อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
และ
ศาสตราจารย์ ดร นายแพทย์ อภิวัฒน์ มุทิรางกูร
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติด้านการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทย
ทางคณะได้ทำการศึกษาโครงการ 30 บาทรักษาได้ทุกโรค หรือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช โดยการวิเคราะห์ข้อมูลทั้งทางสถิติ และสอบถามจากผู้ปฎิบัติงาน ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ขนาดต่างๆ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ โรงพยาบาล และผู้ใช้บริการ ทำให้เราสามารถ สรุปได้ว่าโครงการ 30 บาท ที่บริหารจัดการโดย สปสช เป็นโครงการที่ดี ทำให้ผู้คนได้รับบริการฟรี แต่ทำให้เกิดปัญหาหลักๆ คือ 1. การขาดทุนของโรงพยาบาล และ 2. ภาระงบประมาณของประเทศโรงพยาบาลขาดทุนทั่วประเทศเป็นหลักแสนล้าน ทำให้คุณภาพงานบริการของ รพ เสื่อมลง ดูรายละเอียดได้ในwww.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045566
ผลกระทบจากโรงพยาบาลขาดทุนที่เห็นชัดและได้เกิดขึ้นแล้วคือ การขาดแคลนบุคลากรเมื่อเทียบกับภาระงานที่สูงขึ้น และการไม่มีงบประมาณมาจ่ายให้กับ บุคลากรที่ทางโรงพยาบาลต้องการเพื่อรองรับงานบริการจากโครงการ 30 บาท ทางคณะร่วมกับแหล่งข้อมูลมีความเป็นห่วงสถานการณ์นี้อย่างยิ่ง แหล่งข้อมูลที่เป็น พยาบาล ท่านหนึงถึงกับให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาล กำลังจะต้องเรียกใหม่ว่า “โรงไม่มีพยาบาล” ส่วนแหล่งข้อมูลที่เป็นแพทย์ ท่านหนึ่งเปรียบเทียบ โครงการ 30 บาท ว่าทำให้ โรงพยาบาลเป็น “นรก”
คณะผู้วิจัยได้พยายามมองหาทางออก โดยลองตั้งสมมติฐานว่าถ้าจะเพิ่มงบประมาณในส่วนนี้จะมีความเป็นไปได้ไหม ก็ได้คำตอบว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันถึงแม้ว่า สปสช ไม่คำนึงถึงการบริหารของ สปสช ที่ทำให้โรงพยาบาลขาดทุนภาระงบประมาณก็สูงขึ้นทุกๆปีจนน่าตกใจและน่าจะ กระทบปัญหาเศรษฐกิจของชาติ ในอนาคต www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031735
ทางคณะได้หวังว่าเมื่อได้แสดงข้อมูลแล้วสังคมจะรับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการให้แนวทางในการแก้ไขปัญหา คณะผู้จัดทำ ได้แก่ ผู้เขียนและ แหล่งข้อมูล ได้ช่วยกันรวบรวมสาเหตุของปัญหา และ แนวทางการแก้ไข โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนี้ www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000048860
เป็นที่น่าเสียใจ แทนที่ทาง สปสช และ น่าจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ทับซ้อนจะตระหนักถึงปัญหาแล้วออกมาช่วยกันพัฒนาแนวทางแก้ไข กลับออกมาตำหนิใครก็ตามที่เสนอแนวทางแก้ไข ในลักษณะที่สร้าง “จิตสาธารณะ” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจและน่าคิดและน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งว่า เหตุใดจึงมีความพยายามที่จะไม่ให้สังคมไทย ทราบถึงปัญหานี้
วิธีการหนึ่งที่ทาง สปสช นำมาอ้างว่างบประมาณที่ใช้ไม่เป็นปัญหาโดยเทียบสัดส่วนกับ GDP: Gross Domestic Product ยิ่งทำให้คณะผู้เขียนรู้สึกท้อแท้อย่างมากเพราะตระหนักชัดเจนว่าทาง สปสช ไม่ต้องการยอมรับปัญหาและจะไม่เป็นผู้นำในการแก้ป้ญหานี้
GDP: Gross Domestic Product นั้นคือผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ ซึ่งมาจาก การบริโภคของประชาชน การใช้จ่ายของรัฐบาล การลงทุน การส่งออก หักออกด้วยการนำเข้า ว่าง่าย GDP เป็นการวัดมูลค่าว่าในปีหนึ่งๆ ประเทศนั้นๆ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสักแค่ไหน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มีประโยชน์มากในทางเศรษฐกิจและทำให้คนคิดค้นวิธีวัด GDP ชื่อ Simon Kuznets ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มาแล้ว อันที่จริงประเทศไทยก็ใช้เงินเพื่อการรักษาพยาบาลเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับ GDP จริงๆ คือประมาณ 4% ของ GDP และสปสช ตลอดจนคณะกรรมการสปสช มักจะใช้ตัวเลขเหล่านี้ซึ่งอ้างโดยองค์การอนามัยโลกหรือปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมาเป็นข้ออ้างในการของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล อย่างต่อเนื่องทุกปี
อย่างไรก็ตาม GDP เป็นเงินของคนทั้งประเทศไม่ใช่เงินในกระเป๋าสตางค์ของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายของสปสช ในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นมาจากกระเป๋าสตางค์หรือเงินงบประมาณของรัฐบาลล้วนๆ ไม่ได้มาจากกระเป๋าเงินของประชาชนแม้แต่บาทเดียว และสปสช ก็มีหน้าที่แค่ขอเงินรัฐบาลมาใช้ในโครงการดังกล่าว ไม่ได้มีหน้าที่หาเงินใดๆ ข้อนี้แตกต่างจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องพยายามหาเงินรายได้อื่นๆ เช่น การเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการ การตั้งโรงพยาบาลแบบโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ การขอเงินบริจาคต่างๆ และการระดมทุน เป็นอาทิ เพื่อมาเกื้อหนุนคนจนที่ขาดแคลนค่ารักษาพยาบาลรวมถึงชดเชยการขาดทุนจากการรักษาคนไข้บัตรทองของสปสช ในขณะที่สปสช ไม่ได้ทำงานเหล่านี้เลย ดังนั้น สปสช ในทางบัญชีการเงินและบัญชีต้นทุนต้องถือว่าเป็นศูนย์ต้นทุน (Cost center) ซึ่งมีแต่ค่าใช้จ่ายไม่มีรายได้ใดๆ เข้ามา เรามาลองนึกถึงเมื่อเราเป็นเด็กๆ กันดีกว่าเวลาเราอยากได้อะไร เราก็ทำหน้าที่เหมือนสปสช อยากจะเลี้ยงข้าวเลี้ยงขนมเพื่อนก็ขอพ่อขอแม่ แบบเดียวกับสปสช นี่แหละ ถ้าอยากหน้าใหญ่ จะเลี้ยงเพื่อนในภัตตาคาร ก็ต้องขอเงินพ่อแม่มากๆ หน่อย ถ้าพ่อแม่ไม่มีและอยากจะได้หน้าหรือสปอยล์ลูกก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาให้ลูก
ที่แย่ไปกว่านั้น รัฐยังมีลูกหลายคนถ้าจะเปรียบเทียบ สปสช มีภาระใช้เงินมากที่สุด สำนักงานประกันสังคมซึ่งเป็นส่วนที่คนทำงาน แรงงาน ชนชั้นกลาง ผู้ประกันตนต้องทำงานหนัก และโดนหักเงินเดือนเข้ามาสมทบร่วมกับรัฐและนายจ้าง เพื่อเข้ากองทุนประกันสังคมไว้สำหรับรักษาพยาบาลยามป่วยไข้ ข้าราชการที่ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลโดยมีกรมบัญชีกลางเป็นผู้เบิกจ่ายเช่นกัน ทั้งนี้จากการศึกษาทำให้ประมาณการได้ว่ากำไรที่โรงพยาบาลสธ ได้รับจากผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมและข้าราชการยังมีส่วนอุดหนุนข้ามประเภท (Cross-subsidization) อีกไม่น้อย เพื่อมาชดเชยการขาดทุนจากการให้บริการผู้ป่วยบัตรทองตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช (โปรดดูรายละเอียดได้ใน โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะ ใคร?: บทวิเคราะห์หาสาเหตุ manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045566)
ถึงแม้ทางสปสช จะออกมาชี้แจงว่าค่าใช้จ่ายของสปสช คิดเป็นเพียง 1.3 % ของ GDP แต่เมื่อบวกภาระที่รัฐต้องจ่ายจากสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการและสมทบกับสำนักงานประกันสังคมแล้ว เงินที่รัฐบาลจ่ายน่าจะเกือบถึง 3.5% ของ GDP อยู่นั่นเอง และการอ้างร้อยละของค่าใช้จ่ายต่อ GDP จึงไม่เป็นตัวเลขที่เหมาะสม อันที่จริงผู้เขียนและแหล่งข้อมูลสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาโดยตลอด แต่เห็นถึงปัญหาที่จะเกิดเมื่อมีการให้แบบสุดโต่ง เป็นการใช้ประชานิยมที่ใช้จ่ายเงินให้ครบทุกบาททุกสตางค์สำหรับการรักษาพยาบาลให้คนทั้งประเทศไม่ว่าจะรวยหรือจนสักแค่ไหนก็ตาม โดยได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพงานบริการที่ตกต่ำลงในปัจจุบันและการล่มสลายของ โรงพยาบาลของรัฐในอนาคต การที่ปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์และกรรมการสปสช ออกมาพูดว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวยังน้อย ไม่เป็นภาระรัฐบาล ต้องเพิ่มเงินให้สปสช อีก จึงไม่แตกต่างจากลูกหัวสูงที่จะขอเงินพ่อแม่ยากจน (รัฐบาล) ให้ไปซื้อรถเบนซ์ราคาแพงมาให้ขี่ ถ้าไม่มีจะบังคับพ่อแม่ให้ไปขายตัวขายอวัยวะมาให้ตนเองสมดังความปรารถนา อันที่จริงถ้าพ่อแม่มีเงินถุงเงินถัง เงินนิดหน่อยสำหรับรถเบนซ์ก็ไม่เป็นปัญหาอันใด แต่ประเทศไทยบอบช้ำมากับโครงการประชานิยมต่างๆ จนแทบจะไม่มีเงินเหลืออยู่แล้ว ทั้งยังต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนหลายแสนล้าน ไปอีกหลายสิบปี คงไม่ใช่เรื่องเหมาะสม
เรามาลองพิจารณากันตามความเป็นจริงดีกว่าว่าสปสช เป็นภาระทางการคลังของรัฐบาลหรือไม่ โดยพิจารณาจากร้อยละของค่าใช้จ่ายสปสช ต่องบประมาณแผ่นดิน เพราะใครจ่ายจะพิจารณาว่าเป็นภาระหรือไม่ ก็ต้องดูเงินในกระเป๋าของคนๆ นั้น นับเงินในกระเป๋ากันง่ายๆ ชัดๆ ชาวบ้านๆ ดูแล้วเข้าใจ
ก่อนอื่นเราจะต้องพยากรณ์ค่าใช้จ่ายของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเสียก่อน แต่ครั้งนี้เราบวกกลับข้อมูลจากการวิเคราะห์ว่าโรงพยาบาลของสธ ขาดทุนไปเพียงใด โดยนำค่าบริการที่ charge และเก็บไม่ได้จากสปสช กลับเข้ามาเป็นค่าใช้จ่าย (ดูรายละเอียดได้จากโรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะ ใคร?: บทวิเคราะห์หาสาเหตุ จาก manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045566)
เนื่องจากเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่สปสช ไม่ต้องรับผิดชอบทำให้ต้องไปนำเงินทุนสะสมของโรงพยาบาลต่างๆ มาจ่ายแทน เมื่อโรงพยาบาลเหล่านี้หมดเงินทุนสะสมแล้ว ท้ายที่สุดย่อมไม่สามารถให้บริการได้อีกต่อไปต้องปิดโรงพยาบาลลงไป จึงเป็นค่าใช้จ่ายที่สมควรบวกกลับมาเป็นต้นทุนทางบัญชี เช่นเดียวกับเงินเดือนของบุคลากรสธ ทั้งหมด ซึ่งก็เป็นต้นทุนแรงงานเช่นกัน (การวิเคราะห์นี้เหมือนกับบทความ ค่าใช้จ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช กับ Rand Health Insurance Experiment: เมื่อคนใช้ไม่ต้องจ่าย ชาติจะฉิบหายได้หรือไม่? จาก www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000031735 แต่บวกกลับค่าบริการที่เบิกเก็บไม่ได้และค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของสธ)
การพยากรณ์ใช้การวิเคราะห์ถดถอย และนำค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรบวกกลับไปตั้งแต่ปี 2545 ส่วนค่าบริการที่ charge และเก็บจากสปสช ไม่ได้ เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในระบบบัญชีของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นับตั้งแต่ปี 2551 สำหรับตัวแปรพยากรณ์ เราปรับแบบจำลองด้วยการสร้างตัวแปรหุ่น (Dummy variable) แทนปีที่มีการบันทึกข้อมูลค่าบริการที่ charge และเก็บจากสปสช ไม่ได้ และพจน์ผลคูณระหว่างปีพศ กับตัวแปรหุ่น เพื่อให้สะท้อนความเป็นจริงของการบันทึกข้อมูลที่เพิ่งเริ่มบันทึกในปี 2551 แบบจำลองมีความกลมกลืนในขั้นดีเลิศ อธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 99 ซึ่งถือว่าสูงมาก) ผลการพยากรณ์แสดงในรูปที่ 1 “ซึ่งภายในสิบปีนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น สามแสนห้าหมื่นล้านบาท” เพราะท้ายที่สุดรัฐต้องหาเงินมาชดเชยโรงพยาบาลขาดทุนให้ได้ทั้งหมด (ขาดทุนสะสมขณะนี้ประมาณหนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาท)
ผลจากการพยากรณ์ค่าใช้จ่ายรวมดังกล่าวทำให้สามารถพยากรณ์ได้ว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าน่าจะถึง 7,500 บาทภายในสิบปีข้างหน้า (ทั้งนี้ภายใต้ข้อสมมุติว่า โรงพยาบาลของสธ ขาดทุนจนกระทั่งเงินทุนสะสมของโรงพยาบาลหมดเกลี้ยงแล้ว และสปสช ต้องหาเงินมาจ่ายให้โรงพยาบาลที่ขาดทุน ซึ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดจะขาดทุนแทบทุกโรงพยาบาลและก็จำเป็นต้องงดให้บริการประชาชน หากสปสช ไม่สามารถขอเงินจากรัฐบาลได้ ก็ต้องเอาประชาชนจนๆ มาเป็นตัวประกันขอเงินจากรัฐบาลเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลต้องปิด) ขณะที่ภาระทางการคลังพิจารณาจาก ”ร้อยละของค่าใช้จ่ายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าต่อเงินงบประมาณแผ่นดินจะเพิ่มขึ้นจาก 4.5% (รวมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร สธ กลับเข้าไปแล้ว) มาเป็น 8% ของเงินงบประมาณแผ่นดินในเวลาไม่กี่ปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกต่อไป” ทั้งนี้กราฟดังกล่าวมีข้อมูลที่เบี่ยงเบนออกจากเส้นตรงในช่วงปี 2551-2557 เนื่องจากมีการบันทึกค่าบริการที่ Charge และเรียกเก็บจากสปสช ไม่ได้ แต่แบบจำลองยังอธิบายความแปรปรวนได้ร้อยละ 95 ซึ่งก็ยังถือว่าสูงมากเช่นกัน
ข้อน่าคิดอีกประการหนึ่งคือ ทางสปสช อ้างว่าสปสช ใช้จ่ายเงินเพียงแค่หนึ่งในสามของเงินทั้งหมดที่รัฐใช้สำหรับค่ารักษาพยาบาล ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก www.hfocus.org/content/2015/05/9882
ดังนั้น ใน “ปี 2568 รัฐน่าจะต้องมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลประมาณ 24% ของงบประมาณแผ่นดิน!”
ข้ออ้างของสปสช ว่าค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นนั้นมาจากสาเหตุสี่ประการคือ 1. ค่าแรงบุคลากรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6-10 2. การพัฒนาเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล ทำให้ต้องมีการปรับสิทธิประโยชน์ต่อเนื่อง อาทิ การเข้าถึงยามะเร็ง ไตวายเรื้อรัง และยาต้านไวรัสเอดส์ เป็นต้น 3.อัตราใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่เพิ่มขึ้น จากการเข้าถึงบริการที่ดีขึ้น และ 4.อัตราโครงสร้างของประชากร ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้เจ็บป่วยเรื้อรังมากขึ้น
สำหรับข้อแรกให้ลองพิจารณารูปที่ 3 ด้านล่างนี้ ค่าใช้จ่ายรวมของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มขึ้นอย่างสูงชันรวดเร็ว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายบุคลากรสธ เพิ่มขึ้นช้ามากจนแทบจะราบเรียบ และเมื่อเรานำมาหารเป็นร้อยละค่าตอบแทน-เงินเดือนบุคลากรต่อค่าใช้จ่ายรวมจะเห็นว่า ลดลงเรื่อยๆ จากร้อยละ 45 ในปี 2545 มาเป็นร้อยละ 20 ในปี 2557 ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่า “บุคลากรสาธารณสุขทำงานหนักมากกว่าเดิมหลายเท่าแต่ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อลงแรงลงใจเพิ่มไปเยอะมากมาย แต่ได้ตอบแทนกลับคืนเพิ่มมาน้อยมาก ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรมและสุดท้ายตัดสินใจลาออก”
ทำให้คุณภาพในการบริการลดลง เมื่อมีคนลาออกยิ่งทำให้คนที่เหลืออยู่ต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้นทำให้ยิ่งแย่กว่าเดิม และมีแนวโน้มจะลาออกมากยิ่งกว่าเดิม
“เรายังขอยืนยันอีกรอบว่าผู้เขียนสนับสนุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ไม่ใช่แบบประชานิยมที่เบียดเบียนสังคมทางอ้อมอย่างรุนแรงจนทำให้ประเทศชาติบ้านเมืองล่มจม” เราเคยแนะให้ทาง สปสช เข้ามาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาได้อย่างสง่างาม โดยให้ทาง สปสช เสียสละรายได้ ในปัจจุบันเลขาธิการสปสช ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนมากกว่านายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชาเสียอีก ทั้งๆ ที่ภาระงานและความรับผิดชอบคงไม่มากเท่านายกรัฐมนตรีเป็นแน่แท้ การเสียสละจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่จะยอมรับในปัญหาและจริงใจที่จะแก้ป้ญหา เพราะนี่คือเงินของประเทศชาติ (ที่ไม่มีและกำลังย่ำแย่)
สปสช แบ่งงบประมาณ ออกเป็น 4 ส่วนได้แก่ 1 งบประมาณสำหรับ 30 บาทเพื่อการใช้ดูแลรักษาผู้ป่วย 2 งบประมาณค่าตอบแทนหรือเงินเดือน ของบุคลากรของ สปสช 3 งบประมาณโครงการเฉพาะที่ใช้รักษาผู้ป่วยดำเนินการโดยการจัดจ้างของ สปสช 4 งบประมาณโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่การรักษาผู้ป่วยโดยตรง เช่น การจัดสรรให้แก่ NGO ต่างๆเป็นต้น ในโครงการเฉพาะข้อ 3 และ 4 ปัจจุบัน สปสช จะได้ค่าบริหารโครงการเป็นรายได้ โดยหักจากงบประมาณนี้อีก ร้อยละ 1 ทำให้ ผลตอบแทนที่ ผู้บริหาร สปสช สูงผิดปกติ ในปัจจุบัน สปสช จะบริหารโดยจัดสรรงบประมาณให้แก่ งบประมาณในส่วน 2 3 และ 4 เป็นสำคัญ ทำให้เมื่องบประมาณในการจัดสรรให้ โรงพยาบาล หรือ โครงการ 30 บาท ไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่า ถ้า สปสช เปลี่ยนแนวทางการบริหาร เช่น ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้ โรงพยาบาล หรือ โครงการ 30 บาทเป็นลำดับแรก ก็น่าจะแก้ปัญหาไปได้ระดับหนึ่ง
จากบทความนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านทราบดีว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบประชานิยมจะทำให้ชาติล่มจมได้หรือไม่ และเป็นภาระทางการคลังของประเทศได้หรือไม่ เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบประชานิยมเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่อยู่บนหลักการของ ความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน มีเหตุผล บนฐานแห่งความรู้ คุณธรรม เสียสละ และสามัคคีเพื่อประเทศไทยที่รักยิ่งของพวกเรา