xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปรับฐานข้อมูลสร้างโมเดล ศก.ยุคดิจิตอล เพื่อกำหนดนโนบายทางการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าการ ธปท.พร้อมรับมือยุค ศก.ดิจิตอล เน้นวางแผนใช้ข้อมูลสร้างงานวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายให้เหมาะสม ยอมรับโครงสร้าง ศก. และสังคมได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ความครบถ้วน และความแม่นยำของข้อมูลสถิติ ซึ่งได้พึ่งพามายาวนาน ทำให้การวัดระดับกิจกรรมทาง ศก. และจีดีพี มีความท้าทายมากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนปรับปรุงวิธีการจัดเก็บข้อมูลสถิติให้ทันต่อบริบททาง ศก.ที่เปลี่ยนแปลงไป

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในการเปิดงานสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2559 ในหัวข้อ “มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล” โดยระบุว่า ปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่พิเศษ เพราะอยู่ในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล หรือยุค “Data Revolution” อย่างแท้จริง เป็นข้อมูลในมิติใหม่ที่มีความพิเศษ ทั้งในด้านความเร็ว ความลึก ความกว้าง และความหลากหลาย

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางโลกดิจิตอลที่มีข้อมูลรูปแบบใหม่ และหลากหลายนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อคุณภาพ ความครบถ้วน และความแม่นยำของข้อมูลสถิติที่พึ่งพามายาวนาน เช่น ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่นับวันจะยิ่งมีความยากลำบากมากขึ้นในการวัดมูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ การเกิดบริการรูปแบบใหม่ที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังบน Youtube หรือการโทรศัพท์ผ่าน Line หรือ Skype ซึ่งในอดีตกิจกรรมพื้นฐานลักษณะนี้เคยถูกนับรวมในตัวเลข GDP หรือการที่เส้นแบ่งระหว่างการประกอบธุรกิจ กับกิจกรรมส่วนตัวที่เลือนลางลงเรื่อยๆ ทำให้การวัดระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความท้าทายมากขึ้น และจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทบทวนปรับปรุงวิธีการจัดเก็บข้อมูลสถิติให้ทันต่อบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจดิจิตอลในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูลนี้ ผู้ดำเนินนโยบายต้องเผชิญกับคความท้าทายหลักอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) การปรับปรุงข้อมูลสถิติของภาครัฐให้ครบถ้วนทันสมัย สามารถรองรับโครงสร้างสังคม และเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และไม่หยุดนิ่ง และ 2) การใช้ประโยชน์ทั้งจากข้อมูลที่มีอยู่เดิม และข้อมูลรูปแบบใหม่อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ และความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบด้านอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการวางแนวนโยบายให้ถูกต้อง และเหมาะสม

การก้าวข้ามความท้าทายทั้งสองประการนี้ งานวิจัยมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง หัวใจของงานวิจัย คือ การสังเคราะห์สิ่งที่เป็นแก่นสารออกมาจากสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ การแยกแยะความสัมพันธ์ออกเป็นสิ่งที่เป็นเหตุ และสิ่งที่เป็นผล งานวิจัยจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะแปลงข้อมูลที่บางครั้งดูเหมือนจะท่วมท้นให้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถขยายโลกทัศน์ของเราได้อย่างเท่าทัน

“ผมขอเน้นว่า เราไม่ได้สนใจข้อมูลด้วยตัวมันเองตามลำพัง ข้อมูลไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นเพียงทางผ่านสู่การเรียนรู้ และความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น กระบวนการสกัด และสร้างองค์ความรู้จากข้อมูลนั้น สำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวข้อมูลเอง เราต้องตระหนักถึงศาสตร์ทางสถิติ รวมทั้งข้อจำกัดของข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการนำไปสู่ข้อสรุปที่บิดเบือน ในยุคแห่ง Big Data เราต้องไม่ลืมว่า “ปริมาณข้อมูล” ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด แต่ความครอบคลุมของกลุ่มตัวอย่าง ความสมบูรณ์ของข้อมูล รวมทั้งการตั้งโจทย์ที่ถูกต้องนั้นสำคัญยิ่งกว่า”

ประเด็นเหล่านี้เป็นข้อเตือนใจว่า การใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ท่วมท้นนั้น ไม่ได้ง่ายเสมอไป และต้องทำอย่างระมัดระวัง การที่โลกก้าวสู่ยุคแห่งข้อมูลจะสร้างโอกาสมหาศาลในการรังสรรค์ความรู้ใหม่ที่มีคุณประโยชน์นานัปการ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งโดยแก่นแท้แล้ว คือ ศาตร์แห่งการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ เมื่อเราสามารถวัดพฤติกรรมมนุษย์อย่างที่ไม่เคยวัดได้มาก่อน ทั้งในแง่ความถี่ ความละเอียด และความรวดเร็วจาก digital footprint โอกาสในการที่จะเข้าใจระบบเศรษฐกิจอย่างถ่องแท้ และเท่าทันย่อมสูงขึ้นมาก

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวต่อว่า ในแง่ของนโยบายเศรษฐกิจ มองว่าการปฏิวัติข้อมูลจะช่วยเสริมการดำเนินนโยบายในอย่างน้อยน้อย 3 มิติด้วยกัน คือ (1) ช่วยให้เราเข้าใจโครงสร้างเศรษฐกิจ และสังคมได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การออกแบบมาตรการภาครัฐสามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจ และสังคมได้รอบด้าน ครบถ้วน และรวดเร็ว (2) ความสามารถในการเจาะจงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น จำจากความเข้าใจโครงสร้างในระดับจุลภาค ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายในภาคปฏิบัติ และลดจุดรั่วไหล และ (3) การประเมินประสิทธิผลของนโยบาย และมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยปรับปรุงนโยบายให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน คือ การเปิดเผยข้อมูล หรือ “open data” สาเหตุหนึ่งที่สหรัฐอเมริกา มีงานวิจัยจำนวนมาก เพราะว่านักวิจัยสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าที่อื่น โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐ แทนที่หน่วยงานแต่ละแห่งจะเก็บข้อมูลของตนไว้เพื่อการทำวิเคราะห์วิจัยภายในเอง การเปิดโอการให้นักวิจัยภายนอกสามารถศึกษาข้อมูลดังกล่าวได้ จะเพิ่มพลังแห่งการเรียนรู้ได้แบบเท่าทวีคูณ

โครงการ Smart City ทั่วโลก เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศในการเชื่อมโยงประชาชน กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของบริการสาธารณะ เมื่อประชาชนได้รับข้อมูลที่สมบูรณ์ขึ้นเกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง และสามารถแสดงความคิดเห็นไปยังหน่วยงานรัฐได้โดยตรงผ่านแอปพลิเคชั่นบนมือถือ การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และการพัฒนาประเทศก็จะเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการหล่อหลอมพลังของประชาชน เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ของสังคม

“หวังว่างานสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงผลักดันไปสู่การยกระดับของการประยุกต์ใช้ข้อมูลในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของประเทศ เมื่อเราสามารถวัดได้ จับต้องข้อมูลที่สะท้อนข้อเท็จจริงได้ เราจะสามารถวิเคราะห์ วางแผนปฏิบัติ ติดตามผล และปรับเปลี่ยนนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นกระบวนการเชิงวิทยาศาสตร์ที่ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ของสังคม จะร่วมกันยกระดับ และสร้างความแตกต่างให้กับสังคมไทย และเศรษฐกิจไทยได้อย่างแท้จริง และยั่งยืนในยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูล” ผู้ว่า ธปท. กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น