xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัว “จ่าเฉยอัจฉริยะ” มิติใหม่ไขปัญหาจราจร!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตำรวจจราจรเตรียมใช้ “จ่าเฉยอัจฉริยะ” ช่วยปฏิบัติหน้าที่โดยการติดกล้องตรวจจับคนทำผิดกฎจราจร และออกใบสั่งออนไลน์ เมื่อโครงการดังกล่าวนี้ผุดขึ้น มีการตั้งคำถามตามมาว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาการทำผิดกฎจราจรได้ดียิ่งขึ้นจริงหรือ?

“จ่าเฉย” คัมแบ็ก
จากกรณีกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) แถลงข่าวการนำระบบ “จ่าเฉยอัจฉริยะ” มาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปฏิบัติงาน โดยมีหน้าที่ตรวจจับคนทำผิดกฎจราจรและออกใบสั่ง โดย “จ่าเฉยอัจฉริยะ” นี้สามารถทำงานได้ 2 ส่วนคือ วิเคราะห์รายละเอียดของรถยนต์ที่กระทำผิดกฎจราจร และระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ

โดยจะทำการวิเคราะห์และรับภาพข้อมูลผู้กระทำผิดผ่านระบบ "โพลิส อายส์" ที่ตรวจจับยานพาหนะที่ขับทับเส้นทึบ พร้อมกับบันทึกภาพด้วยความละเอียดสูง ก่อนที่จะประมวลข้อมูลทั้งหมดนี้ส่งต่อไปยังระบบออกใบสั่งอัตโนมัติโดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบความถูกต้องไม่เกิน 1 นาที




นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังสามารถทำได้อีกหลายด้านคือ อ่านป้ายทะเบียนรถ ค้นหาตำแหน่งตัวอักษร ตัวเลขบนป้ายทะเบียนรถ จำแนกยี่ห้อรถ และแยกสีรถได้ถึง 12 สี เพื่อใช้บันทึกเป็นหลักฐานข้อมูลได้อีกด้วย

ทั้งนี้ “พล.ต.ต. อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์” รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลดูแลงานจราจร เปิดเผยถึงโครงการดังกล่าวว่า ได้นำระบบนี้มาทดลองใช้แล้ว โดยนำร่องที่แรกที่ สน.สุทธิสาร ซึ่งสามารถตรวจการกระทำความผิดกฎจราจรอัตโนมัติอื่นๆ ได้ เช่น ขับรถเร็ว จอดในที่ห้ามจอด หรือแม้แต่ขับขี่รถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งคาดว่าจะใช้จริงได้ในเดือนเมษายนนี้






ระบบตรวจสอบการกระทำความผิดกฎจราจรบนท้องถนนยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ทีมวิจัยยังพัฒนาระบบตรวจจับการขับรถแทรกคอสะพานข้ามแยกแบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้นอีกด้วย

โดยบันทึกเป็นภาพความละเอียดสูงก่อนประมวลข้อมูลไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลของกองบังคับการตำรวจจราจรเพื่อส่งต่อใบสั่งไปยังเจ้าของรถ และเมื่อชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว ระบบจะระบุเหตุผลที่ฝ่าฝืนกฎจราจรเพื่อนำไปรวบรวมทำเป็นข้อมูลทางสถิติอีกทีหนึ่ง

เทคโนโลยีเข้ามา การยัดข้อหาก็น้อยลง!
จากประเด็นดังกล่าวข้างต้นทางทีมข่าวASTV ผู้จัดการLive จึงได้สอบถามไปยัง "ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข" ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยป้องกันอุบัติเหตุทางถนน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เธอเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว เพราะถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วเขาใช้เทคโนยีในการบังคับใช้กฎหมายจราจรมานานแล้ว

“เราควรเข้มข้นทุกขั้นตอน คือตำรวจจะทำยังไงก็ได้ให้เกิดความเข้มข้น แต่ต้องยุติธรรม เสมอภาค และต่อเนื่อง เห็นด้วยกับการมีเทคโนโลยีเข้ามาก็จะเป็นตัวที่ช่วยให้ข้อครหาของการเลือกปฏิบัติ หรือการยัดข้อหามันก็ลดน้อยไป มันก็ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงความเที่ยงตรงในการบังคับใช้กฎหมาย

เพราะถ้าเราเปรียบเทียบกับนานาชาติแล้ว การบังคับใช้กฎหมายจราจรเขาใช้เทคโนยีทั้งนั้น เขาไม่ใช้คน อย่างการบังคับใช้กฎหมายต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วยว่า มันไม่ใช่การออกคำสั่งอย่างเดียว การว่ากล่าวตักเตือน ก็เป็นการบังคับใช้กฎหมายเหมือนกัน”




การนำเทคโนโลยีมาใช้ถือเป็นข้อดี และคิดว่าโครงการนี้จะลดอคติต่อการเลือกปฏิบัติได้อย่างดีเลยทีเดียว อีกทั้งเธอยังฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนในเรื่องของความรุนแรงในการขับขี่เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น

“สำหรับส่วนนี้ถ้าเรานำเอาเทคโนโลยีมาใช้มันก็ถือเป็นข้อดี ขอให้เทคโนโลยีนั้นถูกทำการทดสอบถึงความถูกต้องเที่ยงตรง อันนี้ถือว่าดีทั้งนั้น คิดว่ามันจะลดอคติต่อการเลือกปฏิบัติได้ดีมาก แล้วก็อยากฝากเตือนไปในเรื่องของความรุนแรงในเรื่องการขับขี่ ทั้งขับขี่เร็ว ฝ่าไฟแดง เรื่องของเมาด้วย

โดยเฉพาะตอนนี้รถรุ่นใหม่ๆ กำลังมาแรง และนักขับหน้าใหม่ด้วย ใบขับขี่ก็สอบในเรื่องของความรู้ แต่เราไม่ได้วัดในเรื่องของไหวพริบ การแก้ปัญหาวิกฤติขณะขับขี่เลย คนขับขี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าถ้าเกิดเหตุวิกฤติขึ้นมาต้องแก้ปัญหา อย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น”




ต่อข้อซักถามที่ว่า เมื่อมีโครงการดังกล่าวนี้ขึ้นมาคิดว่าผู้ใช้รถใช้ถนนจะเกิดความเกรงกลัวและเคารพกฎจราจรมากขึ้นหรือไม่นั้น เธอกล่าวว่าคิดว่าประชาชนน่าจะกลัว เพราะว่าการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยนั้นถือว่าควบคุมได้ทั้งหมด มันไม่เหมือนกับการใช้คนควบคุม

“สำหรับการใช้เทคโนโลยี ถ้าหากว่าผลการบังคับใช้กฎหมายผ่านเทคโนโลยีสามารถกระทำได้ ถูกต้องตามกฎหมาย มีการแก้กฎหมายเรียบร้อยแล้ว คิดว่าประชาชนก็จะกลัว เพราะมันจะสามารถควบคุมได้ทุกเคส มันไม่เหมือนเราใช้คน เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการนำระบบเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุมตรวจจับการกระทำผิด

มองว่าจริงๆ แล้วเรามีเงินส่วนแบ่งค่าปรับไม่น้อย คิดว่าเงินเหล่านี้ควรจะใช้ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีและย้อนกลับมาเพื่อทำให้วินัยจราจรมันกลับคืนมา เพราะว่าตอนนี้วินัยจราจรของคนไทย มันไม่สามารถแก้ได้ด้วยการให้ความรู้ผ่านการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ แต่มันจำเป็นต้องใช้วิธีบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง”

ข่าวโดยASTV ผู้จัดการLive




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น