xs
xsm
sm
md
lg

สปช.ถกปฏิรูปวิทย์แนะคำนึงถึงศักยภาพงานวิจัยในองค์กรข้ามกระทรวง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปช.ถกแนวปฏิรูปวิทยาศาสตร์กระตุ้นปัญหาสร้างพื้นฐานประเทศ สมาชิกแนะปลูกฝังเด็กไทยเลือกเรียนสายวิทย์ แทนมุ่งเป็นดารา และคำนึงถึงศักยภาพงานวิจัยที่มีอยู่แล้วในหลายองค์กรแม้อยู่คนละกระทรวง พร้อมแนะสร้างนวัตกรรมยาซึ่งเป็นที่ต้องการและมีราคาแพง

ผ้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้มีการพิจารณา รายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง วาระการขับเคลื่อนของสภาปฏิรูปแห่งชาติ : ระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพคน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และปัญญาของประเทศ วาระที่ 20 ระบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของประเทศ วาระที่ 21 ระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ ในระยะที่ 1 การกำหนดกรอบหลักการปฏิบัติ โดยนายศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธาน กรรมาธิการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ฯ รายงานข้อเสนอของ กรรมาธิการปฏิรูปวิทยาสตร์ฯ ว่า จำแนกเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 คือ การปฏิรูประบบวิจัยเพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาของประเทศ จะต้องเพิ่มการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ เพิ่มช่องทางเข้าถึงงานวิจัย รวมถึงเพิ่มจำนวนนักวิจัยในเชิงปริมาณและคุณภาพ ฉะนั้นจะต้องจัดตั้งสถาบันวิจัยชั้นสูงด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เพื่อพัฒนา ให้ประเทศมีความเข้มแข้งในวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.)
 
ส่วนที่ 2 การปฏิรูประบบ วทน.เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรมของประเทศ  โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมรรถนะและขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นจะต้องปฏิรูปโครงสร้างและการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงกันหน่วยงานนโยบายของรัฐที่ขึ้นตรงต่อผู้นำประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำประเทศในการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนา วทน. ที่เกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายดังกล่าวอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ฯ ได้จำแนกการปฏิรูประบบ วทน.เป็น 4 ด้าน คือ 1.การเกษตร 2.เสริมชุมชนเข้มแข็ง 3.อุตสาหกรรม และ 4.การแพทย์และสุขภาพ

ทั้งนี้ การอภิปรายของสมาชิก สปช.มีข้อเสนอที่น่าสนใจ อาทิ พล.ร.อ.ศุภกร บูรณดิลก กล่าวว่า  ประเทศไทยมีองค์กรในการวิจัยพัฒนาสม่ำเสมออยู่แล้ว เช่น การวิจัยยานยนต์ เรือ ยานใต้น้ำ และเครื่องบินไร้คนขับ ฯลฯ ซึ่งสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตโดยการร่วมมือกับภาคเอกชน แม้จะเป็นหน่วยงานที่อยู่ในกำกับของกระทรวงกลาโหม ก็อยากให้ กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ฯ คำนึงถึงศักยภาพที่มีอยู่ แล้วนำไปพัฒนาศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ กล่าวว่า สาระสำคัญที่ กมธ.ปฏิรูปวิทยาศาสตร์ฯ ยังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องสิทธิ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการสร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งนี้ในทางปฏิบัติขั้นตอนยังมีความล่าช้า เช่น การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อผู้สร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างไรก็ตามจะต้องพัฒนาระบบพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาทั้งภายในและภายนอกประเทศควบคู่กัน เพราะมีหลายกรณีที่ทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ ถูกละเมิดในต่างประเทศ นอกจากนั้นแล้วจะต้องส่งเสริมให้ภาครัฐ โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง มุ่งเน้นให้ใช้นวัตกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนในประเทศ
 
พญ.พรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ กล่าวว่า นวัตกรรมยาที่จะขยายไปในทางพาณิชย์ ซึ่งไม่สามารถพัฒนาสูตรยา เพียงแต่ไปซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศเข้ามาผลิตในประเทศไทย ฉะนั้นหากจะลงทุนจะต้องเลือกผลิตยาราคาแพงหรือยาที่มีความต้องการสูง เช่น แอนตี้-เอชไอวีเป็นต้น นอกจากนั้นจะต้องพัฒนานวัตกรรมในการป้องกันโรคติดต่อ เช่น วัคซีน ที่จะต้องสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาชิกได้ลุกขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง ขณะที่สมาชิกเห็นว่าควรจะการปลูกฝังให้เด็กเลือกเรียนสายวิทย์เพื่อที่จะได้สร้างแนวคิดในเชิงหลักการเหตุผลและเป็นการสรางนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยให้มากขึ้น ไม่ใช่มุ่งแต่อยากเป็นนักร้องนักแสดงที่มีอยู่เต็มไปหมด






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น