กลายเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาหลายกรณีกับกลุ่มผู้แอบอ้างลิขสิทธิ์เพื่อรีดไถเงิน ไม่ว่าจะจากพ่อค้าแม่ขายตามตลาดนัด จากร้านเกมรายเล็กรายย่อย จนถึงร้านอาหารที่เปิดเพลงต่างๆ
เรื่องราวการถูกรีดไถเอาเปรียบถูกบอกเล่าผ่านโลกออนไลน์มากมายหลายกรณี กลายเป็นข้อถกเถียงด้านหนึ่งก็มีกลุ่มมิจฉาชีพในคราบผู้ปกป้องลิขสิทธิ์ที่เรียกรับเงินจากเหยื่อ แต่อีกด้านหนึ่งผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในสังคมไทยก็มีอยู่มากจนยากจะหาทางแก้ไข
ล่าสุดกรณีจับพ่อค้าแม่ค้าขายไก่ทอดโดนอ้างว่าเหมือนกับเคเอฟซี โดยทางต้นเรื่องเบื้องหลังอย่าง ยัม เรสเทอรองตส์ เจ้าของ เคเอฟซี ไม่ได้รู้เห็นเรื่องดังกล่าวก็ยิ่งเป็นประเด็นชวนหวาดหวั่นให้แก่สังคมที่ว่า โจรผู้หากินกับลิขสิทธิ์ดูจะเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
มหากาพย์แก๊งโจรลิขสิทธิ์
ประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดจากหลายปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์มากมายมหาศาล จากสินค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่วางขายกันตามตลาดนัด จนถึงสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งหนัง เพลง จนถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ
ดังนั้นการปราบปรามผู้ค้าที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์จึงเป็นหนทางหนึ่งในการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น ทว่าอีกด้านหนึ่งก็มีกลุ่มคนหนึ่งที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์หากินด้วยการเรียกค่าไถ่ซึ่งหลายกรณีนั้นก็มีทั้งที่สมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ และดำเนินการในลักษณะเป็นแก๊งหลอกลวงต้มตุ๋น
ที่ผ่านมาประเด็นของกลุ่มคนที่หากินกับลิขสิทธิ์อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีการโพสต์เป็นคลิปเผยแพร่อยู่หลายกรณีด้วยกันโดยมักจะใช้วิธีการข่มขู่เจ้าของกิจการด้วยโทษปรับและจำคุก พร้อมอ้างว่าเป็นตัวแทนของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ ทั้งนี้วิธีการเรียกค่าลิขสิทธิ์ก็ยังมีวิธีที่แตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะของเหยื่อ
โดยกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อนั้นก็มีตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าของที่ขายตามตลาดนัดก็มักจะเป็นของที่ไม่มีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว จึงมักตกเป็นเหยื่อของผู้แอบอ้างได้ง่าย โดยคนเหล่านี้จะเรียกเงินสูงถึง 50,000 บาท เพื่อให้ต่อรองลงมาเหลือ 10,000 บาท ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมาย และเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มหากินลิขสิทธิ์กับโดราเอมอนก็กลับมาอีกครั้ง ซึ่งเหล่านี้หากจะดำเนินการตามกฎหมายถูกต้องจำเป็นต้องมีใบมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และหมายศาลที่ไม่ใช่แค่บันทึกประจำวันจากตำรวจเท่านั้น เมื่อขึ้นศาลตัดสินหากเป็นผู้ค้ารายย่อยก็มักจะมีการตัดสินปรับเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่ามากเพราะหากเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จริงมักจะดำเนินการกับผู้ปลอมสินค้ารายใหญ่ที่เป็นผู้ผลิตสินค้าในลักษณะอุตสาหกรรมเสียมากกว่า
อีกกลุ่มที่มักตกเป็นเหยื่อคือร้านคอมพิวเตอร์ที่มักจะมีการทำทีเป็นเข้ามาดาวน์โหลดโปรแกรมต่างๆ หรือเปิดเพลงฟังแล้วแจ้งว่ามีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้น โดยอาจจะมีกระบวนการถึงขั้นขนคอมพิวเตอร์ออกไปซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย
ประกาศิต สุทธิกุล นักวิชาการพาณิชย์ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการป้องปราม สำนักงานป้องปรามการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พี่น้องประชาชนที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าทางทรัพย์สินทางปัญญาควรมีความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งแนวทางการป้องกันผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หาผลประโยชน์ การตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อป้องกันการแอบอ้าง ในการปฏิบัติการทุกครั้ง เจ้าหน้าที่จะต้องแสดงหมายค้นที่อนุมัติโดยศาลจังหวัด ผู้ประกอบการควรตรวจสอบความถูกต้องของหมายค้นให้ละเอียด ต้องมาพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่มีชื่อระบุในหมายค้น ผู้ประกอบการสามารถอนุญาตให้เฉพาะคนที่มีชื่อในหมายค้นเข้าตรวจสอบภายในร้าน ผู้ที่ไม่ปรากฏชื่อในหมายค้นไม่ควรให้เข้าไป ต้องมีช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์มาด้วย หากพบการกระทำผิด จะไม่มีการยกเครื่องใดๆ ทั้งสิ้น แต่จะอายัดไว้ในที่เกิดเหตุ ตามแบบสากล และไม่มีการเรียกร้องขอเงิน เพื่อให้ยอมความในชั้นตำรวจ
แต่สำหรับแก๊งค์มิจฉาชีพจับลิขสิทธิ์นั้นจะไม่มีหมายค้นจากศาลฯ มักจะนำใบบันทึกประจำวันมาแอบอ้าง ขอให้ผู้ประกอบการและผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ ที่มีความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ จงปฏิเสธการตรวจจับเมื่อไม่มีหมายค้น
อย่างไรก็ตาม การละเมิดลิขสิทธิ์นั้นสามารถที่จะยอมความได้ แต่ต้องยึดหลักความถูกต้อง หากมีการเรียกค่าปรับมากเกินเหตุ เพื่อเป็นข้อต่อรองมิให้ดำเนินคดี เบื้องต้นควรยื่นขอประกันตัวออกมาเสียก่อน แล้วให้ผู้พิพากษาตัดสินในชั้นศาล อย่าไปยอมความอย่างเด็ดขาด
อาจบอกได้ว่าหากใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายมิจฉาชีพที่หากินกับค่าลิขสิทธิ์ก็คงไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก ที่ผ่านมาในโลกออนไลน์มีการโพสต์คลิปในลักษณะแฉผู้อ้างตัวจับลิขสิทธิ์โดยมีหลักฐานในการเข้าดำเนินการไม่ครบถ้วนอยู่หลายกรณีด้วยกัน แต่ในมุมกลับก็มีบางกรณีที่เรื่องราวกลับเป็นการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่เองในการตรวจจับปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้น
เคยมีกรณีคลิปที่ระบุว่าเป็นการจับลิขสิทธิ์ตลาดนัดสุวรรณภูมิกอง 3 สาธรซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)ว่า เหตุดังกล่าวเป็นการเข้าจับกุมผู้ค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าซึ่งเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้ร้องเรียนเข้ามา กรณีดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นต้องใช้หมายค้นเนื่องจากเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า ไม่ใช่การรีดไถแต่อย่างใด
รู้ไว้กันภัย
หลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทยกลายเป็นบทเรียนที่ผู้ประกอบอาจต้องมีความรู้ไว้เพื่อป้องกันตัวเอง หากทำถูกกฎหมายก็ไม่ต้องกลัวอะไร ดังนั้น หากมีมิจฉาชีพสวมรอยหาผลประโยชน์ ผู้ประกอบควรตั้งข้อสงสัยไว้ก่อน พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานบริหารหลักสูตรอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยบริหารธุรกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีการรีดไถค่าลิขสิทธิ์ว่า ผู้ประกอบการทั้งหลายตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนเบื้องต้น จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ส่วนวิธีการแยกแยะที่สามารถทำได้คือการขอร้องให้แสดงหลักฐานที่ชัดเจน
“ขอดูบัตรเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถามให้รู้ว่าเป็นตำรวจสังกัดหน่วยไหน ขอติดต่อผู้บังคับบัญชาของคุณหน่อย หรือขอเบอร์โทร.ไปถามที่ออฟฟิศเลยก็ได้ครับ จะได้รู้ว่าเป็นตำรวจจริงมั้ย หรือขอคุยกับตำรวจในพื้นที่ก็ได้ ให้มาช่วยตรวจสอบว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบกลุ่มนี้เป็นตำรวจจริง อันนี้เป็นหลักการตรวจสอบเบื้องต้นได้ ก็ต้องเห็นใจผู้ค้าครับ จะได้รู้สึกสะดวกใจ
“ขั้นที่สองคือ ต้องคอยดูว่าตำรวจมีสิทธิในการจับกุมผู้ละเมิดมากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องใช้ดุลยพินิจในการตัดสินเพราะแต่ละสถานการณ์ก็มีปัญหาเฉพาะหน้าให้แก้ไขแตกต่างกันไป แต่เชื่อแน่ว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ที่มีความโปร่งใสจะไม่ขอเข้าตรวจจับมั่วๆ อย่างน้อยก็ต้องแน่ใจและมีหลักฐานมาก่อนระดับหนึ่ง”
โดยในส่วนเรื่องพฤติกรรมการรีดไถที่บางครั้งมิจฉาชีพมีการสมรู้ร่วมคิดกับเจ้าหน้าที่ หรือบางครั้งก็เป็นเจ้าหน้าที่เสียเองนั้น เขายอมรับว่าอาจมีจริงในสังคมเพราะเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ไม่ใช่แค่เฉพาะตำรวจ ย่อมมีทั้งซื่อสัตย์และคดโกง หากบ้านเมืองเราเจริญขึ้น สามารถลงทุนกับเรื่องเทคโนโลยีได้มากขึ้น ปัญหานี้ก็คงลดน้อยลงไปในอนาคต
“ในต่างประเทศเขาแก้ปัญหาด้วยการเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา มีกล้องทั่วเมืองเลยครับ 4-5 ล้านตัว คนคนนึงถูกจับภาพโดยเฉลี่ย 300 ภาพต่อวัน ทุกความเคลื่อนไหวจะถูกรัฐจับตามองหมด ถ้าบ้านเรามีการลงทุนกับเทคโนโลยีได้ถึงตรงนั้น ก็อาจจะช่วยตอบได้ครับว่าเจ้าหน้าที่ไปจับกุมด้วยเรื่องอะไรและมีหลักฐานอะไร ช่วยให้อะไรๆ โปร่งใสมากขึ้นแต่ในเมื่อเป็นแบบนี้ เราก็ต้องพัฒนาที่ตัวบุคคล พัฒนาความเป็นมืออาชีพของเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น ให้สามารถตอบข้อสงสัยของชาวบ้านได้”
สินค้าละเมิดยังเกลื่อนเมือง
สถานการณ์ด้านลิขสิทธิ์ในประเทศไทยนั้น นอกจากกลุ่มคนที่แสวงหาประโยชน์จากการรีดไถค่าลิขสิทธิ์แล้ว อีกมุมหนึ่งการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยังมีอยู่มากจนน่าเป็นห่วง แหล่งข่าวด้านทรัพย์สินทางปัญญา(ขอสงวนชื่อและนามสกุล) เผยถึงการรตรวจค้นสินค้าที่ทำผิดเกี่ยวกับททรัพย์สินทางปัญหานั้นมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่ต่างก็มีการบังคับใช้ที่แตกต่างกัน และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป
“ก่อนอื่นเลย เวลาไปจับทรัยพ์สินทางปัญญาทั้งหลายทั้งปวงมันต้องมีเจ้าหน้าที่ไปมั้ย ซึ่งหลักๆแล้วจะมี 4 หน่วยงานด้วยกันที่มีอำนาจเข้าไปจัดการ คือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ศุลกากรและเจ้าหน้าที่สรรพสามิต”
การลงพื้นที่จับกุมพ่อค้าแม่ขายจึงอาจมีการปฏิบัติที่แตกต่างจากการทำฐานการดำเนินการที่แตกต่างกัน
“ต้องดูตามแต่กรณี แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้แอบอ้าง ผู้ค้ารู้อยู่ว่าใครเป็นใคร ไม่ใช่ว่าจะจับง่ายๆ หลายพื้นที่ก็ไม่ได้โอเค เจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจไปร้องทุกข์เอาตำรวจจับมั้ย จับแล้วยอมความก็ได้ ถ้าทำไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ฟ้องอยู่แล้ว ไปสู้คดีกันซึ่งสุดท้ายแล้วถ้าแอบอ้างมา ไม่ใช่ตัวจริงก็กระเจิงหมด”
การจะลงพื้นที่จับกุมของเจ้าหน้าที่ เขาเผยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการรวมรวบหลักฐานอย่างรัดกุมแล้ว เพราะการขอกำลังลงพื้นที่เป็นเรื่องที่มีความยุ่งยาก ต้องมีระเบียบบังคับใช้กฎหมาย ท้ายที่สุดแล้วหากใช้ในทางมิชอบก็มีสิทธิ์ถูกจัดการฟ้องร้องกลับได้
“ส่วนใหญ่ตำรวจต้องดูหลักฐานละเอียดไม่ใช่จะขอกำลังกันง่ายๆ มันก็ต้องมีระเบียบเพราะการบังคับใช้กฎหมายถ้าบังคับใช้ไม่ชอบก็จะโดนดำเนินคดีกลับกฎหมายมันเป็นดาบสองคม คุณไปฟันเขา ไม่ถูกต้องมันก็กลับมาหาคุณ การบังคับใช้กฎหมายเหมือนเป็นดาบสองคม ฉะนั้น คือต้องทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายให้อำนาจ”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754