อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาวิเคราะห์ธุรกิจและการวิจัย
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ตามที่ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูรได้นำเสนอหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดูรายละเอียดได้ใน “แก้ปัญหาโครงการประชานิยม 30 บาทก่อนประเทศจะล่ม ด้วยแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำโรงพยาบาลให้เป็นของชุมชน ปฏิรูปสังคมไทยให้เข้มแข็ง” เพื่อปฏิรูประบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันซึ่งเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแบบประชานิยมที่ริเริ่มขึ้นมาในสมัยรัฐบาลพันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตรและได้สร้างปัญหามากมายกับสังคมไทย ผมขอสนับสนุนแนวความคิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคัดค้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบประชานิยมที่ใช้ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังแสดงในตารางด้านล่างนี้
ตารางที่ 1 เปรียบเทียบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแบบประชานิยมในปัจจุบันกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มิติ | หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แบบประชานิยม (ปัจจุบัน) | หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง |
ที่มาของแนวความคิด | สังคมนิยม (Socialism) และรัฐสวัสดิการ | สังเคราะห์จากพุทธธรรม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว |
หลักคิด | รัฐจัดให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการทุกอย่างฟรี ไม่จำกัด | ทางสายกลาง พอประมาณและไม่เบียดเบียน ทุกภาคส่วน อยู่ได้อย่างพอเพียงและพัฒนาได้อย่างยั่งยืน |
วิธีการ | -รัฐออกเงินให้ประชาชนทุกคนรักษาพยาบาลโดยเสมอหน้า ไม่ว่าจะรวยจะจนก็ใช้สิทธินี้ได้เสมอกัน โดยไม่ต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียว -สปสช ขอเงินจากรัฐบาล มาจัดสรรให้โรงพยาบาลตามจำนวนประชากรที่ถือบัตร และตามโรคที่รักษาในราคาเรียกเก็บที่ต่ำที่สุด - เงินที่ สปสช จัดสรรให้ รพ น้อยกว่าค่าเรียกเก็บ ทำให้ รพ ขาดทุน | มีเหตุผล -บริหารตามเหตุตามผล โดยผู้ปฏิบัติตามสถานภาพของ รพ และ ชุมชนนั้นๆ คล้ายการประยุกต์ทฤษฎีใหม่ - บริหารแบบองค์รวม ใช้ความรู้สหวิทยาการ -การจัดการความรู้ แบ่งปันความรู้ เรียนรู้วิธีปฏิบัติที่ดีที่สุดในการบริหารโรงพยาบาลจากหน่วยงานที่ทำได้ดี พอเพียง -เพิ่มรายได้ และ ลดรายจ่าย - ใช้สิทธิแบบพอเพียง ภูมิคุ้มกัน -สร้างแรงจูงใจต่อการรักษาสุขภาพได้ ปรับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค -ค่าว่าจ้าง แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทั้งหมดควรกลับไปขึ้นตรงต่อ สธ. จนกว่าจะแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน และชุมชนเข้มแข็ง - การแบ่งโรงพยาบาลเป็นเขตสาธารณสุข เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน - ส่งเสริมการป้องกันโรคและการรักษาโรคเบื้องต้น บนพื้นฐานของความเสียสละ สามัคคี บนพื้นฐานความรู้ การแพทย์ วิจัย ระบาดวิทยา logistics วิทยาการประกันภัย และการบริหารความเสี่ยง |
ภาระทางการเงินเพื่อการรักษาพยาบาลของประชาชน | ไม่มี ทุกอย่างฟรีหมด คนจนใช้เวลารอนาน อำมาตย์ใช้เส้น คนรวยใช้เงินซื้อบริการจากโรงพยาบาลเอกชน (ศ.ดร. อัมมาร์ สยามวาลา) ผลจากการศึกษาของสปสช ทำให้ทราบว่าคนไทยจ่ายเงินในการรักษาพยาบาลต่อครัวเรือนลดลงมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2545 | มีหลายแนวทาง แต่อยู่บนหลักการของความพอเพียงมีคุณธรรม (เสียสละ สามัคคี) และไม่เบียดเบียน – เช่น ประชาชนที่มีฐานะ อาจเลือกรับสิทธิ ๓๐ บาทเฉพาะเวลา ผ่าตัดหรือเมื่อต้องรับยาราคาแพง หรือ ประชาชนที่มีฐานะทางการเงินดี จ่ายเงินซื้อบริการชั้นดีจากโรงพยาบาลของรัฐ หรือซื้อประกันสุขภาพเกรด AAA จากสปสช กำไรที่ได้จากคนรวยนำมาช่วยเหลือเกื้อกูลคนยากจน นำมาพัฒนาการบริการให้คนยากจน อย่างเช่น โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ -ประชาชนที่มีฐานะปานกลางจ่ายสมทบหรือ co-pay กับสปสช เตรียมตัวไว้ก่อนเจ็บป่วย หากป่วยอาจจะต้องเสีย deductible เงินนิดหน่อยให้การเข้ารักษาพยาบาลเพื่อป้องกันความพร่ำเพรื่อในการรักษาพยาบาลที่ไม่จำเป็น กำไรที่ได้นำมาพัฒนา - ประชาชนที่มีฐานะทางการเงินไม่ดี ได้รับบริการเช่นเดิมโดยรัฐให้สวัสดิการ ประชาชนที่มีฐานะดีกว่าช่วยเหลือเกื้อกูลทางอ้อม |
ความเท่าเทียมในสังคม | - สปสช มองว่าความเท่าเทียมคือการเสียเงินเท่ากัน เช่น ๓๐ บาท ต่อครั้งทุกคน (ในช่วงที่ยังมีการเก็บ ๓๐ บาท) | หลักการของความพอเพียงคือเปลี่ยนได้ตามฐานะของแต่ละบุคคล ไม่ฟุ่มเฟือย ดังนั้นความเท่าเทียมคือการได้รับการดูแลรักษาที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ทุกคน โดยที่ผู้ที่มีฐานะดีกว่า เสียเงินมากกว่าได้ เพื่อลดการเบียดเบียนงบประมาณทางอ้อม |
ภาระทางการคลังของรัฐบาล | มหาศาล เพิ่มขึ้นทุกปี เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเงินงบประมาณแผ่นดินทุกๆ ปี ต้องเพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละหนึ่งหมื่นล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ภายในสิบปีอาจจะเป็นภาระงบประมาณไม่น้อยกว่า 9% ของเงินงบประมาณแผ่นดิน การที่สปสช อ้างว่าใช้เงินแค่ 4 % ของ Gross Domestic Product เป็นข้ออ้างที่ไม่รับผิดชอบต่อประเทศ เพราะ GDP ไม่ใช่รายได้ของรัฐบาล แต่เป็นเงินของคนทั้งประเทศ ในขณะที่งบประมาณของสปสช รัฐบาลจ่ายทั้งหมด | ลดภาระทางการคลังของประเทศลงได้อย่างแน่นอน |
เสถียรภาพทางการเงินและความยั่งยืนของระบบ | ขาดทุน รัฐบาลไม่อาจจะหาเงินมาให้ได้ทั้งหมด สุดท้ายระบบจะล้มละลายด้วยตัวเองเพราะรัฐบาลไม่มีเงินจ่าย อันเกิดจากสามปัจจัยหลัก 1.สังคมผู้สูงอายุ คนไทยอายุขัยยืนยาวขึ้น อายุ มากขึ้น ป่วยมากขึ้น 2. ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ค้นพบโรคใหม่ๆ มากขึ้น มียาใหม่และวิธีการวินิจฉัยรักษาใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก 3. ผู้ใช้บริการเรียกร้องมากขึ้น เอาเปรียบระบบ เนื่องจากเป็นของฟรี หลายคนคิดเอาเปรียบ เบิกยาเกิน มีฐานะจะจ่ายได้ก็ไม่ยอมจ่าย มาพบแพทย์โดยไม่มีความจำเป็น | - มีเสถียรภาพทางการเงินและมีความยั่งยืน เนื่องจากไม่พึ่งพิงแหล่งเงินจากแหล่งเดียวคือรัฐบาล - มีโอกาสเพิ่มรายได้และเป็นการบริหารความเสี่ยงด้านรายได้ เช่น ท้องถิ่นและชุมชน ประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการหารายได้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า - ประชาชนไม่เรียกร้องการรักษาที่เกินความจำเป็น ทำให้ค่าใช้จ่ายไม่สูง |
ผลกระทบต่อพฤติกรรมทางสุขภาพประชาชน | รณรงค์ส่งเสริมสุขภาพไปมากมายก็ไม่มีประโยชน์ เพราะประชาชนรู้ว่าเมื่อตนเจ็บป่วยแล้วยังไงก็ต้องได้รับการรักษาฟรี ทำให้ไม่เห็นคุณค่าของการดูแลสุขภาพตัวเอง ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการเจ็บป่วยของตัวเอง ระบบนี้ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีในการดูแลสุขภาพ | -ประชาชนจะเกิด awareness ระมัดระวังตัว มีการรักษาสุขภาพเพราะกลัวภาระทางการเงินที่จะเกิดขึ้นหากไม่รักษาสุขภาพให้ดีพอ -ประชาชนจะระวังเรื่องสุขภาพมากขึ้นเนื่องจากต้องเสียเงินค่า co-pay เพิ่มมากขึ้นหากมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี |
ผลกระทบต่อคุณภาพการบริการสาธารณสุขหน่วยให้บริการ และบุคลากรสาธารณสุข | -หน่วยให้บริการขาดทุน จนไม่อาจจะมีเงินทุนเหลือเพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการใดๆ ได้ ไม่ว่างบประมาณลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การว่าจ้างบุคลากร - คนเข้ารับบริการล้นหลาม การรอคิวยาวนาน ทำให้คุณภาพการรักษาลดต่ำลง ความแออัดในหน่วยให้บริการอาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่น การติดเชื้อเพิ่มขึ้น - บุคลากรทำงานหนักเพราะคนไข้เยอะมาก เหนื่อย ท้อ ทำอย่างไรก็ขาดทุน ลาออกไปอยู่เอกชน ยิ่งทำให้บุคลากรที่มีไม่พออยู่แล้วยิ่งลดลง งานยิ่งหนักมากขึ้น | - หน่วยให้บริการมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น ลดการขาดทุน และอาจจะมีเงินงบประมาณลงทุนเหลือพอที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือว่าจ้างบุคลากรได้ อาจจะมีรายได้จากชุมชนหรือท้องถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา - คนรับบริการที่ไม่จำเป็นลดลง เพราะรู้ว่าตัวเองต้องจ่ายเงิน พยายามรักษาในสิ่งที่จำเป็น มีพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพดีขึ้น - บุคลากรทำงานบริการลดลง แต่จะมีเวลาดูแลคนไข้มากขึ้น มีเวลาพัฒนาคุณภาพงานบริการมากขึ้น อัตราการลาออกน่าจะลดลงไปได้ |
ผลกระทบต่อการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของประเทศไทย | -ไม่ส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ -ทำให้ขาดการวางแผนทางการเงินสำหรับตนเองและครอบครัวสำหรับการเจ็บป่วยเพราะรัฐเข้าไปดูแลให้ทุกอย่างโดยไม่มีเงื่อนไข | -ส่งเสริมให้คนออมและวางแผนทางการเงินเพื่อการเกษียณ ชราภาพ และการเจ็บป่วย การรักษาพยาบาล ส่งผลดีต่อประเทศและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวอย่างยิ่ง |
การมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน | -ให้เงินองค์การเอกชนไม่แสวงกำไรเพื่อใช้ในการวิจัยและส่งเสริมสุขภาพ -ประชาชนเพียงส่วนน้อยและเป็นพรรคพวกถึงมีโอกาสเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง | ด้วยหลักการ “ใช้เหตุผล” รับรู้สถานภาพของโรงพยาบาล ตระหนักถึงปัญหา มีความรู้สึกเป็นเจ้าของและห่วงใย และยินดีที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา |
ภาระงานของสปสช และความสามารถที่ต้องการ | -ทำงานง่าย –ขอเงินจากรัฐบาลอย่างเดียว - เป็นศูนย์ต้นทุน (cost center) มีอำนาจจ่ายอย่างเดียวสบาย ใช้เงินที่ตัวเองไม่ได้หามา - หารจำนวนหัว จัดสรรไปตามจำนวนหัว -ขอตัวเลขจากสธ ประสานงาน สั่งการสธ ให้ได้ผลงานที่ต้องการ | - เป็นศูนย์กำไร (Profit center) เนื่องจากต้องจัดหารายได้จาก co-pay และต้องพยายามส่งเสริมให้บริการของสธ ดีขึ้นเพื่อดึงดูดเงินจากคนมีเงิน และชนชั้นกลาง - ต้องแข่งขันกับบริษัทประกันภัย ที่ให้บริการประกันสุขภาพ ซึ่งถ้าสปสช มีความสามารถไม่พอก็จะพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง - สปสช ต้องลดค่าใช้จ่ายในการบริหาร ต้องเข้าไปช่วยเหลือการดำเนินงานของหน่วยบริการของสธ ให้มีประสิทธิภาพ - ต้องใช้ความรู้ทางด้านวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง - สปสช ต้องบริหารการเบิกจ่าย (Claim administration) ทั้งการอนุมัติ การตรวจสอบ การบริหาร - ในปัจจุบัน สปสช ยังไม่มีความสามารถเพียงพอ ต้องพัฒนาอีกมาก |
อุปสรรคในการนำไปใช้ | -นิสัยเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของประชาชน - การรวมศูนย์อำนาจทางการเงินของสปสช ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยให้บริการกับผู้จัดสรรเงินงบประมาณ -งบประมาณบานปลาย รัฐบาลต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาให้สปสช โดยสปสช เปรียบเหมือนลูกที่เรียกร้องขอเงินพ่อแม่จนๆ (รัฐบาล) เพราะอยากได้ของแพงๆ แต่พ่อแม่ไม่มีเงินต้องไปกู้หนี้ ยืมสิน ขายตัว ขายอวัยวะมาให้ลูกถลุงเงินตามปรารถนา | -ความไม่กล้าของนักการเมืองที่กลัวจะสูญเสียคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน -ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของแทบทุกฝ่าย - สปสช สูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่มีอยู่เดิมจะออกมาต่อต้านอย่างรุนแรง - คนจนกลัวเสียผลประโยชน์ฟรีที่เคยได้รับตลอดมา - คนรวยที่ใช้สิทธิบัตรทองก็ต่อต้าน เพราะกลัวเสียผลประโยชน์เดิมที่ได้รับ กลัวการตรวจสอบทรัพย์สิน - องค์การเอกชนที่เคยมีผลประโยชน์กับสปสช จะต่อต้านอย่างรุนแรง |
ขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูเอาเองเถิดว่า เราถึงเวลาต้องแก้ไขแล้วหรือยัง และ สปสช ควรทำงานแบบประชานิยมหรือทำงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยความเสียสละเพื่อประเทศไทยที่รักยิ่งของเรา