชำนาญพิเศษคือ ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ไว้เฉพาะ ดังนั้นไม่ถูกต้องเลยที่มีพวกวิจารณ์มาด่าทอศาล เว้นแต่มีการแก้กฎหมายใหม่ซะ จบได้แล้วนะมีสติบ้าง ผู้ที่เสียชีวิตใครๆ ก็เห็นใจทั้งสิ้น แต่นี่คือหลักกฎหมาย ณ ปัจจุบัน”

เยาวชนกระทำผิด = โทษไม่รุนแรง

จากกรณีดังกล่าว "ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข" ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เธอให้ความเห็นกับทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการ Live ว่า เห็นด้วยกับการตัดสินของศาลเพราะมันเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าศาลได้พิจารณาว่าการกระทำผิดของจำเลย ควรที่จะได้รับการลงโทษในระดับที่สูง

“กรณีนี้เป็นการสูญเสียที่รุนแรง สะเทือนความรู้สึกของคนในสังคม คิดว่าการที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางไม่รับฎีกาเป็นสิ่งที่เหมาะสม แล้วการที่เพิ่มโทษจาก 3 ปี เป็น 4 ปี และการห้ามขับรถจนถึงอายุ 25 ปี มันก็เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าศาลได้พิจารณาว่าการกระทำผิดของจำเลย ควรที่จะได้รับการลงโทษในระดับที่สูง

คิดว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมแล้ว มองว่าสิ่งที่น่าเพิ่มเติมคือเรื่องของการบำเพ็ญประโยชน์ปีละ 48 ชั่วโมง มันก็น้อยไป ควรจะเพิ่มจำนวนชั่วโมงที่มากกว่านี้แล้วก็ควรจะต้องระบุว่าให้ทำอะไร ให้เป็นการบำเพ็ญประโยชน์จริงๆ ที่จะให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการคำนึงถึงความปลอดภัยทางถนนของคนในสังคม

คือจำเลยจะต้องได้รับการพัฒนาวิธีคิดและเห็นความสำคัญของการขับขี่ที่ปลอดภัย หรือช่วยเหลือคนที่จะเป็นเหยื่อ จากการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย ถ้าการบำเพ็ญประโยชน์ตรงนี้มันทำให้วิธีคิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปได้ ถือว่าการลงโทษมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นคิดว่าในเรื่องของการฟ้องร้องในคดีทางแพ่งก็จะมีความสำคัญที่ศาลควรจะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ”




จากการลงโทษของศาลนั้น ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยต่างไม่เห็นด้วยกับการรอลงอาญา 4 ปี เพราะถือว่าเป็นการลงโทษที่น้อยเกินไป แต่เธอกลับมีความเห็นว่าเพราะเป็นเยาวชนกระทำความผิด โทษจึงไม่รุนแรงเหมือนคดีอาญาทั่วๆ ไป

“ถ้าคดีนี้เป็นผู้ใหญ่ เห็นด้วยกับสังคมที่ว่าไม่น่าจะพิจารณาในเรื่องของการลงอาญา แต่อันนี้เป็นเยาวชนเราต้องเข้าใจความเป็นเยาวชนมันไม่ได้เป็นในลักษณะของการฆ่าคนตายโดยเจตนา เหมือนคดีอาญาทั่วๆ ไปนะคะ และก็เป็นเยาวชนด้วย มันก็ต้องดูลักษณะของเจตนาในการกระทำผิดค่ะ และเราก็ต้องไม่ลืมว่าระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องของการจัดการความเร็ว การควบคุมพฤติกรรมหรือว่ารถตู้เอง สภาพแวดล้อมบนถนน มันก็มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด มันไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่เป็นเจตนาจะฆ่าคนตายเหมือนคดีอาชญากรรมอื่นๆ”




เป้าหมายของการลงโทษคือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้กระทำความผิดให้เกิดสำนึกที่ดี และกลายเป็นพลเมืองดีของสังคม และกระตุ้นป้องปรามไม่ให้คนอื่นๆ ในสังคมกระทำผิดเหมือนในคดีนี้

“ไม่เห็นด้วยนะคะกับการที่ให้เยาวชนขับรถ คือการขับขี่โดยประมาทของจำเลยในคดีนี้มันก็สร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรงแล้วก็น่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญของสังคมไทยและพ่อแม่ เป้าหมายของการลงโทษก็คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อให้ผู้กระทำความผิดกลับมาใช้ชีวิตในสังคมอย่างเป็นคนดี เป็นพลเมืองดีของสังคม และเพื่อกระตุ้นป้องปรามไม่ให้คนอื่นๆ ในสังคมกระทำผิดเหมือนอย่างที่จำเลยในคดีนี้กระทำผิด

เพราะฉะนั้น มองว่าการรอลงอาญา 4 ปี เข้มข้นในห้วงของระยะเวลาการรอลงอาญานั้น เพิ่มโทษการบำเพ็ญประโยชน์ต้องมีน้ำหนักของคุณภาพของกิจกรรมที่เข้มข้น ที่ให้เห็นว่า 4 ปี นี้เป็น 4 ปี แห่งการลงโทษ และการถูกลงโทษเพื่อให้เกิดสำนึกที่ดี มันก็จะทำให้จำเลยหลังจากอายุ 25 ไปแล้ว ก็อาจจะเป็นคนที่ขับรถที่ดี”

กฎหมายไทย ไม่ได้ลงโทษเพื่อแก้แค้น!

เมื่อถามถึงการเยียวยาให้กับเหยื่อครอบครัวผู้เสียชีวิตนั้น เธอกล่าวว่า เนื่องจากจำเลยมีฐานะทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้น การให้ความรับผิดชอบในคดีทางแพ่งจึงมีความสำคัญสำหรับคดีนี้

“อันนี้มองว่า event cost การที่จะคำนวณ event cost ของการสูญเสีย ของผู้เสียชีวิตแต่ละรายๆ ให้ชัดเจน ให้ได้รับค่าชดเชยทางแพ่งที่เหมาะสม อันนี้เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง แล้วครอบครัวของจำเลยต้องแสดงความเต็มใจที่จะรับผิดชอบอย่างยิ่งด้วย ถึงจะสะท้อนให้เห็นถึงสำนึก กับเรื่องที่เกิดขึ้นจากกระทำถึงแม้จะไม่เจตนา

แต่จริงๆ แล้วในฐานะนักวิชาการด้านอุบัติเหตุเรามองว่าในเมื่อคุณเป็นเยาวชน คุณยังไม่บรรลุวุฒิภาวะในการขับรถการที่ขึ้นไปขับถือว่าเป็นเจตนา เจตนาที่จะขับรถด้วยความไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้น ควรจะแสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับคดีแพ่ง”

ส่วนเงินชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตนั้น ต้องวิเคราะห์ว่าหากผู้เสียชีวิตยังมีชีวิตอยู่ เขาจะทำประโยชน์ให้กับครอบครัวของเขามูลค่าที่เท่าใด

“อันดับแรกขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ว่าถ้าเขายัง มีชิวิตอยู่ไปจนถึง 60 ปี เขาจะทำประโยชน์ให้กับครอบครัวของเขามูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากการมีรายได้ จากการใช้ชีวิตของเขามันเท่าไหร่ ซึ่งแต่ละคนมันก็จะไม่เท่ากัน ซึ่งแต่ว่าเคสของผู้เสียชีวิตในคดีนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นเคสที่มีต้นทุนทั้งนั้นเลย

ควรจะวิเคราะห์ event cost เพราะว่าแต่ละคนเขาก็มีครอบครัว มีต้นทุนที่ครอบครัวส่งเสียเลี้ยงดู บางคนก็เป็นนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ ครอบครัวก็ควรจะได้รับประโยชน์จากผู้ตาย แต่ผู้ตายก็เสียชีวิตก่อน จำเลยต้องชดใช้”




อย่างไรก็ตาม นักวิชาการศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เธออยากให้ประชาชนที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่ยุติธรรมของศาล มองว่าการลงโทษนี้ไม่ใช่การลงโทษเพื่อการแก้แค้น แต่เป็นการลงโทษเพื่อให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิดและกลับตัวเป็นพลเมืองดี

“เราต้องกลับมาที่วิธีคิดของการลงโทษ ว่าการลงโทษทางกฎหมายเราไม่ได้ลงโทษเพื่อแก้แค้นหรือเพื่อสาสมแก่การกระทำผิดแต่เพียงอย่างเดียว แต่ว่าเราลงโทษเพื่อให้ผู้กระทำผิดสำนึกผิดและกลับตัวเป็นพลเมืองดี แล้วก็ลงโทษเพื่อป้องปรามไม่ให้คนในสังคมกระทำผิดในรูปแบบเดียวกันอีก นี่คือวัตถุประสงค์ใหญ่ในการลงโทษทางกฎหมาย

เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้วัตถุประสงค์ตรงนี้เราก็ต้องพิจารณาเหตุที่มาและองค์ประกอบต่างๆ ของผู้กระทำผิดด้วยว่าผู้กระทำผิดเขามีเหตุที่มาอย่างไร และองค์ประกอบของผู้กระทำผิดนั้น มีกระบวนการหรือมีปัจจัยสนับสนุนเอื้ออย่างไร ในการที่จะประกอบการลงโทษที่จะทำให้ผู้กระทำผิดนั้นเป็นคนดีต่อไปของสังคม ถ้าเรามองครบถ้วนตรงนี้เราก็จะลงโทษด้วยความเมตตาไม่ได้ลงโทษด้วยความสะใจ ป้องปรามไม่ให้คนอื่นกระทำผิดตาม”




คดีนี้ก่อให้เกิดความสะเทือนใจให้กับสังคมอย่างมาก เพราะหากมองย้อนกลับไปในอีกมุมหนึ่ง เด็กเป็นเหยื่อของครอบครัวหรือเปล่า? เพราะหากครอบครัวดูแลดีเขาจะไม่ปล่อยให้ลูกไปขับขี่รถยนต์ถ้ายังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ

“เห็นด้วยกับสังคมว่าการกระทำผิดแบบนี้มันก่อให้เกิดความสะเทือนใจ ปรากฏการณ์ที่มันเกิดขึ้นมันเกิดความสะเทือนใจ เข้าใจสังคม ตัวเราเองก็สะเทือนใจไม่น้อย แต่ก็ดีใจกับการที่สังคมหันมาเห็นใจเรื่องของความรุนแรงของอุบัติเหตุแต่ว่าเราต้องกลับมามองด้วยว่าเราจะเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ทั้งเรื่องของการขับขี่ รถยานยนต์ หรือครอบครัวที่จะไม่ให้หลานขับขี่ พวกเหล่านี้มันเป็นระบบที่แวดล้อมให้คนกระทำผิดด้วย

ย้อนกลับไปถามว่าเด็กเป็นเหยื่อของครอบครัวหรือเปล่า เป็นเหยื่อของระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อหรือเปล่า ถึงบอกว่าเราต้องพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำผิดโดยเฉพาะในคดีเยาวชน ถ้าระบบการป้องกันเอื้อ อย่างคนที่เขาดูแลลูกดีๆ เขาจะไม่ให้ลูกไปขับขี่รถหรอกถ้าลูกเขายังมีวุฒิภาวะที่ไม่ดี เขาต้องคำนึงถึงโอกาสเสี่ยง

ทีนี้เด็กบางคนเกิดมาในระบบที่มันไม่ดี การที่เราจะไปลงโทษอย่างรุนแรงมันก็เท่ากับไปผลิตซ้ำความรุนแรงก็มองไปอีกมุมหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามก็ยังอยากให้จำเลยและครอบครัวแสดงให้สังคมเห็นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมนะคะว่าจำเลยและครอบครัวได้สำนึกถึงความผิดที่ตัวเองได้กระทำพร้อมและเต็มใจที่จะเป็นส่วนที่สำคัญในการที่จะช่วยสังคม”

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น