xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจง 3.8 หมื่นคนไร้สถานะต้องรอพิสูจน์ ด้าน พชภ.โต้กรมการปกครองอัปเดตแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สธ. แจงคนไร้สถานะถูกลอยแพ 3.8 หมื่นคน ไม่ได้เสนอชื่อเข้ากองทุนคืนสิทธิ เพราะยังไม่พิสูจน์สถานะ วอนใจเย็นรอประชุมตัวเลขชัดเจน 23 ก.พ. ก่อน ด้าน พชภ. โต้กลับเป็นตัวเลขอัปเดตจากกรมการปกครองแล้ว ถือเป็นคนไทย ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี 37 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน เตรียมเข้าพบนายกรัฐมนตรี วันที่ 17 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เพิ่มตัวเลขช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิตกค้างในการเข้ากองทุนคืนสิทธิตามมติ ครม.วันที่ 23 มี.ค. 2553 ซึ่ง สธ.เสนอเพิ่ม 170,535 คน ขัดกับตัวเลขจริง 208,631 คน ทำให้อีก 38,096 คน ถูกลอยแพ ว่า ตัวเลข 170,535 คน แบ่งเป็นกลุ่มรอพิสูจน์สถานะ 150,000 คน อีกกว่า 2 หมื่นคน เป็นกลุ่มลูกหลานของคนรอพิสูจน์สถานะที่พิสูจน์แล้ว ส่วนตัวเลขที่ 37 องค์กร เสนอจำเป็นต้องมีการพิสูจน์สถานะให้ชัดเจน ซึ่งได้เสนอต่อ รมช.สธ. แล้ว ส่วนจะปรับแก้อย่างไรขึ้นอยู่กับฝ่ายนโยบาย จึงอยากให้ความเป็นธรรมกับ รมช.สธ.ด้วย ส่วนการเสนอเพิ่มเติมตัวเลขไม่ใช่เรื่องยาก เพราะหากตัวเลขชัดเจนจากสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ก็สามารถเสนอ ครม. พิจารณาได้ ทั้งนี้ ย้ำว่าโรงพยาบาลสังกัด สธ. ทุกแห่ง โดยเฉพาะตามแนวชายแดนให้บริการรักษาพยาบาลทุกกลุ่มตามหลักสิทธิมนุษยชน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สธ. กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการเสนอ ครม. เพราะรอข้อมูลตัวเลขให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะมีการสรุปข้อมูลในวันที่ 23 ก.พ. นี้ ส่วนที่จะไปยื่นนายกฯก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะมองว่าทุกคนหวังดีต่อบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ อยากให้รอการประชุมก่อน

นางเตือนใจ ดีเทศน์ ที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตัวเลขที่ไม่ตรงกันสามารถหารือได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยังไม่น่าที่จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์หรือโจมตีกันด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือเดินทางมาที่ทำเนียบ หากรู้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้าไปแก้ไขปัญหาแน่นอน ซึ่ง รมว.สธ.และ รมช.สธ.ต่างมีจิตใจที่ดีและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาผู้ที่มีปัญหาสถานะ ดังนั้นเมื่อทุกฝ่ายเปิดใจกว้าง เพราะมีเจตนารมณ์เดียวกันก็จะสามารถแก้ไขปัญหาลุล่วงได้ คือควรร่วมกันเดินหน้า และให้กำลังใจซึ่งกันและกันดีกว่า

นายสุพจน์ หลี่จา เจ้าหน้าที่มูลนิธิ พชภ. กล่าวว่า ยืนยันว่า ตัวเลขอีก 3.8 หมื่นคน ได้มาจากกรมการปกครอง ซึ่งเป็นตัวเลขอัปเดต ที่สำคัญคนกลุ่มนี้เป็นลูกหลานของคนกลุ่มที่มีบัตรประจำตัวประชาชน ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ประเภททะเบียนราษฎร ทร.38 ก โดยเลขประจำตัวหลักที่ 6 และ 7 เป็นเลข 8 และ 9 ซึ่งเป็นคนรอพิสูจน์สถานะ ถือเป็นคนไทยที่รอเลขบัตรประจำตัวประชาชน พวกเขาสมควรได้รับสิทธิด้วย ซึ่งที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้แม้จะได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล แต่ต้องยอมรับว่ายังมีกลุ่มที่หวาดกลัว เพราะตัวเองไม่มีสิทธิใดๆ จึงกังวลว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งพวกเขาไม่มีเงิน ก็จะทนทุกข์ทรมานกับโรค บางคนป่วยมากก็อาจเกิดการระบาดไปยังคนอื่น สุดท้ายก็ลุกลามมายังคนไทยที่มีบัตรประจำตัวประชาชน

นายสุมิตรชัย หัตถสาร ประธานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์ กล่าวว่า ตัวเลข 3.8 หมื่นคน เป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ของกรมการปกครอง ที่สำรวจและยืนยันแล้วว่าเป็นคนไทย ตามกฎหมายก็ต้องเป็นเช่นนั้น คือพ่อแม่เป็นคนไทย ลูกที่เกิดมาก็ต้องเป็นคนไทย ส่วนที่ สธ. บอกยังไม่ยืนยันสถานะ ไม่เข้าใจว่าจะให้มีการยืนยันในประเด็นไหน เนื่องจากการพิสูจน์สถานะไม่ใช่หน้าที่ของ สธ. เพราะมีข้อตกลงกันอยู่แล้วว่าตัวเลขเหล่านี้ให้ยึดตามตัวเลขของกรมการปกครอง จึงไม่อาจยอมรับตัวเลขของ สธ.ได้ และการดึงตัวเลขนี้ออกมา 3.8 หมื่นคน เราเลยรู้สึกว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงเสียสิทธิไปทั้งๆ ที่เขาควรได้รับการคุ้มครองตามมติ ครม. เราต้องการคำตอบที่ชัดเจนว่าเหตุผลที่จะไม่ขยายมติ ครม. ให้ครอบคลุมคนกลุ่มนี้เหตุผลเพราะอะไร

นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผอ.รพ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า อยากให้ใจเย็นๆ เพราะ รมช.สธ.บอกว่า ตัวเลขไม่นิ่ง ขอให้ไปทำตัวเลขให้ชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันการตกหล่น คือ ตัวเลขไหนไม่ชัดก็อย่าเพิ่งเสนอขอ ครม. และให้มีการประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ 23 ก.พ. จึงขอให้อดทนดีกว่า เพราะล่าสุดที่สอบถามทางสำนักทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง พบตัวเลขใหม่ล่าสุด คือ 273,000 คน ซึ่งถือเป็นคนไทยที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน จริงๆ คนกลุ่มนี้มีเป็นล้านๆ คน ดังนั้น เรื่องนี้ขอให้ช้าๆ ได้พร้าเล่มงามดีกว่า โดยควรรอข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนเสนอ ครม. และเข้าใจว่ายังไม่ได้เสนอเร็วๆ นี้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น