ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังจากโยนหินถามทางมาเป็นระลอกๆ อย่างต่อเนื่องในเรื่องการนั่งบริหารราชการแผ่นดินต่ออีก 2 ปี ล่าสุดอากัปกิริยาของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เกี่ยวกับเรื่องนี้มีความชัดเจนยิ่ง แม้จะออกอาการขวยเขินบ้างหลังจากมีขบวนการ “อวยกันจนไส้แตก” อย่างเอิกเกริกจนเกินความพอดี
“ถ้าให้ผมอยู่ ผมก็ทำ อยู่ด้วยความชอบธรรม ไม่ได้อยู่ด้วยอำนาจ ถ้าทุกคนอยากให้ตนอยู่ ผมก็อยู่ก็ทำให้ แต่ต้องช่วยปกป้องตนจากภายนอกประเทศ รวมถึงภายในประเทศด้วย ที่กล่าวหาว่าผมอยากสืบทอดอำนาจ ซึ่งผมไม่ต้องการอำนาจ เพราะไม่ได้ผลประโยชน์ ต้องการทำประเทศชาติให้ดีขึ้น แต่จะทำอย่างไรไม่รู้ มันเป็นเรื่องของรัฐธรรมนูญ…
“ถ้าอยากอยู่ไปหาช่องทางมา แต่ข้อเสนอแนะนี้จะเป็นแนวทางที่ดีหรือไม่ไม่รู้ จะไปพิจารณาเองได้อย่างไร ดีหรือไม่ดี เพราะผมใช้อำนาจอยู่ในตอนนี้ แล้วจะให้บอกว่าอยู่ต่อแล้วจะดี ตรงนี้พูดได้ไหม วันนี้ใครต้องการให้ผมปฏิรูป ประชาชนก็ต้องไปหาทางมา...
“มันขึ้นอยู่กับคนไทย จะกำหนดอนาคตประเทศไทยอย่างไร เป็นเรื่องของประชาชน 67 ล้านคนไปว่ากันมา ไม่ใช่ผม...ผมไม่กลัวคำด่า ยิ่งด่า ผมยิ่งมีแรง”
คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ถือเป็นความชัดเจนยิ่งว่า เขาพร้อมที่จะอยู่ต่อร้อยเปอร์เซ็นต์ เพียงแต่คำตอบทั้งหมดขึ้นอยู่กับคนไทยว่า สุดท้ายแล้วจะเอาอย่างไร และจะทำอย่างไรถึงจะสามารถอยู่ต่อได้อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเสียงตอบรับของสังคมแล้ว ก็จะเห็นได้ว่า เสียงสนับสนุนให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจต่อนั้นมีเปอร์เซ็นต์สูงยิ่ง เพราะไม่มีทางเลือกในสถานการณ์การเมืองเยี่ยงนี้
ความจริงนี่มิใช่ครั้งแรกของการโยนหินถามทางในเรื่องการนั่งบริหารราชการแผ่นดินต่อ เพราะหากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ไม่นานนักก็ได้มีการหยั่งกระแสมาเป็นระยะๆ
ขบวนการโยนหินถามทางในเรื่องการต่ออายุนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ “ครั้งแรก” เริ่มเปิดฉากอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2558 ในคราวที่เดินทางแอ่วเหนือพร้อมกับทำพิธีห่มผ้าพระเจ้าพิชิตมารและเสริมดวงชะตาสะเดาะเคราะห์ โดย “นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ” เจ้าของฉายา “โหร คมช.” เจ้าสำนักสุขิโตแห่งจังหวัดเชียงใหม่ ผู้เป็นเจ้าพิธีให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า “จากการเปิดนิมิตดู คสช.ต้องเข้าบริหารประเทศอย่างน้อยอีก 2-3 ปีขึ้นไป โดยคนที่ต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ในปัจจุบัน”
ทว่า ในครั้งนั้น โยนหินถามทางมาก่อนเวลามากไปสักนิด ทำให้ปฏิกิริยาของสังคมดูเหมือนจะไม่ตอบรับเท่าใดนัก และจากนั้นเรื่องก็ซาลงไป ขณะที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ออกจะไปในแนวปฏิเสธเสียด้วยซ้ำไป
ถัดมาไม่นานนัก ขบวนการโยนหินถามทางครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้น และก็มาจากขาประจำที่ชื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ซึ่งประกาศตัวเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันในเรื่องนี้ โดยเปิดประเด็นเรื่อง “การทำประชามติ” ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติอยู่ในอำนาจต่ออีก 2 ปี พร้อมทั้งเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308
ครั้งนั้น เสียงเชียร์ก็ดังกระหึ่มไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเสียงเชียร์จาก พระสุเทพ ปภากโรที่เทศน์นอกธรรมาสน์เอาไว้ว่า “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์อยู่แล้วแก้ปัญหาประเทศได้ ทำให้ประเทศดีขึ้น ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จะอยู่อีก 3 ปี 5 ปีก็ไม่เห็นน่ารังเกียจอะไร...”
แต่ก็อีกนั่นแหละ ปฏิกิริยาตอบสนองจากสังคมก็ดูเหมือนจะยังไม่เออออห่อหมกเสียทีเดียว เช่นเดียวกับตัวนายกรัฐมนตรีที่ดูเขินๆ สุดท้ายแนวคิด “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีก 2 ปี” จึงยังไม่ไปไหนและเงียบหายไปในที่สุด
แต่กับครั้งล่าสุด ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคราวนี้ต้องใช้คำว่า พล.อ.ประยุทธ์ “แบะท่า” ออกมาด้วยตัวเองแบบชัดๆ เน้นๆ โดยที่ไม่ต้องมีการตีความให้วุ่นวายแต่ประการใด
เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้พูดครั้งเดียว หากแต่พูดในทำนองนี้ต่างกรรมต่างวาระกันอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งมีบทสรุปตรงกันคือ “ถ้าจะให้ผมทำจะอยู่ได้อย่างไร ทำอย่างไรให้ต่างชาติยอมรับหรือไม่ คือปัญหาของผม” ซึ่งต้องบอกว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ดูเหมือนว่า พล.อ.ประยุทธ์จะให้ความสำคัญมาก
และฉับพลันที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าที การเด้งรับก็ดังระงมขึ้นจากหลายภาคส่วน เรียกว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สนช.) ที่ตบมือกันเกรียวกราวชูรักแร้เชียร์อย่างเปิดเผยในห้องประชุมสภาเลยทีเดียว
นอกจากขาประจำอย่างนายไพบูลย์ที่ข้องเปิดแถลงข่าวระดมรายชื่อประชาชนหนุนให้ทำประชามติแล้ว ยังมีหลวงปู่พุทธะอิสระ แห่งวัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม อดีตแกนนำ กปปส.ที่รวบรวม 50,000 รายชื่อยื่นต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ต่อเพื่อปฏิรูปให้สำเร็จ
ด้านสารพัดโพลล์ก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน ทั้งสวนดุสิตโพลนิด้าโพล ฯลฯ ราวกับมีการนัดหมายล่วงหน้าอย่างไรอย่างนั้น
ขณะที่เมื่อหยั่งเสียงกลุ่มธุรกิจก็มิได้มีเสียงคัดค้าน เพราะแม้ประเทศจะมีปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้ประเทศวุ่นวายเหมือนเช่นที่ผ่านมา
แต่สิ่งที่ตอกเสาเข็มยืนยันก็คือ การที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของทั้งรัฐบาลและ คสช.ได้แถลงเคาะบทสรุปเรื่องรัฐธรรมนูญ และใน 7 ประเด็นที่นายวิษณุประกาศ ประเด็นที่สำคัญที่สุดซึ่งนัยสำคัญเกี่ยวข้องกับการอยู่ในอำนาจต่อของรัฐบาล คสช.ก็คือ “คำถามในการออกเสียงประชามติ”
เพราะนอกจากคำถามสำคัญอย่างเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว ยังเปิดช่องให้มีคำถามอื่นที่จะให้ทำประชามติในคราวเดียวกันได้ ซึ่งชัดเจนว่า เป็นการเปิดช่องให้มีการทำประชามติในเรื่องการอยู่ปฏิรูปประเทศต่อของรัฐบาล คสช.
ทว่า สิ่งที่สังคมยังคง “งงๆ” กันก็คือ การอยู่ต่ออีก 2 ปีนั้น มีจุดเริ่มต้นจากตรงไหน เพราะหากมีการทำประชามติตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) สรุปคือวันที่ 10 มกราคม 2559 กว่าจะออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและจัดการเลือกตั้งก็คาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่ในปี 2560
ดังนั้น ถ้าหากนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งก็ปากเข้าไปไม่น้อยกว่า 3 ปี นั่นหมายความว่า ถ้าหากมีการต่ออายุ รัฐบาล คสช.จะอยู่ในอำนาจยาวถึง 5 ปีเลยทีเดียว
แต่จะอย่างไรก็ตาม การอยู่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์มิได้สำคัญไปกว่า อยู่ต่อแล้วทำอะไร เพราะมีโจทย์ที่สำคัญยิ่งคือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งประชาชนตั้งความหวังเอาไว้ค่อนข้างมาก
แน่นอน หัวข้อในการปฏิรูปที่สำคัญยิ่งอันเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศไทยหนีไม่พ้น 2 เรื่องที่ประชาชนตั้งความหวังไว้เป็นพิเศษ
หนึ่ง-การปฏิรูปตำรวจ
สอง-การปฏิรูปพลังงาน
และทั้ง 2 เรื่องในเวลานี้นับตั้งแต่การรัฐประหารและนับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรียังมิได้มีความคืบหน้าให้ประชาชนชื่นใจเลยแม้แต่น้อย แถมทำท่าจะล้มไม่เป็นท่าเสียด้วยซ้ำไป
ด้วยประการฉะนั้น สังคมจึงเห็นตรงกันว่า ถ้าจะอยู่ต่อต้องมีการกำหนดกรอบระยะเวลาในการปฏิรูปให้สัมฤทธิผลมาให้ชัดเจน รวมกระทั่งถึงการกวาดล้างระบอบทักษิณ เพราะระยะเวลาที่ยืดออกไปเพียงพอที่จะดำเนินให้สำเร็จผลได้
และถ้าไม่จบ ต้องมีคำอธิบายและมีคำตอบกับสังคม โดยเฉพาะกองเชียร์แถวหน้าอย่าง “เสธ.น้ำเงิน”
กระนั้นก็ดีโจทย์ใหญ่ล่าสุดที่คือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดก็คือ “การถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” เพราะเวลานี้ดูเหมือนว่า จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “ยื้อเพื่อซื้อเวลา” อย่างเห็นได้ชัด
กล่าวคือ หลังจาก พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา(สบ 10) หัวหน้าคณะกรรมการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้มีมติเอกฉันท์ให้ถอดยศและนำเรื่องเสนอไปยัง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็เกิดอาการกึกๆ กั๊กๆ มาแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งแรก พล.ต.อ.สมยศบอกให้คณะกรรมการฯ ลงลายมือชื่อรับรองมติที่ประชุมให้เรียบร้อย
ครั้งที่สอง พล.ต.อ.สมยศก็ส่งเรื่องกลับไปอีกโดยอ้างว่า ยังพิจารณาไม่ครบองค์ประกอบความผิด เพราะเห็นว่ายังคงมีความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ของประเด็นตลอดรวมถึงเนื้อหาที่ไม่เพียงพอที่จะพิจารณาสั่งการในทางใดทางหนึ่งพร้อมกำหนดกรอบว่าให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จและนำกลับมาเสนอใหม่ในวันที่ 11 มิถุนายน 2558
ไม่ทราบได้ว่า อาการยื้อที่เกิดขึ้น เป็นผลมาจากการเจรจาต่อรองอะไรบางประการหรือไม่
“ผมยืนยันว่า ผมไม่ได้ยื้อเวลา ไม่มีกลัว ระเบียบก็ว่าไปตามระเบียบ แต่ทุกอย่างต้องทำอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตอบสังคมไทย ถ้าเรื่องที่ทำมาครบถ้วน ถูกต้อง ผมก็พร้อมจะเซ็นให้อย่างแน่นอนโดยไม่รอใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องห่วง นอกจากนี้ ผมไปคุยกับ พล.ต.อ.ชัยยะแล้ว โดยระบุว่า หากเสนอเรื่องไม่ทันตามกรอบระยะเวลา ก็สามารถขอเลื่อนได้”พล.ต.อ.สมยศยืนยัน
และเมื่อถึงวันที่ 11 มิถุนายน พล.ต.อ.สมยศก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับเรื่องจาก พล.ต.อ.ชัยยะตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าดูรายงานสรุปเบื้องต้นแล้วค่อนข้างครบถ้วน แต่เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดและถูกต้องยิ่งขึ้น จึงมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องอีกครั้ง หากครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นจะได้ทำบันทึกถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 วันนี้
หลายคนทำท่าจะส่งเสียงเฮ
แต่ช้าก่อน
เพราะถ้าถามว่า ณ จุดนี้การยื้อจะเกิดขึ้นได้อีกหรือไม่
ก็ต้องตอบว่าได้
แต่เอาเป็นว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ต่อขอให้ดำเนินการเรื่องถอดยศเป็นเบื้องแรกได้หรือไม่ ประชาชนจะได้มั่นใจว่า การอยู่ในอำนาจต่อจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติจริงๆ เพราะ พล.ต.อ.สมยศพูดชัดเจนว่า ตนเองมีนาย 2 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องอ้างว่า การถอดยศนักโทษชายหนีคดีทักษิณจะกระทบกระเทือนสถาบันเบื้องสูง เพราะจริงๆ แล้ว สถาบันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่น้อย เนื่องจากนี่คือการทำตามวาระงานปกติโดยมีขั้นตอนการปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 เขียนเอาไว้ชัดเจน
และย้ำกันอีกครั้งว่า เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้มาให้เห็นแล้วหลายต่อ หลายครั้ง ยกตัวเช่นกรณี พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม.ที่ถูกพิพากษาถึงที่สุดในคดีทุจริตการจัดซื้อรถดับเพลิง
ฉะนั้น จึงไม่มีอภิสิทธิ์อันใดที่จะยกเว้นให้กับคนชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
เว้นเสียแต่ว่า....