xs
xsm
sm
md
lg

“จ่าเฉยอัจฉริยะ” พร้อมออกใบสั่งออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จ่าเฉย พร้อมออกใบสั่งออนไลน์
สกว.ร่วมกับ บก.จร.แถลงผลงานวิจัยและส่งมอบระบบจ่าเฉยอัจริยะพร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติให้ บก.จร. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการเพิ่มวินัยจราจรภาคประชาชน นำร่องใช้ที่ สน.สุทธิสาร ดีเดย์จับจริง เม.ย.นี้

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานร่วมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 24 มี.ค.58 และส่งมอบงานวิจัยในโครงการ “ระบบจ่าเฉยอัจฉริยะพร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ” ให้กับกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) โดย พล.ต.ต.อภิสิทธิ์ เมืองเกษม ผู้บังคับการตำรวจจราจร ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว. และ บก.จร.

ดร.วรลักษณ์ บุษยรัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย สังกัดมหาวิทยาลัยนเรศวร และ ผศ.ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บรรยายสรุปและสาธิตการทำงานของ “ระบบจ่าเฉยอัจฉริยะพร้อมระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ” ว่า แบ่งการทำงานหลักเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ระบบวิเคราะห์รายละเอียดของรถยนต์ที่กระทำความผิดกฎจราจรโดยอัตโนมัติ และระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ โดยระบบวิเคราะห์รายละเอียดฯ จะทำการรับภาพข้อมูลการกระทำผิดกฎจราจรจากระบบ Police Eyes ซึ่งจะตรวจจับยานพาหนะที่เคลื่อนที่ทับเส้นทึบโดยอัตโนมัติ และบันทึกภาพถ่ายความละเอียดสูงพร้อมคลิปวิดีโอเพื่อให้ตำรวจสามารถอ่านป้ายทะเบียนของยานพาหนะแต่ละคันได้

ภาพดังกล่าวจะถูกใช้เป็นข้อมูลนำเข้าของระบบวิเคราะห์รายละเอียดของรถยนต์ที่กระทำผิด จากนั้นผลลัพธ์ที่ได้จะถูกส่งต่อไปให้ระบบออกใบสั่งอัตโนมัติเพื่อทำการสร้างใบสั่ง และรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบความถูกต้องก่อนออกใบสั่ง จึงถือว่าเป็นไปในรูปแบบระบบการตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางจราจรในเขตห้าม (เส้นทึบ)
สำหรับระบบวิเคราะห์รายละเอียดประกอบด้วย

1.ระบบอ่านป้ายทะเบียนรถ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนกระบวนการค้นหาตำแหน่งของป้ายทะเบียนรถบนภาพ ส่วนกระบวนการค้นหาตำแหน่งของตัวอักษรและตัวเลขบนภาพป้ายทะเบียนรถ และส่วนกระบวนการเรียนรู้และจดจำตัวอักษรและตัวเลขของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสามารถอ่านเลขป้ายทะเบียนรถและจังหวัด

2.ระบบอ่านยี่ห้อรถ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกระบวนการหาตำแหน่งของยี่ห้อรถ และส่วนกระบวนการบอกยี่ห้อของรถ ซึ่งจากการศึกษายี่ห้อรถยนต์ในประเทศไทยพบว่ามีอยู่ประมาณ 15 ยี่ห้อ และแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยใช้รูปร่างของยี่ห้อเป็นเกณฑ์ในการแบ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการอ่าน

3.ระบบอ่านประเภทรถ โดยใช้เทคนิคการหาลักษณะเด่นซึ่งอาศัยความถี่ของทิศทางตามค่าเกรเดียนท์ภายในภาพ เพื่อจำแนกรถแต่ละประเภท แบ่งเป็น เก๋งสองตอน เก๋งสองตอนแวน รถกระบะบรรทุก รถตู้นั่งสี่ตอน รถบรรทุก รถโดยสาร และรถจักรยานยนต์

4.ระบบแยกแยะสีรถ รวม 12 สี คือ แดง ส้ม น้ำตาล เหลือง เขียว น้ำเงิน ม่วง ชมพู ขาว ดำ เทา และหลายสี
ส่วนระบบออกใบสั่งอัตโนมัติประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ระบบประมวลผลภาพ และระบบออกใบสั่งอัตโนมัติ โดยที่ระบบออกใบสั่งอัตโนมัติจะสามารถรับข้อมูลภาพจากระบบตรวจจับอัตโนมัติอื่นๆ ได้เช่นกัน โดยทีมวิจัยได้พัฒนาส่วนติดต่อสำหรับระบบตรวจจับการขับรถแทรกคอสะพานโดยอัตโนมัติ ซึ่งใช้ข้อมูลนำเข้าเป็นภาพถ่ายความละเอียดสูงและภาพเคลื่อนไหวของยานพาหนะที่กำลังฝ่าฝืนกฎจราจร จากนั้นนำข้อมูลไปค้นหาในฐานข้อมูลทะเบียนรถที่กองบังคับการตำรวจจราจรมีอยู่เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับรถ เช่น สี ประเภท ยี่ห้อ ข้อมูลเจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง และที่อยู่ของผู้ครอบครองรถเพื่อส่งใบสั่ง เป็นต้น เมื่อผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรทำการชำระค่าปรับจะถูกขอความร่วมมือในการให้เหตุผลของการฝ่าฝืนกฎจราจร ซึ่งภายหลังจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลทางสถิติที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุที่เป็นไปได้ในการบังคับใช้กฎจราจร ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนสามารถเข้าไปดูการกระทำผิดย้อนหลังในเว็บได้

“จากความร่วมมือของ สกว. และ บก.จร. ในการดำเนินการทดสอบระบบตรวจจับผู้ฝ่าฝืนเปลี่ยนช่องทางจราจรในเขตห้าม (เส้นทึบ) นี้ เป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยใช้ระยะเวลาในการออกใบสั่งไม่เกิน 1 นาที จากระบบเดิมที่ใช้เวลาประมาณ 5 นาที และยังสามารถลดการใช้กำลังพลในการบังคับใช้กฎหมาย โดยระบบตรวจจับนี้จะช่วยสร้างระเบียบวินัยจราจรแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนยิ่งขึ้น ขณะนี้ได้นำร่องใช้ที่ สน.สุทธิสาร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้งานจริงภายในเดือนเมษายนนี้ อีกทั้งงานวิจัยดังกล่าวยังสามารถรองรับการตรวจจับการกระทำผิดกฎจราจรอัตโนมัติอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด จอดรถในที่ห้ามจอด ขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น” ผู้บังคับการตำรวจจราจรกล่าว
พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)



























*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น