หนองคาย - บริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ชี้แจงการออกแบบและรูปแบบเส้นทางให้ชาวหนองคายทราบ หวังพัฒนาระบบการบริการขนส่งให้ดีขึ้น
เมื่อเวลา 10.15 น. วันนี้ (9 ก.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมอัศวรรณ อ.เมือง จ.หนองคาย นายประสงค์ คงเคารพธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ครั้งที่ 1 ปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย โดยมีการแนะนำโครงการ, แนวคิดการกำหนดแนวเส้นทางรถไฟและรูปแบบการพัฒนาในเบื้องต้น, แนวทางและวิธีการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบสถานี รวมถึงแนวทางการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม
โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดโครงการก่อสร้าง โดยมอบหมายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จำกัด เป็นบริษัทหลัก ร่วมกับ บริษัทเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท เอ 21 คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท นิวแอสเซท แอดไวเซอร์รี่ จำกัด บริษัท ดีไซน์ คอนเซป จำกัด และบริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด เป็นผู้ดำเนินการศึกษา ระยะเวลา 12 เดือน สิ้นสุด 15 เมษายน 59
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ประมาณ กม.454 เป็นจุดสิ้นสุดของโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่น ห่างจากสถานีรถไฟขอนแก่น 450 ประมาณ 4.2 กิโลเมตร และมีจุดสิ้นสุดโครงการที่สถานีหนองคาย โดยได้ออกแบบก่อสร้างทางรถไฟเพิ่มขึ้น 1 ทาง เป็นคันทางระดับดินหรือยกระดับ โดยยกเลิกจุดตัดทางรถไฟเสมอระดับทุกแห่ง จากสถานีสำราญถึงสถานีหนองคาย มี 15 สถานี และที่หยุดรถไฟ 2 แห่ง พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินรถไฟ ความเร็วเฉลี่ย 120-160 กม./ชั่วโมง
ซึ่งอาจจำเป็นต้องปรับแนวเส้นทางในบางช่วง รวมงานด้านการออกแบบพัฒนาและปรับปรุงสถานีรถไฟและย่านสถานี เป้าหมายสำคัญนับเป็นประโยชน์จากการพัฒนารถไฟทางคู่ สามารถเพิ่มความจุทางได้มากขึ้น ลดระยะเวลา และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงในการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ จูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากขึ้น โดยรัฐบาลได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-หนองคาย ให้แล้วเสร็จในปี 2562