ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะใช้ GNP และ GDP ประเมิน ศก.ควบคู่กันไปเพื่อให้ได้ภาพที่กว้าง และครบถ้วนยิ่งขึ้น ชี้อัตราการขยายตัวของ GNP เริ่มแซงหน้าอัตราการขยายตัวของ GDP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สะท้อนว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศของไทยกำลังมีบทบาทความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภายใต้บริบทของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการขับเคลื่อนจากภาคบริการมากขึ้น (สัดส่วนของมูลค่ากิจกรรมภาคบริการขยับขึ้นมาอยู่สูงกว่าร้อยละ 58 ของ GDP ในปี 2558) ทำให้การประเมินสถานการณ์ของภาคธุรกิจ และเศรษฐกิจไทยในภาพรวมจำเป็นต้องวิเคราะห์ภาพจากองค์ประกอบหลายๆ ด้านเข้าด้วยกัน โดยสำหรับภาคการส่งออกนั้นแม้จะยังคงมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของ GDP ในแต่ละปี แต่หากดูลึกลงไปในรายละเอียดแล้วจะพบว่า สัดส่วนของการส่งออกสินค้าทยอยลดบทบาทลง และถูกแทนที่ด้วยการส่งออกภาคบริการ (เช่น ค่าท่องเที่ยว ค่าขนส่ง และค่าบริการส่วนบุคคล) ขณะที่การติดตามภาวะการลงทุนของภาคเอกชนนั้นก็อาจต้องครอบคลุมทั้งในส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้สามารถสะท้อนภาพการค้า และกิจกรรมของภาคธุรกิจไทยได้ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีข้อเสนอให้มีการติดตามข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ที่นับเป็นอีกหนึ่งมาตรวัดทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งหนึ่งในข้อดีของ GNP คือ ความครอบคลุมที่จะกระจายไปถึงมิติรายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งอาจมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า เมื่อดอกผลจากการลงทุนในต่างประเทศของภาคธุรกิจไทยเริ่มปรากฏเด่นชัดมากขึ้น หลังจากที่มีการขยับขยายการลงทุนไปต่างประเทศตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) กับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) มีข้อแตกต่างกันอยู่ที่แนวการวัดมูลค่าของสินค้า/บริการขั้นสุดท้ายว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในอาณาเขตของประเทศนั้นๆ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยบุคคลของประเทศนั้นๆ โดยมาตรวัด GDP จะสะท้อนผลรวมของมูลค่าสินค้า/บริการขั้นสุดท้ายที่ “ผลิตขึ้นภายในประเทศ” ไม่ว่าจะเป็นของบุคคลสัญชาติใดก็ตาม ขณะที่ GNP จะวัดเฉพาะมูลค่าสินค้า/บริการขั้นสุดท้ายที่ “เป็นของบุคคลในประเทศ” ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายใน หรือภายนอกประเทศก็ตาม
ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่ามูลค่า GNP จะสูงหรือต่ำกว่า GDP ก็ได้ในความเป็นจริงสำหรับประเทศหนึ่งๆ ขึ้นอยู่กับว่ารายได้ในต่างประเทศจากฝีมือของบุคคลในประเทศ (ทั้งในรูปค่าตอบแทนจากการออกไปทำงานต่างประเทศของบุคคลประเทศนั้น และผลประโยชน์จากการที่ภาคธุรกิจของประเทศนั้นออกไปลงทุนในต่างประเทศ) สูง หรือต่ำกว่ารายได้ที่สร้างขึ้นในประเทศโดยฝีมือของชาวต่างชาติ (ทั้งในรูปค่าตอบแทนจากการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติ และผลประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของกิจการต่างชาติ)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กรณีของประเทศไทย มูลค่า GNP ของไทยน้อยกว่ามูลค่า GDP นับตั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีระดับต่ำกว่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากการลงทุน และค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่ชาวต่างชาติในไทยยังคงสูงกว่ารายได้จากการลงทุน และค่าตอบแทนของบุคคลสัญชาติไทยในต่างประเทศอยู่กว่า 3.5 เท่าต่อปี
อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของ GNP ที่เริ่มแซงหน้าอัตราการขยายตัวของ GDP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (GNP ขยายตัวร้อยละ 2.2 และร้อยละ 3.6 ในปี 2557 และ 2558 สูงกว่าการเติบโตของ GDP ที่ร้อยละ 0.8 และร้อยละ 2.8 ในปี 2557 และ 2558 ตามลำดับ) อาจสะท้อนว่ารายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศของไทยกำลังมีบทบาทความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีต
โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในรอบ 4 จาก 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยเริ่มขยายโอกาสการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งเพื่อแสวงหาประโยชน์จากฐานการผลิตที่มีต้นทุนที่ต่ำลงกว่าภายในประเทศ และควบรวมกิจการเพื่อขยายโอกาสการทำตลาดในต่างประเทศ ซึ่งทิศทางดังกล่าวทำให้ไทยพลิกกลับมามีฐานะเป็น “ผู้ลงทุนโดยตรงสุทธิ” ทั้งนี้ แม้กำไร และดอกผลที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในต่างประเทศส่วนนี้จะยังไม่กลับมาปรากฏอย่างเด่นชัดมากนักในมูลค่า GNP ในภาพรวม แต่ก็อาจเป็นนัยว่า รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศของบุคคล และนักธุรกิจสัญชาติไทยน่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การวิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์ของเศรษฐกิจในภาพรวมจึงไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงมาตรวัดเพียงตัวใดตัวหนึ่ง เพราะการวิเคราะห์ห์ข้อมูล GDP และ GNP ควบคู่กันจะทำให้สามารถประกอบภาพในมุมกว้าง และเข้าใจการเชื่อมโยงของกิจกรรมในภาคส่วนต่างๆ ทั้งใน และต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อีกหัวใจสำคัญของการพัฒนาเครื่องชี้วัดด้านเศรษฐกิจก็คือ ความรวดเร็วในการเผยแพร่ข้อมูล เพราะจะช่วยให้สามารถประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างครอบคลุม และเท่าทันต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา