xs
xsm
sm
md
lg

หกวันตาย306เจ็บ3,070 "บิ๊กตู่"กำชับดูแลคนกลับกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-โค้งสุดท้ายสงกรานต์ สถิติ 6 วัน เกิดอุบัติเหตุ 2,915 ครั้ง ตาย 306 ราย เจ็บ 3,070 คน "สุรินทร์" พลิกขึ้นแท่นเจ็บตายสูงสุด กำชับจังหวัดเข้มความปลอดภัยถนนสายหลัก เน้นเส้นทางตรง หลังพบเกิดเหตุมากที่สุด แนะประชาชนหากรู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า ต้องหยุดพัก "ประยุทธ์"กำชับดูแลคนกลับเมืองกรุง "สาธารณสุข" สั่งโรงพยาบาลรับมืออุบัติเหตุ กรมควบคุมโรคฟันร้านขายเหล้าผิดกฎหมาย เผยเตรียมตรวจร้านเหล้ายาวอีก 7 วันหลังสงกรานต์ เพราะยังมีอีกหลายที่ที่เล่นน้ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (15 เม.ย.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2558 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงข่าวสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย. 2558 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ในช่วง 7 วันอันตราย

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันที่ 14 เม.ย.2558 เกิดอุบัติเหตุ 509 ครั้ง เสียชีวิต 55 ราย บาดเจ็บ 538 คน สาเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุราและขับรถเร็วเกินกำหนด รถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุสูงสุด จากการไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนใหญ่เกิดบนทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ 16.01-20.00 น. มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 129,634 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 38,147 ราย ไม่มีใบขับขี่ 35,376 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก จำนวน 24 ครั้ง สุรินทร์เสียชีวิตและบาดเจ็บสูงสุดคือ 6 ราย และสุรินทร์ 31 รายตามลำดับ

สำหรับอุบัติเหตุรวม 6 วัน เกิดอุบัติเหตุรวม 2,915 ครั้ง เสียชีวิตรวม 306 ราย บาดเจ็บรวม 3,070 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง บึงกาฬ ภูเก็ต แม่ฮ่องสอน ยะลา สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บในช่วง 6 วัน มี 1 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลกและสุรินทร์ จังหวัดละ 109 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 15 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 124 ครั้ง

ทั้งนี้ วานนี้ (15 เม.ย.) เป็นวันหยุดวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนจะเดินทางกลับจากภูมิลำเนาและการท่องเที่ยว ทำให้การจราจรบนเส้นทางสายหลักมีปริมาณรถหนาแน่น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้เน้นย้ำให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน มุ่งเน้นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และการบริหารจัดการจราจรให้มีความคล่องตัว ควบคู่กับการประสานตำรวจ ทหาร อาสาสมัคร จัดกำลังเจ้าหน้าที่เสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของด่านตรวจชุมชน รวมถึงเตรียมพร้อมให้บริการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทั้งรถโดยสาร รถไฟ และเที่ยวบิน ซึ่งกำชับให้กวดขันความพร้อมของผู้ขับขี่รถโดยสารสาธารณะและรถรับจ้างไม่ประจำทางทุกประเภท ระดับแอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์ สภาพรถและอุปกรณ์ส่วนควบต้องมีมาตรฐานความปลอดภัย

***กว่าร้อยละ60อุบัติเหตุเกิดทางตรง

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 6 วันที่ผ่านมา พบว่า กว่าร้อยละ 60 เกิดบนเส้นทางตรง และอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดบนถนนทางหลวง ศปถ. จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความถี่ในการตั้งจุดตรวจบนเส้นทางสายหลักให้เหมาะและสอดคล้องกับปริมาณการจราจร โดยเฉพาะเส้นทางตรงที่มีระยะทางยาว ให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนประสานการปฏิบัติดูแลความปลอดภัยในการเดินทางกลับของประชาชน พร้อมกวดขันการใช้ความเร็วและการดื่มแล้วขับ

นอกจากนี้ การเล่นน้ำและการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลสงกรานต์หลายวันอาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดความอ่อนล้าได้ง่าย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงขอให้ระมัดระวังในการขับขี่ให้มากขึ้น

***ประสานชุมชนเตือนผู้ขับขี่

นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กว่าร้อยละ 58 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ ศปถ. จึงเน้นย้ำให้จังหวัดประสานอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้กลไกของชุมชน คนใกล้ตัวและครอบครัวในการตักเตือนผู้ขับขี่เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งการขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจร และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย

สำหรับจังหวัดใหญ่และจังหวัดที่มีเส้นทางเข้าสู่กรุงเทพมหานครขอให้ปรับแผนรองรับการเดินทางกลับของประชาชน ทั้งการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจในการดูแลเส้นทางสายหลัก เพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจและตรวจจับการกระทำความผิดกฎหมายจราจร เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปโดยสวัสดิภาพ

***รู้สึกเหนื่อย เมื่อยล้า ต้องหยุดพัก

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ทำให้ปริมาณรถมีจำนวนมากส่งผลให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มระยะเวลาในการขับรถยาวนานขึ้น ทำให้อ่อนเพลียและเมื่อยล้าได้ จึงขอให้เพิ่มความระมัดระวังจากการง่วงหลับใน เนื่องจากสภาพที่ร่างกายอ่อนล้า พักผ่อนไม่เพียงพอเป็นสาเหตุที่นำไปสู่อุบัติเหตุทางถนนได้

"หากท่านมีอาการหาวบ่อย ใจลอย ไม่มีสมาธิ รู้สึกเหนื่อยล้า หงุดหงิด จำไม่ได้ว่าขับรถผ่านอะไรมาเมื่อ 2-3 กิโลเมตรที่ผ่านมา หรือรู้สึกหนักหนังตา ตาปรือ มองภาพไม่ชัด ขับรถส่ายไปมาออกนอกเส้นทาง มองข้ามสัญญาณไฟและป้ายจราจร นั่นคือ สัญญาณเตือนว่ามีอาการ “ง่วง” ควรหยุดแวะพักอย่าฝืน ควรจอดรถเพื่องีบหลับก่อนขับต่อ หรือสลับให้ผู้อื่นขับแทน จะทำให้มีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น"นายพรหมมินทร์กล่าว

***"ประยุทธ์"สั่งทุกหน่วยดูแลคนกลับกรุง

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุทางถนน จึงสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ทำงานด้วยความเข้มแข็ง ช่วยดูแลประชาชนให้เดินทางกลับจากเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างปลอดภัย พร้อมกันนี้ ก็วิงวอนผู้ขับขี่รถต้องมีสติ และมีน้ำใจด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และอาสาสมัครทุกคน ที่ทำงานหนักตลอดช่วงสงกรานต์ ช่วยให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านด้วยความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นภารกิจที่น่าภาคภูมิใจ

***ขอจังหวัดเตรียมรถสาธารณะให้เพียงพอ

ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกภาคส่วนสร้างความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกในการเดินทางกลับของประชาชน โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจความปลอดภัยและความพร้อมในการให้บริการขนส่งสาธารณะทุกประเภท ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้อย่างพอเพียง ส่วนจังหวัดที่ยังมีการเล่นน้ำให้ร่วมกันดูแลความปลอดภัยของประชาชนและป้องกันอุบัติภัยจากการเล่นน้ำที่ก่อให้เกิดอันตรายและอุบัติเหตุ ที่สำคัญขอให้นำบทเรียนแห่งความสำเร็จและจุดบกพร่องจากการดำเนินงานลดอุบัติเหตุในครั้งนี้มาปรับปรุงและพัฒนาทั้งในช่วงปกติและเทศกาล เพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนที่มีประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียได้มากที่สุด

***"สาธารณสุข" กำชับรพ.รับมืออุบัติเหตุ

ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากช่วง 6 วันเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาพบว่ามีประชาชนโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินทางสายด่วน 1669 รวม 7,455 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 52 ครั้ง โรงพยาบาลสามารถดูแลผู้บาดเจ็บได้เป็นอย่างดี มีการส่งต่อผู้บาดเจ็บสาหัสอย่างคล่องตัว ไม่มีปัญหาขาดแคลนโลหิตในการผ่าตัด ส่วนวันที่ 15 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่ 7 หรือวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ได้กำชับให้โรงพยาบาลในเขตปริมณฑลและบนเส้นทางหลวง เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับ สำหรับผู้ขับขี่หากเกิดอาการง่วงเพลีย ขอให้แวะพักที่จุดบริการประชาชน หรือจุดที่ปลอดภัย อย่าฝืนขับหรือคิดว่าอีกนิดเดียวก็ถึง เพราะหากหลับในจะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

นอกจากนี้ คนที่ดื่มสุราฉลองเทศกาลสงกรานต์ติดต่อกันหลายวัน ขอแนะนำให้นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น หรือรับประทานวิตามินเสริม และดื่มน้ำหวานเพื่อช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง เนื่องจากเครื่องดื่มดังกล่าวมีสารประเภทคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ จะไปกระตุ้นร่างกายให้ตื่นตัว ในขณะที่ร่างกายต้องการพักผ่อน จึงเป็นการฝืนร่างกายอย่างหนัก จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะทุกประเภท เนื่องจากอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการหลับในเพราะความอ่อนเพลีย และการตัดสินใจไม่ดีพอ

***พักจอด-กินผลไม้แก้ง่วง

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การป้องกันคนขับหลับใน มีข้อแนะนำ คือ 1.ให้จอดรถพักทุก 150 กิโลเมตร เพื่อให้ร่างกายไม่เมื่อยล้าเกินไป 2.เตรียมอาหารแก้ง่วงระหว่างขับ โดยสิ่งที่ได้ผลดี คือ ผลไม้รสเปรี้ยว เช่น มะขาม มะยม มะม่วง เพราะจะช่วยกระตุ้นประสาทให้สดชื่นได้ และ 3.เตรียมน้ำแข็งก้อนไว้ให้คนขับอมหรือถูขมับ หรือปิดแอร์เปิดกระจกให้รู้สึกสดชื่นขึ้น หากไม่ไหวจริงๆ อย่าฝืน ให้หาที่ปลอดภัยจอดรถนอนพัก 10-15 นาทีก่อนไปต่อ

***ฟันขายเหล้าทำผิด กม. 535 ราย

นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผลการตรวจการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงก่อนและระหว่างเทศกาลสงกรานต์ตั้งแต่ 2 เม.ย. เป็นต้นมา รวม 13 วัน ใน 40 จังหวัดรวม กทม. ทั้งหมด 1,776 ราย พบผู้กระทำผิดและดำเนินคดี 535 ราย สำหรับความผิดที่พบมากอันดับ 1 คือ การโฆษณาสื่อสารการตลาด เพื่อส่งเสริมการขาย 193 ราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,00 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาทจนกว่าจะเลิกโฆษณา ความผิดที่พบอันดับรองลงมาได้แก่ ดื่มในสถานที่ต้องห้ามซึ่งส่วนใหญ่ดื่มบนถนน ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาต้องห้าม ขายแบบลดแลกแจกแถม ขายโดยไม่มีใบอนุญาต และขายในสถานที่ห้ามขาย

***จ่อตรวจร้านเหล้ายาว 7 วันหลังสงกรานต์

นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า จากการส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และตำรวจ พบว่า ประชาชนยังมีการดื่มเหล้าบนรถ รวมทั้งมีการจำหน่าย และดื่มสุราเป็นจำนวนมากในพื้นที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม โดยเฉพาะพื้นที่โซนนิ่ง เช่น ถนนข้าวสาร กทม.มีการขายเหล้าอยู่จำนวนมาก ส่วนที่ย่านสีลมได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานฯ ประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกทม. เข้มงวดดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะมีการตรวจต่อเนื่องในช่วงหลังสงกรานต์อีก 7 วัน เพื่อตรวจสอบในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ช้ากว่าจังหวัดอื่น เช่นงานวันไหลในจังหวัดโซนภาคตะวันออก งานสงกรานต์ที่พระประแดง เป็นต้น

ทั้งนี้ พบว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุและความสูญเสียในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกิดมาจากการเมาสุราสูงเป็นอันดับ 1 ประมาณ 1 ใน 3 ของการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด โดยพบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอายุต่ำกว่า 20 ปีประมาณ 1 ใน 4 รองจากกลุ่มวัยแรงงาน เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังตลอดปี
กำลังโหลดความคิดเห็น