xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป “เราไม่ได้ต้องการปรับปรุงตำรวจ เพื่อให้เป็นลูกน้องทหาร แต่เราปรับปรุงตำรวจ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ดูเหมือนว่าการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจจะยังไม่ไปถึงฝั่งฝัน เพราะรัฐบาลหรือ คสช. โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำท่าว่าจะ “ดึงเช็ง” การปฏิรูปหน่วยงานที่ภาคประชาชนอยากให้มีการปฏิรูปมากที่สุดไปเสียดื้อๆ ในขณะที่ “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป” กลับเห็นต่าง

ในฐานะที่ พล.ร.อ.พะจุณณ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช. ) เขาได้ให้สัมภาษณ์ “ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์” เอาไว้อย่างน่าสนใจ

เพราะอะไรถึงสมควรแยกสอบสวนออกจากตำรวจ ?

จริงหรือไม่ที่ยังมีตำรวจเลวๆ อยู่ ?

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ฟังจากปากของเขาได้เลย…

อยากให้ พล.ร.อ.พะจุณณ์อธิบายแนวคิดเรื่องการปฏิรูปตำรวจ และมีเรื่องไหนที่เป็นห่วงมากเป็นพิเศษหรือไม่

ความจริงตั้งแต่ปี 2547 มีข้อตกลง หรือ พ.ร.บ.ของตำรวจอยู่แล้วว่าจะต้องปรับโครงสร้างของเขา เช่น ฝ่ายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับตำรวจ ก็ควรจะแยกออกไปทำงานในส่วนที่จะเป็น ดังนั้นพูดได้ว่ามีส่วนนี้อยู่แล้ว ดังนั้นเราแค่ทำในส่วนที่มันจะเป็นเท่านั้นเองคือ ต้องการให้พนักงานสอบสวนแยกออกจากตำรวจ

ส่วนมาตรา 282(8) ที่มีการถกเถียงกันว่าสมควรตัดออกไปหรือเปล่านั้น จะคล้ายกับ พ.ร.บ.ของตำรวจ ที่บอกว่าให้แยกส่วนงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจออกไป แต่ในมาตรานี้ ระบุว่าถ้าไม่ทำจะมีโทษ โดยให้หน่วยงานตำรวจประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปัญหาคือ ตำรวจก็จะอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความร่วมมือ บางเสียงบอกว่ารัฐธรรมนูญยังไม่รู้จะเป็นยังไง ให้รอทำเป็นกฎหมายลูกดีกว่า แต่ผมบอกว่าไม่ล่ะ เราก็เดินหน้าของเราต่อไป กทม. ก็ทำเรื่องที่จะแยกคนออกมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนหรือกฎหมาย หลายๆ ส่วนเขาทำเสร็จแล้ว ส่วนผมก็ทำแล้ว เราทำของเราไป เพราะเป็นหน้า ผมในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปฯ ก็มีหน้าที่ปฏิรูป เราทำเพื่อชาติบ้านเมือง

ส่วนอีกเรื่องที่เราต้องการทำคือ ยุบผู้บัญชาการภาคทั้งหมด เพราะพอผมได้คุยกับตำรวจ คนในท้องที่ หรือหลายๆ ฝ่ายแล้ว ความจริงที่เราเห็นคือ แทบไม่มีประโยชน์อะไร แล้วกลายเป็นแหล่งสำหรับใช้อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งตำรวจในแต่ละจังหวัดได้เล่าให้ผมฟัง ผมจึงเห็นว่าส่วนนี้ไม่มีประโยชน์อะไร

พอผู้บัญชาการภาคไม่มีประโยชน์ เราก็ให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้ดูแล ทำงาน และบริหารในส่วนนี้เอง ไม่จำเป็นต้องมีผู้บัญชาการภาคเลย เพราะผู้การจังหวัดจะทำหน้าที่ทุกอย่าง พูดง่ายๆ คือ สูงสุด แต่ว่าประเด็นสำคัญคือ ในแต่ละจังหวัด เราจะให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ควบคุมความประพฤติ แต่งตั้ง โยกย้าย รับฟังความคิดเห็นต่างๆ

ถามว่าประชาชนกลุ่มนี้ได้มาจากไหน หนึ่ง ได้มาจากปราชญ์ชาวบ้าน สมมุติว่ามี 10 คน เราก็จับสลากมา 3 คน สอง ครูผู้ปกครอง สมาคมผู้ปกครองของโรงเรียนในจังหวัดนั้นๆ เช่น ถ้ามี 50 โรงเรียน ก็จัดมา 3 คน สี่ นักศึกษา ประธานนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดนั้นๆ เช่น มี 10 คน ก็จัดมา 3 คน นอกจากนั้นยังจะประกอบด้วยอุตสาหกรรมจังหวัด เอามาเป็นตัวแทนทั้งหมดราว 15 - 20 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำงานอยู่วาระละสองปี แล้วมีหน้าที่ควบคุมความประพฤติ แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ คือ เวลาที่จะมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ จังหวัดเหล่านั้น ก็จะรู้ว่าตำรวจคนไหนดีคนไหนเลว ฉะนั้นถ้าคนแต่งตั้งมีการแต่งตั้งไม่เหมาะสม คนในจังหวัดนั้นก็จะโวยและซัดคนแต่งตั้งเอง

วิธีนี้ผมมองว่าจะเป็นการกระจายอำนาจตำรวจให้เข้ามาใกล้ชิดประชาชน โดยประชาชนจะมีส่วนร่วมและตรวจสอบการทำงานของตำรวจได้ด้วย ซึ่งผมมองว่าเป็นวิธีที่ดูดีมาก ตำรวจก็จะไม่กล้าทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง และการทำงานของตำรวจจะอยู่ในสายตาของคนกลุ่มนี้ บางคนบอกว่าอีกหน่อยเดี๋ยวก็ซื้อได้ ถามว่าปราชญ์ชาวบ้านจะซื้อได้เหรอ แล้วมีเท่าไหร่อีกไม่รู้ แต่เราจัดมาแค่สามคน หรือกระทั่งครู สมาคมผู้ปกครอง เราพยายามไม่เอาข้าราชการหรือนักการเมืองเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงฐานนักศึกษา ฉะนั้นถ้าตำรวจไปทำสิ่งไม่ดีในสายตาของพวกเขา ก็มีสิทธิ์ถูกจัดการได้

แล้วในฐานะที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เจอปัญหาในการดำเนินการอย่างไรบ้าง

ประเด็นที่มีปัญหามากคือ ตำรวจบางคนที่มาร่วมประชุมกับเรา ใหม่ๆ ก็เห็นด้วยกับเรา แต่ตอนหลังก็หายไป จากประชุม 20 ครั้ง มาร่วมประชุมแค่ 7-8 ครั้ง แล้วหายไป แล้วตำรวจก็มาโวยวายว่า คุณทำเองโดยไม่ปรึกษาพวกผมได้อย่างไร ทั้งที่ความจริงแล้วก็มีตัวแทนจากตำรวจมาประชุมด้วย ซึ่งตอนหลังก็ไม่เข้าประชุมเลย อาจจะเห็นว่าตัวเองจะสูญเสียอำนาจ เดี๋ยวทางหน่วยจะตำหนิว่าส่งมาแล้วทำให้สูญเสียอำนาจ ก็เลยหายไป

อะไรคือมูลเหตุที่ต้องการให้แยกสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สาเหตุที่ผมต้องการให้แยกสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะที่ผ่านมามีปัญหาของบ้านเมือง ปัญหาความไม่ยุติธรรม ความไม่ปรองดอง ฯลฯ ตำรวจที่อยู่สายสอบสวนเป็นร้อยๆ คน ส่งหนังสือมาที่ผม เพื่อขอแยกออกจากตำรวจ ถ้าสาเหตุที่เขาอยากแยกมาจากเรื่องส่วนตัว เช่น ไม่ก้าวหน้า ขาดขวัญและกำลังใจ ผมจะไม่ฟังนะ แต่ก็เข้าใจในการทำงานของพวกเขา แต่ประเด็นสำคัญคือ เขาถูกใช้งาน ถูกสั่งการให้ทำสิ่งไม่ถูกต้อง ซึ่งมันเป็นผลมาจากแทรกแซงการทำงานของตำรวจสอบสวนตำรวจเลวๆ เหล่านี้ใช้เรื่องของการสอบสวนเป็นหลังพิง เพื่อจะรับใช้นักการเมือง เพื่อจะทำให้ตัวเองเจริญก้าวหน้า มีคนตายเยอะแยะ เราอยู่เมืองหลวงอาจจะเห็นน้อย แต่ก็เห็นนะ ไม่ว่าจะเป็นทนายสมชาย(นีละไพจิตร) หรือคุณเอกยุทธ์(อัญชันบุตร) เป็นผลเพราะการสอบสวนอยู่กับตำรวจ มันถูกสั่งการได้ว่าจะทำคดีออกมารูปแบบไหน

คนพันๆ คนที่ตายไป เขาไม่ผิด แต่เป็นการทำเป้า แล้วคุณคิดว่าคนพวกนั้น พ่อแม่พี่น้องเขาต้องตายไปในข้อหายาเสพติด แล้วชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะเป็นยังไง นี่คือปัญหาใหญ่

ในช่วงที่ผมนั่งประชุมอยู่ มีคน 3-4 รายมาร้องเรียนกับผม รายหนึ่งญาติเขาตาย ตอนที่ตำรวจทำคดีสรุปว่าแขวนคอตาย คดีนี้มีมาตั้งแต่ปี 2556 แต่เขาได้ถ่ายรูปว่ามีกองเลือดอะไรไว้ ผมเลยเชิญเพื่อนตำรวจผมคนหนึ่ง มาให้ดูภาพนั้น เขาก็ส่งคนไปตรวจสอบ ทำให้เจอเรื่องจริงว่า ผู้ตายถูกอะไรฟาดเข้าที่ศีรษะ จนมีกองเลือด แล้วค่อยเอาไปศพไปแขวนคอตาย เขาเลยให้ทำคดีใหม่ นี่เป็นคดีที่ผมยกตัวอย่างให้เห็น

เคสที่สอง ตอนที่พ่อผู้ร้องเรียนตาย เขายังเป็นนักศึกษากฎหมายอยู่ที่ธรรมศาสตร์ พ่อเขามีปัญหากับ อบต. พอไปแจ้งความ ตำรวจก็ไม่รับแจ้งความ เลยมีการแจ้งความตำรวจอีกว่าตำรวจไม่ปฏิบัติหน้าที่ ตอนหลังพ่อเขาหายไป ทั้งที่ตอนห้าทุ่มลูกเขายังติดต่อพ่อเขาได้อยู่ แต่ 15 นาทีต่อมาหายไปแล้ว โดยที่โทรศัพท์พ่อเขาอยู่ที่สถานีตำรวจ 7 วันต่อมา พบรถพ่อเขาอยู่ที่โรงพยาบาล ลูกเขาเลยไปแจ้งตำรวจว่าเจอรถพ่อแล้วที่โรงพยาบาล แต่ตำรวจพูดเป็นเล่นว่าสงสัยไปว่ายน้ำเล่น คุณคิดดูเองล่ะกัน ทุกวันนี้ยังไม่มีใครเจอตัวพ่อเขาเลย

ที่ผ่านมา เวลาที่ใครมีปัญหากับตำรวจ เขาสั่งให้ทำสำนวนอย่างไรก็ได้ เขียนอย่างไรก็ได้ ซึ่งผมเชื่อว่ามีการแทรกแซงแน่นอน

ถามว่าเป็นเพราะอะไรล่ะ เพราะสอบสวนอยู่กับตำรวจ อยู่ในสถานีตำรวจเดียวกัน ก็ทำคดีไปสิ เขียนอะไรไปก็ได้ เพื่อให้มันจบไป อันนี้ไม่ใช่ว่าผมคิดเอาเองนะ แต่มีตำรวจมาเล่าให้ฟังว่า นายสั่งให้ทำคดีอย่างนี้ๆ เขาเลยมีความไม่สบายใจว่าที่จะต้องทำคดีในสิ่งที่นายต้องการ เห็นไหมว่าถ้าตำรวจจับผิดคน แล้วเป็นเรื่องเป็นราว พนักงานสอบสวนก็ต้องเขียนไปตามคนจับ เพราะเป็นเพื่อนกัน อยู่สถานีตำรวจเดียวกัน นี่คือปัญหา

นอกจากนั้น ยังมีคนที่ผมมองว่าโดนเรื่องยาเสพติดสองพันกว่าศพ ตายไปโดยที่มีการเขียนสำนวนให้เป็นเรื่องยาเสพติด เคสต่างๆ เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ามีการแยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ เพราะจะเป็นการคานอำนาจกัน ถ้าตำรวจจับคนร้ายมาไม่ถูกต้อง พนักงานสอบสวนก็ไม่สอบสวนให้คุณ หรือถ้าคุณสอบสวนไม่ถูกต้อง คนจับมาซวย เขาก็ต้องเล่นงานคุณ นี่จึงเป็นการคานอำนาจกันและกัน และเป็นการผดุงความยุติธรรมเบื้องต้น

อัยการเคยมาเล่าให้ผมฟังว่า ตำรวจเขียนสำนวนสวยหรู อัยการอ่านส่งศาล สำนวนก็หลุดหมด เพราะที่ตำรวจเขียนมามันไม่มีตัวตน บางคนก็ใส่ชื่อผิด มันเป็นการค้าสำนวนเท่านั้น ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็เพราะนายสั่ง เป็นเรื่องที่เราอาจจะนั่งยิ้มหัวเราะกันได้ แต่คุณต้องไปดูคนต่างจังหวัดว่าเขาปวดหัวแค่ไหนกับพฤติกรรมตำรวจเลวๆ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ผมก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว

ถ้ามีโอกาสบอกตำรวจเลวๆ เหล่านั้นได้ ผมอยากจะบอกว่า “เลิกเลวเสียที” เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ แต่อย่าไปพูดถึงเขาเลย เพราะเขาไม่มีทางทำได้หรอก ตำรวจเลวๆ สามารถเอาชีวิตเราได้ เพื่อความก้าวหน้า คุณไม่มีราคาในสายตาของเขาหรอก

คิดอย่างไรที่แนวคิดแยกพนักงานสอบสวนออกจาก สตช. ดูเหมือนจะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

ผมมองว่าเป็นธรรมดาที่จะมีเสียงคัดค้าน ส่วนใหญ่จะเป็นพวกตำรวจที่สูญเสียอำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาไม่อยากสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ในฐานะที่ผมเป็นสมาชิก สปช. (สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ) และทำเรื่องนี้ ผมก็จะทำ ผมถือว่าได้ทำจบแล้วที่งาน สปช. แต่ว่าในภาคประชาชน ผมยังไม่จบ ผมจะบอกให้ประชาชนรู้ว่า สิ่งนี้กำลังจะเป็นอย่างนี้ เรากำลังทำให้ท่านอยู่ ควรจะเป็นอย่างนี้นะ ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นความต้องการของคุณ ก็ให้บอกนายกฯ ว่า การปฏิรูปตำรวจมันควรจะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้และเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด

ที่ผ่านมา ประชาชนได้รับเคราะห์กรรมมากมาย คุณลองไปดูสถานีตำรวจ หรือทัณฑสถานทั้งหลายสิ ส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนยากคนจนทั้งนั้น เพราะคนพวกนี้จะถูกทำเหมือนแพะบูชายัญ เพื่อให้คดีจบ เพื่อให้รับผิดแทนคนนั้นคนนี้ คุณจำคดีเชอรี่ แอน ได้ไหม คนตายไปเท่าไหร่ สาเหตุก็เพราะพนักงานสอบสวนและคนจับทำงานด้วยกัน ทำให้ทุกอย่างเป็นอย่างนี้ไปหมด แล้วเราจะให้วิญญาณคนพวกนี้ไปเกิดอย่างสุคติได้อย่างไร

เห็นมีเสียงแย้งว่า ถ้าให้แยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ จะต้องมีค่าใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการตั้งสำนักงานใหม่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

เรื่องนี้เป็นการโกหกกัน เพราะพนักงานสอบสวนยังคงทำงานที่เดิม เพียงแต่ว่านายคนละคนกันเท่านั้นเอง นายเขาจะไม่ใช่ผู้กำกับแล้ว ฉะนั้นคนที่พูดเรื่องนี้ พูดเพื่อหลอกให้เห็นว่าไม่น่าจะแยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ ทั้งที่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกันเลย ไม่จำเป็นว่าต้องใช้งบประมาณสร้างสำนักงานขึ้นมาใหม่ เพราะพนักงานสอบสวนก็ยังอยู่ในสถานีตำรวจนั่นแหละ เพียงแต่การแยกพนักงานสอบสวนออกจากตำรวจ เพื่อจะทำให้ตำรวจไม่มีอำนาจบังคับพนักงานสอบสวนเท่านั้นเอง

พูดง่ายๆ คือ ผู้บังคับบัญชาของพนักงานสอบสวนจะไม่ใช่ผู้กำกับแล้ว แต่ผู้บังคับบัญชาจะเป็นของพนักงานสอบสวนโดยตรง ซึ่งเราตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรใหม่ขึ้นมา ฉะนั้นการที่เอาเรื่องพวกนี้มาพูดนั้น เขาพูดเพื่อให้ดูน่ากลัว พูดเพื่อให้ดูว่าวิธีนี้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลยครับ มีคนเคยถามผมว่า “แล้วอย่างนี้จะอยู่กันได้เหรอ” ถามว่าคุณจำได้ไหมว่าเมื่อสมัยคุณเด็กๆ ในสำนักงานเขตหนึ่งๆ สรรพากร ที่ดิน ก็อยู่ในที่เดียวกันได้ เพราะเป็นสถานที่ของราชการ เป็นที่ของรัฐ เขาก็อยู่รวมกันได้ ดังนั้นสำนักงานตำรวจก็เหมือนกัน อีกหน่อยก็จะค่อยๆ พัฒนาต่อไป การที่มาบอกว่าอย่างนี้ไม่เหมาะ ทั้งที่คุณยังไม่ได้เริ่มเลย แล้วอย่างนี้คุณจะก้าวต่อไปได้อย่างไร

แล้วมีเรื่องไหนที่คุณคิดว่าสมควรจะปฏิรูปโครงสร้างตำรวจอีก

ผมคิดว่าเรื่องปฏิรูปโครงสร้างตำรวจเป็นสิ่งที่ประเทศศิวิไลซ์ทำกัน ประเทศเหล่านั้นเขาไม่เอาตำรวจจราจรมาอยู่กับตำรวจ มันควรจะให้ไปอยู่กับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น อย่าง กทม. จะต้องรับเอาตำรวจจราจรเข้าไป คุณคิดว่าถ้างานจราจรเป็นของ กทม. มันจะต้องดีขึ้น เพราะถ้าผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ทำไม่ดี สมัยหน้าก็จะไม่ได้เป็นผู้ว่าฯ อีก คนก็จะต้องแช่งชักหักกระดูก ดังนั้นหากให้ตำรวจราจรมาอยู่กับหน่วยงาน กทม. มันจะเป็นการแก้ไขอย่างครบวงจร ทุกอย่างจะต้องดีขึ้น

นอกจากนั้นผมมองว่าอะไรที่ไม่ควรเป็นหน้าที่ของตำรวจ ก็สมควรคืนให้เขาไป เช่น สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจควรจะมีหน้าที่ป้องกัน ปราบปรามและจับกุมเท่านั้น แล้วตำรวจจะเป็นที่รักของประชาชน ผมทำถึงขนาดเชิญกรมบัญชีกลาง ถามเรื่องใบเสียภาษีที่ผ่านมาอย่างพรรคการเมือง ถ้าประชาชนชอบคนไหนก็จะบริจาคให้พรรคการเมืองอย่างนั้นนั้นใช่ไหม เราก็น่าจะให้ทำอย่างนี้ด้วย คือ เอาตำรวจเข้าไปด้วย ถ้าประชาชนชอบผลงานของตำรวจที่ไหน ก็สามารถบริจาคเงินให้ตำรวจที่นั่นได้ จะได้เป็นการตรวจสอบด้วยว่าตำรวจทำงานดีหรือไม่ดี แล้วตำรวจจะได้ตรวจสอบตัวเองด้วยว่า ถ้าจังหวัดของตัวเองบริจาคน้อย แสดงว่าตัวเองแย่ล่ะ ทำงานไม่เป็นที่ประทับใจของประชาชน ฉะนั้นเราก็ควรจะทำอย่างนี้ แล้วรายได้ส่วนนี้จะสามารถนำมาช่วยเป็นค่าน้ำมันของตำรวจในพื้นที่หรือจังหวัดของตนเองได้ ตรงนี้เราพยายามคิดและทำออกมาเป็นโครงสร้าง เพื่อเสนอออกไป

ดูเหมือนว่าเวลานี้รัฐบาลหรือ คสช. กำลังเบรกการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจขึ้นมา รู้สึกอย่างไร

ผมฟังคุณไก่อู (พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี) พูดแล้วรู้สึกตลกมาก ตลกจริงๆ ที่บอกว่าไม่ปฏิรูปตำรวจ เพราะตอนนี้ตำรวจทำงานดี รับใช้การเมืองอย่างเคร่งครัด ผมสงสัยว่าเขาเอาตรรกะอะไรมาพูด พูดอย่างนี้เสียชื่อทหารหมด คุณดูสิว่ามียุคไหนที่ตำรวจไม่รับใช้นักการเมืองบ้าง การเมืองเลว มันก็รับใช้การเมืองเลว การเมืองดี มันก็ดี เพราะฉะนั้นถ้าพูดอย่างนั้น รัฐบาลนี้ต้องอยู่ร้อยปีไหมล่ะ ตำรวจจะได้ดีทั้งร้อยปี ประชาชนจะได้รับผลดี

คุณลองไปถามคุณไก่อูดูสิ ถ้าเปลี่ยนเป็นรัฐบาลเลว มันก็ต้องเลวตาม สมัยทักษิณ 2,500 ศพ และตายอีกทางใต้เท่าไหร่ ฝีมือตำรวจทั้งนั้น ดังนั้นตำรวจเลวๆ รับใช้การเมือง เพื่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเอง ตอนนี้สมมติ คสช. ดี ตำรวจก็ต้องดี ดังนั้นถามคุณไก่อูว่าจะให้ คสช. อยู่เป็นร้อยปีไหมล่ะ ประชาชนจะได้รับผลดีไปด้วย

แล้วไม่ใช่มาพูดว่าตำรวจรับใช้การเมืองดี ควรจะพูดว่า “ตำรวจรับใช้ประชาชน” ถึงจะเป็นที่ยอมรับกันได้ ผมว่าคุณไก่อูคงพูดไปเองคนเดียว ลองไปถามประชาชนดูสิ ลองไปถามคุณไก่อูดูสิว่าตำรวจมีหน้าที่รับใช้รัฐบาล หรือรับใช้ประชาชน

ตำรวจควรจะต้องทำงานรับใช้ประชาชน มีตำรวจหลายประเทศที่ได้รับการโหวตว่าเป็นที่รักของประชาชน แต่นั่นเพราะตำรวจมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามและจับกุมเท่านั้น ฉะนั้นถ้าหากยังมีตำรวจสอบสวนอยู่ในตำรวจอยู่ มันก็จะยังมีบ่อนอยู่ คุณคิดเอาเองล่ะกันว่า การที่คุณจะมาสกัดกั้นไม่ให้มีการปฏิรูปเกิดขึ้น คุณจะเอาเรื่องนี้ไปทดแทนความตายของคนเหรอ

คุณทำงานอยู่ในออฟฟิศ ส่วนผมเป็นคนที่เดินอยู่บนถนนราชดำเนิน เราไม่เคยเห็นเรื่องพวกนี้ว่ามีคนตายกันมากเท่าไหร่แล้ว แล้วพวกเขาเคยรับผิดชอบกันบ้างไหม และมันก็จะต้องเกิดขึ้นอีก

คิดว่าการที่รัฐบาลเบรกการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ เพราะต้องการรอมชอมกับฝ่ายตำรวจหรือเปล่า

ผมไม่ทราบ แต่คิดว่าเรื่องนี้ไม่มีทางทำได้เด็ดขาด ถ้ามีการปฏิรูปจริงๆ ตำรวจจะมีปัญหาได้อย่างไร เพราะตำรวจเป็นข้าราชการ แล้วเราทำเพื่อประชาชน เราไม่ได้ต้องการปรับปรุงตำรวจ เพื่อให้เป็นลูกน้องทหาร เราปรับปรุงตำรวจ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด เพราะฉะนั้นไม่เห็นจำเป็นต้องกลัวอะไรเลย

ดังนั้นตอนนี้ไม่ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่ ผมก็จะยังทำงานของผมไป ทำกฎหมายลูกออกมา ผมเป็นสมาชิก สปช. แล้ว สปช. คือ สภาปฏิรูป ดังนั้นผมก็จะทำงานปฏิรูปต่อไป และจะพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูป แล้วหลังจากนี้ความผิดไม่ใช่ของผม เพราะผมได้พยายามผลักดันแล้ว ส่วนใครไม่ทำ หรืออะไรที่จะเกิดขึ้นต่อไป คนนั้นก็ต้องรับผิดชอบต่อไป

ตอนนี้รัฐบาลหรือ คสช. มีคำสั่งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงไม่น้อย คิดว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่

ที่โยกย้าย เพราะเขามีความผิด ไม่ใช่ว่าเห็นว่าการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการทำงานเข้มงวดกวดขัน ทั้งที่มันเป็นเรื่องธรรมดาเลย ถ้าไม่ย้าย ก็สมควรจะย้าย ผบ.ตร. ด้วย เพราะเห็นผิดแล้วไม่ลงโทษ ดังนั้นการโยกย้ายจึงเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่การจะมาบอกว่าเป็นการทำงานแข็งขัน ความจริงสมควรจะโดนย้ายด้วย เพราะที่ผ่านมาจับไม่ได้ มีการปล่อยปละละเลย ก็สมควรโดนโยกย้ายด้วย

ตอนนี้เราอยากให้เห็นว่าถ้าสื่อ ประชาชน หรือนักเคลื่อนไหวทั้งหลายเห็นว่าเรื่องนี้สมควรปฏิรูปโครงสร้างตำรวจ ก็ควรจะออกมาได้แล้ว มันถึงเวลาที่จะแสดงตัวตน และทำเพื่อประชาชน มีประชาชนมากมายกำลังรับกรรมอยู่ ดังนั้นถ้าหากเลยจุดนี้ไป ไม่มีการปฏิรูป ประชาชนเหล่านั้นก็จะต้องรับกรรมต่อไป แล้วเราจะทำอย่างนั้นเหรอ

ถ้ารัฐบาลไม่อยากทำ ผมก็ไม่อยากไปตำหนิเขา แต่ผมในฐานะประชาชน ก็จะเดินหน้าให้ความรู้เรื่องนี้แก่ประชาชนต่อไป รวมถึงทำให้เห็นว่าการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจควรจะเกิดขึ้นมา แล้วคนที่ผมเห็นว่าจะแสดงพลังออกมาได้ ก็คือประชาชน ซึ่งจะต้องแสดงออกมาว่าต้องการทำแบบนี้ เพื่อการปฏิรูปจะได้เกิดขึ้นต่อไป

ภาพโดย ศิวกร เสนสอน





กำลังโหลดความคิดเห็น