xs
xsm
sm
md
lg

ปีใหม่2วันตาย128คน สั่งตรวจเข้มดื่มแล้วขับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศปถ. เผยสถิติอุบัติเหตุทางถนน 2 วัน รวม 1,133 ครั้ง ตาย 128 ราย บาดเจ็บ 1,158 คน สั่งการจังหวัด ปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุบัติเหตุและปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง คุมเข้มการดื่มแล้วขับ ขับรถ เน้นหนักดูแลถนนสายรอง เพชรบูรณ์ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ยอดตายสูงสุด

นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม แถลงสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ “มอบความสุขทั่วไทย สัญจรปีใหม่ ปลอดภัยทุกคน” เกิดอุบัติเหตุ 625 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 70 ราย ผู้บาดเจ็บ 641 คน

โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.92 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.40 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.80 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 63.04 บนถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.96 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 34.56 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 33.76 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 56.96

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,259 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,878 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 622,180 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 84,345 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 25,882 ราย ไม่มีใบขับขี่ 24,797 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (28 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ (5 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ (33 ครั้ง)

สำหรับสรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2 วัน (วันที่ 30 - 31 ธันวาคม 2557) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,133 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 128 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,158 คน จังหวัดที่ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ (อุบัติเหตุเป็นศูนย์) มี 2 จังหวัด ได้แก่ พังงา ระยอง จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 23 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 2 วัน มี 6 จังหวัดจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 49 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เพชรบูรณ์ สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ และ บุรีรัมย์ (จังหวัดละ 7 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 52 คน

นางกรรณิการ์ กล่าวอีกว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 2 วันที่ผ่านมา การเมาแล้วขับยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 39.54 ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการควบคุมการจำหน่าย การเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมถึงให้จุดตรวจ จุดสกัดในเส้นทางต่างๆ เข้มงวดกวดขันผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ โดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงโทษผู้กระทำผิดกรณีเมาแล้วขับ โดยให้กักขังแทนการจ่ายค่าปรับ เพื่อป้องปรามการกระทำผิด กรณีเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี กระทำผิดจากการดื่มแล้วขับ ให้บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด พร้อมให้ตรวจสอบสถานที่ ผู้จำหน่าย และผู้จัดงานที่อนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เยาวชน ให้พิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว ในระยะ 1 - 2 วันนี้ ให้ดูแลถนนสายรองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเส้นทางบริเวณแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ศาสนสถาน สถานสถานที่จัดงานรื่นเริง จุดตัดทางรถไฟ และจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เพื่อให้ประชาชนเดินทางอย่างสะดวกสบายและได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยทางขั้นสูงสุดในช่วงเทศกาลแห่งความสุขปีใหม่ 2558

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กว่าร้อยละ 56.96 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน จึงได้สั่งการจังหวัดให้กำชับจุดตรวจ จุกสกัดเข้มงวดตรวจตรารถจักรยานยนต์ รถกระบะที่บรรทุกผู้โดยสาร โดยกวดขันการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ประธานศูนย์ข้อมูลการสื่อสารเพื่อความปลอดภัย (ศสป.) กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับวันเดียวกันของเทศกาลปีใหม่ 2557 พบว่าผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น จึงต้องเร่งส่งสัญญาณไปยังพื้นที่ที่รับผิดชอบให้บังคับกฎหมายเข้มข้น เรียกตรวจคนดื่มแล้วขับ เพื่อสกัดกั้นก่อนเกิดอุบัติเหตุ และพบว่าอุบัติเหตุรายใหญ่ที่เกิดขึ้นและเสียชีวิตมาจากขับเร็วและไม่สวมหมวกนิรภัยและไม่คาดเข็มขัดนิรภัย แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเท่าที่ควร ดังนั้นจึงขอให้คนที่ขับรถ ผู้โดยสารทุกคนไม่ว่าจะนั่งหน้าหรือหลัง ขณะที่ผู้โดยสารรถขนาดใหญ่ที่มีเข็มขัดนิรภัยต้องคาดเข็มขัดตามกฎหมายบังคับ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท

ส่วนรถโดยสารสาธารณะทุกคันติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่งบน หากไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ผู้ประกอบการรถจะถูกปรับสูงสุด 50,000 บาทต่อคัน เพราะเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จำนวน 100 คน พบมีผู้รอดชีวิต เพราะคาดเข็มขัดนิรภัยถึง 34 ราย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่เดินทาง
กำลังโหลดความคิดเห็น