ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ชักจะทะแม่งๆ เมื่อจู่ๆ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ดูแลงานด้านกฎหมายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า รัฐบาลกำลังคิดหนักเรื่องการฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีแพ่ง เพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว
นายวิษณุบอกนักข่าว เมื่อวันที่ 7 ก.ค.ว่า เรื่องการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น คณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหาย และคณะกรรมการว่าด้วยการรับผิดทางแพ่ง ได้รายงานความคืบหน้ามาเป็นระยะ และตนได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีทราบว่า ขณะนี้ดำเนินการถึงไหนแล้ว ที่ยังมีปัญหาคือ จำนวนตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ โดยการพิจารณาความตัวบุคคลแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ บุคคลที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงอะไร เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกชุดดูในส่วนนักการเมือง และข้าราชการของกระทรวงที่มีสังกัด หรือกระทรวงพาณิชย์
ส่วนมูลค่าความเสียหายที่แต่ละคนต้องจ่าย ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการเรียกความเสียหายขาดทุนจำนำข้าว สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมสอบข้อเท็จจริงและกำหนดค่าความเสียหายจากการจำนำข้าว กระทรวงการคลังพิจารณา ทั้งนี้ ต้องแบ่งเฉลี่ย โดยแต่ละคนจะจ่ายค่าเสียหายไม่เท่ากัน ต้องดูกันตามโทษานุโทษ
นายวิษณุยังบอกอีกว่า มีเรื่องหนึ่งที่อาจต้องคิดหนัก คือการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง จะต้องเสียเงินที่เรียกว่าค่าธรรมเนียมศาล ซึ่งกระทรวงการคลังต้องนำไปวางซึ่งเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร เพราะมูลค่าความเสียหายจริงมีมาก
“แล้วคุณไปเรียกเอาหมด เอาเข้าจริงจะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ เพราะยังไม่รู้จะแพ้หรือชนะ จะต้องมีเงินไปวางศาลหลายพันล้านบาท ดังนั้น เงินที่รัฐต้องไปวางเป็นเรื่องที่ต้องคิด ถ้าเสียดาย ประหยัด ก็เรียกมันน้อยๆ ก็ถูกด่าเท่านั้นเอง ส่วนวงเงินเท่าไรก็ยังดูกันอยู่ แต่ว่าเยอะ”
การออกมาบ่นเสียดายค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากนางสาวยิ่งลักษณ์แบบนี้ ทำให้นายวิษณุถูกมองว่า กำลังหาข้ออ้างที่จะอุ้มนางสาวยิ่งลักษณ์ ใช่หรือไม่ นั่นเพราะการฟ้องเรียกค่าเสียหายมูลค่าหลายแสนล้านบาทคืนกลับให้แผ่นดินนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาเสียดายเงินค่าธรรมเนียมศาลเพียงหลักพันล้านบาทเท่านั้น
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ หัวจักรสำคัญในการเปิดโปงโครงการรับจำนำข้าว ให้ความเห็นว่า การที่นายวิษณุอ้างว่ารู้สึกเสียดายที่ต้องใช้เงินค่าธรรมเนียมศาลจำนวนนับพันล้านบาทนั้น นายวิษณุพูดความจริงไม่หมด และเชื่อว่าเงินจำนวนดังกล่าวถ้าจะต้องเสียไปเพื่อเป็นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องร้องค่าเสียหายครั้งนี้ ไม่มีประชาชนคนไหนว่าแน่นอน เชื่อว่าอย่างน้อยจะได้เป็นบรรทัดฐาน และเป็นข้อคิดแก่รัฐบาลต่อๆ ไปในการออกนโยบายที่นำไปสู่ความเสียหาย ทั้งๆ ที่หลายหน่วยงานเตือน ที่สำคัญความเสียหายนั้นเกิดจากการทุจริต ดังนั้นจึงขอให้รีบดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาจากทั่วสารทิศ วันต่อมา 8 ก.ค.นายวิษณุ ยังคงยืนยันว่า เงินค่าธรรมเนียมวางศาลฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวยังเป็นปัญหา เพราะจำนวนเงินที่จะเรียกค่าเสียหายจากแต่ละคนต้องคิดให้ตรง กี่พันล้าน กี่หมื่นล้านบาท
“ส่วนเงินที่จะวางศาลมีเงื่อนไขกำหนดไว้แล้วว่าจะเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินที่ฟ้องเรียกทั้งหมด และเมื่อคดีจบ ตรงนี้จะแล้วแต่ศาลจะมีคำสั่ง ซึ่งจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ ชนะหรือแพ้ไม่สำคัญ ศาลให้คืน ศาลยึดไป หรือศาลยึดบางส่วน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับคำพิพากษา ถึงได้บอกว่าไม่เป็นปัญหาคงไม่ได้ เป็นปัญหาเหมือนกัน เบื้องต้นจะเรียกเอากี่บาทต้องใกล้เคียงที่สุด อย่าเรียกส่งเดช เพราะตรงนี้ไปผูกกับค่าวางศาล หลักนี้มีมานาน เพื่อไม่ให้คนไปฟ้องกันเล่น ๆ”
ขณะที่นายวิษณุแสดงท่าทียึกยักเรื่องการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ อดีตอธิบดีผู้พากษาศาลแพ่งธนบุรี ได้ออกมาให้ความกระจ่างว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เรื่องค่าธรรมเนียมศาลนั้น ระบุว่า ฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมศาล ที่คำนวณร้อยละ 2 จากจำนวนทุนทรัพย์ โดยค่าธรรมเนียมในส่วนนี้คำนวณสูงสุดจะไม่เกิน 200,000 บาท แต่ถ้าทุนทรัพย์เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะคิดค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.1
นายศรีอัมพร กล่าวย้ำว่า การที่รัฐบาลเป็นผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมศาล ไม่ใช่เหตุผลสาระสำคัญแต่อย่างใด เพราะหากคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่ต้องเสียจริงถือว่าไม่มาก และค่าธรรมเนียมที่กระทรวงการคลังจะต้องถูกบังคับให้เสียที่ศาลนั้น ในภายหลังศาลก็จะต้องส่งคืนกระทรวงการคลังอยู่ดี ไม่ได้มีการเก็บไว้เองเพราะเป็นรายได้แผ่นดิน
“ปัญหาที่ว่าเสียค่าธรรมเนียมศาลไม่ใช่เหตุผล ก็เหมือนเป็นการควักออกกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา” อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งธนบุรี กล่าว
จากเหตุผลของอดีตอธิบดีผู้พิพากษาผู้นี้ ประเด็นเรื่องเงินค่าธรรมเนียมศาลที่นายวิษณุอ้างว่าเป็นปัญหานั้น จึงไม่เป็นสาระที่แท้จริงที่จะทำให้การฟ้องแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวต้องยืดเยื้ออกไป
ส่วนประเด็นที่นายวิษณุอ้างว่า มีอีกปัญหาหนึ่ง คือการคิดค่าเสียหายจากผู้ร่วมกระทำผิดแต่ละคนต้องคิดให้ใกล้เคียงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง และแต่ละคนจะไม่เท่ากัน มากน้อยตามโทษานุโทษนั้น เป็นข้ออ้างที่ฟังขึ้นหรือไม่
เมื่อเปรียบเทียบกับคดีที่บริษัท การท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ฟ้องต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจากอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม 13 คน กรณีการชุมนุมที่สนามบินดอนเมืองและสนามบุินสุวรรณภูมิในปี 2551 นั้น เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายรวม 522 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลแพ่งให้จำเลยทั้งหมดจ่ายค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นจำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างเตรียมยื่นฎีกาต่อไป จะเห็นว่าคดีนี้ไม่ได้มีการแยกแยกว่าแต่ละคนต้องจ่ายค่าเสียหายจำนวนเท่าใด แต่การดำเนินคดีก็ยังเดินหน้าต่อไปได้ จนถึงขั้นมีคำพิพากษาออกมา
ข้ออ้างของนายวิษณุที่ว่า ต้องคิดค่าเสียหายให้ใกล้เคียง และแต่ละคนคิดไม่เท่ากันนั้น จึงเป็นเพียงข้ออ้างส่งเดชที่จะถ่วงเรื่องหรือไม่
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวได้ดำเนินการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2547 จนถึงวันที่ 22 พ.ค. 2557 จำนวน 15 โครงการ พบว่า มีผลขาดทุนประมาณ 680,000 ล้านบาท จากต้นทุนโครงการที่รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เป็นการดำเนินโครงการโดยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 4 โครงการ คิดเป็นผลขาดทุนจำนวน 518,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 11 โครงการ ดำเนินการตั้งแต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีผลขาดทุนประมาณ 164,000 ล้านบาท
ในเมื่อมีตัวเลขความเสียหายที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวสรุปไว้ให้แล้ว เรื่องจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะฟ้องเรียก จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาอีกต่อไป
รวมทั้งเรื่องจำนวนคนรับผิดชอบที่นายวิษณุอ้างว่ายังเป็นปัญหาก็เช่นกัน เมื่อในส่วนของคดีอาญาที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ทำสำนวนไว้แล้ว มีผู้ร่วมกระทำผิดทั้งสิ้น 16 คน รวมทั้งนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็น่าจะเป็นบรรทัดฐานในการฟ้องคดีแพ่งได้ว่าจะมีใครเป็นจำเลยบ้าง
การอ้างโน่นอ้างนี่ ทั้งที่ไม่สมควรที่จะนำมาอ้าง จึงทำให้นายวิษณุถูกมองว่า กำลังจะถ่วงเวลาการดำเนินคดีทางแพ่งต่อนางสาวยิ่งลักษณ์ใช่หรือไม่
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของนายวิษณุที่เคยทำงานใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าสู่ตำแหน่ง จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2545 หลังจากนั้นก็ก้าวขึ้นไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2549
บทบาทของนายวิษณุในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอย่างไร ฉายา “เนติบริกร” ที่สื่อมวลชนตั้งให้นายวิษณุนั้น ย่อมอธิบายความได้เป็นอย่างดี