xs
xsm
sm
md
lg

ประเดิม7วันอันตราย วันแรกตาย58ศพ เหตุขับเร็ว-เมาแล้วขับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ประเดิมวันแรก 7 วันอันตราย ตายแล้ว 58 ศพ เหตุขับเร็ว เมาแล้วขับ เผยบุรีรัมย์ตายสูงสุด ส่วนเชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด เร่งคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยง บังคับใช้กฎหมายจราจรเข้ม เฝ้าระวังทั้งถนนสายหลัก สายรอง ขู่จัดหนักพวกเมาแล้วขับ ด้านประชาชนยังแห่กลับบ้าน ท่องเที่ยวฉลองปีใหม่คึกคัก "ประวิตร"สั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยง เน้นดูแลประชาชนและคุมเข้มพวกฉวยโอกาสขนยาเสพติด เผยกฎหมายจราจรใหม่บังคับใช้แล้ว หากไม่ยอมเป่าเท่ากับเมา

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 30 ธ.ค.2557 ซึ่งเป็นวันแรกของการเฝ้าระวัง 7 วันอันตราย พบว่า เกิดอุบัติเหตุ 508 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 58 ราย ผู้บาดเจ็บ 517 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 36.61 ขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 23.82 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.41 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 58.86 บนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 41.14 ถนน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ 30.31 โดยช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 34.84 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 51.83

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,243 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,505 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 531,490 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 76,168 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 22,874 ราย ไม่มีใบขับขี่ 22,314 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และสุราษฎร์ธานี 23 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ 6 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 23 คน

"ศปถ. ได้กำชับให้จังหวัดกวดขันและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชนบนถนนสายหลักและสายรอง ตั้งจุดตรวจบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ควบคู่การตั้งจุดบริการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ ทั้งการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ แซงในระยะกระชั้นชิด ขับรถย้อนศร และฝ่าฝืนสัญญาณจราจร โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รถกระบะ ซึ่งเป็นยานพาหนะที่มีสถิติอุบัติเหตุสูง พร้อมตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทให้มีมาตรฐานความปลอดภัย พนักงานขับรถมีระดับแอลกอฮอล์เป็นศูนย์ รวมถึงบังคับใช้กฎหมายควบคุมการเข้าถึงและการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนยานพาหนะและในขณะขับขี่หรือโดยสารรถอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ" นายอาคม กล่าว

***เฝ้าระวัง 2 วันเสี่ยงเต็มที่

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันแรกของการรณรงค์ พบว่า ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ โดยมีสาเหตุจากการดื่มแล้วขับมากที่สุด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนของช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา พบว่า วันที่ 31 ธ.ค. และวันที่ 1 ม.ค. ของทุกปี มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูง จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดคุมเข้มป้องกันอุบัติเหตุทางถนนและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังเส้นทางสายต่างๆ เน้นเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุ สถานบันเทิง สถานที่จัดงานรื่นเริง คุมเข้มการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย พร้อมควบคุมการเข้าถึง การดื่ม และการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เน้นหนักเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเป็นพิเศษ

***ขู่จัดหนักพวกเมาแล้วขับ

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า จากสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันแรก ยังคงเป็นเมาสุรา จึงจำเป็นที่ต้องมีมาตรการคุมเข้มสำหรับผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วย โดยคนดื่มแล้วขับและถูกตรวจพบว่ามีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะถูกดำเนินดีตามกฎหมายและควบคุมความประพฤติ โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 -20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถูกคุมประพฤติ ให้พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทำงานบริการสังคม ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บหรือได้รับอันตราย จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 20,000-40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัส จำคุก 2-6 ปี ปรับ 40,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งพักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี และทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

***เร่งกลับบ้านให้ทันฉลองปีใหม่

สำหรับบรรยากาศการเดินทาง วานนี้ (31 ธ.ค.) ยังคงคึกคัก โดยประชาชนยังคงเดินทางออกต่างจังหวัดเพื่อกลับบ้านและท่องเที่ยว มีเป้าหมายเพื่อให้ทันฉลองวันสิ้นปีในคืนวันที่ 31 ธ.ค. ทำให้การจราจรขาออกจากกรุงเทพฯ บนถนนสายเอเชีย และถนนพลโยธินมุ่งสู่มิตรภาพ รถยังคงหนาแน่น และติดขัดเป็นช่วงๆ เนื่องจากบางช่วงเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน
ขณะที่การเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ ทั้งที่หัวลำโพง และสถานีขนส่งหมอชิต ยังคงมีประชาชนเดินทางมาซื้อตั๋วโดยสารเพื่อเดินทางออกจากกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

***นักท่องเที่ยวแห่ขึ้นดอยสุเทพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวไทยที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ หลั่งไหลขึ้นไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บนวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพเชียงใหม่ พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ที่ถือเป็นพระธาตุประจำปีนักษัตรปีแพะ อย่างเนืองแน่นหลายหมื่นคนจนเต็มลานวัด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องจัดคิวให้เข้ากราบไหว้ เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ

***คนมาเลย์แห่ร่วมเคานต์ดาวน์หาดใหญ่

สำหรับบรรยากาศการท่องเที่ยวที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คึกคัก กรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเหมารถไฟลังกาวีเดินทางเข้ามาร่วมงานเคานต์ดาวน์ ซึ่งจัดขึ้นพร้อมๆ กันถึง 3 งาน ขณะที่โรงแรมและรีสอร์ตในเมืองหาดใหญ่เกือบ 15,000 ห้อง ถูกจองเต็มทั้งหมด คาดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท

***"ประวิตร"สั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยง

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการดูแลสถานการณ์ช่วงเทศกาลปีใหม่ว่า ได้ใช้กำลังพลจากทุกส่วนดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่ที่้ต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยใช้มาตรการเฝ้าระวังป้องกันการเกิดเหตุมากกว่าการเพิ่มกำลังปราบปราม พร้อมกำชับทุกหน่วยงานด้านความมั่นคง ตั้งจุดให้บริการประชาชนทุกเส้นทาง ขณะเดียวกันพื้นที่ตามแนวชายแดนทั้งจุดผ่านแดน และพื้นที่รอบหน่วยทหาร ต้องเพิ่มความระมัดระวังการลักลอบขนยาเสพติดด้วย

***ไม่ยอมเป่าเท่ากับเมาบังคับใช้แล้ว

พ.ต.อ.ภูษิต วิเศษคามินทร์ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.2557 ได้มีการประกาศแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2557 โดยมีสาระสำคัญที่จะทำให้การบังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันอุบัติเหตุกรณีผู้ที่เมาสุราแล้วขับรถ คือ ในมาตรา 142 ระบุให้เจ้าพนักงานจราจร หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ และสั่งให้ทดสอบผู้ขับขี่ว่าหย่อนความสามารถที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่ กรณีที่ผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบให้เจ้าพนักงานจราจรพนักงานสอบสวนมีอำนาจกักตัวไว้ดำเนินการทดสอบภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็น เพื่อให้ทำการทดสอบ หากผู้นั้นไม่ยินยอมให้ทดสอบให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนขับขี่รถขณะเมาสุรา

"ที่ผ่านมา ในการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์ จะมีผู้ที่ไม่ยินยอมทำการทดสอบแต่โดยดี ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำงานลำบากมากขึ้น ในการที่จะต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อส่งฟ้องดำเนินคดีกับผู้ขับขี่ที่ไม่ยอมเป่าทดสอบ และบางรายอาจใช้เป็นช่องทางที่จะหลบเลี่ยงการรับโทษเมา โดยยอมเสียค่าปรับในข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานที่มีโทษน้อยกว่า คือมีเพียงโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาทแทน"พ.ต.อ.ภูษิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น