xs
xsm
sm
md
lg

สงกรานต์รวมสี่วัน ตาย 191 ราย-มอเตอร์ไซค์ประสบอุบัติเหตุสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สงกรานต์ 4 วัน ตาย 191 ราย จากอุบัติเหตุรวม 1,753 ครั้ง เจ็บรวม 1,808 ราย เมาแล้วขับ ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ รองลงมาขับรถเร็วเมาจากขี่รถมอเตอร์ไซค์ประสบเหตุสูงสุดถึง 83.33% ขณะที่จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ ได้แก่ สมุทรปราการ และ หนองคาย ส่วนเจ็บสะสมได้แก่ เชียงใหม่ 66 ครั้ง และที่ตายสะสม คือ ร้อยเอ็ด 9 ราย ด้าน ปลัด มท. สั่งปรับแผนรับมือประชาชน ที่อาจเริ่มทยอยเดินทางกลับพรุ่งนี้ กำชับเข้มงวดดูแลการเดิน - เล่นน้ำทั้งเส้นทางสายหลัก สายรอง

วันนี้ (13 เม.ย.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศการสงกรานต์ พ.ศ. 2558 โดย ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธาน กล่าวว่า วันที่ 12 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “สติ วินัย น้ำใจ ปลอดภัยสงกรานต์ สืบสานประเพณี” โดยจากสถิติพบว่า เกิดอุบัติเหตุ 520 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 70 ราย ผู้บาดเจ็บ 527 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 41.92 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยล่ะ 21.73 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.33 โดยมีพฤติกรรมเสี่ยงจากการไม่สวมหวมกนิรภัย ร้อยละ 31.66 ส่วนใหญ่เกิดบนทางตรง ร้อยละ 60.77 ถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.62 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.15 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 30.58 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 57.11 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,239 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,261 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 660,220 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรการ 1ร. 2ส. 3ข. 4ม. รวม 112,674 ราย โดยมีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 31,991 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,892 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ (22 ครั้ง) จังหวัดที่ผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ และ สุรินทร์ จังหวัดละ 6 ราย จังหวัดที่มีบาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 21 คน

ทั้งนี้ สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน (9 - 12 เม.ย. 58) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,735 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 191 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 1,808 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 16 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 3 วัน มี 2 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ และ หนองคาย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 66 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด 9 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎรธานี 71 ครั้ง

ศ.นพ.รัชตะ กล่าวด้วยว่า จากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่ผ่านมา พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 80 อีกทั้ง 1 ใน 3 ของอุบัติเหตุมีสาเหตุจากการดื่มแล้วขับและมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญจากการขับรถเร็วโดยถนนสายรองมีสถิติอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจึงได้เน้นย้ำจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบูรณาการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครพื้นที่ตั้งด่านชุมชนคุมเข้มการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รวมถึงการเล่นน้ำสงกรานต์ท้ายกระบะ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตราย ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด ทั้งการจำหน่ายบนทาง การดื่มบนรถและพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุที่เป็นระบบ ทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุ ภายใน 10 นาที และการส่งต่อผู้บาดเจ็บอย่างรวดเร็ว หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วน 1669 ซึ่งมีทีม แพทย์ พยาบาล และเครื่องมือฉุกเฉินให้บริการและรักษาบริการที่ครบครัน

ด้าน นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สำหรับพรุ่งนี้ (14 เม.ย.) ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงท่องเที่ยวและเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ขณะที่บางส่วนเริ่มถยอยบนทางกลับจึงขอกำชับให้จังหวัดปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ กระจายกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยทางถนน อำนวยความสะดวกในการเดินทางทั้งเส้นทางสายหลัก สายรอง ควบคู่กับการป้องกันอุบัติภัยจากการเล่นน้ำสงกรานต์ โดยส่งเสริมการเล่นน้ำตามประเพณีและวิถีชุมชน เข้มข้นการสร้างความปลอดภัยบริเวณโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำ ใช้กลไกของผู้นำชุมชน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปราชญ์ชุมชน ป้องปรามผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มิให้ขับขี่ยานพาหนะ และดูแลการเล่นน้ำสงกรานต์ให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย

ขณะที่ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ในช่วงกลางของวันหยุด ซึ่งประชาชนท่องเที่ยวและเล่นน้ำในพื้นที่ทำให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนสายรองเพิ่มสูงขึ้น ศปถ. จึงได้เน้นย้ำให้จังหวัดเข้มงวดการดูแลถนนสายรองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะทางลัดผ่านเขตชุมชน เส้นทางปิดจุดกลับรถที่มักมีการขับย้อนศร รวมถึงให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ทหารและอาสาสมัครสอดส่องดูแลการเล่นน้ำให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย จัดชุดสายตรวจเคลื่อนที่คุมเข้ม

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ประธานศูนย์ข้อมูลการสื่อสารเพื่อความปลอดภัย (ศสป.) กล่าวว่า ปัจจุบันได้มีเครือข่ายประชาคมงดเหล้าทั่วประเทศขับเคลื่อนรณรงค์สงกรานต์ภัย พื้นที่เล่นน้ำปลอดเหล้า เกิดเป็นกระแสการสร้างพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยไปทั่วประเทศ โดยมีถนนเล่นน้ำตระกูลข้าวกว่า 40 พื้นที่ ถนนอื่นๆ อีกกว่า 100 แห่ง จาก 77 จังหวัด และมีภาคเอกชนเข้าร่วมจำนวนมากมีการกำหนดพื้นที่โซนนิงเล่นน้ำปลอดเหล้าไม่น้อย กว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ และขณะนี้ในพื้นที่ทุกจังหวัดได้มีการประสานการทำงานและบูรณาการทุกภาคส่วน ร่วมบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามนโยบาย 8 กฎเหล็กของรัฐบาล ตลอดจนสอดส่องดูแลการทำผิดกฎหมายจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่กันไปด้วย

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น