xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

สุรพงษ์ ชัยนาม “ รัฐบาลพม่าคือรากเหง้าความชั่วร้ายของปัญหาโรฮีนจา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ณ เวลานี้ ปัญหาชาวโรฮีนจาถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่ถูกนานาชาติกดดันให้แก้ไขและช่วยเหลือชาวโรฮีนจา จนกลายเป็นเรื่องน่าห่วงว่า ประเทศไทยควรจะช่วยเหลือมากแค่ไหน จึงจะรักษาความมั่นคงของชาติไว้ได้ และไม่ได้ไร้มนุษยธรรมจนเกินไป

“สุรพงษ์ ชัยนาม” อดีตเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไข ตลอดจนวิพากษ์คำว่า “มนุษยธรรม” และ “สิทธิมนุษยชน” ได้อย่างน่าสนใจ โดยเขาบอกว่า “คำว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีไว้เพื่อฝ่าฝืนกฎหมาย”

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ต้องตามฟังเขาวิเคราะห์และวิจารณ์

- คุณสุรพงษ์คิดอย่างไรในเรื่องปัญหาชาวโรฮีนจา แท้จริงแล้วรากเหง้าปัญหานี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

เรื่องนี้มีผลกระทบต่อประเทศไทยตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2550 ก่อนหน้านั้นอาจจะมีโรฮีนจามา 20-30 คน แต่มันไม่ได้มีผลกระทบอะไรต่อประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ หรือสังคมไทย แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ปัญหานี้เข้ามาเป็นระลอกๆ ต้นตอหรือรากเหง้าปัญหามาจากระบบการเมืองการปกครองของพม่าเอง ซึ่งปัญหาชนกลุ่มน้อยของพม่านั้น ถือเป็นปัญหามายาวนาน ตั้งแต่ก่อนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ โดยที่อังกฤษมีนโยบายสนับสนุนชนกลุ่มน้อย เพื่อคานอำนาจคนเชื้อชาติพม่า ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นพอรัฐบาลพม่าได้รับเอกราช รัฐบาลพม่าก็ใช้วิธีการเดียวกับอังกฤษคือ ใช้คนกลุ่มน้อยด้วยกันเองมาคานอำนาจ ทำให้ปัญหาชนกลุ่มน้อยยังมีอยู่

โรฮีนจาถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในรัฐที่เรารู้จักกันดีว่า “รัฐยะไข่”ซึ่งรัฐยะไข่จะมีคนสามกลุ่มคือ คนยะไข่ คนโรฮีนจา และคนเบงกาลี โดยคนยะไข่และคนเบงกาลีนับถือศาสนาพุทธ ส่วนคนโรฮีนจานับถืออิสลาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตั้งแต่ได้รับเอกราชมา พม่าไม่เคยมีนโนบายแก้ปัญหาโดยสันติวิธี หมายความว่าไม่เคยเจรจาอย่างสันติวิธีกับปัญหาขัดแย้งที่รัฐบาลกลางพม่ามีต่อคนกลุ่มน้อย

ในขณะเดียวกันคนกลุ่มน้อยก็ไม่ได้มีนโยบายและท่าทีเหมือนกัน บางกลุ่มก็เรียกร้องแบ่งแยกดินแดน บางกลุ่มก็ต้องการมีสิทธิในการปกครองท้องถิ่นของตนเอง ดังนั้น จึงมีชนกลุ่มน้อยต่างๆ มากมายหลากหลาย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ไม่เคยมีนโนบายเป็นแนวร่วมหรือเจรจากับรัฐบาลพม่า ซึ่งพม่าก็รู้ และสร้างวิธีให้แตกแยกไปเรื่อยๆ เพื่อจะปกครองได้ง่ายขึ้น ทำให้คนกลุ่มน้อยที่มีปัญหาขัดแย้งกันเกิดอ่อนแอลง เวลามาเจรจากับพม่า ดังนั้นจะเห็นได้ว่าพม่าไม่เคยมีนโยบายยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี มีแต่นโยบายกำจัดและเอาชนะคนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่พม่ามองว่าเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ ซึ่งพม่าจะดำเนินการโดยใช้วิธีการทหารอย่างเดียว คิดแต่ว่าจะเอาชนะให้ได้ แต่ 70 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่เคยเอาชนะได้เลย นี่เป็นปัญหาที่คาราคาซัง

นอกจากนั้น การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยนั้น พม่าใช้ปัจจัยศาสนามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความแตกแยกของชนกลุ่มน้อย โดยเขาสร้างแนวร่วมกับกลุ่มชนที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่ทำร้ายชนกลุ่มนี้ ดูแลกลุ่มนี้ จากนั้นใช้กลุ่มนี้ขัดแย้งกับกลุ่มศาสนาอื่น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในรัฐยะไข่ เวลาชาวเบงกาลี และชาวยะไข่ ซึ่งเป็นพุทธ มีปัญหากับชาวโรฮีนจาที่เป็นมุสลิม ทำให้ชาวโรฮีนจาตายเป็นจำนวนมาก รัฐบาลพม่าจะทำเป็นปิดตาไม่รู้ แล้วพอชาวโรฮีนจาตายหรือหลบหนีออกไป เขาก็เอาคนยะไข่เข้าไปอยู่แทน นี่เองจึงเป็นวิธีการบริหารจัดการกำจัดชาติพันธุ์อย่างเป็นระบบของรัฐบาลพม่า จึงกล่าวได้ว่า รัฐบาลพม่าคือรากเหง้าความชั่วร้ายของปัญหาโรฮีนจา

พม่าปราบปรามโรฮีนจามาโดยตลอดและเป็นช่วงๆ มีช่วงที่ปราบปรามครั้งใหญ่สองรอบ คือ ช่วงปี พ.ศ. 2521 และ พ.ศ. 2544 ครั้งแรกปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างรุนแรง จนชาวโรฮีนจาหนีไปสองแสนคน โดยหนีไปฝั่งบังคลาเทศ ส่วนครั้งที่สอง ชาวโรฮีนจาหนีไปสองแสนห้า ต้องเข้าใจว่าชาวโรฮีนจาส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในบังคลาเทศ

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อชาวโรฮีนจาหนีภัยไปอยู่ที่บังคลาเทศจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลบังคลาเทศไม่สามารถแบกรับภาระอันนี้ได้ จึงให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติ หรือ UNHCR เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณ ปัจจัยสี่ทั้งหลายและสร้างค่ายพักพิงชั่วคราว เพื่อให้คนเหล่านี้อยู่อาศัย เจตนาของการมีค่ายพักพิงคือ เมื่อรัฐยะไข่สงบ คนเหล่านี้จะสามารถกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมได้ และสามารถใช้ชีวิตแบบปกติได้ แต่ปรากฏว่ามันไม่เคยสงบเลยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เรื่องนี้มามีผลกระทบต่อไทย เมื่อชาวโรฮีนจาที่หนีไปอยู่บังคลาเทศ และอยู่ในค่ายพักพิงเหล่านั้นไม่ค่อยมีความสุข เพราะเรื่องสาธารณสุข ความสะอาด หรือที่พักอาศัยไม่ค่อยดีนัก จึงทนอยู่ไม่ได้ เลยหนีออกมาจากค่าย เพื่อหาทางไปอยู่ที่อื่น เมื่อหนีไปจากค่าย ก็ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่หลวงขึ้นมาคือ เจ้าหน้าที่ของบังคลาเทศก็รีดไถ และหลับหูหลับตาให้ชาวโรฮีนจาหลบหนีออกมาจากค่ายได้ จนกระทั่งทำให้เกิดขบวนการที่เรียกว่าค้ามนุษย์ขึ้นมา

แล้วไม่ใช่ว่าพวกเขาจะเดินทางช่วงไหนก็ได้ แต่มันเกี่ยวข้องกับฤดูกาล ช่วงมรสุม เรือแจวพวกนี้ไม่สามารถเดินทางได้ ฉะนั้นชาวโรฮีนจาจึงต้องเลาะฝั่งมาเรื่อยๆ เพื่อหลบเลี่ยงพายุ โดยไล่มาจากบังคลาเทศ พม่า ผ่านมาถึงไทย จุดที่ผ่าน มีหรือที่พม่าไม่รู้ว่าคนพวกนี้มา ก็ต้องหาทางรีดไถ จนมาถึงฝั่งไทย ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา แต่พอมาเป็นจำนวนมาก ก็เกิดพวกหัวใส นักเลงหัวไม้ เจ้าหน้าที่บ้านเมือง หรือคนที่คิดจะทุจริตคิดทำขบวนการนี้เกิดขึ้น กลายเป็นขบวนการรับช่วงมาเรื่อยๆ พอรับมาขึ้นฝั่ง จากใต้ก็มีรถรับส่ง ไปภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคไต้ มีปล่อยไปตามโรงงานต่างๆ แสดงให้เห็นว่ามีเครือข่ายขนาดใหญ่ขึ้นมาในไทย จึงกลายเป็นปัญหาขึ้นมา

เมื่อ 20 ก่อน ชาวโรฮีนจาไม่คิดอยากมาไทย เขาอยากไปมาเลเซีย อินโดนีเชีย เพราะรู้สึกว่าเป็นประเทศมุสลิมเหมือนกัน ซึ่งเมื่อก่อนสองประเทศนี้ก็รับเอาชาวโรฮีนจาไว้ เพราะเห็นเป็นพี่น้องชาวมุสลิมด้วยกัน แต่ตอนนี้เขารับไม่ไหวแล้ว จึงหยุดรับมานานสิบกว่าปีแล้ว แล้วพอชาวโรฮีนจาถูกผลักดัน จึงคิดมาเมืองไทย เพราะเมืองไทยไม่เคยคิดไปผลักดันเขา พอเข้ามาเป็นร้อย เป็นพัน เป็นหมื่น ก็มีกลุ่มมาเฟีย กลุ่มเจ้าหน้าที่คิดสร้างเครือข่ายค้ามนุษย์ขึ้นมา จนมันกลายเป็นเครือข่ายใหญ่ขึ้นมา ฉะนั้นศพที่เจอในป่า อาจจะเป็นคนอยู่ในค่ายที่สร้างขึ้นมาอย่างหยาบๆ ในป่า เพื่อให้อยู่และรีดไถคนพวกนี้ว่า ถ้าอยากทำงานที่นี่ ถ้าได้เงินเดือนเท่านี้ จะต้องแบ่งให้เท่าไหร่ บางคนชาวโรฮีนจาไม่สามารถทนได้ ก็เลยโดนทุบ โดนทรมาน หรือบางส่วนอาจจะเสียชีวิต เพราะขาดแคลนอาหาร

- ทำไมประเทศต่างๆ จึงปฏิเสธที่จะรับเอาชาวโรฮีนจาไป

ผมคิดว่าเหตุผลคงเป็นเพราะชาวโรฮีนจาเป็นแรงงานที่ไร้ฝีมือ ไม่มีประโยชน์อะไร และเขารู้ว่าจะเป็นภาระทางสังคม ภาระทางเศรษฐกิจ

-แล้วการเข้ามาของชาวโรฮีนจา ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง

ในอดีต เวลาที่โรฮีนจาหวังจะเข้ามาขึ้นฝั่งในไทย รัฐบาลไทยกลายเป็นเรื่องใหญ่โตและตกเป็นข่าวใหญ่ของสื่อต่างประเทศว่า กองทัพเรือของไทยไร้มนุษยธรรม ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน ใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮีนจาและทำให้เรือเขาล่ม อันนี้เป็นการกล่าวหาและใส่ร้ายป้ายสีกองทัพเรือ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายตอนนั้น เรารู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น จึงไม่ให้ชาวโรฮีนจาขึ้นฝั่ง แต่เราช่วยเหลือเขาในแง่มนุษยธรรม ชาวโรฮีนจาอยากไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย เราก็ให้น้ำ ให้อาหาร ให้หยูกยา ขณะเดียวกันก็ผลักให้เขาออกไป แต่ไม่ได้มีคำสั่งให้ทำร้ายเขา ให้ฆ่าแกง หรือทำให้เรือเขาล่ม

แน่นอนเรารู้ว่าฝ่ายตะวันตก สื่อตะวันตก หรือรัฐบาลตกเอาเรื่องนี้มาใส่ร้ายรัฐบาลไทย เพราะช่วงปี 2540 เป็นรัฐบาล คมช. ของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ฝั่งตะวันตกไม่ได้ชอบรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ แต่เขาต้องการใครกลับมา คุณก็รู้ ทุกวันนี้ตะวันตกก็มีท่าทีสนับสนุนขั้วอำนาจเก่าที่หลุดไปตั้งแต่ 2549 แล้วพอมารัฐประหารครั้งนี้ เขาก็ไม่พอใจ เลยต้องการมาเล่นงานรัฐบาล คสช. ของพลเอกประยุทธ์ นี่คือส่วนหนึ่งของเกม ซึ่งต่างชาติเห็นว่าเป็นช่องทางในการสร้างความเดือดร้อนให้ประเทศไทย กดดันให้ประเทศไทย ดังนั้นเขาก็จะทำ เพื่อดิสเครดิต หรือลดความน่าเชื่อของรัฐบาลไทย นี่คือผลกระทบอีกด้านของการเข้ามาของชาวโรฮีนจา

นอกจากนั้นแล้ว การที่คิดว่า ถ้าเราเอาโรฮีนจาเข้ามา อาจจะมีนานาชาติเข้ามาช่วยเหลือเรื่องเงินทอง เราไม่ได้เสียเงินหรอก มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เพราะถ้าเรารับเขาเข้ามาแล้ว พอจะผลักดันออก ถ้าเขาไม่ยอม เราก็ทำไม่ได้ แล้วถ้ามีค่ายผู้อพยพชั่วคราว มันไม่เคยชั่วคราว คุณอย่าลืมว่าเราเคยมีค่ายอพยพอย่างนี้ในไทยมาแล้ว เช่น ค่ายอพยพของชาวกัมพูชา ที่ตอนหลังกลายเป็นค่ายถาวรไป

แล้วถ้าเรารับชาวโรฮีนจาเข้ามา อาจจะทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการไทยอย่างมโหฬาร เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วในสมัยเราดูแลเขมรอพยพ เวียดนามอพยพ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐบาลก็รู้ดี แล้วเรายังจะเอาอย่างนี้อีกหรือ

- คิดอย่างไรที่ นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา และนายบัน คี มูน เลขาธิการ สหประชาชาติหรือ UNโทรมาหารัฐบาลไทย เพื่อกดดันให้ช่วยเหลือชาวโรฮีนจา

นายจอห์น แคร์รี และนายบัน คี มูน โทร.มาหารัฐบาลไทยว่าให้เห็นใจชาวโรฮีนจา บอกให้ช่วยสร้างค่ายพักพิงชั่วคราวก่อน โดยอ้างว่าจะทำให้ประเทศไทยมีภาพพจน์ดี เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ เห็นแก่มนุษยธรรม คือ เอาตรงนี้มาป้อยอเรา

ผมมองว่าในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถือว่ามีประสบการณ์โดยตรงและมากที่สุดเกี่ยวกับผู้อพยพ ค่ายอพยพ และผู้พลัดถิ่นทั้งหลาย เพราะในอดีตเราเจอแล้วในเหตุการณ์สงครามเวียดนาม ชาวเวียดนามหนีเข้ามาไทย ตอนเวียดนามรบกับเขมรแดงนานถึง 10 ปี ชาวเขมรก็หนีมาฝั่งไทยหมด ประเทศไทยมีค่ายผู้อพยพที่เรียกว่าค่ายอพยพชั่วคราวมากมาย มีผู้อพยพมากถึงสี่แสนคน และมันก็ไม่เคยเป็นค่ายชั่วคราว เพราะมันกลายเป็นค่ายถาวร กว่าจะหมดกลุ่มพวกนี้ เราต้องใช้เวลามากถึงสามสิบปี ดังนั้นประเทศไทยจึงมีประสบการณ์มากในเรื่องนี้ ดังนั้นเราควรจะสรุปบทเรียนให้เป็นว่า ถ้าเผลอไปรับเมื่อไหร่ มันจะไม่ใช่ค่ายชั่วคราวและจะยาวนานเป็นทศวรรษ

ประเด็นที่สองคือ ถ้าสมมุติเรารับชาวโรฮีนจาเข้ามา โดยคิดมักง่าย คิดว่ารับเข้ามา ก็ไม่ได้ใช้เงินไทย แต่ใช้เงินต่างชาติมาสร้างค่ายเหล่านี้ ถ้าเราคิดตื้นๆแค่นี้ โดยไม่มองผลที่ตามมาว่าจะเป็นอย่างไร เราจะเกิดผลกระทบมาก

นอกจากนั้นถ้าเรารับชาวโรฮีนจาเข้ามาแล้ว เท่ากับว่าติดกับดักในแง่ของกติกาสากล เพราะกฎกติกาสากลจะตีกรอบบังคับรัฐบาลเจ้าภาพ ซึ่งในที่นี่คือ ประเทศไทย ว่าคุณได้รับการช่วยเหลือจากสหประชาชาติ เกี่ยวกับการสร้างค่ายพักพิงชั่วคราว เพื่อดูแลชาวโรฮีนจา กฎกติกาคือ พอรับเข้ามา คุณไม่สามารถผลักดันชาวโรฮีนจาออกไปได้ คือ สามารถกดดันได้ถ้าชาวโรฮีนจายินยอม แต่ถ้าชาวโรฮีนจาไม่ยอม เราจะไม่สามารถผลักดันชาวโรฮีนจาออกนอกประเทศได้ นี่คือประเด็นสำคัญ

อีกเรื่องที่เราต้องระวังมากคือ รัฐบาลไทยสร้างค่ายพักพิงที่เรียกว่าชั่วคราวขึ้น ก็เท่ากับว่าคุณส่งเสริมให้ชาวโรฮีนจาเข้ามาอีก เพราะพวกเขารู้แล้วว่าอาหารก็มี หยูกยาก็มีแล้ว ที่พักก็มีแล้ว เท่ากับว่าคุณส่งเสริมปัจจัยดึงดูด เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลไทยต้องการแก้ปัญหานี้ ก็ไม่ควรสร้างปัจจัยดึงดูด แต่ให้สร้างปัจจัยผลักดัน คือ ไม่อนุญาตให้ชาวโรฮีนจาขึ้นฝั่งเลย ให้พวกเขากลับไปเลย หรือถ้าเขามาทางบก ก็ผลักดันออกไป หรือถ้าเข้ามาแล้ว ตามหลักถือว่าพวกกลุ่มเหล่านี้ เข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย ก็ให้ขึ้นศาลว่าเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย อันนี้คือสิทธิอันชอบธรรมของประเทศไทย ที่เราสามารถทำได้

- รู้สึกอย่างไรที่นานาชาติกดดันประเทศไทยว่า การไม่ช่วยเหลือชาวโรฮีนจา เท่ากับไร้มนุษยธรรมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน

ต่างชาติบอกว่าถ้าเราไม่ช่วย เท่ากับไร้มนุษยธรรม เราไม่เคารพสิทธิมนุษยชน แต่เรื่องนี้ต้องเข้าใจว่าการแก้ปัญหา ควรจะเข้าใจปัญหาก่อนและตกผลึกปัญหาให้ได้ จึงจะแก้ปัญหาได้ถูกต้อง

สิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเข้าใจ คือ คำว่า “สิทธิมนุษยชน ไม่ได้มีไว้เพื่อฝ่าฝืนกฎหมาย เมื่อก่อนกองทัพเรือถูกกล่าวหาว่าไร้มนุษยธรรม เพราะไม่ให้ชาวโรฮีนจาขึ้นฝั่ง แต่ต้องเข้าใจว่า เราจะถูกกล่าวหาว่าไร้สิทธิมนุษยชนได้ ถ้ากองทัพเรือเราไปลากคอคนพวกนี้มาทุบตี เอาปืนยิงเรือเขาล่ม หรือทหารเรือไปผลักเขาลงน้ำ อย่างนี้เรียกว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ถ้าเราไม่ให้เขาขึ้นฝั่ง แถม ยังให้หยูกยา ให้อาหารด้วย นี่ไม่เรียกว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่ตรงกันข้ามว่า นี่คือการปฏิบัติเยี่ยงมนุษยธรรม ฉะนั้นต้องเข้าใจว่า “คำว่าสิทธิมนุษยชนไม่ได้มีไว้เพื่อฝ่าฝืนกฎหมาย”

สิทธิมนุษยชนหมายความว่า เราเคารพเขาในฐานะเป็นมนุษย์ด้วยกัน แต่ไม่ใช่ว่าพอชาวโรฮีนจามาแล้ว ไทยไม่ให้ขึ้นฝั่ง เราให้ยา ให้อาหาร แล้วต่างชาติมาบอกว่าเราขัดขวางไม่ให้พวกนี้ขึ้นฝั่ง คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชน มันไม่ใช่ นี่คือแผ่นดินไทย เรามีกฎหมายไทย ถ้าคุณอยากเข้าประเทศไทย คุณก็ต้องเข้ามาช่องทางอย่างถูกกฎหมาย แต่นี่คุณเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายแล้วยังมาอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน หาว่าเราไม่ให้เข้าประเทศ ถือว่าเราไร้มนุษยธรรม อย่างนี้ไม่ถูกต้อง

ทุกวันนี้ผมเห็นว่ารัฐบาลไทยยังไม่เข้าใจประเด็นนี้ ต้องเข้าใจประเด็นนี้ก่อน ฉะนั้นการที่นายจอห์น แคร์รี หรือ นายบัน คี มูนโทรมา คุณก็บอกเขาไปสิว่า ทำไมสหประชาชาติ หรือสหรัฐอเมริกาไม่เคยพูดถึงรากเหง้าปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างที่ผมเล่าว่ารากเหง้าของปัญหาคือ รัฐบาลพม่า ความจริงสหประชาชาติควรจะต้องเรียกประชุม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับโลกใบนี้ทั้งโลก เรียกว่าเป็นปัญหาประดับโลก ไม่ใช่ปัญหาระดับอนุภูมิภาค เพราะฉะนั้นสหประชาชาติจะต้องเรียกประชุม และเอาพม่ามาเป็นจำเลย รวมถึงกดดันพม่าให้เคารพสิทธิมนุษยชนและแก้ปัญหาขัดแย้งที่ตนมีกับชนกลุ่มน้อย แต่สังเกตได้ว่าไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย เพราะตอนนี้ประเทศตะวันตกกำลังเข้าไปในประเทศพม่า เพื่อหาทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทำไมนายจอห์น แคร์รี หรือ นายบัน คี มูน ไม่โทรศัพท์ไปหาพม่าบ้างเลย ทั้งที่รากเหง้าปัญหามาจากพม่า เขาควรจะบอกว่า พม่าต้องยุติปัญหาขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย และรับเอาคนพวกนี้กลับไป

ถ้าพม่าไม่มีเงิน ประเทศอื่นก็สามารถช่วยเหลือได้ หรือจะให้ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วยเหลือทางเกษตรกรรม ทุกประเทศยินดีช่วยเหลือ ฉะนั้นหากจะต้องการแก้ไข ก็สมควรทำอย่างนี้

- แล้วรัฐบาลไทยควรจะสื่อสารกับนานาชาติถึงปัญหาชาวโรฮีนจาอย่างไร จึงจะถูกต้องที่สุด

ง่ายๆ คือ อย่าพูดเก่งด้วยการบริหารต่อมน้ำลาย รัฐบาลไทยควรจะแสดง ให้เห็นจริงๆ ว่าเรารับเอาชาวโรฮีนจาไว้ไม่ได้ โดยที่ทำเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ลมปาก สอง พอแสดงให้เห็นว่าเรารับไม่ได้แล้ว ก็ต้องเปิดเปิงอีกฝ่าย ที่มือถือสากปากถือศีลด้วย สาม การแสดงให้เห็นว่าเรามีจุดยืนและจุดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งก็ต้องมาจากการตกผลึก การใช้สมองคิด

นอกจากนั้น เราควรใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน หากเราเข้าใจแล้ว ก็จะทำให้เราแสดงจุดยืนได้ชัดเจนมากขึ้น กล่าวคือ คำพูดและการกระทำต้องสอดคล้องกันชัดเจน

เร็วๆนี้ รัฐบาลไทยจะมีการจัดประชุมนานาชาติ เกี่ยวกับการแก้ปัญหา
ชาวโรฮีนจา คุณคิดว่ารัฐบาลไทยควรจะแสดงบทบาทหรือแก้ปัญหา
เรื่องนี้อย่างไรบนเวทีนี้

รัฐบาลไทยควรจะจัดการให้มีการประชุมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การที่ไทยเรียกการประชุม แล้วสร้างภาพเหมือนที่ผ่านๆ มา แต่คุณจะต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้

แล้วรัฐบาลไทยสมควรแยกแยะให้ชัดเจนว่า พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนก็จริง แต่อย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องของอาเซียน คือ พม่าต้องการให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของอาเซียน เพื่อประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจะได้เข้ามารับผิดชอบด้วย เพราะพม่ามองว่าถ้าจะด่า ก็ต้องด่าอาเซียน อย่ามาด่าเขาคนเดียว เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องแยกแยะว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสมาชิกในอาเซียน แต่เป็นปัญหาและความเลวร้ายของพม่าเอง ตรงกันข้ามพม่าทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อของอาเซียนแปดเปื้อนมาจากการกระทำของคุณ เพราะคุณเป็นสมาชิกของอาเซียน ดังนั้นเราจะต้องบอกให้พม่ารู้ว่า อย่าคิดนะว่าอาเซียนจะต้องมารับผิดชอบการกระทำของคุณ อาเซียนไม่สามารถปกป้องคุณได้ แถมคุณยังสร้างปัญหาให้แก่ประเทศสมาชิกในอาเซียน คือ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย โดยที่ไทยได้รับผลกระทบที่สุด ฉะนั้นการที่คุณจะมาบอกว่าเราไม่มีสิทธิ์ยุ่งกับคุณ อย่างนี้ไม่ได้ เรามีสิทธิ์ยุ่งกับคุณ

ผมมองว่าประเทศไทยจะรักษาผลประโยชน์ของชาติได้ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลและคนไทยมีทั้งใจ กายและความคิดเป็นไท แต่ถ้าเรามีแค่ร่างที่เป็นไท แต่ใจและความคิดเป็นทาส มันก็ไม่มีประโยชน์

ตอนนี้ยังมีคนไทยบางส่วนเห็นว่าการไม่รับชาวโรฮีนจาเข้ามา คือ การไร้มนุษยธรรม นี่แสดงว่าประชาชนไม่เข้าใจว่า “ความเป็นไท” คืออะไร รัชกาลที่ 5 ทรงปลดปล่อยให้ทาสมาเป็นไทมานานแล้ว แต่ถ้าร่างเป็นไท แต่ใจ สมองและความคิดเป็นทาส มันก็ไม่เกิดประโยชน์แล้ว ทุกวันนี้พอนายบัน คีมูน เลขาธิการของสหประชาชาติโทร. มา ถ้าคุณก็โอนอ่อน ก็แสดงว่าคุณยังมีความคิดเป็นทาสอยู่นั่นแหละ ซึ่งใช้ไม่ได้

ต้องบอกว่าเวลาเรามีปัญหาระดับชาติ ความมั่นคงต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง มนุษยธรรมเป็นอันดับสอง จึงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

ภาพโดย ปัญญพัฒน์ เข็มราช






กำลังโหลดความคิดเห็น