xs
xsm
sm
md
lg

คลอดงบประกันสุขภาพ1.6แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (16เม.ย.) รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.เศรษฐกิจ ได้มีการพิจารณา งบประมาณของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2559 ซึ่งมีวงเงินทั้งสิน 165,095 ล้านบาทเศษ โดยที่ประชุมเห็นชอบอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2559 เป็นวงเงิน 3028.94 บาท/หัว งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติข้างต้น ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติวงเงิน 163,152 ล้านบาทเศษ และงบบริหารจัดการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) วงเงิน 1,943 ล้านบาทเศษ
ในสวนงบค่าบริการเหมาจ่ายรายหัว มีการแยกต่างหากไป ได้แก่ 1. ค่าบริการผู้ติดเชื้อ HIVและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,011 ล้านบาท 2.ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 6,318 บาทเศษ 3. ค่าบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรังคือ โรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยจิตเวช วงเงิน 959 ล้านบาท 4. ค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยบริการ วงเงิน 1,490 ล้านบาทเศษ 5. ค่าตอบแทนกำลังพล วงเงิน 3,000 บาท 6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง วงเงิน 600 ล้านบาท ทั้งหมดรวมกัน 163,152 ล้านบาทเศษ รวมกับงบบริหารจัดการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) วงเงิน 1,943 ล้านบาทเศษ เป็นวงเงินทั้งสิ้น 165,095 ล้านบาทเศษ
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ได้รับทราบถึงการพิจารณาร่วมกันระหว่าง สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขใน 4 เรื่อง ด้วยกันคือ 1. การจัดกลไกในการบริหารจัดการงบประมาณของกองทุนให้มีความชัดเจนโปร่งใส โดยมีแนวทางที่เสนอต่อครม.เศรษฐกิจไปในวันเดียวกันนี้
2. แนวทางการแก้ไขปัญหาสถานพยาบาลขนาดเล็กที่อยู่ห่างไกล ทำให้ได้รับงบประมาณไม่เพียงพอในการให้บริการเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 137 แห่ง วงเงิน 866 ล้านบาทเศษ โดยมี 3 ส่วนคือ 1.Contact Unit For Primary Care(CUP) หรือสถานพยาบาลที่มีลักษณะพิเศษได้แก่ที่โรงพยาบาลอุ้มผาง โดยใช้เกณฑ์จัดสรรส่วนเพิ่มตามค่าใช้จ่ายจริง 2. สถานพยาบาลพื้นที่เฉพาะระดับ 2 มีด้วยกัน 52 แห่ง ให้ได้รับส่วนเพิ่มอย่างน้อย 1 ล้านบาท 3. สถานพยาบาลที่มีพื้นที่เฉพาะระดับ 3 อีก 84 แห่ง ให้ทอนส่วนตามการจัดสรรงบประมาณส่วนที่เหลือและได้มีการเพิ่มเติมงบประมาณเพื่อชดเชยค่าบริการที่ลดลงจากการเพิ่มเงินเดือนแบบก้าวกระโดดของพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีพยาบาล 3,000 อัตรา ตามนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา วงเงิน 624 ล้านบาทเศษ
3. ครม. รับทราบถึงแนวการแก้ปัญหากรณีการแบ่งเขตสุขภาพ
4. ทางที่ประชุมครม. เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสปสช. พิจารณาเรื่องของบทบาทของสปสช.ต่อจากนี้ไป ทางคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เสนอให้เร่งปรับปรุงกลไกให้การบริหารจัดการกองทุนมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ในลักษณะเหมาจ่ายต่อหัวนั้น ที่ผ่านมาทาง สปสช.ไม่ได้นำไปใช้เพื่อด้านสาธารณสุขต่อประชาชนทั้งหมด แต่นำไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆด้วย เช่น การก่อสร้าง ซ่อมแซมอาคาร ค่าตอบแทนบุคลากรเพิ่มเติม และสนับสนุนมูลนิธิต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในหลักปฏิบัติแล้วต้องใช้จากงบบริหารจัดการของสปสช.เอง หรืองบประมาณปกติจากส่วนราชการ จึงควรพิจารณาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนเป็นหลัก สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เห็นควรว่าควรมีการทบทวนหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ
รอ.นพ.ยงยุทธ กล่าวด้วยว่า ในเรื่อง 3 ระบบ คือ 1. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. ระบบประกันสังคม 3. ระบบรักษาพยาบาลของราชการ ว่า จะมีแนวทางในการจัดการองค์กรให้มีมาตรฐานสอดคล้องกันอย่างไร รวมถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการใช้ร่วมกัน เรื่องของความพอเพียงในการใช้งบประมาณในอนาคต และเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ยังมี เรื่องการให้สิทธิ์ หรือคืนสิทธิ์ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข กับบุคลที่มีปัญหาเรื่องสถานะ และสิทธิเพิ่มเติม และการจัดการสถานะและสิทธิสำหรับบุคคลที่ไร้รัฐและสัญชาติ ทั้งระบบ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากปี 2553 ที่ ครม.มีมติจัดสรรงบประมาณกลางวงเงิน 472 ล้านบาท ให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จัดการบริการขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้แก่บุคคลที่มีปัญหาเรื่องสถานะ และสิทธิ ซึ่งการดำเนินการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้น
มา จนถึงปี 2557 สามารถดำเนินการไปได้ กว่า 507,000 คน สำหรับการลงทะเบียนยังไม่คลอบคลุมบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิอีกจำนวนหนึ่งซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างการสำรวจ และการดำเนินการทางทะเบียน ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอ ครม.ให้อนุมัติ หรือคืนสิทธิ์ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขแก่บุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะ และสิทธิเพิ่มเติม โดยที่เสนอในวันนี้มี 2 ส่วน คือ
1. บุคคลที่มีปัญหาเรื่องสถานะและสิทธิ ที่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าว มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยขึ้นต้นด้วยเลข 0 โดยมีจำนวน 208,631 คน
2. เด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษาของไทย ซึ่งกรทรวงสาธารณสุขได้สำรวจ และให้สิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาแล้วตามมติครม.เมื่อปี 48 ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำทะเบียน และกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก ซึ่งคลอบคลุมบริการด้านการเสริมสร้างสุขภาพ การป้องกันโรคและการรักษาพยาบาล โดยมีจำนวนทั้งหมด 76,540 คน ซึ่งครม.เศรษฐกิจ ได้มีมติเห็นชอบในการให้สถานะ คนทั้งหมด 206,748 คนก่อน ส่วนกลุ่มบุคคลอื่นที่อ้างว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้จำนวน 1,883 คน ซึ่งต้องมีการตรวจพิสูจน์ก่อน รวมถึงกล่มนักเรียนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มดังกล่าวแล้วจำนวน 76,540 คน แต่ยังไม่มีชื่อในระบบทะเบียนราษฎร์ และความชัดเจนถึงจำนวนที่แท้จริง หรืออาจมีข้อมูลทับซ้อน จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานงานกับสำนักบริหารการทะเบียนของกระทรวงมหาดไทย และสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ร่วมกันยืนยันความถูกต้องและรับรองการขึ้นทะเบียนของกลุ่มบุคคลดังกล่าวก่อน จึงเสนอครม.เพื่อพิจารณาในโอกาสต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น