ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -หลังถกเครียดเป็นเวลานานกว่า 6 ชั่วโมง ในที่สุดคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มี “บิ๊กแดง-พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์” รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็นประธาน ก็มีมติเพื่อทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลจำหน่ายที่ราคา 80 บาทออกมาเป็นที่เรียบร้อย
และแน่นอนว่า มติที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีหลายประเด็นน่าสนใจ ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาเช่นกันว่า คุ้มค่าและเหมาะสมหรือไม่กับการปรับโครงสร้างราคาขายที่ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการนี้ไปราว 1,500 ล้านบาทต่อปี
กล่าวสำหรับสาระสำคัญของมติดังกล่าวก็คือ คณะกรรมการ(บอร์ด) เห็นชอบปรับโครงสร้างราคาใหม่ด้วยการปรับลดราคาต้นทุนขายส่ง โดยผู้ค้ารายย่อยลดต้นทุนขายส่งจาก 74.40 บาทต่อฉบับ เหลือ 70.40 บาทต่อฉบับ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ค้ารายย่อยมีส่วนต่างกำไร 9.60 บาทต่อฉบับเมื่อขายราคา 80 บาท
ส่วนมูลนิธิ องค์กรการกุศลต่างๆ กำหนดขายส่งที่ราคา 68.80 บาท จากเดิมขายที่ราคา 72. 82 บาท ซึ่งทำให้ผู้ค้าประเภทนี้มีส่วนต่างกำไร 11.20 บาทเมื่อขายในราคาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนดคือ 80 บาท
การปรับโครงสร้างดังกล่าว ถ้าหากไม่มีข้อผิดพลาดอะไรจะเริ่มใช้ในการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 นี้
นอกจากนั้น ที่ประชุมบอร์ดยังเห็นควรให้ยกเลิกรางวัลแจ็กพอตรางวัลที่ 1 ชุดที่ 1 - 30 จำนวน 30 ล้านบาท และชุดที่ 49 - 74 รางวัลแจ็กพอต จำนวน 22 ล้านบาททั้งหมด เนื่องจากเป็นต้นเหตุของการรวมชุดมาขายเกินราคา แล้วหันไปเพิ่มรางวัลที่ 1 จากเดิมคู่ละ 4 ล้านบาทเป็น 6 ล้านบาท และจะเริ่มใช้แนวทางดังกล่าวในวันที่ 1 สิงหาคม 2558
ทั้งนี้ ทั้งนั้น ถ้าผู้ค้าสลากยังอยากที่จะรวมชุดขายสามารถทำได้ในราคาที่ไม่เกินที่กำหนดไว้ คือ 80 บาทต่อคู่ เช่น รวม 5 คู่ ต้องขายในราคา 400 บาท
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการรวมชุด จึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ผ่านกระทรวงมหาดไทย ให้จัดทำรายชื่อผู้ที่ได้รับจัดสรรสลากในแต่ละจังหวัดของตัวเอง เพื่อให้แสดงถึงความต้องการจำหน่ายที่แท้จริงในแต่ละจังหวัด โดยสำนักงานจะกระจายสลากผ่านผู้ว่าฯ ในแต่ละจังหวัด ให้ไปดำเนินการจัดสรรกับพื้นที่ของตัวเอง คล้ายกับศูนย์กระจายสินค้า จากเดิมที่ต้องเข้ามารับสลากในกรุงเทพฯ
ส่วนเรื่องการจัดสรรโควตาสลากรายย่อย 48 ล้านฉบับ ที่จะสิ้นสุดอายุโควตาในเดือน มิ.ย.58 นี้ บอร์ดจะต่ออายุให้แก่ผู้ค้าสลากรายย่อย แต่จะเฉลี่ยโควตา จากเดิมที่มีโควตาไม่เท่ากัน จะได้รับเท่ากันคนละ 5 เล่มใหญ่ หรือ 500 คู่ และต้องขายปลีกในราคา 80 บาท หากเกินกว่านั้นจะถูกยึดโควตาและลงโทษตามกฎหมาย
ขณะที่การตั้ง “กองทุนรับซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จำหน่ายไม่หมด” ซึ่งปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้นั้น ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ถูกตีตกไป เพราะเห็นว่า ไม่ใช่แนวทางในการแก้ปัญหาสลากเกินราคาและขายไม่หมด โดยเปลี่ยนมาเป็นการจัดตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อสังคมแทน ด้วยการำเงินสัดส่วนร้อยละ 3 ของรายได้จากการขายสลาก เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยป้องกันการพนันและการช่วยเหลือสังคม
“มั่นใจว่า ส่วนลดหรือกำไรที่ได้รับมากขึ้น จะทำให้สลากที่จำหน่ายในงวดวันที่ 16 มิ.ย.นี้ อยู่ที่ 80 บาท ซึ่งเป็นราคาที่นายกรัฐมนตรีต้องการเห็นและยังเป็นราคาที่เลิกเอาเปรียบประชาชนอีกด้วย ขณะที่ผู้ถือโควตาสลากก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากกำไรคู่ละ 5.60 บาท จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.60 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมในยุคปัจจุบัน เช่น ผู้ค้าสลากได้รับโควตาคนละ 5 เล่มใหญ่ หรือ 500 คู่ จะได้กำไรงวดละ 4,800 บาท หรือเดือนละ 9,600 บาท
“การเพิ่มกำไรให้แก่ผู้ค้าสลากจะทำให้รัฐบาลมีรายได้ลดลงปีละ 1,500 ล้านบาท ถือว่ารัฐบาลยอมถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้ผู้ค้าสลากเลิกเอาเปรียบประชาชน แต่ผู้ค้าสลากเองเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ต้องยอมรับความพอเพียงคือจะขายสลากไม่เกินราคา 80 บาท หากยังขายเกินกว่าราคาที่กำหนด จะมีบทลงโทษที่รุนแรงไม่ใช่แค่โทษปรับ 10,000 บาท จำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำคุกและปรับ แต่จะโทษถึงขั้นยึดทรัพย์ตามประกาศมาตรา 44 เพราะเข้าข่ายทุจริตและฉ้อ โกงประชาชน ส่วนผู้ที่รับโควตาจะขายต่อไปอีกทอดให้ผู้ค้าสลากรายใหญ่ก็ได้เช่น รับมา 70.40 บาท ขายไป 71.40 บาทกำไร 1 บาททันทีก็ได้ แต่ราคาขายปลีกจะต้องไม่เกิน 80 บาท โดยจะเริ่มงวดแรกวันที่ 2 มิ.ย.58 เพื่อตรวจผลออกรางวัลงวดวันที่ 16 มิ.ย.58”
นั่นคือเหตุผลที่ พล.ต.อภิรัชต์อธิบายถึงการที่รัฐบาลยอมมีรายได้ลดลง 1,500 ล้านบาทต่อปี
ถามว่าเป็นตัวเลขที่มากหรือไม่
ก็ต้องตอบว่า แล้วแต่มุมมอง จะบอกว่ามากก็ใช่ จะบอกว่าไม่มากก็ได้
กระนั้นก็ดี สิ่งที่หลายคนให้ความสนใจไม่แพ้กันก็คือ การบริหารจัดการกับบรรดา “ยี่ปั๊วขาใหญ่” บอร์ดชุด พล.ต.อภิรัชต์มิได้เข้าไปแตะต้องหรือเปลี่ยนแปลงโควตาสลาก 22 ล้านฉบับที่ได้รับและกำลังจะหมดอายุในเดือนกรกฎาคมนี้แต่อย่างใด
เพียงแต่ประกาศชัดว่า จะควบคุมการจำหน่ายสลากให้เป็นไปตามราคาที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกำหนด รวมถึงมีมาตรการลงโทษที่เข้มงวดขึ้น กล่าวคือ หากขายเกินต้นทุนที่กำหนดในเงื่อนไข จะยกเลิกสัญญา และให้กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) เข้าไปตรวจสอบรายได้
“ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ค้าสลากรายใหญ่มีกำไรสะสมมากเพียงพอแล้ว นับจากนี้ไปต้องอยู่ในระเบียบตามคำสั่งของ คสช. ผมจะสั่งให้ตรวจสอบลงลึก หากไม่เชื่อฟังก็จะถูกใช้กฎหมายที่เข้มงวดทันที” พล.ต.อภิรัชต์ประกาศกร้าว
กล่าวได้ว่า แม้จะประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดและเอาจริงเอาจังมากขึ้น แต่ก็ยังคงทำให้บรรดา “ยี่ปั๊ว” มีรอยยิ้มได้เหมือนเดิม
ด้าน “สังศิต พิริยะรังสรรค์” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ปัญหาสลากกินแบ่งแทนของบอร์ดสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลชุดใหม่ที่ออกมา และเชื่อว่าจะเป็นการเริ่มต้นปัญหาได้ชัดเจน โดยเฉพาะการพยายามกระจายสลากกินแบ่งให้อยู่ในมือของผู้ค้ารายย่อยให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ และจะต้องไม่ให้ผู้ค้ารายย่อยดังกล่าวเป็นตัวแทนของยี่ปั๊ว ขณะที่มาตรการทางกฎหมายเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจำหน่ายสลากกินแบ่งเกินราคา ถือว่าจะช่วยป้องกันปัญหาได้ในช่วงแรก แต่จากนั้นควรจะมีการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการอีกครั้ง เพื่อหามาตรการเพิ่มเติม
และแน่นอนว่า เมื่อรัฐบาลยอมเฉือนเนื้อในยามที่เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่เก็บภาษีและรายได้ไม่เข้าเป้าเช่นนี้ ไม่มีทางที่สลากกินแบ่งรัฐบาลจะขายเกินราคา 80 บาทได้ เนื่องจากงานนี้ต้องยอมรับว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเดิมพันกับเรื่อง “หวยแห่งชาติ” สูงจริงๆ