โค้งสุดท้ายสงกรานต์ สถิติ 6 วันเกิดอุบัติเหตุ 2,915 ครั้ง ตาย 306 ราย เจ็บ 3,070 คน “สุรินทร์” พลิกขึ้นแท่นเจ็บตายสูงสุด กำชับจังหวัดเข้มความปลอดภัยถนนสายหลัก เน้นเส้นทางตรง หลังพบเกิดเหตุมากที่สุด ควบคู่ดูแลความปลอดภัยพื้นที่เล่นน้ำ
วันนี้ (15 เม.ย.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงข่าวสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ในช่วง 7 วันอันตราย โดย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน กล่าวว่า วันที่ 14 เม.ย. เกิดอุบัติเหตุ 509 ครั้ง เสียชีวิต 55 ราย บาดเจ็บ 538 คน สาเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุราและขับรถเร็วเกินกำหนด รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จากการไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนใหญ่เกิดบนทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.01 - 20.00 น. มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 129,634 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 38,147 ราย ไม่มีใบขับขี่ 35,376 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก จำนวน 24 ครั้ง สุรินทร์เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุดคือ 6 ราย และสุรินทร์ 31 รายตามลำดับ
นายสุธี กล่าวว่า สำหรับอุบัติเหตุรวม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 2,915 ครั้ง เสียชีวิตรวม 306 ราย บาดเจ็บรวม 3,070 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง บึงกาฬ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 6 วัน มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก และสุรินทร์ จังหวัด 109 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 15 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 124 ครั้ง
“วันที่ 15 เม.ย.เป็นวันหยุดวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและการท่องเที่ยว ทำให้การจราจรบนเส้นทางสายหลักมีปริมาณรถหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้เน้นย้ำให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน มุ่งเน้นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการบริหารจัดการจราจรให้มีความคล่องตัว ควบคู่กับการประสานตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร จัดกำลังเจ้าหน้าที่เสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของด่านตรวจชุมชน รวมถึงเตรียมพร้อมให้บริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทั้งรถโดยสาร รถไฟ และเที่ยวบิน ซึ่งกำชับให้กวดขันความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะและรถรับจ้างไม่ประจำทางทุกประเภท ระดับแอลกอฮอล์ต้องเป็น “ ศูนย์” สภาพรถและอุปกรณ์ส่วนควบต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย” รมช.มหาดไทย กล่าว
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำชับให้ทุกภาคส่วนสร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างพอเพียง ส่วนจังหวัดที่ยังมีการเล่นน้ำให้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันอุบัติภัยจากการเล่นน้ำที่ก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุ ที่สำคัญ ขอให้นำบทเรียนแห่งความสำเร็จและจุดบกพร่องจากการดำเนินงานลดอุบัติเหตุในครั้งนี้มาปรับปรุงและพัฒนาทั้งในช่วงปกติและเทศกาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนที่มีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียได้มากที่สุด
นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กว่าร้อยละ 58 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ศปถ. จึงเน้นย้ำให้จังหวัดประสานอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้กลไกของชุมชน คนใกล้ตัวและครอบครัวในการตักเตือนผู้ขับขี่เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย นอกจากนี้ ให้จังหวัดใหญ่และจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครปรับแผนรองรับการเดินทางกลับของประชาชน ทั้งการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจในการดูแลเส้นทางสายหลัก เพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจและตรวจจับการกระทำความผิดกฎหมายจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปโดยสวัสดิภาพ
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า กว่าร้อยละ 60 เกิดบนเส้นทางตรง และอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดบนถนนทางหลวง ศปถ. จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความถี่ในการตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลักให้เหมาะและสอดคล้องกับปริมาณการจราจร โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว ให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนประสานการปฏิบัติดูแลความปลอดภัยในการเดินทางกลับของประชาชน พร้อมกวดขันการใช้ความเร็วและการดื่มแล้วขับ นอกจากนี้การเล่นน้ำและการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสงกรานต์หลายวันอาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดความอ่อนล้าได้ง่าย จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ทำให้ปริมาณรถมีจำนวนมากส่งผลให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มระยะเวลาในการขับรถยาวนานขึ้น ทำให้อ่อนเพลียและเมื่อยล้าได้ จึงขอให้เพิ่มความระมัดระวังจากการง่วงหลับใน เนื่องจากสภาพที่ร่างกายอ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อุบัติเหตุทางถนนได้ หากท่านมีอาการหาวบ่อย ใจลอย ไม่มีสมาธิ รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาเมื่อ 2 - 3 กิโลเมตร ที่ผ่านมา หรือ รู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ มองภาพไม่ชัด ขับรถส่ายไปมาออกนอกเส้นทาง มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร นั่นคือ สัญญาณเตือนว่ามีอาการ “ง่วง” ควรหยุดแวะพักอย่าฝืน ควรจอดรถเพื่องีบหลับก่อนขับต่อ หรือสลับให้ผู้อื่นขับแทน จะทำให้มีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่