แนวคิดใหม่ขนส่งทางบกเตรียมปรับสอบใบขับขี่ เพิ่มอบรมเป็น 15 ชั่วโมง เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก แนวคิดนี้ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการปลูกฝังจิตสำนึกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน แต่จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน หากผู้ขับขี่ส่วนมากยังไร้วินัยและมีความเห็นแก่ตัวบนท้องถนน
ปรับสูตรใหม่ ไฉไลกว่าเดิม!
จากกรณีกรมการขนส่งทางบกเตรียมปรับสอบใบขับขี่ใหม่เพื่อเน้นความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเพิ่มหัวข้ออบรมจาก 3 หัวข้อเป็น 15 ข้อ และเพิ่มเวลาอบรมจาก 4 ชั่วโมงเป็น 15 ชั่วโมง โดยแนวคิดนี้เน้นให้ผู้สอบใบขับขี่ใหม่มีวินัยในการขับขี่และปลูกฝังจิตสำนึกแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
โดย “ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาและจัดทำเนื้อหาวิชาหลักสูตรการอบรมภาคทฤษฎีสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถรายใหม่เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมายจราจรและการขับรถที่ปลอดภัยจำนวน 15 หัวข้อ จะใช้เวลาในการอบรม 15 ชั่วโมง
การจัดสรรเนื้อหานี้สามารถปลูกฝังให้เกิดวินัยการขับขี่อย่างปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ประโยชน์ของการมีใบอนุญาตขับรถ กฎหมาย ข้อห้าม , พ.ร.บ.จราจร, มารยาทในการขับรถ, ข้อแนะนำกับมารยาทในการใช้ทาง, ข้อจำกัดด้านร่างกายมนุษย์กับการจราจร, สมรรถภาพของรถ ถนน สิ่งแวดล้อม, พฤติกรรมการใช้รถใช้ถนน, ข้อผิดพลาดตามกฎหมายจราจรและการใช้ทาง, ข้อจำกัดของใบอนุญาตขับรถ ฯลฯ
รวมถึงจัดทำเนื้อหาอบรมสำหรับผู้ขอต่อใบอนุญาตขับรถ และจัดทำเนื้อหาอบรมเพื่อฟื้นฟูพฤติกรรมสำหรับผู้ขับรถที่กระทำผิดบ่อยครั้งอีกด้วยโดยระหว่างนี้ใช้สูตรเดิมไปก่อน หากการจัดทำหลักสูตรดังกล่าวได้ข้อสรุปเป็นที่แน่นอนแล้ว จะประกาศอย่างเป็นทางการและเริ่มใช้ทันที
อย่างไรก็ตาม โดยกรมการขนส่งทางบกจะพิจารณาเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเรียนรู้หรือเข้ารับการอบรมผ่านช่องทางอื่นๆ ที่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการอบรมกับกรมการขนส่งทางบกเพียงแห่งเดียว อีกทั้งยังได้เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถเข้ารับการอบรมที่โรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรองหรืออบรมกับสถาบันการศึกษาที่ทำ MOU ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก แนวคิดนี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการปลูกฝังจิตสำนึกเท่านั้นส่วนสำคัญอยู่ที่ผู้ขับขี่ซึ่งต้องตระหนักถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ
แนวคิดมีปัญหา! เพิ่มเวลา ไม่เพิ่มความเข้าใจ
จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น "ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข" ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เธอให้ความเห็นกับทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive ว่าเป็นวิธีคิดที่มีปัญหาเพราะการขับรถไม่ใช่แค่มีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย
“ต้องมองที่หลักสูตรค่ะ ว่าหลักสูตรที่ใช้สำหรับ 15 ชั่วโมงกับหลักสูตรที่ใช้ 4 ชั่วโมงมันมีเนื้อหาที่จำเป็นมากน้อยแค่ไหนค่ะ หากใช้หลักสูตรแบบเดิมไปก่อนจริงๆ คิดว่าเป็นวิธีคิดที่มีปัญหานะ คือการขับรถมันไม่ใช่แค่มีความรู้ว่าขับรถอย่างไร ไม่ใช่มีความรู้ว่ากฎจราจรเป็นอย่างไร แต่การขับรถจะต้องมีการทดสอบความรู้ในเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย”
ในทางกลับกันอุบัติเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนมักเกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงเป็นความรู้ใหม่ที่ผู้ขับขับขี่ควรมี
“ในส่วนการบริหารงานหลักสูตร เขาเรียกว่าการวิเคราะห์ Training Need ความจำเป็นในการฝึกอบรมว่าความจำเป็นที่ต้องเทรนคืออะไร ไม่ใช่การบอกว่าอันนี้คือสัญลักษณ์อะไร เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ไฟแดง กฎพวกนี้มันถือว่าเป็นขั้นต่ำมากๆ แต่คือความเข้าใจขั้นสูงที่ควรจะต้องรู้
ยกตัวอย่าง ในกรณีที่ฝนตกคุณไม่ควรขับรถในลักษณะที่เสี่ยงหรืออันตรายที่เกิดขึ้นในขณะฝนตก และในขณะที่คุณขับรถมันมีอะไรบ้าง หรือในกรณีที่คุณกำลังขับมาด้วยความเร็วที่ 80 หรือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถคันหน้าทำของหล่นมา คุณควรจะทำยังไงในขณะที่ขับมาเร็วขนาดนั้น กรณีเช่นนี้เป็นกรณีที่จำเป็นมาก ซึ่งถ้าทางขนส่งฯ มาร่วมมือกับระบบสืบสวนอุบัติเหตุ เขาจะเห็นเลยว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่แล้วมันมาจากความไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้”
เพราะฉะนั้น หากมีการปรับสูตรอบรมเพิ่มควรวิเคราะห์สาเหตุพฤติกรรมเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ปรับปรุงในด้านของหลักสูตรเนื้อหาในการอบรมด้วย
“ปรับปรุงที่คุณภาพของเนื้อหาให้มองที่คุณภาพของเนื้อหาหลักสูตรที่สำคัญ และเป็นความจำเป็นจริงๆ ที่จะเพิ่มการขับขี่ที่ปลอดภัยผ่านการวิเคราะห์สาเหตุแห่งพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก่อน และนำสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมาออกแบบดีไซน์หลักสูตร
นอกจากนั้นควรจะต้องมีระบบการทดสอบความสามารถความถนัดในการขับขี่ที่ควบคู่กับเนื้อหาในการทำอบรมด้วย และหลังจากนั้นก็ควรมีระบบการติดตามพฤติกรรมการขับขี่ที่จำเป็นต้องจดบันทึกไว้ด้วยว่าหลังจากได้ใบขับขี่ไปแล้ว เขามีการกระทำผิดกฎหมาย ละเมิดกฎหมายจราจรมากน้อยแค่ไหน รุนแรงแค่ไหน เพื่อบังคับควบคุมพฤติกรรมเหล่านี้ก่อนที่จะไปกระทำผิดที่อื่นต่อไป”
ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า การอบรมเพิ่มไม่จำเป็นเท่ากับการปรับปรุงเนื้อหา และการพิจารณาเรื่องของทักษะก่อนออกใบขับขี่เป็นสิ่งที่กรมขนส่งทางบกต้องทำ
“การเพิ่มเวลาคิดว่าไม่จำเป็นเท่ากับปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร พี่มองว่าการปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร การพิจารณาเรื่องของทักษะก่อนออกใบขับขี่ การที่ทำระบบการบันทึกการกระทำผิดและยึดใบอนุญาตใบขับขี่ พร้อมติดตามอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้ผู้กระทำผิด กระทำผิดซ้ำจนกว่าจะมั่นใจในเรื่องของวุฒิภาวะและควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของตัวเอง คิดว่าอันนี้คือสิ่งที่ขนส่งทางบกต้องทำ”
ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754