ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลายวันก่อนมีจดหมายมาถึงที่บ้าน แค่เพียงเห็นซองก็รู้ว่า โดนอีกแล้ว ไม่มีอะไรมากไปกว่า“ใบสั่ง”ยุคปฏิรูป ที่เดี๋ยวนี้ตำรวจเขาใช้กล้องตรวจจับความเร็วตามจุดต่างๆ บนท้องถนนหลวง แล้วก็ตรวจสอบชื่อผู้ครอบครองรถก่อนส่ง“หมายเรียก”หรือ “ใบสั่ง”ไปถึงบ้าน ข้อหายอดนิยมน่าจะเป็นใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
รายละเอียดมีแจ้งครบครัน เริ่มจาก ชื่อยศ-ตำแหน่งนายตำรวจคนที่ออกใบสั่ง ชื่อผู้ครอบครองรถ และรายพฤติกรรมการขับขี่ โดยเริ่มต้นจดหมายว่า...ด้วยเหตุที่ผู้ขับขี่รถคันเลขทะเบียน.....(ตามภาพถ่าย) ได้กระทำผิดฐานขับรถด้วยอัตราความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด อันเป็นความผิดตาม มาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท ตามมาตรา 152 แห่งกฎหมายดังกล่าว ตรวจพบโดยการใช้เครื่องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ (Laser Trucan) วัดได้ 125 กม./ชม. (กฎกระทรวงกำหนดให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 90 กม./ชม.)
เหตุเกิดเมื่อวันที่..........เวลา......ณ ถนนพหลโยธิน กิโลเมตรที่ 100 ต.ปากเพรียว อ.เมืองฯ จ.สระบุรี รายละเอียดปรากฏตามหลังหมายฉบับนี้
ฉะนั้นให้ท่านไป ณ สถานีตำรวจภูธร เมืองสระบุรี ต.ปากเพรียว อ.เมืองฯ จ.สระบุรี ภายในวันที่ ....เดือน.....พ.ศ.2558 เพื่อดำเนินคดี หรือหากประสงค์ชำระค่าปรับทางไปรษณีย์ ตามมาตรา 141(2) ทำได้โดยส่งธนาณัติเป็นค่าปรับจำนวน 1,000 บาท ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ โดยสั่งจ่ายนาม “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สถานีตำรวจภูธรเมืองสระบุรี ตำบลปากเพรียว จังหวัดสระบุรี 18000” ส่งไปยังที่ทำการไปรษณีย์ ปากเพรียว พร้อมสำเนาหมายฉบับนี้ ซึ่งกรอกรายละเอียดท้ายหมายให้ครบถ้วน และโปรดแนบซองจดหมายจ่าหน้าถึงท่านมาด้วยกัน เพื่อจะได้ดำเนินการจัดส่งเอกสารหลักฐานการชำระค่าปรับถึงท่าน ทั้งนี้ หากพ้นระยะเวลาข้างต้นแล้ว จะอายัดทะเบียนรถ และดำเนินตามกฎหมาย ต่อไป
ลงชื่อ พันตำรวจโท สำราญ น้อยทุ่ง รองผู้กำกับการจราจร ปฏิบัติราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองสระบุรี
รายละเอียดมีประมาณนี้ ถ้าเป็นคนขวัญอ่อนหน่อย ก็อาจจะกลัวจนอุจจาระขึ้นสมอง เพราะเนื้อหาจดหมายออกแนว “ขู่” นิดๆ เช่นให้ไปที่โรงพักภายในกำหนดเพื่อดำเนินคดี แต่ถ้าไม่เอา ไม่อยากมีปัญหากับตำรวจ หรือเสียเวลาทำมาหากิน ก็ต้องยอมจ่ายค่าปรับผ่านทางธนาณัติไป
กฎหมายให้อำนาจพระเดชพระคุณท่านสูงสุด ปรับหนึ่งพันบาท ท่านก็ล่อเต็มอัตราศึก ไม่มีลดราคา ไม่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกับประชาชนคนใช้รถใช้ถนนอีกต่อไปแล้ว เพราะเท่าที่เข้าไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต มีคนร้องเยอะมาก ทุกรายราคาเดียวกัน คือหนึ่งพันบาทถ้วน
เช่น ถนนสายวงแหวนรอบนอก เขต จ.นนทบุรี แถวสมุทรปราการ บางนา-ตราด ธนบุรี-ปากท่อ เจอกันถ้วนหน้า ราคาเดียวกันคือ หนึ่งพันบาทถ้วน คาดว่ารายได้จากค่าปรับเฉพาะข้อหาเดียว เดือนๆหนึ่ง คงมากโข ไม่ทราบว่าระบบเปอร์เซ็นต์ หรือสินบนนำจับ ยังมีอยู่หรือเปล่า ถ้ามีแบ่งกันกี่เปอร์เซ็นต์ ระดับไหนได้เท่าไหร่ น่าสนใจเหมือนกัน เพราะว่าไปแล้วการจับ-ปรับ ในลักษณะนี้ ตำรวจไม่ได้ลงแรงอะไร ไหนๆ ก็จะถลกหนังประชาชนทั้งทีแล้ว เอาเข้าหลวงเพียวๆ กันไปเลย
เปอร์เซ็นต์ค่าปรับที่แจกจ่ายกันตั้งแต่ระดับบนลงมาล่างท่าน ที่รับกันอยู่มันมีเส้นแบ่งบางๆ อยู่ คือข้างหนึ่งถูกกฎหมาย แต่อีกข้างตรรกะของแนวคิดนี้ท่านมั่นใจว่ามันถูกต้อง ไม่มีเสียงก่นด่าของประชาชนตามหลัง
ยิ่งในช่วงตำรวจอดอยากปากแห้ง บ่อน-ซ่อง ปิดๆ เปิดๆ หารายได้ทางอื่นไม่ได้ เดี๋ยวจะตกเป็นขี้ปากชาวบ้านเปล่าๆ นอกจากใบสั่งปรับแหลกรายละหนึ่งพันบาทถ้วนแล้ว หากพี่น้องประชาชนคนไทยขับขี่รถไปทางไหนในช่วงนี้ ก็มักจะเจอด่าน เจอจุดตรวจกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นครบาล หรือภูธร น้อยครั้งนักที่ออกจากบ้าน จะไม่เจอด่านตำรวจ
ถามว่าตำรวจจราจรไทยขยันอะไรกันนักหนา (ไม่ทราบขยันปฏิบัติหน้าที่ หรือขยันทำมาหากิน )
ปกติถ้าเป็นพวกโลกสวย ก็ต้องว่าดี แต่ฤทธิ์เดชของตำรวจไทยใครๆ ก็คงไม่อยากเข้าใก้ล บางกรณีรถที่ตามมาข้างหลังเขาไม่รู้ว่ามีด่านเห็นรถติดๆ ก็ยกไฟเลี้ยวออกเลนขวา เท่านั้นแหละ ทั้งจ่าทั้งดาบ โดดมาขวางกันกลางถนนอย่างไม่กลัวเจ็บ กลัวตาย
ปรับทุกข์ ระบายความรู้สึกมาพอสมควรแล้ว เชื่อว่าพี่น้องประชาชนคนไทย ก็คงมีอารมณ์ร่วมไม่มากก็น้อย เพราะปฏิบัติการกวดขันการจราจรของตำรวจครั้งนี้ มันชักจะเข้าข่ายลิดรอน และโขกสับ ประชาชนมากเกินไป สำคัญทำท่าจะเป็นปัญหาในการดำเนินชีวิต ซ้ำยังแพร่กระจายเรียกว่าเดือดร้อนกันทุก หย่อมหญ้า
เบื้องต้นจึงขอร้องเรียนผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สมยส พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร.
กรุณาผ่อนผัน ปรับนโยบายกวดขันจราจร (ข่มขืนชาวบ้าน) อย่าโขกสับประชาชน ด้วยอัตราค่าปรับสูงสุดตามกฎหมายกำหนดขนาดนั้นเลย...กฎหมายเขาให้อำนาจแค่ไหน ท่านจะเอาให้สุดเลยหรือ และท่านคิดว่ามันได้ผลใช่ไหม เพราะกฎหมายห้ามขับรถบนไฮเวย์ด้วยความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันขัดกับข้อเท็จจริง ขัดต่อความความรู้สึก เหมือนกำลังโดนบังคับให้ทำอะไรที่โง่ๆ แต่ถ้าไม่ทำตาม ก็ต้องถูกจับ ถูกตำรวจเล่นงาน
ว่าไปแล้ว กฎหมายกำหนดอย่างนี้อย่านึกว่าคนขับ หรือผู้ใช้รถใช้ถนนจะได้ประโยชน์...ตำรวจต่างหากที่ได้ประโยชน์ เพราะจะมีสักกี่ราย ที่ใช้ความเร็วตามกฎจราจร โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางด้วยรถยนต์ ไปต่างจังหวัดบ่อยๆ
ประโยชน์ของตำรวจก็อยู่ตรงกฎหมายนี่แหละ เอากล้องมาตั้งจับความเร็ว ถนนทุกสายที่เจอมาตรการนี้ วันๆหนึ่งกี่พันกี่หมื่นราย เงินส่วนหนึ่งเข้าหลวง ส่วนหนึ่งแบ่งให้ตำรวจเป็นโบนัส มันน่าเจ็บใจไหมล่ะ
ทั้งที่สภาพบ้านเมือง ถนนหนทางมันเปลี่ยนไปนานแล้ว เทคโนโลยีต่างๆ รถยนต์มีสมรรถนะเต็มร้อย แต่กฎหมายยังเป็นเต่า จะแก้แต่ละครั้ง ถ้าปรึกษาหรือขอความเห็นจากตำรวจ เขาก็ค้านให้ตกไป บอกว่าแบบเก่าดีแล้ว เพราะทั่วโลกก็ทำกัน พ.ร.บ.ทางหลวง ปี 2535 หรือกว่า 20 ปีมาแล้ว สมควรปรับปรุงกันได้หรือยัง
แต่ก่อนอาจจะจำเป็น ไม่มีใครเถียง เพราะถนนหนทางมันไม่อยู่ในสภาพ 8 เลน 12 เลน อย่างนี้ รถยนต์หรือก็ปรับแต่งพัฒนาจนถึงขั้นสูงสุด ทั้งเรื่องความปลอดภัย ประหยัดน้ำมันและสารพัด และเมื่อลองอ่านเทคนิคการขับรถอย่างไรให้ปลอดภัย ซึ่งเขามีถึง 20 ข้อ ไม่เคยเห็นข้อใดเลยที่บอกว่า ให้ผู้ขับขี่ขับรถช้าๆ แต่เขาบอกว่าให้ใช้ความเร็วตามความเหมาะสม นั่นก็หมายความว่า เร็วในที่ควรเร็ว ช้าในที่ควรช้า
แล้วทำไมต้อง 90 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
ใครเป็นคนกำหนด กำหนดตามคำแนะนำของตำรวจ หรือมีการวิเคราะห์ยอมรับกันแล้วว่า เป็นความเร็วที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย หากเป็นเช่นนี้ก็ควรจะชำระกฎหมายนี้กันใหม่ เอามันให้แน่ เพราะโลกเปลี่ยนไปถึงขนาดว่าในอีกไม่กี่ปี อาจจะไม่ใช้คนเป็นโชเฟอร์แล้ว ท่านจะดักดาน และใช้กฎหมายทำมาหารับทานกับประชาชนหรือ
ด้วยเหตุและผลทั้งหมดตามที่กล่าวมา การแก้ปัญหาระยะยาวในเรื่องจราจร ขอเริ่มจากในส่วนค่าปรับที่มีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ ให้กับเจ้าหน้าที่ ขอเสนอแก้ระเบียบ อย่าให้มีส่วนแบ่งค่าปรับ เหตุผลเพราะ ตำรวจกินเงินเดือน และมีสวัสดิการมากพออยู่แล้ว จะต้องมีแรงจูงใจเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ไปทำไม หากละเว้น หรือเลือกปฏิบัติ ก็มีระเบียบปฏิบัติให้อยู่ในกรอบ
การแก้ไขขั้นต่อไปคือ กำหนดอัตราความเร็วกันใหม่ ถนนสายไหนให้ความเร็วเท่าไหร่ โดยเฉพาะไฮเวย์ ต้องศึกษาถึงผลดีผลเสีย และความเป็นไปได้กันอย่างจริงจัง ตัวแทนอย่ามีเพียงตำรวจ กับผู้มีอำนาจเท่านั้น ต้องมีประชาชนคนใช้รถใช้ถนน หรือผู้เชี่ยวชาญกับการขับขี่ ซึ่งมีอยู่มากมาย ให้เขาร่วมตัดสินใจด้วย จะเอาไง คงแบบเดิมไว้ หรือขยับความเร็วขึ้นมาบ้าง เพื่อสอดคล้องกับความเป็นจริงเชื่อว่าที่สุดประชาชนจะยอมรับได้
ไหนๆ จะปฏิรูปประเทศกันแล้ว ก็ว่ามันไปทุกส่วนเลย เฉพาะกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการจราจรที่บังคับใช้กันอยู่ อย่ามองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หรือมีความจำเป็นท้ายๆ...มันจำเป็นเท่าๆ กันกับทุกๆ เรื่องแต่ถ้าจะจัดไว้รองจากเรื่องเร่งด่วนอื่นๆ ไม่ว่ากัน แต่ท่านต้องทำ เหตุผลเพราะกฎหมายมันไปเข้าทางตำรวจ เปิดโอกาสให้ตำรวจเอาไปหากิน
เป็นการหากินกับกฎหมาย ทั้งที่ไม่ควรมี และไม่ควรเกิดขึ้น ถือเป็นการ “ฉ้อราษฎร์”ขนานแท้ โดยอาศัยช่องทางของกฎหมาย ดังนั้นท่านทั้งหลายต้องตระหนัก
สุดท้ายที่อยากจะบอกให้สังคมทราบก็คือ ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ(ไทย) ที่ผ่านมา บรรดาเด็กเส้น และนักวิ่งทั้งหลายไปสุมหัวกันที่ไหนทราบไหม....โน่นกองบังคับการตำรวจทางหลวง นครปฐม สระบุรี สายอีสาน สายใต้ ว่ากันให้เหมาะ เพราะส่วยค่าปรับ ส่วยสติ๊กเกอร์ และส่วยอื่นๆ ยังคงมีอย่างหนาแน่น
ส่วนตำรวจท้องที่ ก็ขอเกาะตามถนนมิตรภาพ ถนนพหลโยธิน ถนนสายเอเชีย ถนนเพชรเกษม เอาเฉพาะสายหลัก เพื่อหารับประทานกับส่วยค่าปรับ ทราบมาว่าใครที่เกี่ยวข้องกับงานจราจร ถ้าไม่เส้นดี เส้นแข็ง หรือสามารถสนองนโยบายเจ้านายได้ ไม่มีวันมาลงตำแหน่งนี้.... น่าสมเพชไหมล่ะ !! ??