xs
xsm
sm
md
lg

โบรกฯ มอง SET ยืนเหนือ 1,550 จุด เป็นสัญญาณบวก ลุ้นปรับสูงขึ้นถัดไปที่ 1,575 จุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ตลาดทุนทั่วโลกคาดเฟดมีแนวโน้มดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำนานกว่ากำหนดเดิม หลังการประกาศอัตราการว่างงานยังคงที่อยู่ที่ระดับ 5.5% ตัวเลขชี้นำทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหมาย โบรกฯ มอง SET ยืนเหนือ 1,550 จุด เป็นสัญญาณบวก ลุ้นปรับสูงขึ้นถัดไปที่ 1,575 จุด

นายอดิศักดิ์ ผู้พิพัฒน์หิรัญกุล นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ธนชาต กล่าวว่า การที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นทดสอบ 1,550 จุด เร็วกว่าคาดเป็นไปตามภาพรวมตลาดหุ้นสำคัญทั่วโลก โดยนักลงทุนจากความคาดหวังเชิงบวกผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย หรือ FOMC ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ว่าจะยังมีมติคงดอกเบี้ยระดับต่ำนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรออกมาอ่อนแอ รวมไปถึงการปรับสูงขึ้นของราคาน้ำมัน รวมไปถึงความคาดหวังต่อแนวโน้มการกลับมาทำกำไรของหุ้นกลุ่มโรงกลั่นใน 1Q15 เป็นปัจจัยหนุนการปรับสูงขึ้นของ SET ตั้งแต่เปิดตลาด ทดสอบแนวต้านที่ 1,550 จุด ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

“มองว่า Volume มากกว่า 4 หมื่นล้าน + ยืนได้เหนือ 1,550 จุด เป็นสัญญาณ “บวก” ในกรณีที่ SET สามารถยืนได้เหนือแนวต้านที่ 1,550 จุด พร้อมปริมาณการซื้อขายมากกว่า 4 หมื่นล้านบาท จะเป็นสัญญาณ “กลับตัว” ทางเทคนิค โดยมีเป้าหมายการปรับสูงขึ้นถัดไปที่ 1,575 จุด และเป้าหมายหลักที่ 1,620 จุด หรือจุดสูงสุดเดิมที่ทำไว้ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา” นายอดิศักดิ์ กล่าว

นายอดิศักดิ์ แนะนำนักลงทุนควรเลือกลงทุนเป็นรายหลักทรัพย์ในกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากภาวะเศรษฐกิจในระยะนี้ เช่น กลุ่มโรงกลั่น แนะนำ PTTGC, TOP และ BCP กลุ่มแบงก์เช่น KTB รวมถึงหุ้นที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนภาครัฐฯ ที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นหลังใช้ ม.44 หนุนการฟื้นตัวของสินเชื่อ การท่องเที่ยวที่คาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับเข้ามาหลังยกเลิกกฎอัยการศึก และราคาหุ้นมีสัญญาณ “บวก” ทางเทคนิค พร้อมประเมินแนวรับ 1,538 จุด แนวต้าน 1,550/1,558 จุด

ขณะที่ นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส คาดดัชนีจะขึ้นทดสอบแนวต้าน 1,554 จุด ถัดจากนั้นหากยังมีแรงซื้ออย่างต่อเนื่องดัชนีก็อาจขึ้นทดสอบ 1,567 จุดได้ โดยแนวรับจิตวิทยาของการปรับขึ้นรอบนี้อยู่ที่ 1,539 จุด

ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เอเซีย พลัส กล่าวถึงผลการศึกษาของฝ่ายวิจัยฯ ปรากฏว่าบริษัทจดทะเบียนยังคงมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาลงลึกในรายกลุ่มบริษัท ฝ่ายวิจัยฯ พบว่า มีการรายงานกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการนับซ้ำกันราว 10% ของฐานกำไรสุทธิรวม ส่งผลให้ค่า PER ที่แท้จริงอาจสูงเกือบ 20 เท่า ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการลงทุนตัวเลือกการลงทุนที่ดีควรเป็นหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง และราคายังต่ำกว่า

“ผลการศึกษาพบว่า ปัจจุบันมีจำนวนบริษัทที่มีการถือหุ้นระหว่างบริษัทจดทะเบียนด้วยกันไม่น้อยกว่า 95 บริษัท แยกเป็น 36 กลุ่ม ทำให้การวัดมูลค่าที่เป็นการสะท้อนภาพรวมของบริษัทจดทะเบียน เฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของตัวเลขกำไรสุทธิ อย่างเช่น กรณีที่ INTUCH ถือหุ้น 40.56% ใน ADVANC และถือหุ้น 41.14% ใน THCOM เมื่อมีการรวมตัวเลขกำไรสุทธิรวมของกลุ่ม ก็จะทำการรวมกำไรของ INTUCH, ADVANC และ THCOM เข้าด้วยกันตรงๆ ทั้งๆ ที่ในงบการเงินของ INTUCH ก็ได้รวมกำไรของ ADVANC และ THCOM ไว้แล้วตามสัดส่วนการถือหุ้น จึงเท่ากับเป็นการนับซ้ำของกำไรสุทธิบางส่วน ซึ่งเมื่อรวมทุกๆ กรณีพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีการนับซ้ำกันราว 10% ของฐานกำไรสุทธิรวม ซึ่งก็หมายความว่า ค่า PER ของตลาดที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หากคำนวณโดยหักฐานกำไรที่นับซ้ำออกไปก็จะสูงขึ้นอีก 10% เช่น Current PER ปัจจุบันอยู่ที่ 18 เท่า ก็จะหมายความว่าค่า PER ที่แท้จริงอาจสูงเกือบ 20 เท่า” นายประกิต กล่าว

พร้อมแนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่พื้นฐานแข็งแกร่ง และราคายังต่ำกว่า Fair Value เช่น RCL, SPALI และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง ASK, SPALI อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์การเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด ทั้งเรื่องของการยกร่างรัฐธรรมนูญ และมุมมองของต่างชาติ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ตามอำนาจรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 44 ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 มาใช้แทน พ.ร.บ.กฎอัยการศึก
กำลังโหลดความคิดเห็น