xs
xsm
sm
md
lg

แนะปรับค่าปรับทำผิดกฎจราจร จี้เพิ่มอุปกรณ์ไฮเทคตรวจจับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แก้ปัญหาอุบัติเหตุไทยตายสูง เหตุงบประมาณน้อย จี้เพิ่มอุปกรณ์ไฮเทคหนุนบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มการตรวจจับขับรถเร็ว เมาแล้วขับ แนะปรับปรุงค่าปรับให้เหมาะสม หลังพบค่าปรับครึ่งหนึ่งนำส่งท้องถิ่น ที่เหลือเป็นค่าตอบแทน ไม่มีการนำมาเป็นกองทุนพัฒนาซื้ออุปกรณ์

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดว่ามีอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ขณะที่ข้อมูลจากใบมรณบัตรสะท้อนว่าแต่ละปีมีคนตายจากอุบัติเหตุทางถนน 14,000 คน หรือ 38 คนต่อวัน โดยรัฐบาลก็ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่จะป้องกันและลดอุบัติเหตุ ส่วนการปฏิรูปในเรื่องนี้พบว่ายังมีปัญหา เพราะงบประมาณด้านความปลอดภัยทางจราจรไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหา คือมีผู้เสียชีวิตมากกว่าการตายจากอาชญกรรมและยาเสพติดถึง 4 เท่า แต่งบประมาณด้านป้องกันอุบัติเหตุและจราจร พบว่ามีเพียงร้อยละ 4 - 5 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเท่านั้น ทำให้ไม่มีงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมและซ่อมบำรุงได้เพียงพอ ซึ่งจำเป็นต้องมีแนวคิดในการปฏิรูปในส่วนของภารกิจด้านความปลอดภัยทางถนน

นพ.ธนะพงษ์​ กล่าวว่า สาเหตุหลักการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตคือพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ขับรถเร็ว ขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด ฝ่าสัญญาณ ดื่มแล้วขับ เมื่อบวกกับการไม่ใช่อุปกรณ์ป้องกันจึงทำให้เกิดความรุนแรง ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายและส่งเสริมวินัยควบคู่กัน ซึ่งจำเป็นต้องมีงบประมาณเพื่อหาเครื่องมือในการควบคุมกฎหมาย เช่น กล้องตรวจจับความเร็ว เครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เครื่องตรวจจับการฝ่าไฟสัญญาณไฟ เป็นต้น เพื่อให้ครอบคลุมทั้งเขตเมือง และจังหวัดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้ได้จากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กรมทางหลวง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น เมื่อเทียบกับ​หลายประเทศพบว่า มีอุปกรณ์เหล่านี้ติดรถเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคัน ซึ่งการที่​บุคลากรไม่สมดุลกับงานด้านจราจรและไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ ประกอบกับไม่มีเครื่องมือเทคโนโลยีที่ดีพอ ทำให้เมื่อเทียบการเรียกตรวจพบว่าประเทศไทยมีการเรียกตรวจด่านเมาแล้วขับเฉลี่ย 3 - 4 ครั้งต่อปี เมื่อเทียบกับรัฐวิกตอเรีย มีการเรียกตรวจ 3 ล้านครั้งต่อปี เนื่องจากมีการใช้อุปกรณ์มาช่วยอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้ ยังพบประเทศไทย​เงินค่าปรับร้อยละ 50 ต้องนำส่งท้องถิ่น ร้อยละ 45 เป็นค่าตอบแทน แต่ไม่สามารถนำมาเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาหรือซื้ออุปกรณ์เพื่อบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งได้ นอกจากนี้ ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 และกระบวนการบังคับใช้ให้ทันสมัยและคล่องตัวด้วย ซึ่งพบว่า พ.ร.บ.จราจรทางบก ใช้มาแล้ว 36 ปี จำเป็นต้องมีการปรับปรุงให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เช่น โทษเมาแล้วขับ จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเพียงพอ กฎหมายความเร็วเขตเมือง ที่ต้องควบคุมให้มากขึ้น และการปรับปรุงค่าปรับให้เหมาะสม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาเรื่องการกระทำความผิดซ้ำซ้อน การเพิ่มโทษตามลำดับชั้นความผิด ซึ่งต้องอาศัยเรื่องระบบข้อมูล จะทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายธนะพงษ์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น